ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของธนาคารกรุงไทยยังคงยืนพื้นอยู่ที่หุ้นละ 110
บาท ยังไม่มีทีท่าว่าจะขยับขึ้นไปอีกคนที่ซื้อไว้ในราคาอันเดอร์ไรท์ เมื่อปลายปีก่อนในราคาหุ้นละ
10 บาทในวันนี้
"ต้องไปถามบริษัทอันเดอร์ไรท์ ทำไมต้องมาถามแต่หุ้นกรุงไทย หุ้นบริษัทอื่นๆ
ก็มีเยอะแยะที่ราคาในตลาดขณะนี้ต่ำกว่าราคราอันเดอร์ไรท์ ทำไมไม่ไปถามเขาบ้างว่าเป็นเพราะอะไร"
เธียรชัย ศรีวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยตอบแบบฉุนๆ กับ"ผู้จัดการ"
เมื่อถูกถามถึงกรณีที่หุ้นกรุงไทยทำไมถึงต่ำกว่าราคาอันเดอร์ไรท์ ทั้งที่เข้าตลาดมานานแล้ว
เพราะจริงๆแล้วเรื่องนี้สามารถที่จะอธิบายได้ เพราะถ้าดูตามตัวเลขก็ยังสามารถอธิบายให้เห็นได้ว่าหุ้นกรุงไทยยังเป็นหุ้นที่มีอนาคตในระยะยาวๆ
เพราะในรอบปีที่ผ่านมาปรากฏว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่นับว่าดีขึ้นหลายอย่าง
ในธนาคารกรุงไทยเริ่มตั้งแต่ ดร.ปัญญา ตันติยวรงค์ ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
แผนงานต่างๆที่วางไว้เมื่อสมัยเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ใหม่ๆ
ได้เริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
ทีมบริหารด้านปฏิบัติการในสายตาของ ประยูร ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่จัดขึ้นตามโครงสร้างใหม่ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยก็กำลังไปได้ดี
โดยเฉพาะสายสินเชื่อได้มีการแยกแยะเป้าหมายอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นด้านการเร่งรัดหนี้สินที่
ดร.ปัญญาดูแลด้วยตัวเองในการปฏิบัติการของ อรรณพ พิทักษ์อรรณพ ก็นับว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย
จากยอดหนี้ค้างชำระร่วม 20,000 ล้านบาท สามารถเรียกชำระได้คืนถึง 8,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะเจ้าหนี้ 3 รายใหญ่ สุระ-สว่าง-เสธ.พล ซึ่งมีภาระหนี้รวมกันถึง
12,000 ล้านบาท ขณะนี้สุระ จันทร์ศรีชวาลา ได้ชำระเสร็จสิ้นหมดแล้วเรียบร้อย
สว่าง เลาหทัย อยู่ในระหว่างการผ่อนชำระงวดละ 40 กว่าล้านบาท ส่วนพันเอกพล
เริงประเสริฐวิทย์ ก็อยู่ในระหว่างบอกขายที่ดิน ที่ชะอำมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท
เพื่อที่จะนำเงินมาชำระในเร็วๆนี้
ณ สิ้นปี 2532 เงินฝากโตขึ้นถึง 25% เป็นยอดสิ้นปีทั้งสิ้น 188,447 ล้านบาท
พอตกมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ (2533) ปรากฏว่ามียอดเพิ่มขึ้นอีกถึง 10,000
ล้านบาทเพราะฉะนั้นเปาหมายที่จะให้โตถึง 22% ในสิ้นปีนี้ก็คงจะไม่ไกลเกินหวัง
ส่วนทางด้านสินเชื่อก็เติบโตขึ้นมาก ณ สิ้นปี 2532 ปรากฏว่าสินเชื่อขยายตัวถึง
31% นับว่าโตกว่าระบบเกือบเท่าตัวโดยมียอดสินเชื่อ ณ สิ้นปีถึง 152,961 ล้านบาท
เมื่อแยกเป็นสินเชื่อแต่ละประเภท ปรากฏว่าสินเชื่ออุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะเป็นสินเชื่อที่มีอนาคตดีในระยะยาวๆ
ต่อไปมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 33% สินเชื่อเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาเป็นอันดับสอง
16.70% สินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน13 % ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับสินเชื่อนโยบายรัฐ
13.50% สินเชื่อเพื่อการค้าและพาณิชย์ 12.50 %
ส่วนสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อหัตถกรรมปล่อยกู้ได้ 115 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว
107 ล้านบาท สินเชื่อวิชาชีพอิสระ 125 ล้านบาท สินเชื่อร้านค้าย่อย 140 ล้านบาท
และสินเชื่อเพื่อการศึกษา 2 ล้าน
สินเชื่อยอดฮิตของธนาคารคือสินเชื่อ ธนวัฏ ปล่อยได้สูงถึง 8,155 ล้านบาท
และสินเชื่อวายุภักษ์ หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยได้ 6,912 ล้าน
ด้านการบริหารเงินนั้นก็ดูดีขึ้นมาก กำไรจากการปริวรรตที่เคยได้เล็กๆ น้อยๆ
กลับมาเป็นรายได้ที่เป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ โดยมีกำไรจากส่วนนี้ถึง
336 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่าแบงก์ปล่อยสินเชื่อไปในธุรกิจส่งออกและนำเข้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ตัวเลขผลการดำเนินงานที่สามารถรายงานได้ละเอียดมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในขั้นต่อไปนั้นก็สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพ
ในการวางระบบการทำงานและระบบข้อมูลของฝ่ายคอมพิวเตอร์ที่ สหัส ตรีทิพยบุตร
ผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ได้วางเอาไว้ค่อนข้างดี
ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปีนี้ที่สูงถึง
251 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49%เมื่อเทียบกำไรสุทธิทั้งปี 2532 จำนวน 514 ล้าน
"มันเป็นช่วงจังหวะที่ดีหลายอย่างของแบงก์กรุงไทยในรอบปีที่ผ่านมา
การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวเร่งรัดผู้บริหารเอาจริงเอาจังต่อเปาหมายการทำงานที่ได้เสนอไว้ต่อมหาชนมากขึ้น
ภาพพจน์ในฐานะรัฐวิสาหกิจมีน้อยลง โดยเฉพาะในแง่ของการเข้ามาแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ของรัฐ(คลัง)
ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการทำงาน และที่สำคัญมันเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารที่จ่อคิวอยู่ในอันดับสาม(วัดจากขนาดด้านสินทรัพย์) ที่จะวิ่งตามขึ้นมานั้นได้อ่อนเปลี้ยลงไปอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องปัญหาบุคลากรที่มีคุณภาพจำกัดตัวลง
ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลกระทบต่อการขยายงานของกสิกรไทยเองไม่มากก็น้อย ในขณะที่กรุงไทย
ได้เครือข่าย กำลังคนและสินทรัพย์ชั้นดีตลอด ทั้งเงินช่วยเหลือ ของกองทุนฟื้นฟูอีก
4,000 ล้านบาท จากการรวมเอาธนาคารสยามเข้ามาอยู่ด้วย" ผู้สันทัดในวงการเงินวิเคราะห์ให้"ผู้จัดการ"ฟัง
การตั้งเป้าหมายในปี 2533 ที่จะให้ได้กำไรสุทธิถึง 850 ล้านบาท ตามที่ผู้บริหารได้เสนอภายใต้พื้นฐานการเติบโตของสินทรัพย์
14% เงินฝาก 22% สินเชื่อ 30% และเร่งรัดหนี้เก่าคืนให้ได้ 3,500 ล้านบาทนั้นจึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายยิ่งในช่วงจังหวะเช่นนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าเขามีความปรารถนาอย่างสูงที่จะเห็นธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
โดยสลัดคราบความเป็นรัฐวิสาหกิจออกไปอย่างสินเชิง มีความเป็นอิสระในการบริหาร
สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ของเอกชนได้สูงยิ่งขึ้น
และหนทางที่จะไปสู่จุดนั้นก็เหลือขั้นตอนอีกไม่มากนักภาระอยู่ที่เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติที่เชื่อถือหลักการแข่งขันอย่างเสรี
กับผู้บริหารของะนาคารกรุงไทยเองที่ต้องการปลดปล่อยตัวเอง จะสามารถพูดจูงใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เห็นคล้อยตามความคิดนี้ด้วย
เพราะอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และนโยบายนั้น อยู่ที่กระทรวงการคลังเพียงคนเดียวที่จะช่วยให้บทบาทของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปได้
ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การควบคุมนโยบายในฐานะผู้ถือหุ้น
การแทรกแซงของทางการในการปล่อยสินเชื่อ การส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการของธนาคารที่ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น
ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลังก็ได้ ตลอดจนภาระหนี้สินที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ค้างชำระอยู่ก็ช่วยให้มีการกำหนดแผนที่จะชำระให้แน่นอนลงไปด้วย
หากมีการแก้ไขในขั้นนี้ให้เรียบร้อยก็เท่ากับว่าธนาคารกรุงไทยได้ก้าวกระโดดสู่การแข่งขันที่องอาจมากขึ้น
ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเป็นที่จับตามองอยู่อย่างใกล้ชิดอย่างน้อยก็จากคนที่ยอมทนถือหุ้นธนาคารกรุงไทยไว้นานๆ
โดยยังไม่ได้ปันผลเลยสักบาทเดียว