SHIN ผนึกแอร์ เอเชีย สร้างทางเลือกใหม่


ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ยุทธศาสตร์การร่วมทุนกับสายการบินต้นทุนต่ำแอร์ เอเชีย ของ SHIN ไม่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดแต่อย่างไร เพราะจากศักยภาพที่มีอยู่รอบด้าน พวกเขาสามารถแสวงหาพันธมิตรที่น่าสนใจได้ทั่วโลก

เมื่อเวลา 10.00 น. วันพุธที่ผ่านมา ณ อาคารอัจฉริยะ "ชินวัตรทาวเวอร์ 3" บนถนน วิภาวดี-รังสิต เต็มไปด้วยผู้สื่อข่าว แขกสำคัญเพื่อรอคอยการประกาศอย่างเป็นทางการของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) สำหรับการดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline)

การรุกคืบดังกล่าว SHIN จะจับมือกับบริษัท เอเอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (AA International) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มแอร์เอเชีย สัญชาติมาเลเซีย เจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ "แอร์เอเชีย" (AirAsia) ด้วยวิธีการร่วมลงทุนในบริษัท แอร์ เอเชีย เอวิชั่น จำกัด (AAA) โดยฝ่ายแรกถือหุ้นสัดส่วน 50% ภายในวงเงินไม่เกิน 250 ล้านบาท ส่วนฝ่ายหลังถือหุ้น 49% ที่เหลืออีก 1% เป็นนักลงทุนคนไทย

โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทย ด้วยเครื่องบิน 737-300 จำนวน 3 ลำ ให้บริการ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ นครราชสีมา และขอนแก่น

สำหรับอัตราค่าโดยสารนั้นต่ำกว่าสายการบินอื่นประมาณ 40-50% หรือราคาเฉลี่ยไม่เกิน 1,000 บาทต่อเที่ยว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปีหน้าและเมื่อถึงวันนั้นทุกคนต้องรู้จักคำว่า ทุกคนสามารถบินได้

"ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การเคลื่อนย้ายผู้คนด้วยความรวดเร็วและราคาต่ำ" บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร SHIN กล่าว

นับตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว แอร์เอเชียได้เริ่มให้บริการในฐานะสายการบินที่มีราคาบัตรโดยสารย่อมเยาที่สุดในทวีปเอเชีย พร้อมกับแนวความคิดที่มุ่งให้การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนเอื้อมถึง

"โดยช่วงแรกเปิดให้บริการชาวมาเลเซีย ด้วยเครื่องบินจำนวน 2 ลำใน 4 เส้นทาง และด้วยราคาบัตรโดยสารที่ดึงดูดลูกค้า จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้คนเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบินมาก่อนในชีวิต" ปาหะมิน เอ.ราจับ ประธานกรรมการแอร์เอเชีย เล่า

หลังจากข่าวดีเกี่ยวกับแอร์ เอเชียกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ปาหะมิน ราจับ ได้พบผู้โดยสารใหม่ๆ คนแล้วคนเล่า และเพื่อให้ชาวมาเลเซียอีกมากได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์การเดินทาง โดยเครื่องบินอันแสนราคาถูกจึงได้ขยายเส้นทางการบินอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่แอร์ เอเชียเริ่มต้นบริการด้วยเครื่องบินเพียง 2 ลำ จนถึงทุกวันนี้มีเครื่องบินไว้คอยบริการถึง 7 ลำ "นับเป็นสายการบินแรกในทวีปเอเชียที่ให้บริการในราคาย่อมเยา ไม่มีบริการพิเศษและไม่มีการออกบัตรโดยสาร"

จากความแตกต่างและเป็นทางเลือกน่าสนใจให้กับลูกค้า ส่งผลให้แอร์ เอเชีย ขยาย ตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เปิดให้บริการ ล่าสุดผู้โดยสารมาใช้บริการใกล้ 2 ล้านคน ที่สำคัญการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินประมาณ 40% เป็นการซื้อผ่านระบบออนไลน์

สำหรับผลประกอบการ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แอร์ เอเชีย มียอดขายประมาณ 330 ล้านเหรียญริงกิต กำไรสุทธิ 20 ล้านเหรียญริงกิต โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น 6% ที่สำคัญเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้บนงบดุล

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท ทูนแอร์ จำกัด (Tune Air) สัญชาติมาเลเซีย เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 99.25% ในปลายปี 2544

ปัจจัยที่น่าประทับใจดังกล่าว ย่อมดึงดูด SHIN เข้ามาดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนคนไทยที่ต้องการประหยัดเวลาเดินทางด้วยต้นทุนย่อมเยากว่าในปัจจุบัน

"การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต" อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาธุรกิจใหม่ SHIN ชี้

สำหรับเหตุผลที่ SHIN เลือกลงทุนกับแอร์ เอเชีย บุญคลี เปิดเผยว่า ระบบขนส่งมวลชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต หมายความว่า ถ้าสามารถขนส่งประชาชนหรือนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ จากข้อมูลการเดินทางภายในประเทศ มีคนเดินทางราว 80 ล้านคนต่อปี ซึ่งประมาณ 10% ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ส่วนด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2543 ที่เดินทางผ่านทางอากาศยาน อยู่ที่ระดับ 8.4 ล้านคน และเพิ่มเป็น 8.9 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

"ตลาดที่เหลือหมายถึงโอกาสของสายการบินต้นทุนต่ำเข้าไปทำตลาด" บุญคลีกล่าว "หากดูภาพรวมของทิศทางนโยบายรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงศักยภาพของประเทศในแถบเอเชียที่มีอัตราสูงในธุรกิจบริการ สอดคล้องกับทิศทางของ SHIN ที่มุ่งเน้นธุรกิจบริการมาโดยตลอด"

อุตสาหกรรมขนส่งมีความใกล้เคียงกับธุรกิจโทรคมนาคมที่บริษัทดำเนินการในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาคล้ายคลึงกัน เพราะเป็นธุรกิจการบริการที่ต้องการความรวดเร็ว สังเกตได้จากหากย้อน ไปเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้วของการพัฒนาโทรศัพท์มือถือ กับอีก 20 ปีข้างหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีธุรกิจขนส่งจะมีอัตราที่ไม่แตกต่างกัน

"ถ้าดูความกว้างของช่องสัญญาณในธุรกิจโทรคมนาคม เหมือนกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ" บุญคลีบอก "พวกเราเชื่อว่าธุรกิจสายการบินเป็นเรื่องคล้ายคลึงกับธุรกิจโทรคมนาคมในด้าน Traffic, Network และ Hub ซึ่งสามารถนำประสบการณ์จากธุรกิจโทรคมนาคมมาปรับใช้กับธุรกิจขนส่งได้อย่างลงตัว"

สำหรับการร่วมทุนกับแอร์ เอเชีย เอวิชั่น จากมาเลเซีย เพื่อให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ล่าสุดเตรียมเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกันกับบริษัทในเครือ SHIN

"แน่นอนการขายตั๋วเครื่องบินผ่านระบบ SMS ของโทรศัพท์มือถือ" บุญคลี เปิดเผย

ด้านเป้าหมายลูกค้า เขาบอกว่าสายการบินต้นทุนต่ำนี้จับกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเดินทางทางอากาศมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นการแสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่เข้ามาร่วมแข่งขันกับคู่แข่ง

"การให้บริการในเส้นทางภายในประเทศรวมทั้งการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ส่วนราคาค่าโดยสารคาดว่าจะไม่เกิน 1,000 บาทในเส้นทางภายในประเทศ เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.