ดัชนีการลงทุนกระเตื้องหนุนศก.ปี47พุ่ง7.5%


ผู้จัดการรายวัน(25 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีดีอาร์ไอคาดเศรษฐกิจปี 47 โตสูงสุด 7.5% ต่ำสุด 4.5% เพราะการลงทุน เริ่มส่งสัญญาณชัดเจน ระบุดอกเบี้ยปีหน้าปรับสูงขึ้น อาจกระทบต่อประชาชนที่ซื้อบ้าน แพงเกินตัว เตือนหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจอนาคต ด้านเลขาฯสสช. มองต่างมุมดอกเบี้ยปีหน้าไม่ขยับ เหตุสภาพคล่องยังล้น เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ชี้อสังหาฯร้อนเป็นเรื่องปกติ ราคายังไม่หวือหวามาก

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เปิดเผยว่า ในปีนี้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่า 6% โดยส่งออกเป็นพลังสำคัญโดยเฉพาะการ ส่งออกในตลาดอาเซียนและจีนที่ขยายตัวสูง และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นจีนแล้วไทยมีแนวโน้มได้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากสงครามกับโรคซาร์สค่อนข้างน้อย รัฐบาลเกินดุลมากขึ้นราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น

สำหรับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีการขยาย ตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อเคหะและสินเชื่อบุคคล โดย 7 ไตรมาสที่ผ่านมาสินเชื่อบ้านมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นถึง 150,000 ล้านบาท การลงทุนภาคเอกชนเริ่มสัญญาณชัดเจนว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋อง สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น รายได้ท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 65-70% อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นยังไม่พบว่ามีปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพแต่อย่างใด

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณชัดเจนว่าสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินลดลง จึงมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้น ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าไว้ 3 กรณีคือกรณีฐานขยายตัว 6.3% กรณีสูง 7.5% กรณีต่ำ 4.5% โดยภาคอุตสาหกรรมจะขายตัวเด่น โดยมีปัจจัยบวกคือความได้เปรียบในหลายอุตสาหกรรม อาทิ เกษตร ยานยนต์ อาหาร ท่องเที่ยว แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาซึ่งหากเศรษฐกิจมีการสดุดอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สินของประชาชนและการผ่อนชำระที่อยู่อาศัย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอกคือปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก เพราะขณะนี้สหรัฐฯมีการขาดดุลสูงถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศที่ได้ดุลส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนรวมกันแล้วกว่า 1.7% ล้านล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้อาเซียนบวก 3 น่าจะมีการหารือกันถึงการสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจโลก แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และถ้าสหรัฐมีปัญหาและกระทบความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาอย่างมาก เพราะตอนนี้หลายประเทศเก็บเงินดอลลาร์ไว้เป็นทุนสำรองมาก เช่น จีน 400,000 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 600,000 ล้านดอลลาร์ ไทย 40,000 ล้านดอลลาร์

เตือนประชาชนซื้อบ้านแพงเกินตัว

นายฉลองภพ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล ตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัว 8% ในปีหน้าและ 10% ในปี 45 ว่า หากรัฐบาลมีการดูความสมดุล ของเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาฟองสะบู่และมีการเดก็งกำไรมากก็คงไม่ส่งผลให้เกิดปัญหา แต่การที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงต่อเนื่องก็มีความเสี่ยง และอยากเตือนคนซื้อบ้านไม่ควรซื้อบ้านราคาแพงเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การขึ้นของอัตราดอกเบี้ยคงไม่สูงเหมือนในอดีตเพราะขณะนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจะเป็นกลไกช่วยสร้างความสมดุลระหว่างดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ

อสังหาฯร้อนตามเศรษฐกิจซื้อบ้านเพื่ออยู่ไม่ใช่เก็งกำไร

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จนสร้างความหวั่นวิตก ต่อหลายฝ่ายที่เป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อ ระบบเศรษฐกิจนั้นว่า ทาง สศช. พิจารณาข้อมูล แล้วพบว่าขณะนี้ยังไม่รุนแรงมากเกินไปนัก เนื่องจากการซื้อบ้านเป็นการซื้อจากความต้องการของผู้บริโภคเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่ซื้อเพื่อการเก็งกำไร รวมทั้งราคาบ้านในขณะนี้ไม่มีความผันผวนมากนัก ส่วนการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันก็มีการพิจารณาลูกค้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น

สำหรับโครงบ้านเอื้ออาทรนับว่าเป็นโครงการพิเศษ ซึ่งส่งเสริมอุปทานในบ้านของ ผู้บริโภคในระดับกลาง ซึ่งหากไม่มีรัฐบาลให้การสนับสนุนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อปัญหาการเกิดภาวะฟองสบู่ ส่วนการที่ ธปท. เตรียมจะออกมาตรการควบคุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ตนเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมาควบคุมแต่อย่างไร ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

นายจักรมณฑ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ไม่ได้เป็นห่วงภาคอสังหาฯเนื่องจากความต้องการสร้าง(ดีมานด์)ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีการประเมินผลก่อนที่จะสร้างบ้าน เพราะเคยได้รับประสบการณ์จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง ปี 2540 มาแล้ว

สัญญาณที่ส่งให้เกิดความเป็นห่วงภาคอสังหาฯ คือ ถ้าราคาขยับเพิ่มขึ้นมากเกินไปแล้ว แสดงว่าเริ่มมีการเก็งกำไร รวมทั้งให้สังเกตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มมีมากขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะการปล่อย สินเชื่อบ้านในตอนนี้ยังเป็นไปตามปกติŽ นายจักรมณฑ์กล่าว

มองต่างมุมดอกเบี้ยปีหน้าทรงตัว

สำหรับกรณีที่สถาบันเพื่อการวิจัย และพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น นายจักรมณฑ์ กล่าว ตนเห็น ว่า ยังไม่น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเงินในสภาพคล่องในระบบยังมีปริมาณอยู่มาก และเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามดีมานด์และ ซัปพลายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามคงไม่ใช่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อยับยั้งปัญหาภาวะฟองสบู่

ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายคาดว่าดัชนีตลาด หลักทรัพย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจนแตะที่ระดับ 800 จุดในปีหน้านั้น มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนผลักดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีผลกำไรในการ ประกอบการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การออกมาตรการเพื่อดูแลการลงทุนในตลาด หลักทรัพย์นั้น เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ตนเห็นว่าการออกมาตรการของภาครัฐควรจะมีความชัดเจน ซึ่งหากไม่ชัดเจนก็อาจสร้างความ สับสนต่อนักลงทุนได้

ทั้งนี้ การขึ้นลงของหุ้นจะไม่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพราะเป็นการซื้อขายเพียงกระดาษเท่านั้น แต่การที่ผู้ประกอบการต่างๆ มีผลประกอบการ ที่ดีก็จะมีผลต่อด้านการลงทุนและการบริโภค และต่อไปอาจจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้ เพราะประชาชนมีการจับใช้สอยมากขึ้น

"หุ้นขึ้นเท่าไร ก็จะมีผลต่อจีดีพี เพราะหากหุ้นขึ้น คนก็มีการใช้จ่ายกันมากขึ้นรวมทั้ง การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายในปี 2547 อีกประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีผลต่อการขยายตัวของจีพีดี ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของจีดีพีเช่นกัน แต่จะเพิ่มมากขึ้นถึง 8% ตามที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้า ไว้หรือไม่นั้นตนไม่สามารถบอกได้ เป็นเรื่อง ที่ต้องติดตาม"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.