อรุณ แสงสว่างวัฒนะ เป็นใคร?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวชีวิตของอรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเล่ากันสามวันสามคืนคงไม่จบ หรือถ้าเขียนเป็นหนังสืออย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมก็คงจะเป็นหนังสือเล่าโตเสียยิ่งกว่านวนิยายเล่มใดๆ ในบรรณพิภพอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเพียงแค่ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ทางธุรกิจ และสังคมอย่างเดียว ก็ดูเหมือนว่าจะต้องใช้หน้ากระดาษเกินกว่า 3 หน้ากระดาษแล้ว

การตอบคำถามว่า “อรุณ แสงสว่างวัฒนะ เป็นใคร” นั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะตอบกันได้ง่ายๆ ด้วยคำจำกัดความสั้นๆ

คล้ายๆ กับการที่จะต้องกล่าวถึงคนคนหนึ่งซึ่งสวมหมวกอยู่บนหัวหลายๆ ใบเป็นหมวกที่น่าสนใจพอๆ กันทุกใบเสียด้วย

อย่างเช่นตำแหน่งหน้าที่ต่อไปนี้

สมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

สมาชิกสภาจังหวัดนครสวรรค์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกพฤฒสภา

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนจัดตั้งชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี

ประธานคณะเยี่ยมข้าราชการและชาวบ้าน สำนักนายกรัฐมนตรี

ที่ปรึกษาพรรคชาติไทย

ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี-พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี

กรรมการหอการค้าไทย

อุปนายกสมาคม วาย เอ็ม ซี เอ กรุงเทพฯ

นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจที่ดิน

ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศไทย

ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมส่งเสริมสวัสดิภาพจราจร

อุปนายกสมาคมพ่อค้าไทย

และอีกมากนี้ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งหน้าที่ที่อรุณ แสงสว่างวัฒนา เคยผ่านมาทั้งสิ้น

ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า อรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งเลยแม้สักน้อยนิดตั้งแต่อายุเพิ่งจะเพียง 16 ปี จน 77 ปีในปัจจุบัน

อรุณ เป็นคนปากน้ำโพ นครสวรรค์ เกิดในครอบครัวชาวนาผู้มีอันจะกิน เมื่อปี 2453

เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนแถวๆ บ้านเกิด แล้วมาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ และลาออกจากโรงเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 6 ด้วยสาเหตุที่เจ้าตัวเล่ากับ “ผู้จัดการ” ว่า “ผมมันมีความคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเขา...”

โดยที่ “ความคิดไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเขา” นี้ก็ผุดขึ้นมาในใจตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ชั้นประถมแล้ว

“เมื่อเล็กๆ บ้านผมอยู่แพ ก็ต้องนั่งเรือจากแพมาที่ตลาด จากตลาดก็ต้องเดินต่ออีกจึงจะถึงโรงเรียน มันไกลและลำบากมาก เผอิญแม่ผมค้าขายจนรู้จักกับคนจีนเจ้าของร้านขายของชำในตลาด แม่ก็เอามาผมมาฝากไว้กับร้านคนจีนคนนี้เพื่อจะได้ไปโรงเรียนสะดวกขึ้น ผมอยู่กับร้านชำนี้ 2 ปีเห็นวิธีการค้าขายของเขาละเอียดทุกซอกทุกมุมก็มานั่งคิดว่าเขาเป็นคนจีนแท้ๆ ไม่รู้หนังสือไทยด้วยซ้ำ แต่เขาก็รวยได้ เรื่องนี้ก็ฝังใจมาเรื่อย จนเมื่อมาเรียนที่บ้านสมเด็จ ตอนนั้นดูเหมือนจะอายุ 13-14 แถวบ้านผมเขาก็มีรถรับจ้างไถนา ปิดเทอมผมก็ไปดูเขาทำงาน เขารับจ้างไถไร่ละ 4 บาท ก็สนใจ พอกลับมากรุงเทพฯ โรงเรียนเปิดเทอมผมอ่านประกาศขายพวกรถแทรกเตอร์ รถไถนาที่ไหนผมจดหมายไปขอแค็ตตาล็อกเขามาอ่านดู พอเรียนมัธยม 6 ผมก็ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่เอาวะ ออกไปทำมาหากินดีกว่า” อรุณเล่าให้ฟัง

ก็คงเดาออกกระมังว่า อรุณออกจากโรงเรียนมาทำอะไร?

“ผมตั้งใจแน่นนอนว่าจะต้องหาซื้อรถแทรกเตอร์สักคันมารับจ้างไถนาก็ขอเงินแม่มาได้ 2,000 กว่าบาท สมัยนั้นก็มากโขอยู่ แต่แทรกเตอร์มันคันละ 4,600 บาท ก็ไม่รู้จะซื้ออย่างไร”

ดูเหมือนปัญหานี้แหละที่เขาเริ่มฉายแววความเป็นพ่อค้าและพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

“ผมกำเงิน 2,000 กว่าบาทไปที่ห้างวินเซอร์แอนด์โก เอเย่นต์ขายรถแลนด์แทรกเตอร์ ห้างนี้ชาวบ้านชอบเรียกว่าห้าง 4 ตา ผมไปคุยกับฝรั่งเยอรมันชื่อ ซีเกอร์ เป็นหัวหน้าแผนกขายเครื่องจักรกล ผมก็ขอแค็ตตาล็อกเขา อ่านสักพักแล้วผมก็ถามเขาว่า รถของคุณทำงานได้ตามที่ระบุไว้ทุกอย่างใช่ไหม ซีเกอร์ก็ตอบว่าใช่ ซึ่งก็ต้องตอบอย่างนั้นอยู่แล้ว ผมก็บอกว่าที่บ้านมีรถไถนาอยู่แล้วคันหนึ่ง ได้ค่าจ้างไถไร่ละ 4 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าเอารถที่ห้างขายอยู่นี้ไปรับจ้างไถก็จะมีรายได้วันละเท่านั้นๆ หักค่าโสหุ้ยแล้วจะเหลือเท่านี้ๆ คิดออกมาเป็นตัวเลขเปะๆ แล้วถามซีเกอร์ว่าใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ ผมก็เลยพูดกับเขาแบบตรงไปตรงมาว่าผมมีเงินอยู่ 2,000 กว่าบาท ถ้าเขายอมให้ผมเอาเงินจำนวนนี้วางดาวน์แล้วเอารถออกไป ภายในปีเดียวผมสามารถผ่อนส่วนที่เหลือได้หมดจะได้ไหม ซีเกอร์ยิ้ม บอกว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ พรุ่งนี้ให้ผมไปหาเขาใหม่ เขาจะพาไปคุยกับนายห้างของเขา รุ่งขึ้นผมก็ไป ซีเกอร์ก็พาไปพบกับนายห้างเขาก็คุยกันเป็นภาษาเยอรมันพักหนึ่ง นายห้างฟังไปก็หันมายิ้มให้ผมเป็นระยะ แล้วผมก็ได้รถออกมารับจ้างไถนาที่นครสวรรค์…” อรุณเล่ากลเม็ดของเขาซึ่งเขาเน้นนักเน้นหนาว่าเป็นเรื่องของ “โชค” ด้วย

กิจการรับจ้างไถนาตอนนั้นก็ทำเอาหนุ่มน้อยวัย 16 อย่างอรุณร่ำรวยมากๆ และก็กลายเป็นคนมีหน้ามีตาของปากน้ำโพเมื่ออายุเพิ่งจะ 20 เศษๆ เท่านั้น

หลังจากนั้นก็มาตั้งร้านขายปืนขึ้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ ร้านนี้ชื่อสั้นๆ ว่า “อรุณ” ซึ่งก็เป็นร้านที่ได้มาเพราะ “โชค” ช่วยอีกเหมือนกัน

“ตามธรรมดาสมัยนั้นอำเภอหนึ่งเขาให้มีร้านปืนได้ไม่เกิน 2 ร้าน ทีนี้ที่ปากน้ำโพมีร้านหนึ่งแล้วชื่ออิ่วซังแต่ไอ้อิ่วซังอยากเปิดอีกร้านหนึ่งเขาก็ไปให้เพื่อนขออนุญาต ตอนนั้นหลวงประชานุศาสตร์เป็นนายอำเภอ ท่านผู้นี้เป็นคนตรงมาก อิ่วซังเอาเงินเอาทองไปให้ ท่านก็โกรธ พอดีท่านสนิทกับผม วันหนึ่งท่านก็ถามลอยๆ ว่าคุณอรุณตั้งร้านขายปืนเถอะ ผมก็งงท่านก็พาขึ้นไปอำเภอให้เสมียนเอาคำร้องมาให้ผมเซ็น แล้วสั่งเสมียนตราให้มาสอบปากคำผมเรื่องจะขออนุญาตตั้งร้านขายปืน โดยท่านกำชับว่าสอบเสร็จให้เอามาให้ท่าน ไม่ต้องกรอกวันที่ หลังจากนั้นผมก็ลืมไปสนิทจนหนึ่งปีให้หลัง ท่านก็มาบอกว่า ใบอนุญาตตั้งร้านปืนได้แล้วนะ ผมงงไปหมด คือเรื่องของเรื่องก็คือ ท่านแทงหนังสือขึ้นไปจังหวัดทั้งคำขอของผมและของอิ่วซังพร้อมกันโดยมีความเห็นว่า ผู้ร้องหลักฐานดีความประพฤติดี สมควรอนุญาตเหมือนกันทั้งสองรายทางจังหวัดก็ต้องแทงเรื่องไปกระทรวง กระทรวงก็ตัดสินอนุญาตให้ผมเพราะถือว่ายื่นคำร้องก่อน ซึ่งที่ยื่นคำร้องก่อนก็เพราะนายอำเภอท่านกรอกวันที่ให้ก่อนคำขอของอิ่วซังเสร็จสรรพ”

นี่ก็คงจะต้องเป็น “โชค” อย่างไม่ต้องสงสัย

การเป็นเจ้าของร้านขายปืนนั้นก็เป็นธรรมดาที่จะต้องใกล้ชิดสนิทสนมกับบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้ที่จะต้องพาลูกบ้านมาซื้ออาวุธไว้คุ้มครองทรัพย์สิน

และเผอิญอรุณเป็นเจ้าของร้านขายปืนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยมอยู่ด้วย

ในไม่ช้าชื่อเสียงของอรุณก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนปากน้ำโพรวมทั้งต่างอำเภอเช่นกัน

เมื่อปี 2476 ขณะอายุ 23 ปีก็เลยลองเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นและก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

อายุ 27 ก้าวขึ้นมาเล่นการเมืองระดับชาติด้วยการสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในสภาฯ ยุคนั้น

อีก 9 ปีต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกพฤฒสภา สมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

ส่วนด้านธุรกิจนั้น เขายกกิจการร้านปืนที่นครสวรรค์ให้น้องชายแล้วมาตั้งร้านขายปืนขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ชื่อร้านแสงอรุณ ซึ่งบรรดานักเลงปืนทั้งหลายในอดีตรู้จักชื่อเสียงกันดี

ส่วนด้านการเมืองนั้นหยุดไม่ได้อยู่แล้ว

เมื่อปี 2517 ขณะที่กลุ่มนักการเมืองแห่ง “ซอยราชครู” กำลังจะก่อตั้งพรรคชาติไทยขึ้นมานั้น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ทาบทามให้อรุณ แสงสว่างวัฒนะ ลงสมัคร ส.ส. ภายใต้เสื้อคลุมพรรคชาติไทยที่จังหวัดนครสวรรค์

แต่อรุณปฏิเสธ

“คุณประมาณก็ส่งคนมาทาบทามหลายครั้ง ผมก็เลยบอกคุณประมาณว่าพรรคชาติไทยนั้นตัวคุณประมาณลงสมัครที่สระบุรี คุณชาติชายลงที่โคราช ส่วนคุณศิริ สิริโยธิน ลงชลบุรีแล้ว แบบนี้จะเอาใครไว้เฝ้าบ้าน สำหรับผมแล้ว ผมมีความเห็นว่า คนเก่งๆ เราต้องเก็บเอาไว้ข้างหลัง ส่วนพวกที่จะลงสมัคร ส.ส. ให้เอาพวกหนุ่มๆ ที่ฝีปากดีๆ คนเก่งคอนป้อนความคิดให้คนหนุ่มที่เป็นกองหน้า ไม่ใช่เอาคนเก่งๆ ไปขึ้นเขียงให้คนเขาสับโขกบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง ก็เลยตกลงว่าผมจะไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ก็จะให้คำปรึกษา”

ครั้นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพรรคชาติไทยแล้ว

รัฐบาลทุกชุดที่มีพรรคชาติไทยเข้าร่วมเป็นรัฐบาล ก็จะมีอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่ไม่เคยขาด

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2518-2519 หรือรัฐบาลเปรม 1 และ 2 เมื่อปี 2523-2525 ซึ่งพรรคชาติไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอยู่ด้วยพรรคหนึ่ง

แต่มนุษย์เรานั้นก็คงจะไม่ใช่เหล็กไหลมาจากไหน

ไม่กี่ปีมานี้อรุณถูกหามเข้าห้องไอซียูและหัวใจหยุดทำงานมาแล้ว 2 ครั้งซ้อนๆ แต่ก็คงเป็นเพราะ “โชค” สิ่งที่คนอย่างอรุณมักจะได้มาอย่างไม่คาดฝันเป็นประจำอีกนั่นแหละ อรุณจึงยังเป็นอรุณอยู่ได้โดยไม่ด่วนลาโลกไปเสียก่อน

หลังจากพักอยู่ในห้องไอซียูจนแพทย์ถือว่าพ้นขีดอันตรายแล้ว อรุณก็กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน มีพยาบาลดูแลใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

วันหนึ่งเขาเป็นลมล้มลงใกล้ๆ โต๊ะอาหารซึ่งยกพื้นขึ้นไปสูง ขาของเขาหักต้องเข้าเฝือกและทำให้การเคลื่อนไหวของเขาจำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงเนื้อที่แคบๆ ในห้องทำงาน

แต่สมองของเขายังสมบูรณ์ ความจำยังดีเยี่ยมและกำลังใจนั้นคงหาคนเทียบได้ยากมากๆ

อรุณ ยังมีความหวังที่จะทำงานอีกชิ้นหนึ่งให้สำเร็จ อาจจะเป็นชิ้นสุดท้ายสำหรับเขาก็ได้

มันเป็นงานที่บุกเบิกมา 20 กว่าปีแล้ว

อรุณ เรียกมันว่า “โครงการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติ จำกัด”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.