ไทยยามาฮ่า ชื่อใหม่ของสยามยามาฮ่า


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจาก ที่การปรับโครงสร้างหนี้ และการเปลี่ยนแปลง สัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทสยามยามาฮ่า ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบัน ความพยายาม ที่จะลบภาพเก่าเมื่อครั้งอดีต กำลังเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง

ตลอดระยะเวลากว่า 2-3 ปีที่สยามยามาฮ่า ต้องเผชิญกับวิกฤติการทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการแบกรับภาระหนี้สิน กว่า 10,000 ล้านบาทนั้น กิจกรรมด้านการตลาดของสยามยามาฮ่าต้องตกอยู่ในระดับ ที่เรียกได้ว่าเงียบเหงาอย่างยิ่ง

กระทั่ง ยามาฮ่า มอเตอร์ จากญี่ปุ่นได้นำเงินเข้ามาช่วย เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,500 ล้านบาท เป็น 4,100 ล้านบาท และครองสัดส่วนการถือหุ้นจาก 28% เป็น 51% เมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงสถานะของสยามยามาฮ่าให้เป็นบริษัทลูกของยามาฮ่า มอเตอร์ อย่างเต็มตัว โดยมีตัว แทนจากยามาฮ่า มอเตอร์ เข้ามาเป็นผู้ควบคุมการบริหารอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด ชื่อของสยามยามาฮ่า ได้กลายเป็นอดีตสำหรับทั้งผู้ใช้รถจักรยานยนต์คนไทย และกลุ่มเคพีเอ็น ของคุณหญิง พรทิพย์ และเกษม ณรงค์เดช ไปเสียแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการใหม่เป็นบริษัท ไทยยามาฮ่า จำกัด เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

วิบากกรรมของสยามยามาฮ่าในช่วง ที่ผ่านมา นับเนื่องได้ตั้งแต่เมื่อครั้ง คุณหญิงพรทิพย์ และเกษม ณรงค์เดช ช่วงชิงสยามยามาฮ่า มาจากสยามกลการ ในปี 2537 ภายหลัง จาก ที่ ยามาฮ่า มอเตอร์ ไม่ต่อสัญญาการเป็นผู้แทนจำหน่ายยามาฮ่าในประเทศไทยให้กับสยามยามาฮ่า ภายใต้โครงสร้างการถือหุ้น ที่มีสยามกลการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแห่งนี้

การช่วงชิงสยามยามาฮ่า ในห้วงเวลานั้น นับเป็นกรณีความแตกแยกในครอบครัวพรประภา ที่ได้รับการโจษขาน มากที่สุดเรื่องหนึ่งของสังคม ก่อน ที่กลุ่มเคพีเอ็น ของคุณหญิง พรทิพย์ และเกษม ณรงค์เดช จะกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสยามยามาฮ่า ด้วยสัดส่วน 72% พร้อมกับการเป็นผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในประเทศไทยต่อไป

กลุ่มเคพีเอ็น สามารถครอบครองสายามยามาฮ่าได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้ภาระหนี้สินของกลุ่มเคพีเอ็นเพิ่มขึ้นในระดับทวีคูณหรืออาจมากถึงระดับไตรคูณจนต้องแบกรับหนี้กว่า 10,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาถัดมา ก่อน ที่จะมีการเจรจาขอความช่วยเหลือจากยามาฮ่า มอเตอร์ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ปี และได้ผลสรุปดัง ที่ปรากฏในปัจจุบัน

โทชิโนริ ซูซูกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยยามาฮ่ากล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ยามาฮ่า จะกลับมาผงาดอีกครั้งในตลาดจักรยานยนต์ไทย โดยมีเป้าหมาย ที่จะครองส่วนแบ่ง 25% ในตลาดแห่งนี้ให้ได้ภายในปี 2000 นี้

ความพยายามของ ยามาฮ่า จะสัมฤทธิ์ผลเพียงในอีกไม่นานเราคงได้รู้กัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.