หัวเลี้ยวหัวต่อ SCIB


ผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บูทของ บล.นครหลวงไทยภายในงาน Set in the City ปีนี้คึกคักแน่นอน เมื่อธนาคารนครหลวงไทยในฐานะบริษัทแม่ ใช้โอกาสอันดีนี้ขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อสลัดภาพตัวเองให้หลุดจากความเป็นองค์กรของรัฐบาล และเพิ่มความยืดหยุ่นการดำเนินงาน

14 สิงหาคม 2541 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์และ "จุดจบ" ของอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ไทย เมื่อถูกรัฐบาลในขณะนั้นประกาศเข้าแทรกแซงธนาคารที่อ่อนแอจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจ และธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดทุนแล้วเพิ่มทุนโดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้ามาถือหุ้นเต็ม 100%

จากวันนั้นเป็นต้นมา ธนาคารนครหลวง ไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโดยสิ้นเชิง และอีกประมาณ 5 ปีถัดมาได้ควบรวมกิจการกับธนาคารศรีนคร ส่งผลให้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์มากเป็นอันดับ 6 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นธนาคารของรัฐอาจจะทำให้กระบวนการดำเนินงานถูก จำกัด และไม่สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เอกชนได้อย่างเต็มที่ จากเหตุผลดังกล่าวประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ธนาคารนครหลวงไทยไม่สามารถหยุดนิ่งและอยู่ในกรอบได้อีกต่อไป

โดยเป้าหมายของพวกเขาต้องการเป็น Universal Banking ด้วยการเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

"หากพวกเขาให้บริการหลากหลาย จะทำให้ครอบคลุมความต้องการที่ต่อเนื่องในการทำธุรกิจอย่างครบวงจร อาทิ บริการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่ โครงการสินเชื่อบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภค" อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย กล่าว

ความต้องการดังกล่าว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งสำหรับการผลักดันให้เกิดการให้บริการครบวงจร หนีไม่พ้นความคล่องตัวต่อการดำเนินธุรกิจและมีสถานะเป็นธนาคาร เอกชน ส่งผลให้ธนาคารนครหลวงไทยตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุน (PO) ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อในวันที่ 20,21 และ 24 พฤศจิกายนนี้

ธนาคารแห่งนี้มีแผนการที่จะนำหุ้นของ กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ออกขายจำนวนทั้งสิ้น 370 ล้านหุ้นหรือประมาณ 17.5% ของหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ โดยการเสนอขายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ประมาณ 148 ล้านหุ้น หรือ 40% ขายให้นักลงทุน สถาบัน และส่วนที่ 2 ประมาณ 222 ล้านหุ้น หรือ 60% ขายให้นักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะเสนอขายเป็นชุด ประกอบไปด้วย 1 หุ้น สามัญควบใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Covered Warrant) 2 หน่วยต่อวอร์แรนต์

สำหรับวอร์แรนต์ดังกล่าวมีอายุ 1 ปี และสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ครบตามจำนวน จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯ ลดลงจาก 99.99% เหลือ 47.5%

สำหรับหุ้นสามัญควบใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะออกในครั้งนี้ ธนาคารนครหลวงไทยไม่ระบุรายละเอียดแน่ชัดเกี่ยว กับราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ อย่างไรก็ตามธนาคารมีการกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้เบื้องต้นว่า ราคาใช้สิทธิจะเท่ากับราคาเสนอขายหุ้น PO บวกดอกเบี้ยเงินกู้ยืม 1 ปีของกองทุนฟื้นฟูฯ

จากการประเมินของกรองเพ็ชร จันทรมโรภาส นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บีที กรณี ราคาที่เหมาะสมของวอร์แรนต์ดังกล่าว พบว่ามูลค่าจะอยู่ระหว่าง 2.34-2.92 บาทต่อหน่วย เมื่อราคาหุ้นแม่อยู่ในช่วง 20-25 บาทต่อหุ้น

โดยกำหนดให้ตลาดมีความผันผวน (Volatility) ที่ 30% ดังนั้นการเสนอขายหุ้นสามัญควบใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ไปอีก 2 หน่วย เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มการลงทุนของธนาคารนครหลวงในอนาคต จึงทำให้ PO มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นŽ

จากนี้ไปอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากธนาคารนครหลวงไทยเปิดให้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ว่ากันว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนับตั้งแต่เปิดดำเนินธุรกิจ และช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

เดิมธนาคารนครหลวงไทย มีชื่อว่า ธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2484 จดทะเบียนด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท และเปิดดำเนินธุรกิจการธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมปีเดียวกัน โดยสำนักงานใหญ่แห่งแรกตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง

ธนาคารนครหลวงไทย ได้รับตราตั้งพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นธนาคารอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มายาวนานถึง 60 ปี รวมทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องหมาย "พระมหามงกุฎ" เป็นสัญลักษณ์ประจำธนาคารจนถึงปัจจุบัน

อนาคตน่าสนใจ

สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารนครหลวงไทยมีฐานเงินฝากประเภทออมทรัพย์เพียง 20.86% ของเงินฝากรวม ที่เหลือเป็นเงินฝากประเภทประจำ ซึ่งหากพิจารณาโครงสร้างของเงินฝากประเภทประจำแล้วพบว่าประกอบด้วยเงินฝาก 12 เดือน และ 24 เดือนถึง 58% ของเงินฝากประเภทประจำรวม

"ตัวเลขนี้เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของพวกเขาค่อนข้างมาก" อุษณีย์ บอก

โดยต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารนครหลวงไทยไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เท่ากับ 2.10% สูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 2.09% ซึ่งธนาคารตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงแก้ปัญหาด้วยการงดรับเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน และ 24 เดือน

"พวกเขาเน้นการรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ามาทดแทน อีกทั้งเงินฝากประจำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะทยอยครบกำหนดอีกราว 20% ภายในสิ้นปีนี้ และครบกำหนดทั้งจำนวนภายในปีหน้า ส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มลดลงได้อีกมาก"

ทางด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สิ้นกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่า 8.08 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.65% ของสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และหากไม่รวมตั๋วสัญญาใช้เงินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี มูลค่า 1.69 แสนล้านบาท พบว่า NPLs ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารนครหลวงไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.97% ของสินเชื่อรวม แต่ก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

"ปัจจุบันเป็นธนาคารมี NPLs ต่ำสุดในระบบ และมีฐานเงินทุนสูงซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ของทางการถึง 773.2% โดยมีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 12.72% สูงที่สุดในระบบทำให้สามารถขยายธุรกิจในเชิงรุกได้มากยิ่งขึ้น และแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งขนาดใหญ่ได้" กรองเพ็ชร ให้ความเห็น

ผลประกอบการเติบโต

ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ ธนาคารนครหลวงไทยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 898% เป็น 727 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิเพิ่มขึ้น 5% เช่นเดียวกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่ม 298% เป็น 1,873 ล้านบาท เนื่องจากกำไรจากการขายเงินลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานปีนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟาร์อีสท์ คาดว่าธนาคารนครหลวงไทยจะมีกำไรสุทธิ 2,774 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้ดอกเบี้ยรับและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

สอดคล้องกับกรองเพ็ชร เล่าว่า เนื่อง จากธนาคารมีความพร้อมทางด้านฐานะทางการเงิน ประกอบสภาพเศรษฐกิจเอื้ออำนวย จึงมีนโยบายมุ่งขยายสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี ส่งผลให้ปีนี้รายได้ดอกเบี้ยรับน่าจะอยู่ระดับ 8,347 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 2,421 ล้านบาท

ด้านอุษณีย์ ประเมินว่าในอนาคตอันใกล้ธนาคารนครหลวงไทยจะมีผลการดำเนิน งานน่าประทับใจ เนื่องจากความพยายามมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นฐานในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมุ่งการทำตลาดเชิงรุกเพื่อขยายธุรกิจและบริการผ่านเครือข่ายสาขา

"รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังต่ำเมื่อเทียบกับรายได้รวม พวกเราจึงมองว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.