เปิดจองกองทุนวายุภักษ์ วันแรกพลิกล็อก ประชาชนสนใจจองซื้อ วานนี้เพียง 1.5 หมื่นล้านบาท
สัดส่วนเพียง 21% จากยอดรวม 7 หมื่นล้านบาท ที่จัดสรรขายประชาชนทั่วไป เหตุคนซื้อต้องลงทุนระยะยาวอาจทำให้ผลตอบแทน
เฉลี่ย 3% ต่อปีไม่คุ้ม บวกทิศทางดอกเบี้ย คาดแข็งขึ้นอนาคต ขณะที่ขุนคลังมั่นใจ
ขายหมดแน่ ไม่จำเป็นต้องงัดมาตรการรองรับ ด้านวิปฝ่ายค้าน ชี้รัฐบาลต้องแจง ข้อมูลทุกด้าน
ไม่ใช่เสนอข้อดีเพียงด้านเดียว
วานนี้ (11 พ.ย.) กองทุนวายุภักษ์ 1 เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหน่วยลงทุน 70,000
ล้านบาท เป็นวันแรก ปรากฏว่า บรรยากาศของการจองซื้อหน่วย ลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง
5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ไทย-พาณิชย์ นครหลวงไทย และไทยธนาคาร ไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้
คือประชาชน ทยอยจองซื้อเบาบาง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้บัตรคิวในการจอง
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้การจองซื้อหน่วยลงทุนวายุภักษ์ไม่คึกคัก เนื่องจากประชาชนกำลังพิจารณาถึงผลตอบแทนที่
จะได้นั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะผลตอบแทน เฉลี่ยประมาณ 3% แต่ต้องถือยาวเป็นระยะเวลา
10 ปี ทำให้ผู้ลงทุนต้องพิจารณา อย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันแนวโน้มของ อัตราดอกเบี้ยเริ่มมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้น
ประชาชนจึงไม่มั่นใจว่าจะคุ้มกับการลงทุน หรือไม่ รวมทั้งอาจมีลู่ทางการลงทุนประเภทอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า
ยอดจองวันแรก 1.5 หมื่นล้าน
นางสาวประภา ปูรณโชติ รองกรรมการผู้จัดการ เจ้าหน้าที่บริหารผู้บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด ในฐานะผู้จัดการ กองทุน เปิดเผยว่า
ยอดจำหน่ายหน่วยลงทุน วายุภักษ์ 1 ในวันแรก รวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ
21% ของ จำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่เสนอขาย 70,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดจองของรายย่อย
(ต่ำกว่ารายละ 500,000 บาท) จำนวน 20,000 ราย
จากยอดจองของรายย่อยทั้ง 20,000 ราย สามารถแบ่งตามยอดที่จองผ่านธนาคารทั้ง 5
แห่งดังนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย 2,800 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 2,800 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา
2,400 ล้านบาท นครหลวงไทย 1,200 ล้านบาท และไทยธนาคาร 800 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยที่จองเกิน
500,000 บาท ยอดรวมของทั้ง 5 ธนาคารประมาณ 5,000 ล้านบาท
"ยอดจองวานนี้ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งกองทุนรวมในประเทศไทย
ที่สามารถขายหน่วยลงทุนได้วันเดียวเกินกว่า 10,000 ล้านบาท แถมยังมีเพดานในการจองซื้อไว้สูงสุดที่
500,000 บาท ต่อ 1 ใบจองด้วย"
สำหรับรายละเอียดของการจองซื้อนั้น ผู้ที่จองซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน
ทำให้ผู้ที่จองซื้อส่วนใหญ่ในวันแรกของการเปิดให้จองซื้อนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จองซื้อต่ำกว่า
500,000 บาท ส่วนคนที่ต้องการจองซื้อเกิน 500,000 บาท นั้นคาดว่าจะรอให้คนที่จองต่ำกว่า
500,000 หมดไปก่อน
อ้างตลาดหุ้นทรุด-ฉุดยอดจอง
สำหรับยอดการขายหน่วยลงทุนวันแรกไม่ถึง 50% ของยอดขาย 70,000 ล้านบาท นั้นยอมรับว่าประเด็นสำคัญมาจากภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงเกือบ
20 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวที่กระจายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการวางระเบิดในสถานทูตสหรัฐอเมริกา
ทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจในการซื้อหน่วยลงทุนรีรอการตัดสินใจในการจองซื้อในวันแรก
"ผลกระทบจากข่าวลือวางระเบิดที่สถานทูตสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นไทยทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจจองซื้อหน่วยลงทุนจึงลังเลในการจองซื้อ
เพราะกลัวลูกหลงต่างๆ ที่จะตามมา"
กรุงไทยมั่นใจขายหมด 3.5 หมื่นล.
นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การจองซื้อช่วงเช้ามีกองทุนให้ความสนใจจองซื้อพอสมควร
แต่ไม่คึกคักและน้อยกว่าที่คิด จนกระทั่งปิดจองในวันแรก เมื่อเวลา 15.30 น. มีผู้จองซื้อกับธนาคารรวมทั้งสิ้นประมาณ
5,100 ล้านบาท ซึ่งรวมยอดของผู้จองซื้อจำนวนที่เกิน 500,000 บาท โดยผู้จองซื้อส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ
และจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น หาดใหญ่ และเชียงใหม่ เป็นต้น
"ยอดจองซื้อวานนี้ ถือว่าน้อยมาก ผิดจาก ที่ได้คาดการณ์ไว้ จึงได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องธนาคารกรุงไทย
เพื่อหาสาเหตุที่มียอดจองน้อยผิดปกติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทางการคาดผิดที่มอง ว่ามีนักลงทุนรายย่อยมาซื้อมาก
แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ เนื่องจากมีผู้ซื้อระดับกลาง และธนาคารได้รายงานกระทรวงการคลังให้ทราบแล้ว
ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตั้งข้อสงสัยเช่นกันว่าขายได้ต่ำกว่าเป้าเป็นจำนวนมาก"
สำหรับหน่วยลงทุนจำนวน 35,000 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงไทยได้รับการจัดสรรนั้น นายสหัส
กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าจะสามารถขายหมดภายในวันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้
สาเหตุที่ไม่สามารถขายได้หมดภายในวันแรก สืบเนื่องจากนักลงทุนไม่อยากมาแย่งกันซื้อ
ในช่วงแรก อีกทั้งการเปิดขายเป็นการให้นักลงทุน เป็นรายย่อยไม่เกิน 500,000 บาท
ทำให้ต้องมีนักลงทุนมาจำนวนมากซื้อถึงจะขายหมด ซึ่งหากกรุงไทยจะขายหมดต้องมีนักลงทุนมากถึง
200,000 ราย
ด้านนายพงศ์พินิต เดชะคุปต์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารสามารถ ขายหน่วยลงทุนได้ดีพอสมควรจากยอดที่ได้รับการจัดสรรจากรกระทรวงการคลัง
6,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะดำเนินการขายต่อไปจนถึง 19 พฤศจิกายนนี้
ขณะที่ธนาคารไทยธนาคาร รายงานว่า ธนาคารได้รับการจัดสรร 4,600 ล้านบาท ซึ่งวันแรกขายได้
762 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะต้องดำเนินการขายต่อไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์
1 ว่า รู้สึกพอใจกับการเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนของประชาชนรายย่อยซึ่งจากที่ได้รับรายงานมานั้น
พบว่าขณะนี้มียอดจองซื้อประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขายหน่วยลงทุนหมดอย่างแน่นอน
แต่อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง
ส่วนในกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังมีมาตรการรองรับหรือไม่หากขายหน่วยลงทุนไม่หมดนั้น
ร.อ.สุชาติ กล่าวว่า กระทรวงการคลังมั่นใจขายหน่วยลงทุนวายุภักษ์ หมดแน่นอน จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนอะไรออกมารองรับ
ฝ่ายค้านจับตาดูกองทุนวายุภักษ์ 1
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน
กล่าวว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่เปิดให้ประชาชนจองอยู่ขณะนี้ถือเป็นสิทธิ์ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
ฝ่ายค้านยังไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะดำเนินไปอย่างไร
เพราะรัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ฝ่ายค้านอยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลกับผู้ลงทุน
อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ให้เฉพาะข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียว เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อมีการลงทุนก็ย่อมต้องมีความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้
จึงไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ลงทุนเพราะจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตดังเช่นที่เคยเกิดกับบางกองทุนมาแล้ว
"สิ่งที่น่าสนใจในการดำเนินงานของกองทุน รวมวายุภักษ์ 1 นี้ อยู่ที่ว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในแนวทางใด
ซึ่งหากจะนำไปลงทุนในหุ้นก็จะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการนำไปลงทุนในหุ้นของบริษัทหนึ่งบริษัทใดที่ทำให้มีการเอื้อประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายค้านได้มอบหมายให้คณะทำงานติดตามดูอย่างใกล้ชิดแล้ว"
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนวายุภักษ์ทั้ง 5 แห่ง ได้รับการจัดสรรโควตาดังนี้
ธนาคารกรุงไทย ได้รับโควตา 35,000 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 15,000 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย
ธนาคาร ไทยธนาคาร และธนาคารกรุงศรีอยุธยา แห่งละ 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของมูลนิธิต่างๆ
กว่า 10,000 ล้านบาท