การประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารสหธนาคารประจำปี 2533 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยสร้างความผิดหวังให้กับนักสังเกตการณ์วงนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อยากเห็นการได้เสียเกิดขึ้นเป็นอันมากไม่น้อย
เพราะได้มีการคาดหมายรวมทั้งการสร้างกระแสปูพรมไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่ายกที่สองของการประลองกำลังระหว่าง
"ชลวิจารณ์" กับ"เพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตร-เอบีซี" คงจะดุเดือดไม่แพ้ยกแรกเมื่อปีที่แล้วและคงจะได้รู้กันเสียทีว่าใครกันแน่ที่แน่กว่าใคร
เมื่อไม่มีอะไรในกอไผ่จริงๆ ในการประชุมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาคาดหมายกันต่อไปว่าถึงปีนี้ไม่มีเรื่องปีหน้าหรือปีต่อๆ
ไปก็ต้องมีเข้าสักปีหนึ่งจนได้ คอยดูกันไปเถอะ!
ระหว่างรอเพื่อไม่ให้เรื่องราวเงียบเหงาจนตกสายตานักสังเกตการณ์ ก็เลยมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายออกมาเป็นระยะๆ
ข่าวเงียบๆ แต่ถ้าคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของแบงก์นี้ได้ยินแล้วต้องหูผึ่งตาสว่างแน่แฝงมากับอุณหภูมิร้อนสุดฤทธิ์ของเดือนเมษายนว่า
บัดนี้หนทางที่จะคืนสู่แบงก์อย่างผู้ชนะของฝ่ายเพ็ญชาตินั้นได้ถูกปิดตายแล้วเพราะฝ่ายชลวิจารณ์กำหุ้นไว้ในมือถึง
51%
แหล่งข่าวระดับสูงในสถาบันการเงินระดับชาติซึ่งเป็นผู้เปิดเผยข่าวนี้ไม่ได้แย้มถึงที่มาว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว
แต่ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปว่ากลุ่มชลวิจารณ์นั้นประสบความสำเร็จในการเจรจาขอซื้อหุ้นบางส่วนจากกรพจน์
อัศวินวิจิตร หนึ่งในกลุ่มพันธมิตร "เพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตร-เอบีซี"
จนสามารถครอบครองเสียงข้างมากไว้ได้ โดยเศรณี เพ็ญชาติไม่ทันรู้ตัวและถ้าเป็นเช่นนี้จริงแล้วคนที่จะกระอักเลือดด้วยความชอกช้ำก็คือ
เศรณี เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าความแค้นที่เขามีกับชลวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่มิอาจไม่ชำระได้
"ไม่จริง" เศรณีปฏิเสธสั้นๆ อย่างหนักแน่นว่าข่าวนี้ไม่มีมูลกับ"ผู้จัดการ"
และไม่เชื่อว่าจะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
ผู้บริหารของธนาคารระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ กลับยืนยันว่ากรพจน์ขายหุ้นไปจริง
ก่อนหน้าที่จะถึงการประชุมผู้ถือหุ้นสหธนาคารหนึ่งเดือน โดยขายไปประมาณ 5%จากจำนวนหุ้นที่มีอยู่ราว
12 % และกรพจน์ได้กำไรไปเหนาะๆ ไม่ต่ำกว่าหุ่นละ 700 บาท
ฝ่ายชลวิจารณ์นั้นหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็พยายามกว้านซื้อหุ้นโดยได้ทาบทามขอซื้อจากธนาคารอาหรับหรือเอบีซีรวมทั้งกรพจน์ด้วย
เพื่อเป็นหลักประกันอำนาจการบลริหารแบงก์ของตนเอง
"กรพจน์เองคงเห็นว่าศึกแย่งชิงแบงก์นี้ไม่รู้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด
เพราะหุ้นทางเอบีซีเอง ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลว่าเกินสัดส่วนหุ้นต่างชาติที่อนุญาตให้มีได้หรือไม่
เมื่อฝ่ายนั้นให้ราคาดีก็เลยขายให้" แหล่งข่าวรายเก่าเปิดเผย
เหตุผลหนึ่งที่กรพจน์ตัดสินใจขายหุ้นให้คือต้องการเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของยูนิคอร์ด
ซึ่งจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ จำนวนหุ้นที่กรพจน์ซื้อไปนั้นคือ ห้าแสนหุ้น
กรพจน์นั้นนับญาติกันกับ ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ แห่งยุนิคอร์ด เพราะภรรยาของเขาเป็นลูกสาวตระกุลแต้ไพสิษฐพงศ์
ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกับตระกูลก่อนันทเกียรติในเบทาโกรมา จนถึงวันนี้
แต่เงินไม่ถึง 50 ล้านบาทสำหรับซื้อหุ้นยุนิคอร์ด คนอย่างกรพจน์เองดงไม่อับจนหาไม่ได้จนต้องขายหุ้นสหธนาคารทิ้งไปหรอก!
ตัวกรพจน์เองนั้นความที่มีพื้นฐานธุรกิจมาจากพ่อค้าข้าวที่ให้ความสำคัญกับกำไรเป็นหลัก
ประกอบกับสไตล์การตัดสินใจที่ฉับไว ก้าวร้าวจนมีภาพพจน์ว่า"เขี้ยว"
ผลประโยชน์ต้องมาก่อน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะจับเอาภาพแบบนี้ของเขาไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของข่าวการขายหุ้น
แต่เศรณีไม่เชื่อข่าวนี้ และไม่เชื่อว่ากรพจน์จะทำอย่างนั้น"ถ้าเขาทำก็เป็นการหักหลังผม"
ความมั่นใจของเศรณีอยู่ตรงที่ในกลุ่มพันธมิตรเพ็ญชาติ อัศวินวิจิตรและเอบีซี
มีสัญญาระหว่างกันว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการขายหุ้นจะต้องขายให้กับอีกสองฝ่ายก่อน
ต่อเมื่ออีกสองฝ่ายไม่ซื้อจึงขายให้บุคคลภายนอกได้
สัญญาฉบับนี้ร่างขึ้นโดยสำนักงานเบเกอร์ แอนด์แมคเคนซี่ และสำนักงานอเนก
เดนตันฮอล์ ซึ่งลงนามโดยชำนาญ-เศรณี เพ็ญชาติ อวยชัย-กรพจน์อัศวินวิจิตร
และตัวแทนของฝ่ายเอบีซีอีกสองคน
กรณีที่เศรณีเปิดเผยข้อผูกพันของทั้งสามฝ่ายตามสัญญาฉบับดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืนยันข่าวลือเรื่องกรพจน์
ขายหุ้นให้ชลวิจารณ์ว่าเป็นเพียงแค่"ข่าวลือ"เท่านั้น ส่วนใครจะเป็นคนปล่อยข่าวนั้นเป็นเรื่องที่รู้กันได้ด้วยการวิเคราะห์แบบชั้นเดียว
กว่าจะถึงการประชุมผู้ถือหุ้นสหธนาคารครั้งใหม่ต้นปีหน้า ข่าวลือนี้คงมีมาอีกหลายระลอก