นี่ก็จะผ่านไปอีกปี ถ้าคิดตามปฏิทินฝรั่งก็เป็นการส่งท้ายทศวรรษ ศตวรรษ
และ สหัสวรรษ ในเวลาเดียวกัน ความจริงถ้าคิดตามหลักของตัวเลขจะต้องเป็นสิ้นปีหน้าถึงจะขึ้นสหัสวรรษใหม่
แต่การเปลี่ยนเวลาจากปี ค.ศ.1999 เป็น 2000 ดูจะเท่กว่าสำหรับผู้คนและคอม
พิวเตอร์ทั่วไป โอกาสนี้ผมขออนุญาตส่งท้ายด้วยเรื่องราวสนุกๆ (แต่ไม่ค่อยเบาสมอง)
ว่าด้วย เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา
สมัยผมเป็นเด็กนักเรียน ยามค่ำคืนเวลาแหงนดูดาวบนท้องฟ้า ผมสงสัยว่าจะมีใครอยู่บนดวงดาวไกลโพ้น
แหงนหน้าดูดาวบนท้องฟ้า และคิดสงสัยเหมือนกับที่ผมสงสัยอยู่หรือไม่ สักพักคำถามตามประสาเด็กขี้สงสัยก็ตามมาเป็นพรวนว่า
ตัวเราเป็นอยู่ (Being) ได้อย่างไร โลกคืออะไร และสหายร่วมดวงอาทิตย์ของโลก
ดวงดาวบนท้องฟ้า และจักรวาลเกิดมาได้อย่างไร มีอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่ จักรวาลมีขอบเขตอยู่ที่ไหนหรือไม่
จะมีสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด (หรือที่คิดว่าตัวเองฉลาด) อยู่ที่อื่นนอกจากโลกใบเล็กๆ
นี้หรือไม่ และอื่นๆ ซึ่งในยามกลางวันตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ผมก็เคยใช้คำถามเหล่านี้สร้างความเวียนหัวให้กับคนรอบข้างมานักต่อนัก
คำตอบทั่วไปจากบุคคลรอบข้างหากไม่ใช่คำต่อว่าตามมาด้วยคำสบถ ก็มักจะมาในทำนองที่ว่า
ถามคำถามที่ไกลตัวเกินไปและไม่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี ในความคิดของผม การตั้งคำถามเหล่านี้และค้นหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับชีวิต
เข้าเรื่องกันเลย ไม่นานมานี้ผมซื้อหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คมาอ่านเล่มหนึ่ง
มีชื่อว่า A Brief History of Time เขียนโดย Stephen Hawking (ขอแปลชื่อหนังสือเป็นไทยดังชื่อของบทความนี้)
ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สิบ ดูจากคำโฆษณาบนปกหลังและคำนำหน้าได้ความว่า
เป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดีในหนังสือ Sunday Times (ประเทศอังกฤษ) 237
สัปดาห์ แปลเป็นภาษาต่างๆ ประมาณ 40 ภาษา (ภาษาไทยไม่แน่ใจ) และจำหน่ายไปแล้ว
1 เล่มต่อประชากรโลก 750 คน หรือเป็นจำนวนกว่า 9 ล้านเล่ม ที่ร้านหนังสือ
ผมรู้สึกดีใจที่รู้ว่ามีเพื่อนร่วมโลกที่สนใจค้นหาคำตอบเด็กๆ อย่างที่ผมเป็นไม่น้อยกว่า
9 ล้านคน หลังจากที่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ผมก็มีความรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก
แม้จะอ่านได้เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ยังอยากจะเขียนถึงเพื่อเป็นการเผยแพร่
เกี่ยวกับผู้เขียน สตีเฟน ฮอว์ คิง เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้าน Theoretical
Physics ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุดผู้หนึ่งในปัจจุบัน แม้ร่างกายเขาจะพิการด้วยโรค
ALS (Amyotrophic La-teral Sclerosis หรือโรคเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ)
ซึ่งปัจจุบันต้องนั่งกึ่งนอนบนรถเข็น เวลาพูดต้องใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงและคอมพิว-
เตอร์ทำหน้าที่แทนปาก เขาก็ยังสามารถสร้างผลงานทางวิชาการ เขียนบทความ และหนังสือทางวิชาการมากมายได้รับปริญญากิตติมศักดิ์
12 ครั้ง ได้รับตำแหน่งสำคัญทางวิชาการ รางวัลและคำยกย่องอีกนับไม่ถ้วน สตีเฟน
ฮอว์ คิง เกิดที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมื่อ 8 มกราคม ปี ค.ศ.1942
จบการศึกษาระดับดุษฎีบัญฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจักรวาลวิทยา
เป็นผู้หนึ่งที่พยายาม ค้นหาคำตอบของคำถามที่ยากที่สุดคำถามหนึ่งของมวลมนุษยชาติ
ว่าด้วยกำเนิดของจักรวาล
เนื้อหาของหนังสือ A Brief History of Time เป็นเรื่องของความพยายามของมนุษย์
ในการตอบปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับจักรวาล แนวการเขียนของ ฮอว์คิง พยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจด้วยเหตุผลและเห็นภาพในใจเป็นประเด็นๆ
ไป โดยให้มีความซับซ้อนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผมประทับใจตั้งแต่บทแรกที่อ่าน
ผู้เขียนมีความใจเย็นและพยายามป้อนสาระอย่างละมุนละม่อมเสมือนป้อนยาขมให้เด็กอนุบาล
มีการแทรกอารมณ์ขันอยู่เป็นระยะเพื่อให้สนุกน่าติดตามแต่ไม่วุ่นวายหรือทำให้สะดุด
คำอธิบายชัดเจนและตรงไปตรงมา จุดเด่นที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนสามารถรู้ได้ว่าผู้อ่านจะคิดอย่างไร
โดยเฉพาะคำถามในใจซึ่งเกิดจากกระบวนความคิดที่ต่อเนื่อง และพยายามตอบคำถามให้เข้าใจโดยใช้ภาษาง่ายๆ
ให้ได้ความหมายในเชิงหลักการ โดยละทิ้งรายละเอียดทางเทคนิคซึ่งจะเกินความสามารถในการรับรู้ของผู้อ่านทั่วไป
แนวการเขียนมีความคงเส้นคงวาในลักษณะเช่นนี้ตลอดทั้งเล่ม แต่เพราะความซับซ้อนของเนื้อหาทำให้บางบทบางตอนอาจเข้าใจยาก
เนื่องจากเนื้อหาแทบทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ อ้างอิงความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์
จะเป็นการได้เปรียบถ้าผู้อ่านมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ผู้ที่มีความรู้หรือสนใจศึกษาเรื่องจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์สมัยใหม่จะอ่านได้รื่น
ในขณะที่ผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้มีพื้นฐานจะได้ความรู้ความเข้าใจในอีกมิติหนึ่ง
อย่างไรก็ตามผู้อ่านจะต้องใช้ความพยายามพอสมควรในการเข้าถึงเนื้อหา และไม่ต้องสงสัยในความฉลาดของตนเองถ้าจะอ่านไม่รู้เรื่องดังใจ
(ซึ่งเป็นปรกติของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผม ส่วน คนที่อ่านแล้วเข้าใจทะลุปรุโปร่งในทันทีถือว่าไม่เป็นปรกติวิสัย)
สำหรับผู้ที่จริงจังและอยากทำความเข้าใจเป็นอย่าง ยิ่ง อาจต้องหาความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์สมัยใหม่มาประกอบ
เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 12 บท ในบทแรก เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจเรื่องรูปลักษณ์ของจักรวาล
โดยเล่าเรื่องแนวความคิดของนักปรัชญา นักคิด และนักวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวกับจักรวาลตั้งแต่สมัยกรีกรุ่งเรืองจนถึงยุคปัจจุบัน
บทนี้อ่านแล้วลื่นที่สุดและทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีพื้นฐานทางดาราศาสตร์หรือวิชาฟิสิกส์
บทที่ 2 กล่าวถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพจำเพาะ
(Special Relativity) และทฤษฎีสัมพัทธ ภาพทั่วไป (General Relativity) ทฤษฎี
สัมพัทธภาพ เป็นพื้นความรู้ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการศึกษาวิชาฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาในปัจจุบัน
และเป็นจุดหักเหสำคัญของการพัฒนาความรู้ทางฟิสิกส์ ทฤษฎีสัมพัทธภาพจำเพาะ
กล่าวถึงเรื่องระบบที่มีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ และกล่าวว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลจะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันรวมทั้งความเร็วแสง
ไอน์สไตน์ กล่าวว่าความเร็วของแสง (แสงไฟ แสงเทียน ฯลฯ) เป็นความเร็วสูงสุดของสิ่งใดก็ตามที่เคลื่อนที่ได้
และเราจะวัดความเร็วของแสงได้เท่ากันเสมอไม่ว่าเราจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่เท่าใดก็ตาม
(แน่นอนต้องไม่เร็วกว่าแสง) จากไอเดียซึ่งดูเรียบง่ายนี้สามารถพัฒนามาเป็นสูตรคณิตศาสตร์ยอดนิยม
E=mc2 ได้ และได้ข้อสรุปสำคัญว่า กาล-อวกาศ หรือ เวลาและสถานที่ (Space and
Time) เป็นสองสิ่งที่ต้องประกอบกันเสมอเหมือนปลาท่องโก๋ที่อยู่เป็นคู่ ส่วนทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
จะกล่าวถึงระบบที่มีการเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง และอธิบายเรื่องความโน้มถ่วงและเรื่องของ
กาล-อวกาศ ภายใต้แรงโน้มถ่วง
ต่อด้วยเรื่องราวที่มาของแบบจำลองของจักรวาลและแนวทางการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ผลของการศึกษาข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่ได้รวบรวมมาทำให้เชื่อว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีการระเบิดใหญ่
(Big Bang) และจักรวาลที่เรา-ท่านอาศัยอยู่นี้เป็นผลจากการระเบิดนั้น
ทฤษฎีความไม่แน่นอน The Uncertainty Principle เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ
เป็นผลงานจากมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เวอน์ เนอร์ ไฮเซนเบริก
(Werner Heisen-berg) ทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาการเกี่ยวกับสิ่งที่เล็กที่สุดในจักรวาล
ซึ่งเรียกว่าวิชาการสาขา ควันตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics) ทฤษฎีความไม่แน่นอน
มีเนื้อหาว่าในโลกของ สิ่งที่เล็กที่สุดจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถหยั่งรู้ข้อมูลที่ถูกต้องได้
เพราะการหยั่งรู้ของเราจะทำให้เกิดความ ไม่แน่นอน (เป็นความมึนแบบเยอรมันที่หยั่งรู้ได้)
ต่อด้วยเรื่องราวของสิ่งที่เล็ก ที่สุดและแรงต่างๆ ในธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนประกอบของสิ่งต่างๆ
ในจักรวาลในชื่อเรื่องว่า Elementary Particles and the Forces of Nature
บทที่ 6 และ 7 เป็นความรู้ที่น่าอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าหลุมดำหรือ
Black Hole หลุมดำเกิดได้จากสองสาเหตุ คือ เกิดจากสภาวะที่มีความกดดันสูงในช่วงแรกๆ
ของการระเบิดใหญ่ และเกิดจากวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่ หลุมดำคือมวลสารจำนวน
มหาศาลที่ยุบตัวด้วยแรงดึงดูดระหว่างมวล (เหมือนโลกที่ดึงดูดเราอยู่แต่มีปริมาณที่สูงมาก)
ทำให้ดาวยุบตัวเล็กลง จนแทบไม่มีขนาด ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้จะถูกดูดเข้าสู่หลุมดำแม้แต่แสงสว่างก็ไม่สามารถจะเล็ดลอดออกมาได้
หลุมดำมีอยู่จริงหรือไม่เป็นเรื่องที่กำลังค้นหากันอยู่ แต่จากข้อมูลใหม่ๆ
ทางดาราศาสตร์สนับสนุนการมีอยู่ของหลุมดำ
บทที่ 8 เป็นเรื่องของข้อสมมติฐานการเกิดและชะตากรรมของจักรวาล เป็นการนำความรู้จากบทก่อนๆ
มาเป็นแนวทางในการอธิบายที่มาและที่ไปของจักรวาลซึ่งเป็นการตอบคำถามที่ไม่น่าจะตอบได้
อ่านแล้วรู้สึกเหลือเชื่อยิ่งกว่านิยาย และส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติและกำลังถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์
(ที่คุยกันเองรู้เรื่อง) สองบทต่อมาเป็นบทสั้นๆ ในเรื่องของเวลาซึ่งอ่านแล้วอึ้งเพราะยุ่งยากสับสนมาก
เป็นการอธิบายความเป็นไปได้ของ การเดินทางผ่านมิติของ กาล-อวกาศ ให้สามารถกลับสู่อดีตหรือไปสู่อนาคตได้
หรือเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งที่อยู่ห่างกันไกลแสนไกลในเวลาแทบจะทันที
ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่ติดใจของบรรดา นักแต่งนิยายและนักสร้างภาพยนตร์
นำมาเสริมแต่งด้วยจินตนาการ (หรือไม่ก็ปั้นน้ำขึ้นมาเต็มๆ ตัว) แล้วนำมาขายได้เงินเข้ากระเป๋าไปไม่น้อย
บทที่ 11 เป็นเรื่องยอดฮิตของวิชาการสาขา Theoretical Physics คือเรื่อง
The Unification of Physics เป็นเรื่องของการค้นหาทฤษฎีที่สามารถอธิบายธรรมชาติทางฟิสิกส์ได้ทุกเรื่อง
บางท่านตั้งชื่อว่า Theory of Everything เป็นเรื่องที่ท้าทายมันสมองระดับ
อัจฉริยะของนักฟิสิกส์ทั่วโลกตั้งแต่สมัย ของไอน์สไตน์ จนถึงปัจจุบัน อัลเบิร์ต
ไอน์สไตน์ ใช้ช่วงเวลาหลายสิบปีพยายามจะสร้างทฤษฎีที่ว่านี้แต่ก็ไม่สามารถ
ทำได้สำเร็จ แต่เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงสำหรับนักฟิสิกส์มืออาชีพ
ไม่เหมาะสำหรับเราๆ ท่านๆ ปิดท้ายด้วยบทสรุปสั้นๆ ในบทที่ 12
เท่าที่กล่าวมาคงจะเป็นข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านหรือไม่
สำหรับผมคงจะต้องหาโอกาสอ่านอีกรอบสองรอบ และได้จุดประกายในตัว ให้หาหนังสือประเภทนี้มาอ่านอีก
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องธรรมชาติของจักรวาลผมขอแนะนำ หนังสือ The Cosmic Connection
และ The Cosmos ของ Carl Sagan มาอ่านด้วยรับรองไม่ผิดหวัง สุดท้ายขอให้ทุกท่านผ่านพ้นปัญหา
Y2K ได้ตลอด ปลอดโปร่งและประสบสุขสมหวังดังใจหมาย โชคดีปี 2000 นะครับ