DOLPHIN SAFE


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยกำลังเผชิญกับแรงต้านจากผู้ผลิตและนำเข้าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของไทย ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือ ความพยายามตอบโต้การรุกคืบเข้ายึดครองตลาดของผู้ผลิตและส่งออกจากต่างประเทศ

ผู้นำตลาดปลาทูน่ากระป่องในสหรัฐฯ มีอยู่สามรายเรียงตามส่วนแบ่งตลาดคือ STAR-KIST 35% CHICKEN OF THE SEA 19% และ BUMBLE BEE 18% สองรายหลังตกเป็นกิจการของผู้ส่งออกปลาทูน่าจากต่างประเทศคือกลุ่ม MANTRUST ของอินโดนีเซียและยูนิคอร์ด ของประเทศไทยตามลำดับเหลือเพียง STAR-KIST รายเดียวที่ยังคงเป็นของสหรัฐฯอยู่

การปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ มาแล้วเมื่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ ใช้สิทธิตามมาตรา 332 ของกฎหมายการค้าปี 1987 เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภาดำเนินการสอบสวนหาข้อมูลในอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง

การสอบสวนเช่นนี้เป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีหากมีข้อมูลว่าผู้ผลิตต่างชาติใช้วิธีทุ่มตลาดตัดราคา หรือได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ได้เปรียบต่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ ในกรณีของปลาทูน่ากระป๋องหากไปถึงขั้นการออกกฎหมายกีดกันการค้าแล้ว อัตราภาษีขาเข้าอาจจะถูกปรับให้สูงขึ้นมากกว่า 20% จาก 6.5% ในขณะนี้หรืออาจะมีการเก็บภาษีตัวใหม่ขึ้นก็ได้

มาตรการแบบนี้ไม่ใช่ ของใหม่ ในอดีตได้มีความพยายามเคลื่อนไหวให้รัฐสภา สหรัฐฯ ออกกฎหมายกีดกันผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมาแล้ว แต่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยอย่างเช่นยูนิคอร์ด หรือไทยรวมสินใช้การวิ่งเต้น ล็อบบี้วุฒิสมาชิกในคณะกรรมาธิการการค้ารวมไปถึงการทำลายเสียงเรียกร้องของผู้ผลิตสหรัฐฯ ให้แตกสลายลง โดยใช้สมาคมผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปเป็นองค์กรนำในการเคลื่อนไหวและสามารถยับยั้งการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าได้สำเร็จมาแล้ว

แต่ความพยายามของผู้ผลิตสหรัฐฯ ครั้งใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเพราะยิ่งนานวันตลาดปลาทูน่ายิ่งถูกแย่งชิงไปโดยผลิตจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเจอกับกลยุทธการแปลงสัญชาติด้วยการเข้าไปซื้อกิจการในสหรัฐฯ เสียเลยของผู้ส่งออกจากไทยและอินโดนีเซียเข้าด้วยแล้วคงต้องดิ้นกันสุดตัว

พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวโดยยืมมือของรัฐ ผู้ผลิตสหรัฐฯ ก็ใช้มาตรการตอบโต้คู่แข่งจากต่างชาติในเวลาเดียวกันด้วยการรณรงค์ไม่ซื้อปลาทูน่าที่ได้มาด้วยการแลกกับชีวิตของปลาโลมา (DOLPHIN SAFE)

การจับปลาทูน่าโดยใช้อวนลากมักจะมีปลาโลมาติดมาด้วย ในปีหนึ่งมีปลาโลมาที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เสียชีวิตด้วยการนี้ไปไม่น้อย STAR-KIST เป็นผู้เริ่มประชาสัมพันธ์ตอบโต้ครั้งนี้ โดยจับเอาความตื่นตัวของคนอเมริกันในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติมาเป็นจุดขายสินค้าของตัวเอง ทำให้ CHICKEN OF THE SEA และ MUMBLE BEE ต้องประกาศนโยบาย DOLPHIN SAFE ตามไปด้วย

เป้าหมายสำคัญของนโยบายนี้คือประเทศไทย ซึ่งกำลังขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทุกที ไทยส่งปลาทูน่ากระป๋องเข้าสหรัฐฯ ปีละ 12 ล้านหีบ คิดเป็น 70% ของปริมาณนำเข้าของสหรัฐฯ และเท่ากับ 30% ของส่วนแบ่งตลาด ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ และเท่ากับ 30% ของส่วนแบ่งตลาด ความสำคัญของตลาดส่วนแบ่งสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องหันไปเล่นตาม STAR-KIST ด้วยการใช้นโยบาย DOLPHIN SAFE โดยประกาศงดซื้อปลาจากแหล่งประมงในน่านน้ำแปซิฟิกตะวันออก ซึ่งมีรายงานว่าเป็นย่านที่มีการผลาญชีวิตปลาประมงมากที่สุด

ไทยใช้ปลาทูน่าจากแหล่งประมงแปซิฟิกตะวันออกปีละประมาณ 2% การงดซื้อจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนในเรื่องวัตถุดิบมากเท่าใด แต่นโยบาย DOLPHIN SAFE เป็นสัญญาณของการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น หลากหลายรูปแบบขึ้น ในขณะเดียวกันการตอบโต้ของไทยก็บ่งบอกถึงความทันต่อเหตุการณ์และความเป็นมวยของผู้ส่งออกในอุสาหกรรมนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.