ธปท.คุมเข้มสินเชื่อบ้าน ป้องกันฟองสบู่รอบใหม่


ผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ (ธปท.) เตรียมออกมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคาร กันฟองสบู่รอบใหม่ คาดเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ หนุน ธปท. โดยเฉพาะพวกที่ไม่ขอจัดสรรถูกต้อง เร่งให้ตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เพื่อให้มีข้อมูลใช้ในแนวทางเดียวกัน

นางธาริษา วัฒนเกตุ รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยวานนี้ (18 พ.ย.) ว่า ธปท.เตรียมออกมาตรการเสริม เพื่อดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยจะพิจารณาถึงลักษณะการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปัจจุบัน เช่น ความรอบคอบ การปล่อยสินเชื่อ การละเลยปล่อยสินเชื่อ จนอาจก่อเกิดความเสียหาย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูล ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้

นางธาริษากล่าวว่า มาตรการที่จะดูแลการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ ต้องพิจารณาทั้งด้านความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ ความมั่นคงสินเชื่อที่ปล่อย และการปล่อยสินเชื่อ ว่าส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรหรือไม่ โดยเมื่อได้ผลศึกษาทั้งหมด ถึงจะบอกได้ว่า มาตรการที่ออก จะเข้มข้นเพียงใด รวมทั้งจะใช้วิธีใดเพื่อกำกับดูแลที่เหมาะสม ธปท. มีหน้าที่ควบคุมดูแลความมั่นคงของธนาคาร พาณิชย์ และดูแลภาวะเศรษฐกิจ หากการปล่อยสินเชื่อไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดภาวะปัญหาฟองสบู่ต่อเศรษฐกิจไทยอนาคตได้

นางธาริษากล่าวต่อว่า ต้องพิจารณาว่าการปล่อยสินเชื่อนั้น คุณภาพดีพอหรือไม่ หากไม่ดีต้องออกมาตรการ เพื่อดูแลให้การปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นไปในทิศทางเหมาะสม ไม่ได้มองเพียงปริมาณสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งคำนึงถึงปัญหาเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยด้วย

ผู้ประกอบการหนุน

ในงานสัมมนาเรื่อง"7 มิติอสังหาริมทรัพย์ไทย" จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วานนี้ (18 พ.ย.) นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จะทำให้ความต้องการซื้อบ้านของประชาชนขยายตัวต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยปีนี้ คาดว่าความต้องการจะขยายตัวถึง 12% จากปีที่แล้ว แต่ถือว่ายังไม่น่าห่วง เพราะยังไม่เห็นสัญญาณบ้านแนวราบที่มีปัญหาน่าวิตก แม้ปีนี้ การจดทะเบียนบ้านใหม่จนถึงขณะนี้มีถึง 40,000 ยูนิต ส่วนคอนโดมิเนียมในเมืองที่ขายดี เพราะกลุ่มคนมีกำลังซื้อต้องการมาก จึงทำให้หลายฝ่ายวิตก

"แต่การที่ ธปท.เตรียมออกมาตรการควบคุม เพื่อชะลอการเติบโตโครงการต่างๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะ ธปท.ต้องการควบคุมสินเชื่อบ้านแนวราบ ที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรถูกต้อง ซึ่งไม่ได้ตัดถนนในโครงการ ไม่มีบริการ หลังการขาย ไม่มีการรับรองโครงสร้างอาคาร มาตรการแบงก์ชาติ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค" นายไชยยันต์กล่าว

นายไชยยันต์กล่าวต่อว่า รัฐบาลพยายามใช้ระบบ Escrow Account หรือการตั้งกองทุน ชดเชยการดาวน์แล้วไม่ได้บ้าน ซึ่งเชื่อว่า รัฐบาลจะพยายามควบคุมการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ในกรอบได้ และปริมาณที่อยู่อาศัย จะได้ไม่มากเกินไป

ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารทั้งระบบในไทยปล่อยกู้ประมาณ 260,000 ล้านบาท ขณะที่ไฟแนนซ์ปล่อยกู้ถึง 290,000 ล้านบาท ซึ่งเสียหายกันไปแล้ว การปล่อยกู้สินเชื่อโครงการปีนี้ อยู่ที่ 149,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2545 ซึ่งมี 151,000 ล้านบาท

ขณะที่การปล่อยกู้ให้รายย่อยเพื่อซื้อบ้านปีนี้ มีถึง 250,000 ล้านบาท สำหรับปี 2547 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดว่าจะขยายตัวถึง 300,000 ล้านบาท ยอดที่สูงมากดังกล่าว เพราะการรีไฟแนนซ์ โดยบ้าน 1 หลัง เปลี่ยนสถาบันการเงินที่กู้ถึง 3 แห่ง ทำให้ยอดกู้สูง ซึ่งควรคำนวณเฉพาะยอดสินเชื่อใหม่ และต้องมีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจะได้มีข้อมูลเป็นมาตรฐาน และให้หลายฝ่ายใช้อย่างถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลหลายจุดยังขัดแย้งกัน

ขณะที่นายนิพัทธ์ จิตรประสงค์ ผู้อำนวยการโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้ประเมินราคาทรัพย์ มีส่วนอย่างมากทำให้เกิดวิกฤติ เพราะประเมินผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง โดยตีราคาประเมินสูงเกินจริง เพื่อขอกู้จำนวนที่สูง จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกผู้ประเมินยึดหลักจรรยาบรรณ อย่าทำลายอาชีพของตนเอง แม้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล แต่หน่วยงาน ต่างๆ ก็เข้มงวด ทั้งกรมการประกันภัย สำนัก งานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน และธปท.



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.