บางกอกแอร์เวย์สคว้างานคลังสินค้าและบริการภาคพื้นรายที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ
เสนอผลตอบแทนให้ทอท.สูงสุด ทิ้งห่างกลุ่มซีทีไอ และ TAC ซึ่งเป็นคู่แข่งอย่าง ไม่เห็นฝุ่น
สุริยะพอใจตัวเลข เชื่อทอท.มีรายได้ สูงพอที่จะทำให้การขายหุ้นในต้นปี 47 ประสบความสำเร็จ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่าบริษัทท่าอากาศยานไทย
จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้รายงานผลการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินกิจกรรมคลังสินค้าและครัวการบินรายที่
2 ซึ่งได้มีการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2546 ที่ผ่านมาว่ากลุ่ม
WFS-PG Cargo Joint Venture ซึ่งมีบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือบางกอกแอร์เวย์สร่วมด้วย
เป็นผู้เสนอผลตอบแทนให้ทอท.สูงที่สุด ทั้ง 2 กิจกรรม และเป็นผลตอบแทนที่มากกว่าผู้ที่ได้คะแนนเทคนิค
อันดับที่ 2 ถึงเท่าตัว โดยเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำสุดปีแรกในกิจกรรมคลังสินค้า 155
ล้านบาท ต่อปี กลุ่มบริษัทไทย แอร์พอร์ต กราวนด์ เซอร์วิส เซส จำกัด หรือ TAC เสนอผลตอบแทน
111 ล้านบาทต่อปี และกลุ่ม SPI-CTI คอนซอร์เตียม เสนอผลตอบแทน 72 ล้านบาทต่อปี
ส่วนบริการอุปกรณ์ภาคพื้น และสิ่งอำนวย ความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง กลุ่ม WFS-PG
Cargo เสนอผลตอบแทนให้ทอท. 166 ล้านบาท ต่อปี กลุ่ม SPI-CTI เสนอผลตอบแทน 128 ล้าน
บาทต่อปี และ TAC เสนอผลตอบแทน 75 ล้าน บาทต่อปี โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะเจรจาต่อรองเรื่องผลตอบแทนและเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอความเห็นชอบจากครม.ตามขั้นตอนพ.ร.บ.ร่วมทุนต่อไป
นายสุริยะกล่าวว่า ผลตอบแทนที่เอกชนเสนอมาให้นั้น น่าพอใจและเชื่อว่าจะทำให้ทอท.
มีรายได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขายหุ้นในต้นปี 2547 เพราะสอดคล้องกับการลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
สำหรับผู้ใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ และนโยบายที่ให้ทอท.หารายได้ให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยปัจจุบันทอท.มีรายได้คาร์โก้ที่ท่าอากาศ
ยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี ส่วนบริการภาคพื้นไม่มีรายได้เพราะ
ลูกค้ารายใหญ่เป็นการบินไทยที่ได้รับการยกเว้น
พอใจรายได้เชื่อหนุนขายหุ้นได้ราคา
นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ รักษาการกรรม การผู้จัดการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า คลังสินค้ามีมูลค่า
1,200 ล้านบาท มีเอกชนยื่นประมูล 4 ราย แต่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค 3 ราย โดยกลุ่ม
สิงคโปร์ แอร์ เทอร์มินอล เซอร์วิส ไม่ผ่านด้านเทคนิค ส่วนบริการภาคพื้น ยื่นประมูล
3 รายผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคทั้ง 3 ราย ทั้งนี้ในการพิจารณาเรื่องผลตอบแทนนั้น
จะเปรียบเทียบ กับตัวเลขของรายได้ในอาคารผู้โดยสาร (เทอร์-มินอล) ของทอท.แต่ละปี
โดยคลังสินค้านั้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ส่วนบริการภาคพื้น การันตีผลตอบแทนต่ำสุดที่
7.5%
"ทอท.ยึดตัวเลขของรายได้ในเทอร์มินอลเป็นฐานเพื่อกำหนดเป็นผลตอบแทนขั้นต่ำสุด
หากในปีใด ผลตอบแทนที่เอกชนรายที่เสนอมาสูงสุดต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด ก็จะต้องจ่ายไม่น้อยกว่านั้น
แต่หากว่าผลตอบแทนที่เอกชนเสนอไว้สูงกว่าเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด ก็ให้จ่ายตามที่เสนอ
คือยึดตัวเลขที่สูงที่สุด ซึ่งรายที่เสนอผลตอบแทนสูงสุดเสนอตัวเลขมาค่อนข้างสูงแล้ว
และคาดว่าน่าจะสูงกว่า เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ทอท.กำหนดเป็นการันตีต่ำสุด" นายบัญชากล่าว
นายบัญชากล่าวด้วยว่า การที่ บริษัท TAC เสนอผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ไม่ทราบว่าเกิดจาก
สาเหตุอะไร แต่เชื่อว่าน่าจะมีเหตุผล เพราะการที่บริษัทไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการคลังสินค้ารายที่
2 ที่สนามบินสุวรรณภูมิค่อนข้างจะได้รับผลกระทบ เพราะปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ประกอบการด้านคลังสินค้าที่ดอนเมือง
ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทอาจจะต้องเจรจากับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เป็นผู้ดำเนินคลังสินค้าที่สุวรรณภูมิ
"เท่าที่ดู กลุ่ม WFS-PG ที่เสนอผลตอบ แทนสูงสุด น่าจะนำกำไรที่คาดว่าจะได้เสนอให้ทอท.หมด
แล้วค่อยไปเอากำไรในปีท้ายๆ ของสัญญา ซึ่งมีอายุ 20 ปี เนื่องจาก คลังสินค้าและบริการภาคพื้นเป็นกิจกรรมที่มีรายได้และกำไรดี"
นายบัญชากล่าว
ผู้ประกอบการคลังสินค้ารายที่ 2 จะเริ่มงาน ออกแบบและก่อสร้างได้ต้นปี 47 และคาดว่า
การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 48 จากนั้น จะเปิดทดสอบระบบต่างๆ อีกประมาณ
6 เดือน เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณ ภูมิที่จะเปิดให้บริการในเดือนก.ย.
48 โดยมีพื้นที่ประกอบการ 45,000 ตร.ม.มีขอบเขตงานหลัก คือการก่อสร้างอาคารคลังสินค้า
พร้อมติด ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดหาอุปกรณ์บริการที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการรับ-ส่ง
และ บริหารจัดการสินค้าเข้า-ออกระหว่างประเทศ
สำหรับกิจการคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 2
ราย โดย รายที่ 1 ทอท.ได้ให้สิทธิ์แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ
เนื่องจากเป็นสายการบินแห่งชาติและเป็นรัฐวิสาหกิจ มีพื้นที่ประกอบการ 90,000 ตร.ม.
รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท. กล่าวอีกว่าทอท.จะเร่งสรุปผลการเจรจาด้านผลตอบแทนและเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม
และครม.ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2546 นี้แน่นอน
และจะเร่งดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนิน การในครัวการบินและบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง
อากาศยาน โดยในสัปดาห์หน้าจะพิจารณาด้านเทคนิคของผู้ยื่นประมูล