พร สิทธิอำนวย " เขาตายไปแล้วจากสังคมไทย "

โดย บุญธรรม พิกุลศรี
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันธุรกิจในเครือกลุ่ม PSA ถูกศาลสั่งให้ล้มละลายไปแล้ว 3 บริษัทหลักๆของกลุ่มคือ บริษัทพีเอสเอ, บริษัทควันตั้ม ซิสเต็มส์และบริษัทสยามราษฎร์ รวมทั้งตัว พร กับ วนิดา สิทธิอำนวย ก็ถูกศาลสั่งไปแล้วทั้งสองคนเช่นกัน

รวมยอดบรรดาเจ้าหน้าที่ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายทั้ง 5 รายการร่วมร้อยราย เป็นยอดหนี้จำนวนสูงถึง 6,585 ล้านบาท(รวมยอดหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเองเข้าไปด้วย ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่ซ้ำกับมูลหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว)โดยมีเจ้าหนี้ที่ขอยื่นรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทสยามราษฎร์และ วนิดา สิทธิอำนวย จำนวน 51 รายเป็นเงินสูงถึง 2,763 ล้านบาท

เจ้าหนี้จากกองทรัพย์ของ พร สิทธิอำนวย จำนวน 18 รายมียอดหนี้รวมกันจำนวน 1,428 ล้านบาท ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทควันตั้มซิสเต็มส์จำนวน 6 ราย ยอดหนี้ 124 ล้านบาท และยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทพีเอสเอ จำนวน 18 รายทียอดหนี้รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 2,360 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามถ้ารวมกองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายทั้ง 5 รายโดยตัดหนี้ค้ำประกันที่เกิดการซ้ำซ้อนกันอยู่ (เฉพาะที่ค้นพบ) ประมาณ 1,000 ล้านบาทออกไปแล้วก็จะเหลือยอดหนี้ทั้งสิ้น 5,505 ล้านบาท และถ้าตัดยอดที่กู้กันเองระหว่างกิจการในเครืออีกประมาณ 4,000 ล้านบาทออกไปอีกก็จะเหลือยอดหนี้จริงๆเพียง 1,287 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่กองทรัพย์สินที่บรรดาเจาหนี้ทั้งหลายรวบรวมไดทั้งหมดนั้นมีมูลค่าปัจจุบันอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าถ้าทรัพย์สินที่รวบรวมได้นี้ ไม่ถูกโอนถ่ายเทออกไปในลักษณะที่รีบด่วน หรือไม่ถูกยึดมาใช้วิธีการขายแบบขายทอดตลาดแล้วว่ากันว่าเขาจะมีเงินเหลือจากการชำระหนี้ อีกไม่น้อยทีเดียว

ซึ่งยังไมพูดถึงว่าบรรดาทรัพย์สินที่เป็นพวกที่ดินนั้นถูกพัฒนาให้ราคามันดีขึ้นเสียก่อนอีกต่างหาก

ปัญหาว่าเงินจำนวน 4,000 กว่าล้านบาทที่กู้กันเองกระหว่างบริษัทในเครือนั้นมันหายไปไหน โดยเฉพาะยอดเงินที่บริษัทพีเอสเอ กับพร สิทธิอำนวย มีทรัพย์สินที่เป็นตัวตนอยู่เลย จะมีบ้างก็แต่วนิดา สิทธิอำนวยเท่านั้นเองที่มีที่ดีดินอยู่ที่ภูเก็ตอยู่ 2 แปลง และที่ดินที่เป็นบ้านพักของเธอเองกับที่ดินเป็นที่ดินเปล่า ๆ อยู่ในย่านคลองประเวศน์ พระโขนง จำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง

จนป่านนี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า พร กับวนิดา ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศใดกันแน่ ข่าวลืมที่กล่าวว่าพรมีธุรกิจระดับพันล้านอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และวนิดามีกิจการขนาดใหญ่โตอยู่ที่ออสเตรเลียได้เริ่มจางหายไป เมื่อไม่มีใครมีหลักฐานยืนยันชัดเจน

มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ยืนยันว่าเห็น วนิดา สิทธิอำนวย ปรากฏตัวอยู่ในเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2531 ที่ผ่านมา แต่เธอแจ้งต่อโนคารี่พับลิตว่าเธอพำนักอยู่ที่ เปตาลิง จายา 47300 กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนพร สิทธิอำนวยนั้นยังไม่มีใครเห็นเขาอีกเลยตั้งแต่วันที่เขาเดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว

"แต่ตัวเลข 4,000 กว่าล้านบาทที่บริษัทในเครือของเขาเองยื่นเข้ามาขอรับชำระหนี้นั้นจะเชื่อมากก็ไม่ได้ว่ามีการกู้เงินจริง เพราะเขาอาจจะมีวัตถุประสงค์อื่นก็ได้เช่น ถ้ามีเงินเหลือจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิอื่นเขาก็มีสิทธิที่จะรับการเฉลี่ยจากเจ้าหนี้ไม่มีบุริมสิทธิไปด้วยตามสัดส่วนและเมื่อดูแล้วก็จะเห็นว่าสัดส่วนของเขามากกว่า และอีกอย่างถ้ามีการกู้กันจริง ๆ เงินตั้งสามสี่พันล้านมันก็น่าจะมีร่องรอยให้เห็นบ้างว่าเขาเอาไปใช้อะไรบ้าง ถ้าจะว่าเอาไปลงทุนกับการขุดเจาะน้ำมันอย่างที่ว่าก็ไม่น่าจะมากมายขนาดนั้น เขาเพิ่งจะลงเมืองเท่านั้นเอง" ตัวแทนเจ้าหนี้รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกรณีที่มีการกล่าวกันว่า พร กับ วนิดามีชีวิตที่เสวยสุขอยู่ในต่างประเทศขณะนี้ เพราะจริง ๆ แล้วเขาอาจไม่เหลืออะไรเลยจริง ๆ จนไม่สามารถจะแก้ไขอะไรต่อไปได้อีกแล้วจึงต้องเผ่นหนีออกไปตามระเบียบ

ตัวแทนเข้าหนี้ที่ใกล้ชิดเหตุการณ์กล่าวว่า พร กับวนิดา เริ่มรู้ตัวว่าจะไปไม่รอดแน่ ๆ เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2528 หลังจากที่เขาได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจากสิงคโปร์ (บริษัทบิสเนส แอดไวส์เซอร์ ไทยแลนด์) เข้ามาช่วยแก้ไขภาระหนี้สินให้แก่เขาแต่ก็ๆไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนต้องมีการขายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ปฐมสยามออกไปให้แก่กลุ่ม AGE (AUSTRALIAN GUARANTEE COPORATION) ฉะนั้นเรื่องที่จะเจรจากับเจ้าหนี้อื่น ๆ ทั้งหลายก็เลยได้รับผลกระทบกระเทือนตามกันไปด้วย

กลุ่มธุรกิจ PSA ยิ่งแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้น เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์เข้ายึดกิจการของบริษัทสยามราษฎร์ลิซซิ่ง ซึ่งเป็นแขนขาสำคัญของกลุ่มที่ยังพอเป็นแหล่งทำเงินได้บ้าง

กล่าวกันว่านอกจากบริษัทเงินทุนปฐมสยามมีภาระหนี้เสียที่ปล่อยให้แก่ธุรกิจในเครือด้วยกันถึง 600 กว่าล้านแล้ว กลุ่ม PSA ยังประสบการมรสุมอีกหลายลูกที่รุกกระหน่ำจนเอาตัวไม่รอด เริ่มตั้งแต่การลดค่าเงินบาทของรัฐบาล การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจส่งออกก๊าซกับกลุ่มเท็กซัสแปซิฟิค ซึ่งต่อมาโดนนโยบายห้ามส่งออกก๊าซของรัฐบาล การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก แต่ต้องปะสบกับภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำจากบาร์เรลละ 30 กว่าบาทเหลือเพียงบาร์เรลละ 10 กว่าบาทเท่านั้นและการลงทุนสร้างอาคาร ดิเอ็มเมอรัลด์ ทาวเวอร์ซึ่งว่ากันว่าเป็นอาคารที่ลงทุนสร้างด้วยเงินสูงมาก เพราะเป็นอาคารที่ดีที่สุดและก็ราคาแพงที่สุดในยุคนั้น แล้วสุดท้ายก็ขายไม่ออก

มีธุรกิจหลายอย่างที่ประสบวิกฤตการณ์ในช่วงนั้นสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ในปัจจุบัน ด้วยการแก้ปัญหาของเจ้าของกิจการในวิธีง่าย ๆ กล่าวคือยอมให้ธนาคารเข้าควบคุมและดำเนินกิจการ เพื่อพยุงฐานะให้พออยู่ได้และก็นั่งรอโอกาสที่วงจรธุรกิจจะกลับคืนมาดีอีกครั้งหนึ่ง มีตัวอย่างมากมายที่โชคเข้าข้างเขา

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อย่างกลุ่มนครไทยสตีลเวิร์ค ของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อุตสาหกรรมสิ่งทออย่างกลุ่มไทยเกรียง หรือกลุ่มสวนสยามของไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ หรือแม้แต่ธุรกิจอาคารอาคารชุดอย่างสยามคอนโดมิเนียมที่แยกอโศก - รัชดา ที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ แต่วันนี้กลับเป็นตัวเงินที่คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ ขายออกไปในราคาที่ท่วมต้นท่วมดอกที่สะสมกันมาหลายปี

แต่พร สิทธิอำนวยผู้มี MBA จาก HAVARD BUSINESS SCHOOL เขาจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ ทางด้านนี้จากสิงคโปร์เข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหานี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดตามหลักการ แต่ก็ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงที่ไม่สามารถ จะเจรจากับเจ้าหนี้ในเงื่อนไขตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอให้กลุ่ม AGC เข้ามาร่วมถือหุ้นส่วนหนึ่ง เพื่อการบริหารจะยังเป็นของกลุ่ม PSA ได้ ส หรับหนี้ที่ค้างขำระก็มีแผนผ่อนชำระเป็นระยะ ๆ แต่ตกลงกันไม่ได้ จนในที่สุดทาง AGC ต้องเข้ามาซื้อไว้ถึง 80% ร่วมกับทางกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน

ตัวแทนเจ้าหนี้รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าวิธีการต่อรองแบบ MBA อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ในสังคมไทย ยิ่งการต่อรองในฐานะลูกหนี้แล้วยิ่งใช้ไม่ได้เอาเสียเลย

ขบวนการเข้าช่วงชิงหนี้คืนของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาไม่ประสบผลสำเร็จ

ความพยายามที่จะได้หลักประกันเพิ่มขึ้นจากมูลหนี้ 20 กว่าล้านบาทที่เดิมมีหลักประกันเพียงใบหุ้นของบริษัทสยามราษฎร์เพียง 200,000 หุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเริ่มเข้มข้นมากขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จผล เพราะหลักประกันที่ พร สิทธิอำนวยนำมาเพิ่มให้นั้นก็ยังคงเป็นหุ้นของบริษัทสยามราษฎร์อีกเช่นเคย

แม้จนถึงเดือนมีนาคม 2529 ก่อนยื่นฟ้องล้มละลาย 3 เดือนธนาคารกรุงศรีจะได้หุ้นเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 หุ้น มูลค่าตามราคาพาร์ 30 ล้านบาท แต่ก็ท่ากับไม่มีค่าอะไรโดยเฉพาะที่ดินของบริษัทสยามราษฎร์อย่างอาคารตึกไทยและตึกเอ็มเอมรัลด์นั้นจดทะเบียนจำนอง อยู่กับธนาคารกรุงเทพหมดแล้ว

"เรารู้ว่าธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่และก็เป็นเจ้าหนี้จำนองของตึกทั้งสอง ซึ่งมีการเพิ่มวงเงินจำนองสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะไม่เหลืออะไรเลย เราเองจึงจำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด" ตัวแทนเจ้าหนี้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงการยื่นฟ้องล้มละลายกลุ่ม PSA เป็นรายแรกก่อนที่จะเกิดสถานการณ์แบบผึ้งแตกรังของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยายื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลายพร้อมกัน 5 ราย ในสำนวนเดียวกันคือบริษัทพีเอสเอบริษัทควันตั้มซิสเต็มส์บริษัทสยามราษฎร์ พร และ วนิดา สิทธิอำนวยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2529

ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อีกรายของกลุ่ม PSA ก็ได้รับชำระหนี้ไปอย่างละมุน ละม่อม โดยการเข้ายึดกิจการบริษัทสยามราษฎร์ ลิซซิ่งแทนการขำระหนี้แม้จะต้องแบกภาระหนี้สินไปด้วย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะสยามราษฎร์ ลิซซิ่งโดยตัวของมันเองสามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ประกอบกับธนาคารไทยพาณิชย์เองก็ไม่มีธุรกิจลิซซิ่งในเครือมาก่อน การได้สยามราษฎร์ลิซซิ่ง เข้าไปไว้ในเครือจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

"ส่วนหนี้ที่ยังค้างชำระอีกร้อยกว่าล้าน เรายังมีที่ดินเป็นหลักประกันจำนองอยู่ ซึ่งพอจะคุ้มทุน" คนในธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยความสบายใจถึงกรณี PSA แม้เจ้าหนี้รายอื่นยังคลางแคลงใจถึงเงื่อนไขการชำระหนี้โดยการโอนหุ้นที่กระทำกันนั้นจะเป็นเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายได้หรือไม่

พระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 114 กำหนดว่า การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนที่จะมีการเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ เว้นแต่การกระทำนั้นจะกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

"เรากระทำโดยสุจริตแน่ เพราะเป็นการบังคับจำนำหุ้นตามกฎหมายแล้วเราก็ซื้อไว้" แหล่งข่าวคนเดียวกันในธนาคารไทยพาณิชย์กล่าว

สิ่งที่คลางแคลงใจอีกอย่างหนึ่งของบรรดาเจ้าหนี้ในปัจจุบันก็คือมูลหนี้กับวงเงินจำนองตึกไทยกับตึกเอ็มเมอรัลด์ที่กลุ่ม PSA ทำไว้กับธนาคารกรุงเทพนั้นทำไมมันพอดิบพอดีกันเหลือเกิน และอาจจะถือเอาเป็นเหตุตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติละลายด้วยเช่นกัน

ตัวแทนเจ้าหนี้คนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเรื่องนี้เรากำลังเสาะหาข้อมูลอยู่ เหตุที่ทำให้บรรดาเข้าหนี้สงสัยเช่นนั้นก็เพราะว่า พร สิทธิอำนวย มีพี่ชายแท้ ๆ ชื่อ ปิติ สิทธิอำนวย ผู้บริหารระดับสูง ระดับกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในธนาคารกรุงเทพซึ่งเมื่อพรรู้ตัวเองว่าถึงอย่างไรก็ไปไม่รอด แน่แล้วนั้นอาจจะมีการช่วยเหลือกันเป็นกรณีพิเศษยอมจดทะเบียนจำนองเป็นหลักทรัพย์เพิ่มวงเงินสูงขึ้น เพื่อให้คุ้มกับหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

แต่ตัวแทนธนาคารกรุงเทพที่จัดการเรื่องหนี้ของกลุ่ม PSA คนหนึ่งกล่าวว่าเขาดูเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุดหลักทรัพย์ทั้งสอง (ตึกไทยกับตึกเอ็มเมอรัลด์) มีการจดทะเบียนจำนองมากตั้งแต่ต้น แม้ระยะหลังจะมีการเพิ่มวงเงินให้สูงขึ้นตามจำนวนหนี้ที่ค้างชำระและขอวงเงินกู้เพิ่มไปบ้างก็ไม่อยู่ในข่ายที่จะขอเพิกถอนได้

ดำรง กฤษณามระ กรรมการผู้อำนวยการธนาคารกรุงเทพกล่าวว่าสำหรับธนาคารกรุงเทพได้รับชำระหนี้ที่คุ้มทุนพอดี จะขาดทุนก็เพียงดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ธนาคารกรุงเทพเป็นเข้าหนี้เงินกู้ประมาณ 500 กว่าล้านบาท มีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกัน 3 รายการคือตึกไทยจำนองไว้ 100 กว่าล้านบาท ตึกเอ็มเมอรัลด์จำนองไว้ 300 กว่าล้านบาท และบ้านพักพร้อมที่ดินที่สาธรของพรเองจำนองไว้ 20 ล้านบาท

เรียกได้ว่าธนาคารไทยพาณิชย์กับธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่เดือดร้อนในการล้ม ของกลุ่ม PSA รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม ซึ่งรับจำนองที่ดินที่เชียงใหม่ไว้หมด เมื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วยังมีเงินเหลือส่งเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลายต่อไปถึง 19 ล้านบาท

ความโกลาหลจึงตกลงแก่เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือจะมีหลักประกัน หรือจะมีหลักประกันก็เป็นประเภทใบหุ้นของบริษัทในเครือ โดยเฉพาะใบหุ้นของบริษัทสยามราษฎร์ และตั๋วสัญญาใช้เงิน

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ยังพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า พรกับวนิดา สิทธิอำนวย ได้เตรียมตัวที่จะจากเมืองไทยไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีก เมื่อการเจรจาเรื่องการฟื้นฟูบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะไม่สำเร็จเพียงเล็กน้อยและก่อนที่จะถูกฟ้องล้มละลายเพียงไม่กี่วัน

วนิดาได้ยื่นขอไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงหนึ่งที่เป็นบ้านพักของเธอเองริมคลองประเวศน์ต่อธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเงิน 13 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยายื่นฟ้องเธอในคดีล้มละลายและในวันเดียวกันนั้นก็ได้นำไปจดจำนองและจดทะเบียนให้เช่าระยะยาว 30 ปีแก่นายโซอิชิ คาจิมา เป็นมูลค่า 30 ล้านบาทและค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท

สัญญาเช่าให้สิทธิแก่ผู้เช่าที่จะเช้าดำเนินการกับทรัพย์สินที่เช่า ตลอดทั้งเมื่อครบกำหนด 30 ปีแล้วก็เป็นสิทธิของผู้เช่าแต่ผู้เดียวที่จะเช่าต่อได้ แม้ผู้ให้เช่าไม่ยินยอมก็ตาม ซึ่งเป็นข้อความที่แปลความหายได้ว่ามันก็คือการขายนั่นเองเพียงแต่กฎหมายห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติมีกรรมสิทธ์ในที่ดินก็เลยต้องออกมาในรูปนี้นั่นเอง

แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลนี้กล่าวว่าเธอคงจะได้เงินจำนวนไม่น้อยจำนวนหนึ่งที่เหลือจากการชำระหนี้ไถ่ถอนจากไทยพาณิชย์ติดกระเป๋าไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ

และก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อยเธอก็ได้ชายที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่ที่หาดสุรินทร์ ภูเก็ตให้แก่บุคคลอื่นได้เงินติดกระเป๋าไปหลายสิบล้านบาทเช่นกัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดตามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ว่าจะเพิกถอนการขายรายนี้ได้หรือไม่

อีกข้อมูลหนึ่งที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเองก็น่าจะรู้ดีกว่าใครอื่นก็คือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2529 วนิดาได้ขายที่ดินจองเธออีกแปลงที่ถนนศรี สุนทรบนเกาะภูเก็ตเนื้อที่ 35 ไร่ให้แก่ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ บริษัทที่บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ในปัจจุบันนี้นี่เองซึ่งมี ชวนรัตนรักษ์ เป็นประธานกรรมการและก็เป็นคนเดียวกันกับคนที่เป็นประธานกรรมการของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ตามเอกสารทางทะเบียนระบุว่าซื้อขายกันในราคาเพียง 17 ล้านบาทเท่านั้น แต่คนที่รู้เรื่องภาวะราคาที่ดินที่ภูเก็ตดีคนหนึ่งบอกว่าอยากรู้ราคาจริงต้องเอา 3 คูณเข้าไปอย่างน้อย

เดิมทีเดียว ที่ดินแปลงนี้วนิดาจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเข้าหนี้รายใหญ่ของกลุ่ม PSA ตั้งแต่ปี 2528 จึงเป็นเหตุให้บรรดาเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในคดีล้มละลายต่างก็สงสัยรายการซื้อขายนี้จะสามารถเพิกถอนได้หรือไม่ เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ส่วนรวมขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตามสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่ม

ส่วนที่ดินเกือบ 1,000 ไร่ที่ปทุมธานี แหล่งข่าวคนเดียวกันก็แจ้งอีกว่าได้มีการโอนขายให้แก่บุคคลอื่นไปก่อนที่จะถูกฟ้องล้มละลายเพียงเล็กน้อยแต่เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ประกอบด้วยโฉนดถึง 60 กว่าใบ จึงอยู่ในระหว่างการสืบค้นของบรรดาเจ้าหนี้ว่าได้มีการขายออกไปให้ใครบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดแจ้งมากขึ้นก่อนที่จะขอให้มีการเพิกถอนการขายนั้นเสีย

และก่อนที่จะถึงวันที่ วนิดา สิทธิอำนวย ก็ได้มอบหมายให้คนมาขอแจ้งย้ายออกจากบ้านเลขที่ 102 ซอยพระพินิจ ทุ่งมหาเมฆ ระบุภูมิลำเนาที่จะย้ายไปอยู่ว่าเป็นสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

ความสับสนวุ่นวายจึงเกิดแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งหลาย หรือถ้าจะมีหลักประกันก็เป็นประเภทพวกใบหุ้นของบริษัทสยามราษฎร์ และตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่ามันเป็นหลักประกันที่แทบจะไม่มีค่าอะไรเลย

หลังจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้นำในการยื่นฟ้องล้มละลายไปก่อนเพื่อบรรดาเข้าหนี้ทั้งหลายที่กำลังจ้องดูท่าทีอยู่เหมือนผึ้งแตกรัง

บริษัทเงินทุนไทยเซฟวิ่งทรัสต์ก็ยื่นฟ้องตามมาติด ๆ จากมูลหนี้ 30 ล้านบาทโดยมีบริษัท เอเอฟพี และ พร สิทธิอำนวย เป็นจำเลย ซึ่งต่อมาคดีนี้ศาลสั่งให้พรเป็นบุคคลล้มละลาย และก็ปรากฏว่ามีผู้มายื่นของรับชำระหนี้ในคดีนี้ 18 รายรวมยอดหนี้ 1,428 ล้านบาท

ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ได้ยื่นฟ้องบริษัทควันตั้มซิสเต็มส์ กับบริษัทเอเอฟพี ให้ล้มละลายอีกคดี ซึ่งคดีนึ้ศาลสั่งให้บริษัทควันตั้มซิสเต็มส์ล้มละลาย มีเจ้าหนี้เข้ามายื่นขอรับชำระหนี้รวม 6 รายเป็นยอดหนี้รวมกันทั้งสิ้น 124 ล้านบาท และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกไฟแนนซ์ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัท พีเอสเอ กับ พร สิทธิอำนวย และสำหรับคดีนี้ศาลสั่งให้พรล้มละลายปรากฏว่ามีเจ้าหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้ 18 รายมียอดหนี้รวมกันทั้งสิ้น 2,673 ล้านบาท

แต่ถ้าจะนับเฉพาะเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและตัดเจ้าหนี้ที่เป้ฯบริษัทในเครือกู้ยืมกันเองออกไปแล้วแม้จะเหลือยอดหนี้เพียง 700 กว่าล้านบาทเท่านั้นเองก็ยังเป็นยอดหนี้ที่สูงกว่ามูลค่ากองทรัพย์สินที่เหลือยู่

จากรายการกองทรัพย์สิน จะเห็นว่าทรัพย์สินที่พอมองเห็นเป็นตัวเป็นตน และพอจะนำมาชำระหนี้ได้นั้นมีเพียงรายการเงินสด 63 ล้านบาท พันธบัตรรัฐบาล 8 ล้านกว่าบาท หุ้นที่พรถือไว้ในบริษัทต่าง ๆ 105 ล้านบาทรวมเป็นเงินเพียง 176 ล้านบาทเท่านั้นเอง เมื่อนำไปเทียบกับมูลหนี้ 700 ล้านบาทจะมีมูลหนี้ที่ไม่สามารถขำระได้ถึง 524 ล้านบาท

แต่จำนวน 500 กว่าล้านบาทที่พรจะหามาชำระให้หมด เพื่อให้ตัวเองพ้นจากสภาพคำสั่งล้มละลายนั้น เอกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นอะไรเลยแต่เขาจะบอกกับคนทั้งหลายได้อย่างไรว่าเงินที่เขากู้บริษัทในเครือไปเกือบ 4,000 ล้านบาทนั้นมันไปอยู่ที่แห่งใด และมันก็ได้กลายเป็นชนักติดหลังพรอยู่คลอดเวลาว่าเขาอาจถูกดำเนินคดีอาญาเอาได้ง่าย ๆ ซึ่งมันคงไม่คุ้มกันแน่ ๆ

จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พร สิทธิอำนวย เจ้าของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และน่ากลัวเมื่ออดีต เขาได้ตายไปแล้วจากสังคมไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.