ชาลทอง ปัทมพงศ์ จากนักค้าพืชไร่ มาขายข่าวสารข้อมูล


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของชาลทอง ปัทมพงศ์ กระฉ่อนอยู่ในวงการนักค้าพืชไร่ (GRAIN TRADER) ทั้งในประเทศและโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งเขาเคยทำงานเป็นผู้ค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าให้กับบริษัท คอนติเนนตัลเกรน จำกัด ในสหรัฐฯ มาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม หลังจากนั้นเขาได้มาปักหลักทำงานค้าพืชไร่ของตนเองโดยตั้งบริษัทซีแม็กซ์ จำกัด ขึ้นในกรุงเทพฯเมื่อปี 2523

ครั้นทำกิจการของตัวเองได้สักระยะหนึ่ง เขาก็หันมาตั้ง บริษัทขายข่าวสารข้อมูลในปี 2526 เริ่มแรกใช้ชื่อว่าบริษัท สำนักข่าวธุรกิจ เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นบริษัท สำนักข่าวบิสนิวส์เมื่อปี 2532

ชาลทอง เล่าให้"ผู้จัดการ" ฟังถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจการค้าข่าวสารข้อมูลว่า "ช่วงก่อนนั้นตลาดพืชไร่ดีมาก พอตอนหลังมันมีเรื่องระบบโควตา ก็เลยไม่อยากทำ เพราะมันไม่ได้ใช้ความสามารถในทางการค้าแต่อย่างเดียว ผมเลี่ยงไปทำ THIRD COUNTRY TRADE อยู่พักหนึ่ง คือเอาสินค้าเกษตรจากประเทศหนึ่ง ไปขายอีกประเทศหนึ่งโดยไม่เกี่ยวกับประเทศไทยเลย เรานั่งอยู่เมืองไทยก็จริง แต่เราอาจจะซื้อจากบราซิลไปขายอินโดนีเซียซื้อจากอาร์เจนตินามาขายที่มาเลเซีย โดยใช้เครือข่ายความสัมพันธ์เก่าๆ สมัยที่ผมประจำอยู่ประเทศโน้นนี้ แต่ว่าเราก็ยังเสียเปรียบบริษัทใหญ่ๆ ที่เขามีสาขาอยู่ทั่วโลก"

ความเสียเปรียบสำคัญที่ผลักดันให้ชาลทองหันมาสนใจเรื่องการขายข้อมูลข่าวสารมากกว่า การค้าพืชไรคือความเคยชินในการใช้ข้อมูลจำนวนมากสมัยทำงานกับคอนติเนนตัลเกรน ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีข้อมูลสินค้าพืชไร่ที่ส่งมาจากสาขาในทั่วโลก ประกอบกับข้อมูลที่ซื้อเอาจากบริษัท KNIGHT-RIDDER ใน สหรัฐฯ ซึ่งมีข้อมูลด้านสินค้าเกษตรที่ดีเอามากๆ

ชาลทองกล่าวว่า "ผมชินกับการใช้ข้อมูลอย่างนั้น พอมาเปิดกิจการเองในเมืองไทย ข้อมูลของตัวเองก็ไม่มี เพราะว่าเปิดบริษัทขึ้นมาบริษัทเดียวในเมืองไทย จะไปหาซื้อจาก KNIGHT-RIDDER ก็ไม่มีในเมืองไทยต้องไปซื้อจากรอยเตอร์ซึ่งข้อมูลไม่ละเอียดพอ อย่างน้อยด้านสินค้าเกษตรซึ่งผมใช้ข้อมูลที่ดีกว่า อีกประการคือ ราคาค่อนข้างแพง"

นอกจากปัญหาเรื่องการไม่มีข้อมูลข่าวสารที่ดีพอมาใช้แล้วชาลทองยังมีปัญหาด้านความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานด้วย ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าพืชไร่กล่าวถึงบุคลิกของพวกพ่อค้าพืชไร่ว่าพวกที่ทำงานกับคอนติแนนตัลเกรน นั้นมักจะมีลักษณะเฉลียวฉลาด รอบคอบ มีเหตุผลในการเจรจา ขณะที่บุคลิกของคนที่ทำงานในบริษัท คาร์กริล ซึ่งเป็นบริษัทค้าพืชไร่ ที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ในสหรัฐ ค่อนข้างจะใช้เล่ห์เหลี่ยมไหวพริบมากกว่าความเป็นเหตุเป็นผล

ชาลทองเริ่มมีความรู้สึกในกิจการของตนเองว่า "มันเหนื่อยและมันเป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้ เราทำเสร็จไปล็อตหนึ่งก็ต้องตั้งต้นล็อตต่อไป และมีความเสี่ยงสูงมาก ในการค้าพืชไร่นี้ปริมาณมันมีมหาศาล แต่ว่ากำไรมันนิดเดียว เราเล่นกับเงินที่เป็นร้อยๆ พันๆ ล้านแต่กำไรเป็นแค่แสน"

การทำงานสมัยที่ทำให้ คอนติแนนตัล เกรน นั้น มันเป็นเงินของคนอื่น ชาลทองจึงไม่ห่วงมากนัก ทำแบบมืออาชีพ ตรงไปตรงมาเหตุผลควรจะทำก็ทำไปเลยแล้วจบ แต่พอเป็นเงินของตัวเองแล้ว เขาเริ่มแยกความรู้สึกออกจากความเป็นเหตุผลลำบาก เขากล่าวว่า"ด้วยเหตุผลควรจะทำ แต่จิตใจอารมณ์แล้วอาจจะมีความรู้สึกที่ว่า คุ้มหรือ ไม่น่าทำ เสี่ยง กลัว มันก็เลยทำให้ชักกระตุก และผมรู้ตัวว่าถ้าผมทำอย่างนี้ต่อไป วันหนึ่งผมต้องพลาดเพราะมันเกิดความลังเล ไม่เหมือนอย่างเวลาเราทำเป็นมืออาชีพ ซึ่งเราทำแบบใช้เหตุผลอย่างเดียว"

ในที่สุดชาลทองก็รามือจากงานการค้าพืชไร่และหันมาทุ่มให้กับการติดต่อซื้อขายกระจายข่าวและข้อมูลอย่างเต็มที่

ชาลทองเริ่มต้นด้วยการติดต่อกับ KNIGHT-RIDDER ซึ่งเคยพยายามที่จะขออนุญาตการสารแห่งประเทศไทยเพื่อนำข้อมูลเข้ามาเหมือนสำนักงานข่าวอื่นๆ แต่ติดขัดปัญหาหลายประการมาสามารถทำได้สำเร็จ ชาลทองเสนอตัวเป็นผู้เดินเรื่องการขออนุญาตให้ เพื่อแลกกับการเปิดเป็นสาขาของ KNIGHT-RIDDER แต่เมื่อทำได้สำเร็จ ทาง KNIGHT-RIDDER กลับขายลิขสิทธ์การกระจายข่าวข้อมูลให้กับชาลทองเลย

นั่นหมายความว่าสำนักข่าวบิสนิวส์ ของชาลทองคือสาขาหนึ่งของ KNIGHT-RIDDER ผู้ที่ต้องการซื้อข่าวของ KNIGHT-RIDDER ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับว่า มีความเด่นในด้านของ ข่าวสินค้าโภคภัณฑ์ก็สามารถหาซื้อได้จากสำนักข่าวบิสนิวส์ โดยราคานั้นย่อเยากว่าการติดต่อซื้อจาก KNIGHT-RIDDER โดยตรง

แนวคิดการขายข่าวของชาลทองนั้นเริ่มมาจาก ความต้องการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในการให้บริการข้อมูลและข่าวสาร ไม่ใช่เป็นการผูกขาดของสำนักข่าวต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ เอพี เทเลเรด อีกปะการหนึ่งเขามองว่าสำนักข่าวเหล่านี้เน้นข้อมูลข่าวในระดับสากล ส่วนมากเป็นเรื่องของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับคนไทยนั้นก็อยากดูข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศแล้วแต่ไม่สามารถหาดูได้ เพราะมันไม่มีอยู่ในระบบ

ขณะที่สำนักข่าวอย่างรอยเตอร์ต้องขายข่าวตามรูปแบบที่ส่งมาจากสำนักงานใหญ่ บิสนิวส์ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายข่าว โดยปรับปรุงให้เข้ากับ ความต้องการ ของตลาดภายในประเทศได้หลายอย่าง เช่นสร้าง FORMAT ใหม่ตัด OVERHEAD ที่ไม่จำเป็นหรือเป็นส่วนเกินออก เพิ่มข่าวในประเทศที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า เป็นต้น

ชาลทองมั่นใจว่าวิธีการนี้จะทำให้เขาสามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่างรอยเตอร์ซึ่งมีความเด่นในข่าวด้านตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และเทเลเรด ซึ่งเด่นในด้านตลาดเงินได้ ส่วนการแข่งขันกับบริษัทขายข่าวสารข้อมูลซึ่งเพิ่งจะเริ่มเปิดตัวกันหลายรายอย่าง NATION INTERNATIONAL COMMUNICATION (NIC) สามารถ อินฟอร์เมชั่นซิสเท็มส์ เป็นต้น ชาลทองมองว่าบริษัทเหล่านี้คงจะเป็นคู่แข่งกลายๆ เพราะต้องซื้อข้อมูลจากต่างประเทศ เป็นข้อมูลชั้นสองใช้ต้นทุนสูง แต่การขายการกระจายคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและคงจะมีการเน้นทางด้านข้อมูลตลาดหลักทรัพย์อย่างมากด้วย

กลุ่มลูกค้าของบิสนิวส์ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงคือโบรกเกอร์ ซับโบรกเกอร์ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับหุ้นไทย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารและบริษัทนำเข้า-ส่งออกรายใหญ่

ทั้งนี้ชาลทองเล่าว่าในช่วงสร้างตลาดระยะแรก เขาประสบความลำบากอยู่ไม่น้อยเพราะเป็นผู้มาทีหลังสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ ลูกค้าหลายรายอยากจะรับบริการจากเขา แต่ติดขัดสัญญาที่ทำกับรอยเตอร์เป็นปี ต้องรอให้หมดสัญญาก่อนในบางราย ลูกค้าพร้อมที่จะเซ็นสัญญา แต่ทางบิสนิวส์ก็ไม่สามารถที่จะติดตั้งให้ได้ เพราะขาดคู่สายสื่อสาร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องชื่อเสียงเรียงนามซึ่งชื่อสำนักข่าวบิสนิวส์นั้น ถ้าเทียบกับรอยเตอร์ เอพี เทเลเรด แล้วยังนับได้ว่าเป็นที่รู้จักน้อยกว่า KEEP LOWPROFILE อย่างมากๆ ปัญหาของ KNIGHT-RIDDER อีกประการ คือถึงจะเป็นบริษัทใหญ่ก็จริง แต่บริษัทลูกๆก็ไม่ได้ใช้ชื่อ KNIGHT-RIDDER ทำให้คนไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเป็นบริษัทในเครือ

บริษัท KNIGHT-RIDDER NEWPAPERS,INC.เป็นบริษัทใหญ่ติดอันดับ 500 บริษัทดีเด่นของนิตยสาร FORTUNE มีเครือข่ายกว้างขวาง ในกิจการหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของ DETROIT FREE PRESS, PHILADELPHIA INQUIRER เป็นต้น มีกิจการด้านโทรทัศน์ บริการข่าวสารข้อมูลทางธุรกิจ วิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ วีดีโอเท็กซ์

กิจการของ KNIGHT-RIDDER ในย่าน SEA ใช้ชื่อว่า UNICOM มาตลอด ปัจจุบันเริ่มมีการเอาชื่อ KNIGHT-RIDDER เข้ามาผนวกด้วยเป็น KNIGHT-RIDDER UNICOM และในที่สุดจะตัดชื่อหลังออก เพื่อโปรโมทชื่อแรกแต่เพียงชื่อเดียว

ชาลทองกล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า"จริงๆแล้วบิสนิวส์ขาดทุนมาตลอด 6 ปีที่ดำเนินงาน เพราะต้องลงทุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือและการซื้อลิขสิทธ์เป็นจำนวนมาก รวมถึงการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมที่เรียกว่า VOICEGRADE CIRCUIT แต่ผมมองว่า มันเป็นกิจการที่มีอนาคตดีเอามากๆ ก็เลยยอมขาดทุนมาจนทุกวันนี้"

ปัญหาของชาลทองประการหนึ่งคือ เขาไม่ใช่ MARKETING MAN เขาถนัดในด้านเทคนิคมากกว่า จึงต้องการที่จะหาผู้ร่วมงานในด้านการตลาดและด้านเนื้อหาข่าวโดยเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลในประเทศ

ชาลทองตัดสินใจขายหุ้นจำนวนมากให้กับบริษัทเวนเจอร์แคปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของธนาคารขนาดกลางและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง ก่อตั้งขึ้นตามแนวคิด เวนเจอร์ แคปิตอลคือไปซื้อ หุ้นในกิจการที่เห็นว่ามีอนาคตทางธุรกิจที่ดี เมื่อร่วมบริหารไประยะหนึ่ง จนมีผลกำไรงอกเงยขึ้นมาและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็จะขายหุ้นนั้นทิ้งไป

อย่างไรก็ดี หุ้นที่ขายไป 51% ให้เวนเจอร์ แคปิตอล ไม่ได้รับการกระจายตามที่ตกลงกันไว้ และปัจจุบันบริษัทเวนเจอร์ฯ ก็ประกาศยุบเลิกกิจการแล้ว ชาลทองเริ่มขอซื้อหุ้นคืนกลับมาจนปัจจุบันเขาถือไว้เกือบ 60% จากหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด 11 ล้านบาท

ชาลทองเล่าว่า "เวลานี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้อคืน ไม่ว่าจะเป็นเวนเจอร์ แคปิตอล และสหธนกิจไทย คงค่อยๆ ซื้อคืนมาแล้วมา RE-DISTRIBUTE ใหม่กับคนหรือบริษัทที่จะ CONTRIBUTE ในด้านที่เราต้องการได้ซึ่งเวลานี้ก็มีหลายรายที่แสดงความประสงค์ จะเข้ามาร่วมด้วยแล้ว"

ส่วนหุ้นที่ยังอยู่ใน ASIAN PACIFIC GROUP นั้นมีอยู่ประมาณสองหมื่นกว่าหุ้น ซึ่งชาลทองกำลังเจรจาซื้อคืนอยู่เช่นกัน วิธีการของเขาคือซื้อคืนสูงกว่าราคาที่ถูกซื้อไป และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนภายในสิ้นปีนี้เขาจะซื้อคืนได้หมด

ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่อดีตนักค้าพืชไร่เผชิญอยู่ในเวลานี้เป็นกลุ่มของปัญหาที่แตกต่างออกไป เขาจะไม่รู้สึกว่าเล่นกับความเสี่ยงความกลัว เหมือนที่ผ่านมา เพราะการลงทุนในปัจจุบันของเขาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงอีกแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญเป็นเรื่องของการทำตลาดและเนื้อหาข่าว ซึ่งก็เป็นปัญหาร่วมของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหลายนั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.