RATCHบุกโรงไฟฟ้าตปท.ร่วมทุนในลาว-อินโดนีเซีย


ผู้จัดการรายวัน(13 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้งเตรียมขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เน้นที่ลาว-อินโดนีเซีย เนื่องจากมีความต้อง การใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นและการเมือง มั่นคง โดยจะดึงพันธมิตรธุรกิจ "บ้านปู"ร่วมแจมที่อินโดนีเซีย เผย ต้นปีหน้าเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน ไม่เกิน 5 พันล้านบาท หากได้ข้อสรุปการเจรจาซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจากบ้านปูแล้ว

ภายหลังจากบริษัทผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท ไตรเอนเนอจี้ จำกัด (TECO) ในสัดส่วน 37.5% โดยเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท บ้านปูแก๊ส เพาเวอร์ จำกัดเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยจะชำระเงิน และโอนหุ้นในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ส่งผลให้ RATCH มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,900 เมกะวัตต์

ส่งผลให้บริษัทฯรับรู้กำไรจาก การขายไฟฟ้าของไตรเอนเนอจี้ทันทีตลอดทั้งปี 2546 ตามสัดส่วน การถือหุ้น 37.5% ทำให้กำไรสุทธิปี 2546 สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,729 ล้านบาท

นายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯมีแผนจะขยายการ ลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ โดย จะเข้าไปร่วมทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่สปป.ลาวและโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง ในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นศักยภาพของธุรกิจ และต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตาม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ โดยได้หารือกับบริษัทการไฟฟ้าของลาว (อีดีแอล) เพื่อขายไฟฟ้าแก่ลาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกหาโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าลาว คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะ หนึ่ง

นายสมาน พงษ์ประภาพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิต ไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไพตัน คอมเพล็กซ์ ในอินโดนีเซีย จะเข้าไปถือหุ้นแทนผู้ร่วมทุนต่างชาติที่จะถอนตัวไป

การลงทุนในโรงไฟฟ้าที่อินโดนีเซีย อาศัยความร่วมมือกับกลุ่มบ้านปู ในฐานะพันธมิตรทาง ธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นถึง 15% เนื่องจากบ้านปูดำเนินธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียมานาน ทำให้มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่า รวมทั้งอาจเป็นผู้ป้อนถ่านหินให้โรงไฟฟ้าด้วย

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เกินกำลังการผลิตในประเทศ ทำให้เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าขาดแคลน ขณะที่สถานะทางการเมืองก็ค่อนข้างสงบ และค่าเงินรูเปียะห์มีเสถียรภาพมากขึ้น จึงเป็นช่องทางที่ดีในการเข้าไปลงทุน โดยบริษัทฯไม่ต้องการเข้าถือหุ้นใหญ่ หรือเข้าไปบริหารจัดการโรงไฟฟ้า

"การตัดสินใจเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยจะไม่คอมมิท ว่าจะลงทุนเมื่อไหร่ และจำนวนเมกะวัตต์ เพราะ จะเป็นการกดดันบอร์ดบริหาร และทำให้ผู้ถือหุ้น เสียประโยชน์หากเลือกลงทุนในโครงการที่ไม่ดี" นายสมาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างประเทศเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้น แต่การลงทุนต่างประเทศก็มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในขณะที่การลงทุนในประเทศ บริษัทยังตั้งเป้าหมายจะลงทุนในโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไว้แล้ว

โดยบริษัทฯจะหารือกับบมจ.บ้านปู เพื่อเจรจาขอซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จำนวน 25- 35% ตามที่ได้ลงนามสัญญาเอ็มโอยูก่อนหน้านี้ หลังจากได้พักการเจรจา เพื่อทำดีลโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นปี 2547

ปีหน้าออกหุ้นกู้ 5 พันล้าน

ด้านแหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี มาจากการออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว โดยอาจจะทยอยออกหุ้นกู้หรือทั้งหมดตามความ ต้องการใช้เงิน

"การออกหุ้นกู้ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งต้องดูอัตราดอกเบี้ยในตลาดก่อน หากพบว่าตลาดไม่เอื้อที่จะออกหุ้นกู้ควบคู่กับการกู้ยืมเงิน แต่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้ต้นปีหน้าอย่างแน่นอน"

ส่วนความคืบหน้าโครงการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง รวมกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการ ดำเนินการออกแบบและคัดเลือกบริษัทก่อสร้าง โดยจะเริ่มดำเนินการ 3 แห่งก่อน คือ โครงการที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองท่าด่าน และเขื่อน เจ้าพระยา ส่วนเขื่อนนเรศวรนั้นอยู่ระหว่างการ ออกแบบ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ ทางกฟผ.ในฐานะผู้ร่วมทุน 49% ของโครงการ ต้องรอการชี้ขาดจากกฤษฎีกาว่า การเข้าร่วมทุนในโครงการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำมูลค่ารวม 1,400 ล้านบาทเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการ เนื่องจากบริษัทฯจะดำเนินการไปก่อน จนกว่ากฟผ.จะได้ข้อยุติ ขณะนี้เพียง รอผลตัวเลขค่าเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์

สำหรับการเข้าร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้า หินกรูด 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะย้ายมาใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าราชบุรีฯนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา โดยบริษัท และปตท. จะถือหุ้นในสัดส่วน 40% ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมจะลดสัดส่วนลงเหลือ 60%

สำหรับผลการดำเนินงานใน 9 เดือน สิ้นสุด 30 กันยายน 2546 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,150.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.06% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 2.86 บาท

โดยบริษัทมีรายได้รวม 27,406.15 ล้านบาท มาจากรายได้ขายสุทธิ 27,263.88 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ 119.99 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 22.27 ล้านบาท ส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม 21,840.89 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 1,380.90 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.