ถ้าพูดถึงอัญมณีอันมีค่า (PRECIOUS STONE) "หยก" ถือได้ว่าเป็นอันดับห้ารองจากเพชร,
ไพลิน, ทับทิมและมรกต หยกมีอยู่ 2 ประเภท คือ หยกเนื้ออ่อน (NEPHRITE) ซึ่งมีสีเขียวสีเดียวและพบมากที่สุดในโลกที่
อแลสกา, ไต้หวันและจีน ส่วนหยกอีกประเภทหนึ่งเรียกว่าเป็นหยกที่มีทุกสีทั้งเขียว,
ม่วง,แดง,ดำ,ขาว แต่หยกสีเขียวที่ดีที่สุดในโลกคือ หยกอิมพีเรียล ที่มาจากพม่ามีเนื้อใสสีเขียวสด
อัญมณีทุกอย่าง ไม่ว่าหยกหรือทับทิมจะมาทางแม่สอด จ.ตาก และแม่สาย จ.เชียงราย
โดยหมู่ชนกลุ่มน้อยคือหมู่จีนฮ่อที่นำเส้นทางค้าหยกมาสู่เชียงใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าหยกคุณภาพดีที่พ่อค้าฮ่องกงนิยมในปัจจุบัน
และในปีที่แล้วการส่งออกอัญมณีจำนวน 30,000 ล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกหยกประมาณ
1-2 % หรือ 300-400 ล้านบาท แม้จะมีมูลค่าน้อยอยู่มากแต่ก็หาพ่อค้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหยกได้เพียงไม่ถึง
5 คนในจำนวนพันกว่าคนที่ค้าอัญมณีเพชรพลอยอยู่ขณะนี้
หนึ่งในห้าคนดังกล่าวมี วรนันท์ ผ่องเจริญกุล เป็นนักธุรกิจหญิงที่ก้าวเข้ามาในเส้นทางค้าหยกนี้อย่างมืออาชีพ
เธอเป็นผู้หญิงเก่งที่พูดจาฉะฉาน จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์และมีประสบการณ์ทำงานกับนสพ.บางกอกโพสต์
ได้สองปีก่นจะอำลาเมืองกรุงมุ่งสู่บ้านเกิดเชียงใหม่เพื่อเริ่มกิจการของตัวเองโดยมีสามี
ปรีชา ผ่องเจริญกุล อดีตนักกิจกรรมสมัย 14 ตุลา 16 เป็นผู้นำชีวิต ทั้งคู่เริ่มทำกิจกรรมทัวร์
และภายหลังได้รับการโอนร้านจิวเวลรี่ จากเพื่อนสนิท และนี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ทั้งสองได้เข้ามาสู่เส้นทางค้าหยกที่นำความรุ่งโรจน์มาสู่ชีวิตในเวลาอีก
10 ปีต่อมาที่มีธุรกิจนับร้อยล้าน โดยมีโชว์รูมและโรงงานซื้อ FAC ตั้งที่หน้าวัดพระธาตุดอยสุเทพซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่
"เราเริ่มต้นค้าหยกด้วยเงินทุนเพียงแสยกว่าถึงสองแสนบาท คือตอนที่ทำทัวร์เราก็คิดว่าเรื่องหยกนั้นคนเชียงใหม่ยังไม่รู้
และมีหนังสือหลายประเทศหลายเล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดเขียนถึงเชียงใหม่ว่า
เป็นศูนย์กลางการค้าหยก พออ่านปั๊บเราก็เริ่มหาข้อมูลและพบว่าจริงๆ เป็นอย่างนั้น"
วรนันท์เล่าให้ฟังขณะพาเดินชมการแกะสลักหยกแต่ละชิ้นในโรงาน
"ขณะนี้เรารับงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งเป็นองค์พระแก้วมรกต ซึ่งหม่อมอรพินท์
ดิศกุล ภริยา ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านอยากจะได้ไว้ถวายสมเด็จพระ สังฆราช
ซึ่งหยกที่ใช้นั้นเป็นหยกตระกุลเนื้ออ่อน ก็เลยสัญญากับท่านว่าในสิ้นเดือนเมษานี้จะไปอเมริกาและแคนาดา
ซึ่งเขาเจอหยกเนื้ออ่อนขนาดใหญ่มาก เราก็เลยสั่งซื้อเขาไว้แล้ว หยกก้อนหนึ่งหนักประมาณ
500 กก. ซึ่งใหญ่มากเลย แต่เราต้องไปดูของก่อนว่าเป็นไปตามที่เราคิดไว้หรือเปล่า?
ถ้าสีได้ตามพระแก้วมรกตจริงๆ เราก็จะแกะให้เท่าองค์จริงเลย เพราะตอนนี้ที่แกะให้ท่าน
ก็ประมาณ 2 ฟุต ซึ่งไม่ใหญ่มากนักก็ยังไม่ได้กะราคาและคาดว่าจะเสร็จอีกประมาณ
4-5 เดือนช้างหน้านี้ เพราะกว่าจะไปก็เดือนหน้าและสั่งซื้อเข้ามาก็ใช้เวลา"
วรนันท์เล่า
นอกจากงานนี้แล้ว ยังมีงานแกะสลักหยกรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งสำเร็จเรียบร้อยแล้วรอกการส่งให้หม่อนอรพินท์
อีกชิ้นหนึ่ง วรนันท์ได้เล่าให้ฟังว่าเป็นงานที่ใช้เวลาแกะสลักสองเดือนกว่า
และพยายามแกะสลักให้ใกล้เคียงกับของเก่าแก่มากที่สุดโดยช่างที่มีอายุน้อยมากไม่ถึง
25 ปี แต่มีความสามารถระดับสูง "ที่ร้านเราไม่ถือเรื่องอายุเป็นสิ่งสำคัญแต่ถือเอาฝีมือมากกว่า"
ปัจจุบันนี้ลูกค้าของที่นี่ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่นที่นิยมสั่งทำหยกเป็นแผ่นหินกลมจี้ห้อยคอ
"ตอนนี้เขาสั่งเข้ามาเป็นร้อยชิ้นแต่เราทำได้ไม่ถึงเพราะบางสีของหยกมีจำกัด
อย่างญี่ปุ่นสั่งมาต้องการสีหยกออกชมพูหน่อยๆ ซึ่งเป็นสีคอลเลกชั่นสำหรับฤดูใบไม่ผลิซึ่งทางลูกค้าซึ่งเป็นร้านจิวเวลรี่ค่อนข้างจู้จี้เรื่องสีมาก"
การที่วรนันท์สามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้นั้น เป็นเพราะได้คอนเนคชั่นการทำธุรกิจ
จากมร.คาโดคาว่า ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าของร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียวซึ่งมาเยือนเชียงใหม่และได้เข้าร่วมลงทุนด้วยโดยตั้งร้านจิวเวลรี่
ชื่อบริษัทไทยคาโดคาว่า และจากการยอมรับของคนที่มีชื่อเสียงนี่เองทำให้บริษัทจิวเวลรี่รายใหญ่ของญี่ปุ่นอีกรายหนึ่งตกลงใจจะร่วมลงทุนตั้งอีกบริษัทหนึ้งด้วย
"ญี่ปุ่นที่จะมาลงทุนกับเราเป็นญี่ปุ่นที่อยู่ในตระกูลทำอัญมณีมาแล้ว
5 ชั่วอายุคน เขาบอกว่าสินค้าของเขาถ้าราคาต่ำกว่าแสนบาทจะไม่ทำ ตอนแรกเขาก็มองหาผู้ร่วมลงทุนชาวไทยหลายคนที่เชียงใหม่
แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลือกเราและเทเล็กซ์มาว่าสนใจจะเข้าหุ้นกับเราโดยจอยเวนเจอร์กับเรา
ส่วนการถือหุ้นเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องไปคุยกันที่โตเกียวประมาณเดือนพฤษภาคม"
วรนันท์เล่าให้ฟัง
จนถึงวันนี้ การขยายตัวการลงทุนไปสู่ต่างประเทศตามแผนการที่ยังมีอยู่ วรนันท์เล่าให้ฟังว่าปีที่แล้วเคยคิดที่จะไปเปิดสาขาเองที่
ซานฟรานซิสโก ซึ่งคนที่นั่นรู้จักหยกและศิปวัฒนธรรมตะวันออกดีมากเพราะมีชาวเอเชียเข้าไปอยู่ที่นี่นานมากแล้ว
การเปิดตลาดในเมืองนอกเราต้องคิดในแง่ของกลุ่มผู้ซื้อว่ามีความเข้าใจในเรื่องหยกแค่ไหน
?"
แต่โครงการลงทุนนี้ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเกิดขึ้นในปีที่แล้ว
"ที่จริงเราทำสัญญาเรียบร้อยและเตรียมทนายไว้ เรียกว่าเตรียมพร้อมเกือบ
80% ทุกอย่างตกลงกันเรียบร้อยก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้แค่เดือนเดียวเท่านั้นเอง
แต่พอเกิดแผ่นดินไหวเราก็เลยไม่มั่นใจและหยุดโครงการลงทุนนี้ไว้" วรนันท์เล่าให้ฟัง
สำหรับแผนการลงทุนขยายงานสู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศ
วรนันท์ ได้จองพื้นที่โครงการศูนย์อัญมณี SILOM PRECIOUS TOWER ของรังสรรค์
ต่อสุวรรณ ไว้เรียบร้อยแล้วด้วยมูลค่าราคาแพงเกือบ 20 ล้านบาท
"เราเลือกซื้อที่นี่เพราะตัวบุคคลและโลเกชั่นมากกว่า มันอยู่ตรงหัวมุมถนนสีลม
และโครงการของรังสรรค์ ค่อนข้างใหญ่เนื้อที่เกือบ 5 ไร่ ขณะที่โครงการอื่นเพิ่งเปิดตัว
แต่มีประมาณไร่เดียว ที่จริงเราดูความได้เปรียบของพื้นที่ที่ต้อง GRAND &
PRESTIGE มากกว่าแต่เราก็ยังไม่รู้ว่าอีกสองสามปีจะเกิดอะไรขึ้น เราอาจจะไม่ไปเปิดก็ได้หารเราทำที่เชียงใหม่แล้วมีออร์เดอร์มาก
จนเราทำไม่ทัน วรนันท์มองอนาคตของกิจการและศักยภาพของเมืองไทยที่จะกลายเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกว่า
"มีความเป็นไปได้แน่นอนถ้ามีความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน
ซึ่งขณะนี้ภาครัฐบาลก็ให้ความร่วมมือดีมาก อย่างคราวที่แล้วไปประมูลหินหยกที่พม่า
กรทรวงพาณิย์ช่วยทั้งหมด พม่าเขาเชิญนักธุรกิจไทย 20 คนและเราเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในหมู่พ่อค้าฮ่องกงที่ประมูลหยกได้"
วรนันท์เล่าพลางชี้ให้ดูหินก้อนใหญ่หลายก้อนที่เพิ่งนำเข้ามาหลังจากชนะการประมูลหยกที่พม่า
4 รายการ มูลค่า 2 ล้านบาท ในจำนวนหยกทั้งหมด 384 รายการซึ่งมีมูลค่าขั้นต่ำ
195 ล้านบาท
"หยกหินก้อนซึ่งเป็นหยกกิโลที่ยังไม่ได้ทำหรือแกะสลัก ส่วนใหญ่เวลาเราซื้อจะเสี่ยงมาก
เพราะถ้าเป็นหยกสีเราจะไม่รู้เลยว่าสีข้างในเป็นอย่างไร แต่ละก้อนจะผ่าหน้าต่างกันนิดเดียวแค่นั้นเอง
คนก็ต่อรองราคากันแล้ว บางก้อนซื้อมา 4-5 หมื่นบาทข้างในอาจจะมามีเลยก็ได้
แต่บางก้อนพ่อค้าฮ่องกงก็ฟลุ้กเป็น 20-30 ล้าน เพราะบางทีไม่มีข้างนอกแต่ข้างในมีสีมากก็ได้"
วรนันท์เล่าประสบการณ์ที่คลุกคลีกับการประมูลหยกหินก้อนให้ฟัง
ทุกวันนี้ งานการออกแบบหยกเป็นเครื่องประดับงดงามหลายชิ้น ป็นฝีมือของน้องชาย
และวรนันท์เอง
ปีนี้คอลเลกชั่นใหม่ของเราจะเป็นหยกสีม่วงและเขียงสดใส เราทำเป็นชุดทั้งสร้อย
แหวน กำไลข้อมือ และต่างหู โดยเราพยายามเน้นความละเอียดมาก ขั้นตอนแรกเราจะสั่งช่างให้เจียหยกให้ได้ตามรูปและรายละเอียดแบบที่นี่มีความเป็น
UNIQUE ที่สุด" วรนันท์พาเดินเข้ายังอีกห้องที่แสดงเครื่องประดับราคาแพงและบรรยากาศเลิศหรูสำหรับลูกค้าระดับสูง
ในตู้กระจกแต่ละตู้ จะบรรจุประติมากรรมหยกที่ประณีตศิลป์ เช่น ลายต้นไม้
หยกสูงประมาณฟุตกว่าที่แกะสลักอย่างละเอียดเหมือนมีชีวิต "ชิ้นนี้เราไม่ได้ทำไว้ขาย
แต่ทำไว้เป็น SHOW PIECE สำหรับหุ้นส่วนญี่ปุ่นของเราซึ่งจะเปิดร้านที่กรุงเทพฯ"
วรนันท์เล่าให้ฟัง
นอกจากนี้การแกะสลักหยกเป็นช้างและม้า ก็ได้รับความนิยมจากตลาดนักท่องเที่ยวมากและที่น่าทึ่งคือการใช้จินตนาการเนรมิตหยกสามสีซึ่งคนจีนถือว่าดี
แบบ ฮก-ลก-ซิ่วที่สีแดงหมายถึงอายุยืนสีเขียวหมายถึงความความมั่งคั่งร่ำรวย
และสีขาวคือความโชคดี นำมาแกะสลักเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกตา เช่น การใช้ส่วนสีม่วงแกะเป็นดอกกุหลาบ
และส่วนสีเขียวเป็นใบไม้และส่วนสีแดงเป็นผีเสื้อ
"บางชิ้นที่หม่อนอรพินท์ท่านโปรด คือช้างชูลูกบอลที่แกะจากหินหยกก้อนเดียวแต่สามสีคือลูกบอลเป็นสีดำ
ตัวช้างเป็นสีเขียวและมีลุกช้างติดแม่เป็นสีม่วง" วรนันท์เล่า
ในบรรดาพ่อค้าจิวเวลรี่จำนวน 10,000 คนมีเพียงแค่ 2-3 คนเท่านั้นที่ทำหยก
และวรนันท์ก็เป็นหนึ่งที่มีความสามารถยกระดับการค้าหยกได้เทียบเท่าต่างประเทศ
"ชิ้นหนึ่งที่ถือว่าแพงที่สุดเท่าที่ทำมาคือแหวนหยกอิมพีเรียล ขนาด
20 กะรัต ซึ่งประมูลขายที่ CHRISTIE'S AUCTIONS ที่ฮ่องกงด้วยมูลค่าประมาณหนึ่งแสนเหรียญหรือ
2 ล้านกว่าบาท และกำไลคู่เดียวสองแสนกว่าเหรียญ หรือประมาณ 6 ล้านบาท บ้านเราคงไม่คิดกันว่าหยกจะแพงถึงขนาดนี้
แต่ในระยะสองปีมานี้คนไทยเรามีความเข้าใจเรื่องหยกมากขึ้น เราจึงฝึกพนักงานที่เน้นการให้ความรู้กับลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ส่วนเขาจะซื้อหรือไม่เป็นการตัดสินใจอีกระดับหนึ่ง" วรนันท์เล่าให้ฟัง
ผู้หญิงเก่งอย่างวรนันท์และปรีชา ผ่องเจริญกุล วันนี้ก้าวรุดหน้าไป จากเงินทุนเริ่มแรกไม่ถึงสองแสนและการทำงานอย่างหนัก
วันนี้ทำให้ธุรกิจร้อยล้านของวรนันท์ได้รับการยอมรับในความเป็นหนึ่งบนเส้นทางการค้าหยก
"สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถ้าเราทำอะไรต้องซื่อสัตย์และยุติธรรมต่อลูกค้า
ทำให้เราไปได้ไกลและนาน" วรนันท์กล่าวในที่สุด