เมื่อปีที่แล้วโชบุนเป็นนักธุรกิจพ่อม่ายชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางมาแสวงหาโชคที่เชียงใหม่
ที่ซึ่งขณะนี้อำนวยโชคให้เขาได้ร่ำรวยและมีความสุขมากกว่าการเป็นเจ้าของสตูดิโอเล็กๆในโตเกียว
ทั้งๆที่พื้นฐานครอบครัวของโชบุนนั้นเป็นคหบดีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสิบคนของเศรษฐีแห่งเกาะชิวกิว
พ่อของโชบุนเป็นเจ้าของโรงพยาบาลที่เมืองนางาซากิซึ่งเป็นบ้านเกิด โชบุนเกิดเมื่อวันที่
6 ตุลาคม 2487 เมื่อเขาอายุได้สองขวบได้เกิดระเบิดปรมาณูครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกที่เมืองนี้
"ดังนั้น ทุกวันนี้ผมจึงเป็นคนอาภัพเส้นผม ก็เพราะเหตุนี้กระมัง?"
โชบุนพูดด้วยอารมณ์ขันแฝงขณะเล่าชีวิตให้ฟัง
โชบุนเรียนจบไฮสกูลที่นางาซากิ และเข้ามาเรียนต่อที่กรุงโตเกียวระยะหนึ่งเขาก็หันเหไปเรียนหลักสูตรการบริหารธุรกิจระยะสั้น
10 เดือนที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ไปหาประสบการณ์ที่สต็อกโฮล์มประเทศสวีเดนสักพักหนึ่ง
ก่อนจะบินกลับมาญี่ปุ่นเพื่อเริ่มธุรกิจตัวเองโดยเปิด สตูดิโอรับจ้างถ่ายภาพให้เอเยนซี่โฆษณา
แต่หลังจากการหย่าร่างในชีวิตคู่ โชบุนได้เริ่มแสวงหาหนทางชีวิตใหม่ในโลกกว้าง
และราวปี 2525 เขาก็ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยตามคำชักชานของเพื่อนที่ทำงานในกรุงเทพฯ
ซึ่งแนะนำให้เขาไปเที่ยวพักผ่อนที่เชียงใหม่
"หลังจากรู้จักเชียงใหม่ได้ 3 วัน คนไทยคนแรกที่ผมรู้จักคือ เล็ก
(เดชพล เชวงศักดิสงคราม หุ้นส่วนคนไทยคนสำคัญของกลุ่มแกรมไฟว์คอร์เปอเรชั่น)
เราถูกชะตากันมากและไดคิดทำธุรกิจด้วยกันโดยค้ากระเทียมเป็นครั้งแรก ตอนนั้นผมมีทุนเริ่มแรกประมาณ
5-6 ล้านบาท" โชบุนเล่าให้ฟัง
แต่ในปี 2528ธุรกิจค้ากระเทียมของโชบุนก็ต้องพับฐานไปเพราะขาดทุนมหาศาลจากการเก็งตลาดผิด
โชบุนต้องการจะรอขายในราคาสูงถึงกิโลละ 75 บาท ขณะที่ราคาขายกระเทียมทั่วไปราคากิโลละ
55 บาท ทั้งๆที่เขารับซื้อมาด้วยต้นทุนเพียงกิโลกรัมละ 20 บาท เท่านั้น ในที่สุดความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้น
ราคากระเทียมกลับตกลงมาเหลือแค่กิโลละ 12 บาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้โชบุนกล่าวว่า
"การค้ากระเทียมค่อนข้างเสี่ยงมาก"
อีกครั้งหนึ่งที่เขาต้องกลับญี่ปุ่นเพื่อนำทุนก้อนใหม่จากน้องชายชื่อ "โซโห"
ซึ่งปัจจุบันร่ำรวยจากกิจการภัตตาคารในโตเกียวถึง 9 แห่ง มาลงทุนที่เชียงใหม่
ด้วยเงินทุนใหม่ครั้งนี้โชบุนได้จับการค้าส่งออกพลอยและหยกแถบแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เขาทำจนประสบความสำเร็จและไดขยายไปค่านมผึ้ง ซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
นมผึ้งโดยธรรมชาติมีลักษณะเป็นครีมของเหลวที่ผึ้งทหารคายมาป้อนนางพญาผึ้ง
"ผมไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับนมผึ้งมาก่อน แต่เพื่อนผมที่ญี่ปุ่นชอบฝากซื้อ
บ่อยเข้าผมก็เห็นลู่ทางการส่งออก เพราะคนเดี๋ยวนี้สนใจสุขภาพมากขึ้น ทำอยู่ได้สักสองปีเราก็ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศที่ญี่ปุ่น
สิงคโปร์ และในเดือนหน้านี้จะขยายไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไปเปิดที่นิวยอร์กและนิวเจอร์ซี่
และต่อไปจะไปเปิดที่ฮาวายและปารีสด้วย" โชบุนเล่าให้ฟัง
และเมื่อกิจการค้าเริ่มดำเนินไปได้ดีทั้งการส่งออกนมผึ้งและจิวเวลรี่ นับตั้งแต่ปี
2531 ราวเดือนมีนาคมโชบุนได้ตั้งบริษัทแกรนด์ไฟว์ คอร์ปเปอเรชั่นขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนสองล้านบาทเป็นบรษัทแม่ที่ดูแลบริษัทในเครืออีก
18 แห่งที่ได้เปิดตามมาทั่วเชียงใหม่ เช่น บริษัทเชียงใหม่รอแยล เจลลี่ซึ่งส่งออก
นมผึ้งแก่ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก,บริษัทโชบุนแอนด์สิทธิชัย ซึ่งร่วมลงทุนกับผู้จัดการไนท์บา-ซาร์
เพื่อค้าและส่งออกผ้าไหม, บริษัทเชียงใหม่คังโคทัวร์ ซึ่งทำกิจการทัวร์ท่องเที่ยว
โดยมีสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว, บริษัทเซฟรอน คอร์เปอเรชั่น(ประเทศไทย) ซึ่งขายอาหารและเครื่องดื่ม,
บริษัท โซโห(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นกิจการของน้องโชบุนที่มาลงทุนด้านภัตตาคารในเชียงใหม่,
บริษัทลักกี้เซเว่นซึ่งจดทะเบียนด้วยทุนล้านบาท จะเปิดทำซูปเปอร์มาร์เก็ตในลักษณะ
CONVENIENT STORE ขายตลอด 24 ชั่วโมง,บริษัททริคิ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาททำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
การเติบโตอย่างรวดเร็วของแกรนด์ไฟว์กรุ๊ปซึ่งมีโชบุนและเดชพล เชวงศักดิ์สงครามเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้เป็นที่จับตาแก่นักธุรกิจไทยในเชียงใหม่มากในระยะเริ่มต้น
ซึ่งเรื่องนี้โชบุนเล่าให้ฟังว่า
"ธุรกิจเราร้อยร้อยล้านบาท และเรามีหุ้นส่วนคนไทยและต่างชาติประมาณ
15 คน บริษัทของเราที่มีทั้งหมด 19 แห่งที่ยังไม่ได้กำไรและคนไทยก็ถือหุ้นใหญ่
51 % การที่เราเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพราะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาร่วมกับเรามาก
โดยผมจะเป็นคนติดต่อนักลงทุนจากญี่ปุ่น ส่วนเดชพลจะเป็นผู้ติดต่อกับนักลงทุนฝ่ายไทย
เรามีหลักฐานทุกอย่างที่ใครสงสัยก็สามารถเช็คได้ที่สถานทูตหรือแบงค์ ผมใช้บริการของแบงค์ไทยพาณิชย์สาขาศรีนครพิงค์เป็นหลัก"
โชบุนยังกล่าวอีกว่าการลงทุนโดยคอนเนกชั่นระหว่างโชบุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นนั้น
จะเน้นอยู่ในธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีลักษณะการค้าปลีกมากกว่าจะเป็นลักษณะผู้ผลิตหรือโรงงานขนาดใหญ่
และบทบาทของโชบุนและเดชพลหุ้นที่ดิน,ด้านกฎหมายการลงทุนและการบริหารมากกว่า
โดยให้คนไทยถือหุ้น 51% และชาวญี่ปุ่นถือ 49% และการซื้อที่ดินก็จะถือในสนามของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาดังกล่าว
"ธุรกิจหลักของเราคือเน้นด้านการส่งออกนมผึ้ง และเครื่องประดับอัญมณีเป็นหลัก
และเพิ่งเริ่มจะทำทัวร์สำหรับชาวญี่ปุ่นได้แค่ปีกว่านี้เองซึ่งแนวโน้มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเข้ามาในเมืองไทยเป็นทวีคูณทุกปี
ผมกล้าพูดได้เลยว่าผมเป็นคนหนึ่งที่นักธุรกิจญี่ปุ่นเขาเชื่อถือ และผมจะเป็นคนแนะนำลู่ทางการลงทุนที่ดีๆ
ให้แก่เขาโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการบริหาร การจัดการบริษัทในระยะเริ่มแรก
(BUSINESS CONSULTANT) และเราจะให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในเมืองไทยว่าต้องให้ความยุติธรรมและเข้าใจ
คนไทยเป็นคนฉลาดที่ไม่พูดมากถ้าหากไปบีบบังคับมากจะทำให้ผิดใจกันเปล่าๆ"
โชบุนเล่าให้ฟัง
การเป็นสะพานเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทำให้ทัศนะการมองการลงทุน
ทั้งด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าที่ดินในเชียงใหม่ตามสายตานักธุรกิจญี่ปุ่นอย่างโชบุน
เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โชบุนให้ความเห็นว่า
"ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน และการท่องเที่ยว
ปัจจุบันไต้หวัน,ฮ่องกงและญี่ปุ่น เริ่มเดินทางเข้ามาตั้งโรงงานที่นิคมอุสาหกรรมลำพูนมากขึ้น
โดยมีอีก 15 บริษัทที่ตกลงใจจะมาเพิ่มอีก เช่น อุตสาหกรรมคอนเดนเซอร์, เซรามิก
และชุดเสื้อผ้าเครื่องหนัง และค่าแรงงานก็ถูกกว่ากรุงเทพฯ 50% ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ
ที่ดินราคาสูงมากและค่าแรงงานก็เพิ่มสูงขึ้น แต่ที่เชียงใหม่เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินมากในช่วง
2 ปีมานี้ แต่คิดว่าก็ยังน่าลงทุนมากกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษและวุ่นวาย"
ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว ในปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นถึง
21% จากตัวเลขปี 2530 ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นมา 449,086 คน เป็น 546,967 คน และจำนวนนี้มีผู้ที่เข้ามาเที่ยวเชียงใหม่
33,165 คน โดยเฉลี่ยคนหนึ่งจะใช้จ่ายค่าอาหารและที่พักวันละประมาณ 4,224
บาท ทำให้ปีที่แล้วรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้าประเทศไทยสูงถึง
10,583ล้าน
"ช่วงฤดูกาลที่จะมีนักท่องเที่ยวมาทัวร์เชียงใหม่มากราวเดือนกรกฎาคม
จนถึงธันวาคม นอกนั้นก็มีม้าเรื่อยๆ ไม่เงียบเหงาแม้จะไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวก็ตาม
ไม่เหมือนเมื่อ 5 ปีก่อนที่พอถึงหน้า LOW SEASON จะเงียบเหงามาก แต่ทุกวันนี้เครื่องบินเต็มทุกเที่ยวบินและโรงแรมในเชียงใหม่ก็เต็มไปด้วย
ปัญหาด้านราคาห้องพักโรงแรมไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเขาสามารถจ่ายได้ในราคาตั้งแต่ห้องละ
1,200-2,000 บาทต่อคืน ค่าใช้จ่ายสำหรับแขกของคังโคทัวร์ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของเรา
เท่าที่สังเกตเขาจะจ่ายค่าอาหารและที่พักรวมทั้งของที่ระลึกประมาณ 50,000-60,000
บาท ต่อการพัก 5 วันต่อคน ผมคิดว่าอนาคตการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ไปได้ดีมาก"
โชบุนให้ทัศนะ
วันนี้อาณาจักรแกรนด์ไฟว์คอร์เปอเรชั่น ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ของกลุ่มประมาณ
150 ล้านบาท โดยมีรายได้หลักจากยอดส่งออกนมผึ้ง 15 ล้านบาทในปีที่แล้ว และยอดขายจิวเวลรี่ประมาณ
12 ล้านบาท โชบุนได้สร้างชื่อเสียงของเขาขึ้นมาได้เติบใหญ่ในเชียงใหม่ และกำลังจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปสู่ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก
ระหว่างประเทศนับว่าเป็นการมองเห็นโอกาสช่องว่างทางธุรกิจที่ทำให้โชบุนก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้
และน่าจับตามองการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคตที่กลุ่มนี้กำลังจะรุกคืบสู่กรุงเทพฯ
ว่าโตเกียวคอนเนคชันของโชบุนจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นในธุรกิจเมืองไทยบ้าง