ความประมาท

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นนามแฝงของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวชและจิตวิทยาแล้ว ยังมีความสนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เขาจะเสนอมุมมองและสาระความรู้ที่น่าสนใจในคอลัมน์"จากฝั่งพรานนก"

ถ้าคุณผู้อ่านได้ติดตามบทความของผมมาตั้งแต่ต้น คงจะพอนึกได้บ้างว่าบทความตอนแรกที่ผมเขียนลงในผู้จัดการรายเดือนเกี่ยวข้องกับ Y2K ในช่วงนั้นบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีน้อยมาก แต่แทบทุกวันนี้ไม่ว่าจะผ่าน หรืออ่านในหนังสืออะไร ก็มักจะมีบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก เช่นการเตรียมตัวรับสหัสวรรษใหม่กันอย่างไร หรือบทความในแง่ลบ เช่นจะเกิดอะไร ณ รอยต่อของการเปลี่ยนศตวรรษ จากเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 1999 สู่วันที่ 1 มกรา-คม 2000

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางคอม-พิวเตอร์ที่จะบังอาจพยากรณ์ว่าจะเกิด หรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพียงแต่เป็นผู้สนใจที่เห็นเรื่องราวบางเรื่องที่น่าสนใจก็เก็บมาเล่าให้คุณผู้อ่านทราบกันต่อ บังเอิญได้มีโอกาส อ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านหนึ่ง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ พอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า อาจารย์ท่านนี้มองว่าปัญหา Y2K เป็นเรื่องของคนไทยตื่นเต้นตามฝรั่ง โดนฝรั่งกระพือข่าวจนเชื่อ และเสียเงินเสียทองจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาที่อาจารย์ท่านนี้มองว่าจะไม่เกิดขึ้น

อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วทำให้นึกย้อนกลับไปถึงข่าวข่าวหนึ่งที่ทางผู้บริหาร ของบริติชแอร์เวย์ยืนยันถึงความพร้อมของตนในการทุ่มเงินแก้ไขปัญหา Y2K ถึงขั้นที่ระดับบริหารของบริษัท จะขึ้นเครื่องบินไปกับเครื่องของตนในวันที่ 31 ธันวาคม หลังจากนั้นหลายเดือนถัดมา ทางการบินไทยก็ประกาศความพร้อมของตนในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการที่ธรรมนูญ หวั่งหลี DD การบินไทยจะขึ้นบินพร้อมกับเครื่องของการบินไทย ในคืนสิ้นปีเช่นกัน

อ่านข่าวทั้งสามข่าวแล้วทำให้ผมรู้สึกว่า คนบางจำพวกมั่นใจในข้อมูล หรือความเชื่อของตนจนไม่เผื่อความเป็นไปได้ของอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิต ในขณะที่ผู้บริหารสายการบินทั้งสอง แสดงถึงความมั่นอกมั่นใจของตน ต่อการรับสถานการณ์โดยการขึ้นบินด้วย โดยไม่เผื่อใจว่าหากเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่ตนคิด ใครจะรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็กับครอบครัวของนักบินและพนักงานประจำ เครื่อง (ในบทความเดียวกันนี้ในไทยรัฐ แจ้งว่าการบินไทยประกาศงดเที่ยวบินในช่วงรอยต่อของศตวรรษแล้ว นั่นก็หมายความว่าคุณธรรมนูญคงจะได้คิดแล้วว่า เป็นการเสี่ยงในเรื่องที่ไม่มีความ จำเป็นที่จะต้องทำ)

ในขณะที่ทัศนะของอาจารย์อีกท่านหนึ่งก็แสดงถึงความมั่นใจและดูเบากับปัญหา ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับโปรแกรมเมอร์หลายท่าน ล้วนแต่มีความเห็นตรงกันว่า เราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และการที่แต่ละหน่วยงานออกมาประกาศถึงความพร้อมของตนนั้นก็เป็นความพร้อมในสถานการณ์สมมุติ เหตุที่เรียกว่าสถานการณ์สมมุติก็เพราะเป็นการลองแก้ไขปัญหาตามที่คิดว่าใช่แล้วเปลี่ยนRTC (real time clock) ใน bios ของเครื่องให้เป็นวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 แล้วพบว่าไม่มีปัญหาอย่างที่วิตก แต่ในความเป็นจริง เรายังไม่มั่นใจว่ามีปัญหาอะไรนอกเหนือไปจากที่เราคาดคิด และแก้ไขไปแล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่ทุกคนหรือทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาไปหมดแล้ว และด้วยวิธีเดียวกัน ในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์ออนไลน์และเชื่อมต่อกันทั้งโลก เราไม่อาจบอกได้ว่าที่ที่ไม่ได้แก้ปัญหา Y2K หรือที่ที่แก้แล้วแต่เกิดปัญหาขึ้น จะส่งผลกระทบต่อที่อื่นๆ เป็นทอดๆ เหมือนตัวโดมิโนหรือไม่

ผมเห็นด้วยว่าการตื่นกลัวจนเกินเหตุ ทำให้ถูกคนฉวยประโยชน์และทำมาหากินกับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจของคน แต่การไม่เตรียมตัวอะไรเลย หรือการที่คิดว่าแก้ปัญหาไปแล้วไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไรอีก อาจจะเป็นเรื่องน่ากลัวกว่า เหมือนกรณีของการบินไทย ที่แต่แรกแสดงความมั่นอกมั่นใจอย่าง ยิ่ง แต่พอใกล้ถึงเวลาจริงๆ เข้าก็ถอยหนีเอา ดื้อๆ อย่างไรก็ตามสำหรับการถอยของการบินไทยในครั้งน ี้ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องชมว่าไม่ดันทุรังทำในสิ่งที่ไม่มีความมั่นใจ

ในส่วนของหน่วยงานรัฐบาลนั้น เท่าที่ผมทราบ มีคำสั่งให้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงต่อของศตวรรษ ซึ่งก็อย่างที่ผมกล่าวในตอนต้น เรากำลังเตรียมต้อน รับเหตุการณ์อะไรบางอย่างซึ่งเราเองไม่แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ และหากเกิดขึ้นจะว่าไปแล้วเราก็ไม่รู้อีกนั่นแหละว่ามันเกิดจากปัญหา Y2K หรือเปล่า อย่างไรก็ตามการเตรียมพร้อมในช่วงเปลี่ยนของศตวรรษก็อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงคำพระที่ว่า พึงดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท

พูดถึงความไม่ประมาททำให้หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาเอแบค 2 รายฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงมาจากตึกตึกเดียวกัน และชั้นเดียวกัน ทุกคนที่รับทราบข่าวนี้ต่างต้องลงความเห็นว่าเป็นการเลียนแบบกัน หรือที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบ้านเราใช้คำว่า copycat suicide ในขณะที่รายแรกมีความเจ็บป่วยอยู่เดิมประกอบกับความเครียด จากการเรียนและการสอบเป็นผลให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ส่วนรายที่สองนั้นข่าวว่าเนื่องจากมีเรื่องผิดหวังเกี่ยวกับเพื่อนชาย

สำหรับกรณีหลังนั้นมีข้อชวนให้คิดหลายประการถึงการเลียนแบบ นั่นคือการเลือกสถานที่เดียวกัน ตึกเดียวกัน และชั้นที่ใช้กระโดดก็เป็นชั้นเดียวกัน สำหรับรายแรกนั้น การเลือกสถานที่ในสถานที่เรียน ในระหว่างการเรียน และ การฆ่าตัวตายนั้นสาเหตุมาจากปัญหาการ เรียน บอกกับเราได้ค่อนข้างชัดเจนว่า

การเลือกสถานที่ในการฆ่าตัวตายนั้น มีวัตถุประสงค์ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับทางมหาวิทยาลัย อาจจะเป็นการประท้วง การเรียกร้อง หรือบอกกล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจนั้นมาจากปัญหาการเรียน หรือระบบการเรียนการสอบ แต่ในรายที่สองนั้น หากการฆ่าตัวตายไม่มีจดหมายลาตาย การฆ่าตัวตายนั้น น่าจะเป็นอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เหตุที่เลือกสถานที่เดียวกับกรณีแรก อาจจะเพราะ ประการ แรก การโดดจากชั้นที่สิบนั้นมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่าตายแน่ ประการที่สอง การเลือกทำในมหาวิทยาลัยเป็นการบอก ว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นอยู่ในสถานที่นี้ (เพื่อนชาย) สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ การที่ทางผู้บริหารสถานศึกษานั้นออกมาให้ข่าวว่ามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ด้วยการประชุมนักศึกษา การจัดอาจารย์ที่ปรึกษา การปิดตายหน้าต่างในชั้นดังกล่าว และการเพิ่มยามให้มากขึ้นในสถานที่ที่มีความเสี่ยง ที่จะทำ พร้อมกับการที่ผู้บริหารท่านนั้นเสริมว่า ทางของท่านไม่น่าเป็นห่วงแล้ว ถ้าจะห่วงก็ห่วงแต่สถาบันอื่นที่ยังไม่ได้ดำเนินการป้องกัน ท่าทีเช่นนี้ค่อนข้างเสี่ยงต่อการดูเบา และวางใจกับปัญหา เหมือนกับกรณี Y2K ที่กล่าวถึง ผมคิดว่ามาตร การดังกล่าวอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้มีลักษณะ copycat เกิดขึ้นอีก คือการกระโดดจากตึกเดียวกัน ชั้นเดียวกัน และหน้าต่างบานเดียวกัน (เพราะถูกป้อง กันไว้หมดแล้ว) ทางสถานศึกษากำลังคิดเพียงแค่ไม่มี copycat suicide ก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริงมาตรการทั้ง หลายไม่สามารถป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่น ในตึกอื่น หรือสถานที่อื่น รวมทั้งที่บ้าน ซึ่งหากเกิดที่อื่นนอกสถานศึกษา ผู้บริหารอาจจะรู้สึกผิดน้อยลง หรือสามารถปฏิเสธความร่วมรับผิดชอบ และยกความรับผิดชอบในการป้องกันปัญหาทั้งหมด ให้เป็นความรับผิดชอบของครอบครัว เหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา

ผมคิดว่าสิ่งที่สถาบันต้องให้ความสนใจมากขึ้น คือการโปรโมตเรื่องสุขภาพจิต รวมทั้งยอมรับความจริงได้ว่า นักศึกษาในสถาบันของตนสามารถที่จะป่วยทางด้านสุขภาพจิตได้เหมือนกับการป่วยทางกาย และการป่วยนั้นอาจจะมีสาเหตุโดยตรงจากสภาพการเรียน และระบบการเรียนการสอน หรือการป่วยนั้นอาจจะมีสาเหตุทางอ้อมมาจากบรรยากาศในการเรียนก็ได้

การยอมรับความเจ็บป่วยทางจิตเวช หรือความเครียดจากการเรียนว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน จะทำให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพจิตกล้าที่จะออกมาขอความช่วยเหลือจากครูอาจารย์ ซึ่งทำให้เราสามารถ ป้องกันการฆ่าตัวตายได้ส่วนหนึ่ง การหลงว่าตัวเองได้แก้ไขปัญหาแล้ว ย่อมส่งผลให้ละเลยถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือความควบคุมของเรา (เช่น นักศึกษาอาจผูกคอตายในชั้นเรียนที่อยู่ล่างสุดที่ไม่มียามคอยระวัง) และเป็นการดำรงตนอยู่ในความประมาทโดยแท้ และเป็นความประมาทที่มองอย่างไรก็ไม่เห็นความบกพร่องของตนเอง และอาจจะกล่าวโทษว่าที่มาตรการต่างๆ ไม่ได้ผล เป็นเพราะผู้ที่จะฆ่าตัวตายไม่มาฆ่าตัวตายที่หน้าต่างบานนั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.