เป้าปี48ศก.โต10%จีดีพี-หุ้น8ล้านล้าน


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทักษิณ" ย้ำจีดีพีปีหน้าโต 8% ส่วนปี 48 โตเพิ่มเป็น 10% ชี้ปีหน้าทุนนอกทะลักเข้าไทยแนะแบงก์ชาติ(ธปท.) เกาะติดดูแลบาทไม่ให้แข็งเกินไปปี 48 ดอกเบี้ยเงินฝากโงหัวแน่แม้ไม่มาก ขณะที่ปีหน้ายังต้องจัดงบฯขาดดุลต่ออีก เพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง ก่อนเข้าสู่งบฯสมดุลปี 48 คาดภายใน 5 ปีข้างหน้าจีดีพี-มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8 ล้านล้านบาท)คิดเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน ด้านไอเอ็มเอฟยอมรับอีกรอบ ชี้นำเศรษฐกิจไทย-ภูมิภาคผิดพลาดจนเศรษฐกิจดิ่ง

วานนี้ (13 พ.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2547Ž ในงานครบรอบ 25 ปี สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า หลักการบริหารเศรษฐกิจประเทศยึดถือทฤษฎีของความสมดุลเป็นสำคัญ โดยดูว่าอะไรที่ขาดก็จะดึงขึ้นมา ส่วนอะไรที่มากไปจะกดลงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเช่นที่ผ่านมา

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า การบริหารประเทศ รัฐบาลมองปัญหา 3 ด้านหลักคือ 1.สร้างความ เชื่อมั่นให้กลับคืนมา ให้เกิดการยอมรับประเทศไทยมากขึ้น 2.สร้างความสมดุลในการพัฒนาภาคเมืองและชนบท โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจ 2 ทาง (Dual track economic policy) ให้โอกาสภาค ชนบทเข้าถึงแหล่งทุนได้ ด้วยมาตรการส่งเสริมต่างๆ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออก และ 3.สร้าง ราคาสินทรัพย์ประเทศ ที่ราคาตกต่ำเกินจริงให้กลับคืนมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น ด้วยการส่งเสริมให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้น และฟื้นฟูตลาดหุ้น ที่ดัชนีปรับตัวลงมากให้กลับขึ้นมา โดยผลักดันรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนที่ดีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ปี 48 ศก.โต 10% แบบสมดุล

"ปี2547 ผมได้วางตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจจะโต 8% ซึ่งขอยืนยันว่า สามารถทำได้ เป็นเรื่องหมูๆ และ ในปี 2548 ไม่อยากจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 10% เดี๋ยวจะตกใจกัน แต่ไม่ต้องห่วง เศรษฐกิจโต 10% แล้วจะไม่สมดุล ผมจะต้องทำทุกอย่างให้สมดุล ผมดูตัวเลขทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ เงินคงคลัง แม้แต่การนำเข้า-ส่งออก ที่จะต้องพยายามไม่ให้เกิดการขาดดุลทางการค้า เพราะโดย หลักของการค้าขายจะต้องมีกำไร" นายกฯกล่าว

ด้านมหภาครัฐบาลยังให้ความสนใจ และติด ตามดูมาตลอด ทั้งตัวเลขหนี้สาธารณะ ตัวเลขทุน สำรองทางการ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งขณะนี้ ตัวเลขต่างๆ ดีทั้งหมด การเก็บรายได้ของประเทศปีงบฯ2546 สูงกว่าประมาณการถึง 10% ทำ ให้ฐานะงบประมาณวันนี้เป็นงบเกินดุล แต่ปี 2547 จะตั้งงบขาดดุลอีกรอบ เนื่องจากภาคการลงทุนเอกชนยังไม่เข้มแข็ง จึงต้องตั้งงบฯกลางปี เพื่อให้เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ปี 2548 ไม่จำเป็นต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลอีกต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ ถือ ว่ามีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะด้านการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศสูง วันนี้ เงินจะไหลเข้าประเทศอย่างมาก จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประคองไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่ผู้ส่งออกเองก็ต้องปรับตัวด้วย

ให้สมคิดช่วยสร้างผู้ประกอบการใหม่ ๆ

"สำหรับปีหน้าเศรษฐกิจจะโต 8% ตามที่บอกไว้ ปีต่อไปก็จะเบรกไม่อยู่ เพราะสิ่งที่จะทำในปี 2547 ซึ่งจะเชื่อมไปยังปี 2548 นั้น จะเป็นสิ่งที่แรง มาก และจะทำให้ระบบแข็งแกร่ง" นายกฯกล่าว

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวอีกว่ารัฐบาลกำลังส่งเสริมประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ของประเทศที่ทำการผลิต ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ต่อเนื่อง โดยมอบให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีช่วยดูแล โดยปีหน้าจะเริ่มเดินหน้าเรื่องการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และปฏิรูปที่ทำกิน รวมทั้งจะปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนอย่างจริงจัง และจะผลักดันราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น

อีก 5 ปีจีดีพี-ตลาดหุ้นเกิน 8 ล้านล้านบาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะอาศัยการเจรจาเปิดการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ เพื่อ ให้สามารถขายสินค้าได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจใต้ดิน ที่มีอยู่อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจบนดิน ต้อง นำขึ้นมาอยู่บนดิน และทำให้ธุรกิจที่ไม่เคยเสียภาษี เสียภาษีให้ถูกต้อง ภายใน 5 ปีจากนี้ รัฐบาลจะทำ ให้จีดีพีประเทศเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8 ล้านล้านบาท) เพิ่มจากปัจจุบันที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ทำให้ทุนสำรองทางการ เกิน 60,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่รวมเงินฝากต่างประเทศของแบงก์พาณิชย์ จะทำให้หนี้ต่างประเทศ ต่ำกว่าทุนสำรองทางการ ทำให้ตลาดหุ้นโต โดยมีมูลค่าตลาด (มาร์เกตแคป) เท่าจีดีพีประเทศ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยปี 2548 จะขยับขึ้น แต่ไม่ มาก โดยสภาพคล่องในระบบตลาดเงินไทย จะมีความพอดี ดอกเบี้ยจะไม่อยู่ในอัตราสูงมากเหมือน อดีต ขณะที่ความสามารถการแข่งขันของประเทศจะดีมาก

แนะพัฒนาชนบท-เอสเอ็มอีจริงจัง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าคำว่าทักษิโณมิกส์ แปลว่าเป็นศิลปะการบริหารเศรษฐกิจ โดยนโยบาย และแนวทางที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้น ส่วนตัวเห็นด้วย แต่จะสรุปว่าดีหรือไม่ คงตอบไม่ได้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ต้องใช้นโยบายการเงินการคลังจะมีความพิเศษอยู่บ้าง คือใช้สถาบันการเงินเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ แนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาชนบท กับพัฒนาภาคธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นแนวทางที่ต้องปฏิบัติจริงจัง รัฐบาลต้องเพิ่มโอกาสให้คนที่มีโอกาสน้อย ไม่ใช่เรื่องทุนหรือเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณภาพขยายผลผลิต หรือเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ซึ่งต้องมาจากพื้นฐานการศึกษา

นอกจากนี้ ต้องกระจายรายได้เข้าถึงคนด้อย โอกาสมากที่สุด ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการบริหารประ-เทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนใหญ่จะใช้กลไกรัฐเป็น เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งใช้เศรษฐกิจนอกงบประมาณ เช่นล่าสุดจะใช้มาตรการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

IMF ย้ำตัวเองผิดคราววิกฤตเอเชีย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายชาร์ลส์ อะดัมส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประจำเอเชียและแปซิฟิกกล่าวระหว่างเข้าร่วมการสัมมนาที่กรุงเทพฯ วานนี้ว่า ไอเอ็มเอฟยอมรับว่าผิดพลาดในการรับมือ กับวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540-2541 อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าที่พลาดนั้นพลาดตรงไหน

"บางคนบอกว่าเราปล่อยกู้มากเกินไป บางคน บอกว่าเราปล่อยกู้น้อยเกินไป บางคนบอกว่าเรากำหนดเงื่อนไขเข้มงวดเกินไป บางคนบอกว่าเงื่อน ไขเหล่านั้นยังไม่เข้มงวดเพียงพอ" นายชาร์ลส์ อะดัมส์ บอกและว่าเวลานี้กำลังเริ่มมีความคิดเห็น พ้องกันเป็นฉันทมติปรากฏออกมาแล้ว โดยอยู่ใน บริบทที่ว่าการปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟให้แก่ 3 ชาติเอเชีย คือ ไทย, เกาหลีใต้, และอินโดนีเซียในคราว นั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขหลายประการซึ่งไม่มีความจำเป็น และกระทั่งเป็นเงื่อนไขซึ่งไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย

ผลจากความผิดพลาดคราวนั้น เวลานี้ทางไอเอ็มเอฟจึงกำลังพยายามปรับลดเงื่อนไขที่จะกำหนดต่อประเทศผู้กู้ในอนาคต โดยคราวนี้ไอเอ็ม เอฟจะต้องคำนึงถึงเหตุผลความเหมาะสมในเวลากำหนดเงื่อนไขใดๆ ส่วนเรื่องวงเงินกู้ก็จะต้องมอง หาทางสายกลาง ไม่ให้มากเกินไปและก็ไม่ให้น้อยเกินไป

ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟกล่าวต่อไปว่า อีกบทเรียนหนึ่งของทางกองทุนก็คือ จะต้องพยายามสกัดปัญหาเอาไว้ให้อยู่ภายใน 1 ประเทศ แล้วแก้ไขโดย เร็ว ไม่ปล่อยให้แพร่ลามไปสู่ประเทศอื่นๆ และบท เรียนสำคัญที่สุดที่ไอเอ็มเอฟเรียนรู้ก็คือ แนวรบแรกในการป้องกันได้แก่ การต้องหาทางทำให้วิกฤต ไม่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทีแรก เพราะทันทีที่เกิดวิกฤตก็จะกลายเป็นความวุ่นวายอลหม่าน และสิ้นค่าใช้จ่ายสูงมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.