2 บริษัทจ่อคิวเข้าตลาดหุ้น รวมถึงบมจ. ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม บริษัทผลิต-ส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องราย
ใหญ่จากกระบี่ ขณะที่ บมจ.ที.เค.เอส.เทคโนโลยี (TKS) ดีเดย์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์
18 พ.ย. นี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ที.เค.เอส.เทคโนโลยี (TKS) และประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ซินเน็ค (ประเทศ ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ที.เค.เอส. กล่าวว่า
ตระกูลเขาเริ่มต้นปี 2497 จากธุรกิจเครื่องเขียน
กระดาษสำนักงาน สมุดเรียน ภายใต้ชื่อแต้ เกียง เซ้ง
TKS ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์และอุปกรณ์สำนักงานโดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย
แบบพิมพ์ธุรกิจทั่วไปและกระดาษสำนักงาน รวมทั้งกระดาษพิมพ์ต่อเนื่อง และธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์
และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย)
จำกัด โดย TKS ถือหุ้น 50% ส่วนอีก 49% ถือหุ้นโดยกลุ่ม Synnex ไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดด้านอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
อันดับ 1 ของไต้หวัน โดยกลุ่ม Synnex ไต้หวัน ถ่ายทอดระบบบริหารคลังสินค้าและการจัดส่งสินค้าที่ทันสมัยให้บริษัท
ซินเน็ค (ประเทศไทย)
ปัจจุบันที.เค.เอส.เทคโนโลยีมีทุนจดทะเบียน เป็นหุ้นสามัญ 210 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน
37.5 ล้านหุ้น รวม 247.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท รวมมูลค่า 247.5
ล้านบาท บริษัทเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 44.5 ล้านหุ้น
ราคาหุ้นละ 3.80 บาท โดยบริษัทยูไนเต็ด แอ็ดไวเซอรี่ เซอร์วิส จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงิน
TKS ก่อตั้งปี 2529 โดยมีกลุ่มตระกูลมงคล สุธีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 44.69% ของทุนชำระแล้วหลังเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปแล้ว
บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไร
ผลดำเนินงานบริษัทตั้งแต่ปี 2544-2545 รายได้รวมเพิ่มขึ้น คิดเป็นอัตราเติบโต
34% และ 27% ตามลำดับ ปี 2545 บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานธุรกิจกระดาษเพิ่มจาก 17%
ปี 2544 เป็น 29% และรายได้ธุรกิจอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 26% เนื่องจากการขยายตัวอุตสาหกรรมโดยรวม
และการกวดขันจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จากหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้น สำหรับงวด
6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อน
เขากล่าวว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ ใช้ขยายกำลังผลิตกระดาษสำนักงาน
ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เพื่อรองรับการขยายตลาดสิ่งพิมพ์ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ
60 ล้านบาท และชำระคืนหนี้สินระยะสั้น รวมทั้งเพิ่มทุนบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย)
จำกัด ซึ่งมีแผนขยายคลังสินค้า เพื่อรองรับการขยายตัวยอดขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ทำให้มีพื้นที่เก็บสินค้าโดยรวมเพิ่มถึง 3 เท่า เงินทุนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ยูนิวานิชจ่อคิวเข้าตลท.อีกราย
นายจอห์น ฮาร์วีย์ เคลนดอน กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด
(มหาชน) 1 ในผู้นำด้านการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบของไทย
กล่าวว่าบริษัทมีจุดแข็งด้านการบริหารการจัดการที่ดีด้านการผลิตและการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์บริษัทมีคุณภาพได้มาตรฐาน
และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
บริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นให้บุคคลทั่วไป 26.32 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 31 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ
5 บาท โดย บล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาการเงิน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือเสนอขายโดยบริษัท
ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม 11,148,800 หุ้น และโดยบริษัท เอกอุตสาหกรรมหิน จำกัด 15,171,200
หุ้น สาเหตุที่ขายหุ้นเดิมด้วย เนื่องจากต้องการให้จำนวนหุ้นเพียงพอจะทำให้เกิดสภาพคล่องการซื้อขายของหุ้นบริษัท
ณ 30 มิ.ย. บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 414.256 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นสามัญ
82,851,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท หลัง เสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนี้ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
470 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 94 ล้านหุ้น พาร์ 5 บาท
เขากล่าวว่าบริษัทกำลังก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในจังหวัดกระบี่ โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากการขาย
หุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ กำลังผลิต 45 ตันผลปาล์มสด/ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้บริษัทขยายกำลังผลิตได้ถึง
90 ตันผลปาล์มสด/ชั่วโมง
ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม ก่อตั้ง ณ วันที่ 26 ธ.ค. 2538 โดยควบกิจการระหว่างกลุ่มบริษัทผู้บุกเบิก
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทย คือบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด
บริษัท เจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด และ บริษัท สยามปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรม จำกัด
เพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยมีผลิตภัณฑ์
พลอยได้เพื่อจำหน่าย คือเมล็ดในปาล์ม และกาก เมล็ดในปาล์ม
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมดังนี้ น้ำมัน ปาล์มดิบ (Crude Palm Oil) น้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ
(Crude Palm Kernel Oil) เมล็ดในปาล์ม (Palm Kernel) กากเมล็ดในปาล์ม (Palm Kernel
Cake) และเมล็ดและต้นกล้าปาล์ม (Palm Seeds and Seedlings)
บริษัทมีสวนน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี พื้นที่เพาะปลูกประมาณ
37,471 ไร่ สามารถผลิตผลปาล์มสดป้อนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัทเฉลี่ย 25.47%
ส่วนที่เหลือราว 75% รับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรรายย่อย
โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เขากล่าวว่าบริษัทมีโรงงานขนาดใหญ่ 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่กระบี่
กำลังผลิตสูงสุดรวม 90 ตันผลปาล์มสด/ชั่วโมง หรือประมาณ 450,000 ตันผลปาล์มสด/ปี
และกำลังผลิตสูงสุดสำหรับน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบที่ 5 ตันเมล็ดในปาล์ม/ชั่วโมง หรือประมาณ
28,000 ตันเมล็ดในปาล์ม/ปี
น้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์ม เป็นหนึ่งในน้ำมันและไขมันที่จะใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ
เช่น อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการทอดอาหาร ทำไอศกรีม เนยแข็ง บิสกิต ครีมเทียม หรือใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
อื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง โอลีโอเคมี เพื่อผลิตกรดไขมัน และเมทิลเอสเธอร์ เป็นต้น
ด้านการวิจัยและพัฒนา บริษัทลงทุนการวิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมันต่อเนื่อง มีผู้เชี่ยวชาญ
ด้านปาล์มน้ำมันจากทั้งยุโรป มาเลเชีย และผู้ทรงคุณวุฒิของไทยประจำอยู่ ณ หน่วยงานวิจัย
และพัฒนาของบริษัท ซึ่งดูแลตั้งแต่การวิจัยเมล็ดพันธุ์ ชลประทาน และวิธีเพาะปลูกและดูแล
โดยมีพื้นที่เพื่อใช้ทดลองปลูกปาล์มใหญ่ถึง 1,237 ไร่
จากการทุ่มเทวิจัยและพัฒนา บริษัทจึงได้พันธุ์ Univanich หรือ UV ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับคัดเลือก
และปรับปรุงสายพันธุ์เมล็ดปาล์ม ให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ และสามารถให้ผลผลิตได้สูงสุด
ปัจจุบันเกษตรกรน้ำมันปาล์มเชื่อถือ หันมาใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัท ทดแทนการนำเข้า
เพราะให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
การเคยร่วมทุนกับกลุ่มยูนิลิเวอร์ จากอังกฤษ มากว่า 15 ปี เขากล่าวว่าทำให้ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม
ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัย และมีระบบจัดการแบบมืออาชีพตามมาตรฐานสากล