จักรทิพย์ในกลุ่มสุเอซ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

เวลา 92 ปีในประเทศไทยของธนาคารอินโดสุเอซ นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากสำหรับการลงหลีกปักฐานอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย

แต่ในกรณีของ COMPAGNIE FINANCIEREDE SUEZ หรือกลุ่มสุเอซซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารอินโดสุเอซนั้น ปรากกว่าความแข็งแกร่งมั่นคงเพิ่งจะเริ่มเกิดเมื่อปลายปี 2532 นี่เอง ทั้งนี้เป็นการกล่าวโดยพิจารณามูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของกลุ่มสุเอซ ซึ่งพุ่งขึ้นจาก 13 พันล้านฟรังก์ในต้นปี 2531 เป็น 50 พันล้านฟรังก์เมื่อสิ้นปี 2532 และมีสินทรัพย์รวมประมาณ 70 พันล้านฟรังก์

ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นว่าจุดเริ่มการเติบโตของกลุ่มสุเอซเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2530 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจขายรัฐวิสาหกิจแห่งนี้เป็นบริษัทมหาชน ตอนนั้นกลุ่มสุเอซเป็นโอลดิ้ง คอมปานีของรัฐบาลซึ่งมี่หุ้นอยู่ในวาณิชธนกิจและหุ้นเล็กๆ น้อยๆ ในอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่ง

จังหวะที่รัฐบาลฝรั่งเศสปล่อยหุ้นรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ลงตลาดหลักทรัพย์ เป็นจังหวะเดียวกับที่เกิดวิกฤตในตลาดหุ้นทั่วโลก หลายคนคงจะจำเหตุการณ์เมื่อ "จันทร์ทมิฬ" ปีนั้นได้ชัดเจนผลที่ตามมาคือ ราคาหุ้นสุเอซดิ่งหัวปักลงอย่างที่ไม่มีใครคาดว่าจะโผล่ขึ้นมาได้อีก

ครั้นเวลาผ่านไป 2 ปี กลุ่มสุเอซกลับปรากฏชื่อเป็นโฮลดิ้ง คอมปานีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ครอบครองผลประโยชน์มหาศาลในกิจการอุตสาหกรรมและอาณาจักรทางการเงิน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวดูเหมือนจะเกิดจากความสำเร็จ ในการซื้อกิจการขนาดใหญ่ 2 แห่งในยุโรปซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของ"โชคที่ได้มาด้วยความบังเอิญ" มากกว่า"การก้าวอย่างมีจังหวะ"

กิจการอันดับแรกที่หาซื้อมาได้สำเร็จคือ SOCIETE GENERALE BELGIQUE (SGB) ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง คอมปานีขนาดยักษ์ของเบลเยี่ยม ควบคุมอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล็ก สังกะสี ซีเมนต์ อสังหาริมทรัพย์ และเป็นกิจการที่มีกำไรอย่างมากๆ เพราะว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ เติบโตขยายตัวมากในช่วงที่ผ่านมา

กลุ่มสุเอซเข้ามาเป็น"อัศวินม้าขาว" เมื่อ CARLODE BENEDETTI นักการเงินชาวอิตาเลี่ยนประกาศ HOSTILE BID กับ SGB ตัวเดอเบเนเดตติ ก็มีหุ้นจำนวนหนึ่งในกลุ่มสุเอซ บรรดาผู้บริหารกลุ่มสุเอซเกรงว่าเป้าหมายต่อไปที่นักซื้อกิจการายนี้สนใจ อาจเป็นกลุ่มสุเอซขึ้นมาก็เป็นได้ หลังจากที่มีการสู้ราคากันอย่างยืดเยื้อยาวนานและเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในทั่วโลก กลุ่มสุเอซก็สามารถครองหุ้นได้ 50.6%ในปี 2531 คิดเป็นมูลค่า 13 พันล้านฟรังก์

ส่วนกิจการใหญ่อีกอันหนึ่งที่กลุ่มเพิ่งจะซื้อมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อปีที่แล้วคือบริษัทประกันชื่อ GROUPE VICTOIRE ซึ่งสุเอซก็ถือหุ้นอยู่แต่เดิมแล้ว 40% มูลเหตุการซื้อครั้งนี้มาจากการที่ VICTOIRE ต้องการขยายกิจการแบบไวๆ โดยการเข้าไปซื้อกิจการประกันภัยใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนีตะวันตกชื่อ COLONIA VERSICHERUNG ซึ่งต้องใช้เงินถึง 12 ล้านฟรังก์

VICTOIRE หาเงินโดยใช้วิธีขายหุ้นให้ผู้ร่วมทุนใหม่ซึ่งเป็นบริษัทอิตาลี นั่นเท่ากับจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของสุเอซลดน้อยลง สุเอซจึงประกาศซื้อทั้ง VICTOIRE และ COLONIA เป็นมูลค่าถึง 25.5 พันล้านฟรังก์และก็ชนะไปในที่สุด การซื้อครั้งนี้นับเป็นราคาซื้อกิจการที่แพงที่สุดที่เคยมีขึ้นในฝรั่งเศส

แต่สุเอซก็ไม่ขาดทุนแต่อย่างใด เพราะได้มีการขายหุ้นบางส่วนในบริษัททั้งสองให้กับบริษัทประกันใหญ่ๆ ขณะที่ยังเก็บหุ้นส่วนข้างมากเพื่อให้สามารถควบคุมการบริหารไว้ราคาที่สุเอซจ่ายไปจริงๆ นั้นสุทธิเพียงแค่ 3.4 พันล้านฟรังก์

จะเห็นได้ว่าการซื้อกิจการทั้งสองรายการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนเลย หลังจากที่ได้ SGB และ VICTOIRE แล้วกลุ่มสุเอซขยายเติบโตขึ้นมาก (ดูตารางการถือหุ้นของกลุ่มสุเอซ) ทั้งในแง่ของขนาดและเครือข่ายธุรกิจ โดยมีกิจการครอบคลุมทั้งทางด้านวาณิชธนกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรม

กิจการสำคัญของกลุ่มสุเอซคือธนาคารอินโดสุเอซ ซึ่งมีธุรกิจที่เข้มแข็งมากในย่านเอเชียและตะวันออกกลาง แม่กลุ่มสุเอซจะถือหุ้นในธนาคาร 100% ทว่าธุรกิจธนาคารมีขนาดเล็กกว่า SGB และธุรกิจประกันอย่างมาก ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่ากิจการ SGB และ VICTOIRE ทำกำไรให้กลุ่มสุเอซอย่างมาก โดยเมื้อสิ้นปี 2530 กลุ่มฯมีกำไรหลังหักภาษี 2.1 พันล้านฟรังก์ และเพิ่มเป็น 2.7 พันล้านฟรังก์หลังจากรวมผลกำไรของ SGB เข้ามาเมื่อสิ้นปี 2531 ส่วนปี 2532 ซึ่งจะคำนวณเอาผลกำไรของ VICTOIRE รวมเข้ามาด้วยนั้นคาดหมายว่า จะได้ผลกำไร 4 พันล้านฟรังก์ จากรายรับสุทธิประมาณ 85 พันล้านฟรังก์

การขยายกลุ่มเติบใหญ่ของกลุ่มสุเอซในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร บรรดาบริษัทย่อยในเครือต้องเพิ่มการติดต่อปรึกษาหารือกับสำนักงานใหญ่มากขึ้น ฝ่ายบริหารของกลุ่มได้มีการคิดค้นแผนงานทางธุรกิจให้แก่บริษัทในเครือต่างๆ โดยมีสมมุติฐานว่าการลงทุนแต่ละอย่างจะต้องสร้างผลตอบแทนกลับคืนมา 15 % ส่วนธุรกิจที่มีความเสียงมากก็ต้องมีผลตอบแทนกลับมามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ว่ากันว่า บริษัทในกลุ่มสุเอซทุกแห่งต้องมีการประชุมประจำเดือนกับฝ่ายบริหารส่วนกลางที่ปารีส เพื่อพูดคุยในเรื่องงบประมาณและความก้าวหน้าของธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ให้ความเห็นว่าถึงแม้จะมีการประชุมกันเป็นประจำ แต่ในแง่ของการที่จะร่วมมือกันระหว่างบริษัทในเครือนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่

นอกจากนี้ในส่วนของกิจการธนาคารอินโดสุเอซนั้น ปรากฏว่าความพยายามที่จะขอซื้อหุ้นเพิ่มมากขึ้นในมอร์แกนเกรนเฟลล์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจใหญ่แห่งหนึ่งในอังกฤษเมื่อปี 2532 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนั้นสะท้อนจุดอ่อนของธนาคารฯ อย่างเห็นได้ชัด อินโดสุเอซ ขาดกลไกทางด้านวาณิชธนกิจที่เข้มแข็งในระดับระหว่างประเทศ แม้ในส่วนของการทำ PROJECT FINANCE และ M&N ในฝรั่งเศสเองนั้นอินโดสุเอซจะคลองตลาดอยู่มากก็ตาม

เมื่อย้อนกลับมาดูในไทยปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสาขาที่นี่ก็สะท้อนความเป็นไปของกลุ่มสุเอซ ดังที่กล่าวมาแล้วอย่างชัดเจน

จักร์ทิพย์ นิติพน อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ได้รับการทาบทามให้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารอินโดสุเอซ สาขาประเทศไทย เขาถูกส่งไปดูงานประชุมและอบรมอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานใหญ่ที่ปารีสเป็นเวลาถึง 6 เดือน เมื่อกลับมากรุงเทพฯไม่นานนัก เขาก็ได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ (GENERAL MANAGER) แทนที่ผู้จัดการชาวฝรั่งเศสคนเดิม "ชองก์ มาเล่ย์" ซึ่งถูกย้ายกลับเข้าไปประจำที่สำนักงานใหญ่ จักร์ทิพย์ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดของธนาคารต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย

นักวิเคราะห์ในวงการธนาคารต่างประเทศในไทยกล่าวกับ"ผู้จัดการ" ว่า ธนาคารต่างประเทศในไทยทุกแห่งอยากจะหาคนไทยขึ้นมาเป็นผู้จัดการกันทั้งนั้น แต่ติดที่ว่าหาคนที่มีฝีไม้ลายมือและความเหมาะสมกับตำแหน่งยากมาก ประโยชน์ที่จะได้คนไทยมาเป็นผู้จัดการนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนา

จักร์ทิพย์ กล่าวกับ"ผู้จัดการ"ว่าเหตุผลประการหนึ่งที่เขาก้าวมาสู่ระดับสูงก็เพราะธนาคารฯ มีเป้าหมายที่จะรุกตลาดวาณิชธนกิจ และตัวเองเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนี้เป็นอย่างดีจากไอเอฟซีที

งานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การนำเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งทางอินโดสุเอซก็ได้ทำไปบ้างแล้ว คือเป็น ARRANGER ให้ SIAM FUND วงเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท การให้ความสนับสนุนทางการเงิน 3,000 ล้านบทแก่โครงการรถลอยฟ้า รวมถึงการค้ำประกันเงินกู้ในโครงการเดียวกันอีก 4,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการแนะนำตราสารทางการเงินใหม่ๆ เข่ามาใช้ในตลาดเมืองไทยและเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนและการค้าในไทย ซึ่งปรากฏว่ามีนักลงทุนชาวฝรั่งเศส สนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นโดนเฉพาะในกิจการโรงแรม

หากพิจารณาดูการขยายตัวของกิจการธนาคารอินโดสุเอซในไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีการขยายในด้านของตลาดทุนมากเป็นพิเศษ คือมีการร่วมทุนกับบลง.นวธนกิจ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารทหารไทยและเป็นบริษัทค้าหลักทรัพย์ที่ทำรายได้ดีเป็นระยะๆ มีการตั้งบริษัทวิจัย ดับบลิว.ไอ.คาร์ โดยร่วมกับบริษัทแม่ในฮ่องกง เพื่อเข้ามาวิจัยตลาดหุ้นไทยและชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

การขยายตัวใน 2 บริษัทนี้สอดคล้องไปกับการเติบโตของตลาดทุนไทย หรือหากจะมองอีกทางหนึ่ง ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะมีส่วนร่วมในตลาดวาณิชธนกิจด้านใดด้านหนึ่ง ก็เป็นเพียงความพยายาม ซึ่งจริงๆ แล้วอินโดสุเอซยังไม่เคยโชว์ฟอร์มงานวาณิชธนกิจอย่างจริงๆ จังๆ สักที

คงต้องรอดูผลงานของอินโดสุเอซในยุคผู้บริหารไทยอย่างจักรทิพย์กันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.