"ธปท."จับมือแบงก์ชาติลาวเปิดเครดิตไลน์หนุนเงินกีบ


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.รับบทพระเอกช่วยสร้างเสถียรภาพ ค่าเงินกีบของลาวเพื่อนบ้านใกล้ชิด ลงนามข้อตกลงกับธนาคารแห่งชาติลาวความร่วมมือ 4 ด้าน รวมทั้งการเปิดเครดิตไลน์ สนับสนุนการชำระเงินผ่านระบบธนาคารระหว่างพ่อค้าไทยลาวให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เผยก่อนหน้านี้ เงินกีบ ถูกเมินหนัก จนลาวคิดแก้เกมด้วยการลดปริมาณซื้อสินค้าไทย

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่าง ธนาคารชาติแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และธนาคารแห่งประเทศไทย มีขึ้นที่โรงแรมลาวพลาซ่า กรุงเวียงจันทน์ เมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลงนามครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ลาวให้ขยายตัวยิ่งขึ้น ดังนั้นทั้ง 2 ธนาคารกลางจึงเห็นชอบที่จะร่วมมือกันจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นในการชำระเงินระหว่างทั้งสองประเทศโดยมีขอบเขต ของความร่วมมือทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การเสริมสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่น ในการใช้สกุลเงินบาทและเงินกีบเพื่อการชำระ ธุรกรรมทางการค้าและบริการ และการลงทุนของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองธนาคารเห็นควรให้เปิดเครดิตไลน์ ระหว่างกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะเปิดบัญชีเงินกีบไว้กับธนาคารชาติลาว และธนาคารชาติลาวจะเปิดบัญชีเงินบาทไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับวงเงินเครดิตไลน์ ทั้งสองธนาคารจะมีการหารือกันในรายละเอียดภายหลัง

ทั้งนี้ เครดิตไลน์ดังกล่าว จะทำหน้าที่สนับสนุนธนาคารพาณิชย์ในประเทศคู่ค้าในการปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจเพื่อนำไปชำระค่าสินค้าและบริการ

2.พัฒนาการชำระเงินที่เกิดจากธุรกรรมการค้า การลงทุนของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพทั้งการค้ารายใหญ่ที่ชำระเงินผ่านระบบธนาคาร และการค้ารายย่อยตามแนวชายแดน โดยรายละเอียดนั้นธนาคารกลางทั้งสองแห่งจะแลกเปลี่ยนและตกลงกันในแต่ละประเด็นภายหลัง

3.สนับสนุนให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของไทยและธนาคารธุรกิจในสปป.ลาว ได้ติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อขยายขอบเขตธุรกิจสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการบริการทางการเงินและด้านอื่นๆ

4.ธนาคารชาติสปป.ลาว และธนาคารแห่งประเทศไทย ตกลงร่วมมือกันค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ การสนับสนุนทางด้านวิชาการและเทคนิค เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการเงินการธนาคารและการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งสอง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า การลงนามในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้การใช้เงินกีบและเงินบาทในการค้าของทั้งสองประเทศเข้ามาในระบบการค้าให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณการค้านอกระบบ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการอำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้าเท่าที่ควร

ทั้งนี้ การเปิดเครดิตไลน์ของธนาคารชาติทั้งสอง เชื่อว่าน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างกับโดยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น เพราะหากธนาคารพาณิชย์ที่นักธุรกิจใช้บริการ ขาดเงินบาทหรือเงินกีบ แล้วแต่กรณี ก็สามารถเบิกจากเครดิตไลน์ของธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ได้

ด้านนายพูมี ทิบพะวอน ผู้ว่าการธนาคารชาติสปป.ลาว กล่าวว่า การตกลงในเอ็มโอยูครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างในความร่วมมือทางด้านการเงินระหว่างไทย-ลาวที่จะทำให้การค้าการลงทุนระหว่าง ประเทศทั้งสอง ขยายตัวมากขึ้น เป็นการสะสางปัญหาระบบการให้บริการทางการเงินที่มีมานาน

นายพูมียังได้เรียกร้องให้นักธุรกิจมาใช้บริการชำระเงินโดยผ่านทางธนาคารให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินกีบของลาวมีเสถียรภาพมากกว่าเดิม จากที่ผ่านมา เงินกีบมีปัญหาการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพ่อค้ามักจะใช้เฉพาะเงินบาทหรือเงินดอลลาร์ ในการชำระค่าสินค้าเท่านั้น

รายงานข่าวระบุว่า การลงนามในข้อตกลงระหว่างธนาคารชาติของลาวกับธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับค่าเงินกีบ ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีค่าผันผวนตลอด จากปัญหาที่ลาวขาดดุลการค้ากับไทยในปริมาณที่ค่อนข้างมากและมีอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี และการที่ค่าเงินกีบไม่มีความแน่นอนทำให้พ่อค้าไทย ไม่ยอมรับเงินกีบเป็นค่าสินค้า กลายเป็นปัญหาที่จะย้อนกลับมาถึงฝั่งไทย เมื่อทางลาวพยายามลดการพึ่งพิงไทยและหันไปซื้อสินค้าจากจีนและเวียดนามในสัดส่วนที่มากขึ้นเนื่องจากพ่อค้าในทั้งสองประเทศให้การยอมรับ ค่าเงินกีบมากกว่าพ่อค้าไทย ดังนั้นการสร้าง สเถียรภาพค่าเงินกีบจึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย หากยังต้องการให้ปริมาณการค้าไทย-ลาวขยายตัวต่อไป

สำหรับมูลค่าการค้าไทย-ลาวในปี 2546 จากเดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรวมกันทั้งสิ้น 35,146 ล้านบาท แบ่งเป็นการค้าระหว่างประเทศในมูลค่า 17,924 ล้านบาทและการค้าชายแดน 17,222 ล้านบาท โดยฝ่ายลาวนำเข้าสินค้าจากไทยถึง 28,602 ล้านบาท แต่ส่งออกสินค้ามายังไทยเพียง 6,544 ล้านบาท ทำให้ลาวขาดดุลการค้ากับไทยถึง 22,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่า 9% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2545



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.