บินราคาถูกไม่ง่าย เหตุต้องชิงซื้อที่นั่ง


ผู้จัดการรายวัน(27 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แอร์เอเชียเปิด 2 เส้นทางบินราคาถูก ภูเก็ต-กัวลาลัมเปอร์ 810 บาท และกรุงเทพ-โจฮอร์ บารู (สิงคโปร์) 900 บาท เผยซื้อก่อนได้ก่อน เพราะแต่ละเที่ยวบินจัดที่นั่งตั๋วราคาถูกไม่เกิน 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือกว่าค่อนลำต้องซื้อตั๋วราคาเฉลี่ย 1,200-2,000 บาท ต่อที่นั่ง "โอเรียนท์แอร์" สับราคาไม่ถูกจริง ตามบี้เปิดบินทับเส้นทาง พิสูจน์ใครถูกจริงโดยใช้ราคาเท่ากันทุกที่นั่ง

นายโทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินแอร์เอเชีย ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (Lowcost Airline) เปิดเผยว่า แอร์เอเชียกำหนดที่จะเปิดทำการบินใน 2 เส้นทางคือ ภูเก็ต-กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยกำหนดราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 810 บาท ในวันที่ 8 ธันวาคม 2546 และ เส้นทางกรุงเทพ-โจฮอร์ บารู ประเทศสิงคโปร์ ราคาขั้นต่ำ 900 บาท คาดว่าจะสามารถเปิดทำการบินได้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-300 ขนาด 148 ที่นั่งทำการบิน ซึ่งขณะนี้มียอดจองที่ประเทศมาเลเซียแล้วประมาณ 50% ซึ่ง เส้นทางดังกล่าวจะเป็นการจูงใจให้คนไทยและมาเลเซียมีการท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้ผู้โดยสารสามารถเข้าไปจองตั๋วโดยสารในอัตรา ดังกล่าวได้ที่ www.airasia.com

โดยค่าโดยสารที่ 810 บาท และ 900 บาท นั้นเป็นราคาที่ต่ำที่สุด ซึ่งในแต่ละเที่ยวบินจะมีที่นั่งราคาดังกล่าวประมาณ 10-30% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,300 บาทต่อที่นั่ง และคาดว่า ราคาที่สูงที่สุดจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการในแต่ละเที่ยว ซึ่งผู้โดยสารสามารถที่จะเข้าไปจองราคาที่ต่ำที่สุดได้ในเว็บไซต์ได้

นายเฟอร์นันเดสกล่าวว่า แอร์เอเชียมีความ สนใจในการที่จะเปิดเส้นทางการบินในภูมิภาคของ ไทย เช่น อุดรราชธานี นครราชสีมา กระบี่ เชียงราย เป็นต้น เพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียให้เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในเดือน ธันวาคม 2546 นี้ จะสามารถหาผู้ที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นบริษัทของประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าในการเปิดสายการบิน ต้นทุนต่ำร่วมกับ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดบินในวันที่ 8 มกราคม 2547 โดยที่จะเปิดให้จองตั๋วตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปใน 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ราคาไม่เกิน 900 บาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ราคาประมาณ 500-600 บาทต่อเที่ยวบิน ทำการบินเฉลี่ย 6-7 เที่ยวบินต่อวัน และจะมีราคาโปรโมชั่นที่ 99 บาทต่อที่นั่งในช่วงแนะนำเส้นทางการบิน

ชี้ควรลดค่าธรรมเนียมสนามบินหนุน

นายเฟอร์นันเดสกล่าวถึงค่าใช้จ่ายในส่วน ของค่าธรรมเนียมสนามบินว่า หากต้องการให้การ ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จะต้องพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมสนามบินที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นการส่งเสริมอย่างแท้จริง โดยอาจจะให้ความช่วยเหลือ ในด้านการลดต้นทุนของสายการบิน เช่น ลดค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้สายการบินสามารถที่จะลดราคาค่าโดยสารลงได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ในที่สุดสนามบินก็จะได้รับผลดีเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เกิดผลดีเฉพาะสายการบินเท่านั้น "โอเรียนท์ไทย" ตามบี้ Lowcost

ด้านนายอุดม ตันติประสงค์ชัย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ จำกัด กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารของแอร์เอเชียถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสาร เป็นเทคนิคการตลาดอย่างหนึ่งในการโฆษณาเท่านั้นเพื่อจูงใจผู้โดยสาร ซึ่งมีเพียงบางที่นั่งเท่านั้น แต่เมื่อตรวจสอบราคาจองผ่านเข้าไปทางเว็บไซต์ปรากฏว่าอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 - 3,000 บาท ซึ่งจะแตกต่างจากสายการบินโอเรียนท์ไทย ที่ จะเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ได้กำหนดอัตรา ค่าโดยสารขั้นต่ำอยู่ที่ 999 บาทต่อเที่ยวในทุกที่นั่ง

"ผมคิดว่าเรื่องนี้ หลังจากเปิดให้บริการไประยะหนึ่ง ผู้โดยสารคงจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ ในขณะที่โอเรียนท์ก็มีแผนที่จะเปิด ทำการบินในเส้นทางเดียวกับแเอร์เอเชีย โดยมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน" นายอุดมกล่าว

บินไทยดึงพันธมิตรขายตั๋วออนไลน์ร่วม

ด้านนายกนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำร่วมกับพันธมิตร ว่า จากการที่คณะกรรมการบริษัทการบินไทย มีมติให้การบินไทยเปิดดำเนินการสายการบินต้นทุน ต่ำประมาณต้นไตรมาสที่ 2 ปี 2547 ซึ่งการดำเนิน การจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ จะอยู่ในรูปของการตั้งบริษัทร่วมกับ 2 กลุ่มพันธมิตร คือ กลุ่มเกี่ยว ข้องกับระบบจัดจำหน่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ร่วมลงทุนที่มีความชำนาญพิเศษและมีประวัติผลการดำเนินงานที่มีผลกำไรดี มีความเข้มแข็ง แข็งแกร่งตลอดจนสามารถถ่ายทอดความเป็นสายการบินต้นทุนต่ำได้ ซึ่งขณะนี้ยังเปิดกว้างอยู่

ทั้งนี้การบินไทยจะถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัท มีความคล่องตัวสูงสุด มีอิสระในการบริหารงานโดยมีการบินไทยคอยให้การสนับสนุน ขณะเดียว กันก็จะให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมีอิสระในการคัดเลือก บุคลากรเข้าไปทำงาน เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหา อย่างกรณีที่สายการบินต่างๆ จัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำแล้วมีปัญหาตามมาในภายหลัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.