ซินดิเคทโลน 3,100 ล้าน เมื่อชำนิเป็นนักเจรจาต่อรอง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าพูดถึงบริษัทเอ็นทีเอส สตีลกรุ๊ป เชื่อแน่ว่าหลายคนคงงงว่าคือใคร แต่ถ้าทราบว่ามันคือ บริษัทเครือข่ายหนึ่งของนครไทยสตีลเวอร์คที่มีสวัสดิ์ หอรุ่งเรืองเป็นประธาน อาการมึนงงจะหายเป็นปลิดทิ้ง ทั้งนี้ เหตุผลเพราะความดังในธุรกิจเหล็กของสวัสดิ์มีมายาวนานที่ว่ากันว่า แม้แต่ผู้จัดการคนดังอย่างพันเอกประจักษ์ สว่างจิตรก็ยังรู้จักเป็นอย่างดี

เอ็นทีเอส สตีล เป็นบริษัทที่บีโอไอ ให้การส่งเสริมลงทุนผลิตเหล็กเส้นและเหล็กเกรดพิเศษ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น นอต สกรู เหล็กทำเพลารถยนต์ เหล็กลวด พีซีไวร์ และพีซีแตนด์ เหล็กทำแกนลวดเชื่อม เหล็กทำลวดหนาม เป็นต้น ในระบบเตาหลอม โดยมีแผนการผลิตเหล็กเส้นปีแรก 330,000 ตัน เหล็กเกรดพิเศษอีกประมาณ 40,000 ตัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สัดส่วนการผลิตเหล็กเส้นต่อเกรดพิเศษอยู่ที่ 90:10 และสัดส่วนนี้จะปรับเป็น 60:40 ในปีการผลิตที่ 4

การผลิตในปีแรกจะเริ่มขึ้นในต้นปี 2535 ผลิตเหล็กเส้นจากเตาหลอม เอ็นที่เอสสตีล มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท เอ็นทีเอส สตีลกู้เงินลงทุน 3,100 ล้านบาทเพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ในระดับ 3:1

วงเงิน 3,100 ล้านเป็นการให้กู้ร่วมแบบซินดิเคชั่นโดยใช้ตัวโครงการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีกรุงไทย กรุงเทพและไอเอฟซีทีเป็นผู้นำการให้กู้กันรายละ 710 ล้าน ส่วนกสิกร ไทยทนุ นครหลวง มหานคร สินเอเซีย เงินทุนสากล ทิสโก้ และซิสโก้เป็นผู้ร่วมให้กู้กันรายละ 300, 100, 100, 200, 200, 100, 100และ 70 ล้านบาทตามลำดับ

วงเงิน 3100 ล้านมีระยะเวลาชำระคืน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเอ็มแอลอาร์บวก 0.25% และมีระยะปลอดหนี้ 2 ปี

"ผมมีความสุขมากที่โครงการนี้เริ่มต้นได้เพราะมันเป็นความฝันที่รอคอยมาตั้งแต่ปี 2529 ผมรู้ดีว่าเหล็กเส้นรีดซ้ำ อนาคตมืด เพราะการผลิตใช้เทคโนโลยีชั้นต่ำที่มีต้นทุนนับวันจะสูงขึ้นและคุณภาพต่องานก่อสร้างขนาดใหญ่ก็ต่ำ ช่วงเวลานั้นความต้องการใช้เหล็กเส้นชั้นดีมันโตตามการลงทุนด้านธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งผมเชื่อว่ามันต้องขาดแคลนแน่ถ้าไม่มีการขยายกำลังผลิตสวัสดิ์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ไว้เช่นนี้

มองจากจุดนี้สวัสดิ์มองไม่พลาด ปัจจุบันเหล็กเส้นชั้นดี(กว่า SD40) เพื่องานก่อสร้างขนาดใหญ่มีความต้องการใช้ถึง 2.4 ล้านตันและอีก 5 ปีข้างหน้าจะมากถึง 3 ล้านตัน ขณะที่การผลิต(ต่ำกว่า 40) มีแค่ 700,000 ตัน

ส่วนเหล็กเกรดพิเศษแต่ละชนิดที่กล่าวมาข้างต้นมีการนำเข้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 720,000 ตัน

เมื่อตลาดเปิดกว้างออกอย่างนี้ เอ็นทีเอส สตีล จึงวางเป้าหมายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

"เราลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กเตาหลอมเอ็นที่เอส สตีล นี้ เฉพาะตัวเครื่องจักรและระบบไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอนก็ปาเข้าไป 2,780 ล้าน ยังไม่รวมค่าก่อสร้าง ที่ดิน วัตถุดิบ เศษเหล็กที่เราเน้นคุณภาพชั้นดีซึ่งรวมแล้วอยู่ในวงเงินลงทุน 4,500 ล้าน" ชำนิ จันทร์ฉาย มือจัดหาเงินโครงการของเอ็นทีเอส สตีล เล่าให้ฟัง

ชำนิ จบบัญชีจากธรรมศาสตร์ เขาเคยเป็นมือบริหารด้านต้นทุนของบริษัท 3 M (ประเทศไทย) มาก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับกลุ่มนครไทย สตีลของสวัสดิ์ ชำนิเล่าให้ฟังว่าวงเงินกู้ 3,100 ล้าน จะถูกนำไปใช้ในการซื้ออุปกรณ์เครื่องจักร 2780 ล้านและที่เหลือ 220 ล้านเป็นเงินทุนหมุนเวียน

"การใช้วงเงินงวดแรก 1,500 ล้านเพื่อซื้ออุปกรณ์ส่วนแรกจะเริ่มวันที่ 27 เมษานี้) ชำนิกล่าว

อุปกรณ์และเครื่องจักรทางแมคคานิคและไฟฟ้าแรกเริ่มมี 33 บริษัทในยุโรป และญี่ปุ่นที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูลขายให้เอ็นที่เอส สตีล แต่หลังจากการผ่านคัดเลือก ทางเทคนิค และเจราจาต่อรองที่นำทีมโดย สันติ กิตติโฆษน์ นรินทร์ ว่องพงศาวิวัฒน์ และวิกรม วัชรคุปต์ ซึ่งเป็นเทคนิเชียนของเอนที-เอส สตีลแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มบริษัทจากเยอรมนีและสวีเดน ซึงประกอบด้วย เอสเอ็มเอส (SMS) ที่ขายอุปกรณ์ระบบรีดมานน์ เกฮษฮษ (MANGHH) ที่ขายเตาหลอม ฮอยตี้ (HEURTY) ที่ขายเตาอบคอน-แคสสแตนดาร์ด(CONCAST STANDARD) ที่ขายเครื่องหล่อเหล็ก แท่งเอบีบี(ABB) ที่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นผู้ชนะการประมูล "แม้กลุ่มนี้จะเสนอราคาแพงกว่ากลุ่มของอิตาลี(นำโดยบริษัททาเกียเฟอรี่) ถึง 15 % แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่สมรรถนะของระบบและคุณภาพเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนการบริการด้านเทคนิค มันก็เหมือนกับการเลือกซื้อรถยนต์ เบนซ์กับเฟียตนั่นแหละ" สวัสดิ์กล่าวถึงเหตุผลการเลือกซื้อเทคโนโลยีในการผลิต

เมื่อได้เทคโนโลยีแล้วงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของโครงการคือการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อให้ได้ต้นทุนและเงื่อนไขที่ดีที่สุดในวงเงิน 3,100 ล้าน

ภารกิจนี้ นำทีมโดย ชำนิ จันทร์ฉาย และรวีวัลย์ ภิยโยพนากุล กล่าวสำหรับชำนิการหาเงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อตัวเขามาก เพราะหนึ่ง - เป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่มีผล ต่อจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของกลุ่มนครไทยในอุตสาหกรรมเหล็กเส้น ถ้าชินิเกิดพลาดโครงการนี้ย่อมไม่เกิด สอง - ตลอดการเป็นนักบริหารการเงินมืออาชีพมาหลายปีเขาไม่เคยได้มีโอกาสจับงานหาเงินก้อนใหญ่ระดับเกินพันล้านมาก่อน จึงเป็นเกียรติประวัติสำหรับเขาถ้าหากว่ามันสำเร็จ

เหตุนี้ชำนิจึงทุ่มเทมากในงานที่ท้าทายชิ้นนี้ เขาเล่าว่าเขาต้องพรีเซนต์โครงการให้สถาบันการเงินมากถึง 7 ครั้งชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้มีอนาคตที่ดีสามารถคุ้มทุนได้ใน 7 ปีโดยเขายึดสมมุติฐานที่ว่า หนึ่ง - ราคาขายเหล็กเส้นที่ 11,800 บาท ต่อตันคงจะไปถึงปี 1994 สอง - ราคาขายเหล็กเกรดพิเศษที่ 12,500 บาทต่อตันจะคงที่ไปถึงปี 1994 เช่นกัน และสาม - หลังปี 1994 ราคาเหล็กเส้นและเหล็กเกรดพิเศษจะปรับขึ้นปีละ 1.8%

แล้วในที่สุด คืนวันที่ 11 เมษายน ก็เป็นวันที่ชำนิลืมไม่ได้เลยในชีวิตนี้เมื่อเขาสามารถจับผู้บริหารระดับสูงสุดของสถาบันการเงินทั้ง 11 แห่งมานั่งเซ็นสัญญาให้กู้แก่สวัสดิ์(ในนามบริษัทเอ็นที่เอส สตีล) จำนวน 3,100 ล้านที่โรงแรมแชงกรี-ลา ต่อหน้าแขกรับเชิญหลายร้อยคนที่ส่วนใหญ่ทำมาหากินในธุรกิจค้าเหล็กเส้นและรับเหมาก่อสร้าง

การกู้ครั้งนี้ชำนิต้องใช้วิชานักเจรจาต่อรองหลายยกกว่าจะได้เรทที่ดี เช่นค่าธรรมเนียมเปิดแอลซี ค่าค้ำประกันแอลซี ค่าธรรมเนียมร่วมให้ก็ ค่าแลกเปลี่ยนดอลล่าร์เป็นบาท เป็นต้น ชำนิยกตัวอย่างให้ฟังว่า ค่าธรรมเนียมร่วมให้กู้ต่อรองจาก .75% เหลือ .5% ค่าแลกเปลี่ยนจากดอลล่าร์เป็นบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ประกาศโดยกองทุนรักษาระดับ (EEF) บวก.4% เหลือแค่ .1%

ความสำเร็จครั้งนี้ของชำนิคือประกาศนียบัตรใบโต ที่จะเป็นสัญญาณส่งต่อไปยังตลาดการเงินว่าเขาคือนักเจรจาต่อรองที่เป็นลูกค้าและแบงเกอร์ในเวลาเดียวกัน

ความข้อนี้แบงก์กรุงไทยรู้ดีว่าบรรดาสถาบันการเงินที่ให้กู้ร่วมนั้นมาจาฝีมือของชำนิไม่น้อย ทั้งๆที่ความจริงแล้วควรจะเป็นหน้าที่ของกรุงไทยในฐานะผู้นำการให้กู้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.