สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ปีหน้าดอกเบี้ยไทยปรับขึ้น 0.5% ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์
เหตุเศรษฐกิจเติบโตสูงต่อเนื่อง สภาพคล่องส่วนเกินลดจากความต้องการสินเชื่อและการลงทุน
พร้อมทั้งจะมีตราสารของกองทุนฟื้นฟูฯ ออกมาดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ในตลาดเงินไทย
ระบุเห็นด้วยกับเป้าหมายเศรษฐกิจทักษิณ น่าจะเติบโตได้ 8-10% ขยายตัวอันดับ 2 ของโลก
รองจากจีน ด้านค่าเงินหยวน ปีหน้าคาดจะเปลี่ยนแปลง 4 ขั้นตอน เริ่มจากให้มีช่วงเคลื่อนไหว
3-5% ลดค่า และลอยตัว
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ในเครือสแตนดาร์ดาร์ดชาร์เตอร์ดจากอังกฤษ
เปิดเผยว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง คาดว่า ปี 2547 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ
7% ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยน่าจะปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดว่าช่วงไตรมาสที่
4 ของปีหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ของธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50% เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว
ปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีหน้า มี
2 ปัจจัยคือ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องพิจารณาถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ
(เฟด) ว่าอยู่ในทิศทางใด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะปรับสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
2. ธปท. ต้องรอดูการเติบโตของเศรษฐกิจ ประเทศไทยว่ามีการขยายตัวที่เข้มแข็งเพียงพอก่อน
ซึ่งมองถึง 2 ปัจจัยแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 เหมาะสมที่สุด
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะเป็นการปรับขึ้นช้ากว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์คาดว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ใกล้เคียง
กับดอกเบี้ยนโยบายคือประมาณ 0.50% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 เนื่องจาก 1. ความต้องการทางด้านสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจมีแนว
โน้มสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
2. ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะเร่งการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในปีหน้า หลังจากที่ธนาคาร
แห่งประเทศไทย ได้ผ่อนคลายเรื่อง single lending limit ให้กับธนาคารพาณิชย์ ขณะเดียว
กันสภาวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่เริ่มถดถอยซึ่งน่าจะเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
3. ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะแข่งขันกับภาคเอกชนในการระดมทุนในปีหน้า ซึ่งรวมถึงการระดมทุนจากการจำหน่ายพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟู
(FIDF) มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ในปีหน้า และปี 2549 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และโครงการขยายสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในอีก
5 ปีข้างหน้า
และ 4. นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายเกินไปเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คาดว่า
ธปท. จะปรับเปลี่ยนนโยบายจากการผ่อนคลายทางการเงินเป็นนโยบายการเงินตึงตัวในช่วงปลายปีหน้า
สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 7% หรือมากกว่า
ในกรณีที่ค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจัยของการเติบโตเศรษฐกิจจะมีการ ฟื้นตัวอย่างกว้างขวาง และตัวแปรหลักที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตควรที่จะกระจายในภาค
อุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เพื่อให้มีการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างยั่นยืน
นอกจากนี้ ฐานะทางการคลังของประเทศดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มหนี้สาธารณะที่อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้
จะช่วยเปิดทางให้มีการลงทุนจากภาครัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นได้ในปีหน้า ซึ่งการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาด ใหญ่ จะช่วยสร้างให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ดี
จีนปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนปีหน้า
สำหรับจีน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะมีแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าแรง
กดดันดังกล่าวส่งผลให้ประเทศจีนจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยเป็นการปรับเปลี่ยน 4 ขั้นตอนคือ 1. ต้องยอมให้มีการไหลออกของเงินที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น
2. เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของ ค่าเงินหยวนที่อยู่ในช่วง 3-5% แทนการผูกเงินหยวนไว้คงที่
3.หลังจากนั้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า จะมีการปรับลดค่าเงินหยวนเนื่องจากประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก
ทำให้ต้อง ลดค่าเพื่อการแข่งขัน และ 4. ในระยะ 5-6 ปีข้าง หน้า จะต้องปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว