สำหรับคนที่อายุ 77 เคยถูกหามเข้าห้องไอซียูเพราะหัวใจหยุดทำงานมาแล้ว 2
ครั้ง และประสบอุบัติเหตุขาหักต้องใส่เหล็กเดินไปไหนต้องใช้ไม้ค้ำยันนั้น
ก็คงไม่มีใครตำหนิอย่างแน่นอน ถ้าจะนอนนั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ
อรุณ แสงสว่างวัฒนะ มีสภาพเช่นนั้นขณะนี้
ก็คงไม่มีใครว่าอะไรถ้าอรุณจะหยุดพักเสียบ้าง
แต่อรุณคิดว่าเขาคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะอรุณยังมีงานอีกชิ้นที่ต้องทำ
จะเรียกว่าเป็นปรารถนาสุดท้ายที่เขาต้องการทำให้สำเร็จก่อนชีวิตนี้จะหาไม่ไปแล้วก็ได้
อรุณ เรียกปรารถนาสุดท้ายนี้ว่า
“โครงการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติ จำกัด หรือ INTERNATIONAL TRADE PROMOTION CO., LTD. (ITPC) ซึ่งโดยสรุปก็คือโครงการสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติ (INTERNATION TRADE FAIR GROUND) ขึ้นเป็นสถานที่ถาวรแห่งแรกในประเทศไทย”
และเป็นปรารถนาสุดท้ายที่อรุณต้องการให้คนหลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำ เพราะ “คุณก็เห็นแล้วว่าผมคงจะออกไปโลดเต้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้มืออาชีพ ผมจึงอยากจะขายความคิดนี้ ใครสนใจก็เข้ามาร่วมกัน จะทำอย่างไรก็ทำกัน ขอให้มันตั้งขึ้นมาให้ได้ผมเป็นสบายใจนอนตายตาหลับ...”
อรุณให้เหตุผล
อรุณจัดพิมพ์เอกสารขึ้นมา 15,000 ชุดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2528 เอกสารนี้ได้กล่าวถึงที่มาของแนวความคิดที่อรุณได้พบเห็นมาตลอดระยะเวลากว่า20 ปี มีบทเรียนจากญี่ปุ่นเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ และการแสดงสินค้านานาชาติ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการตั้งแต่วัตถุประสงค์ไปจนถึงวิธีดำเนินการให้โครงการนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
เอกสารทั้ง 15,000 ชุดนี้ ถูกส่งไปให้บุคคลแทบทุกวงการทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน
รัฐมนตรีทุกคน ข้าราชการระดับอธิบดีขึ้นไป นักธุรกิจหลายสาขา ล้วนอยู่ในบัญชีรายชื่อที่อรุณได้ส่งเอกสารดังกล่าวนี้ไปให้อ่าน
โดยหวังว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะต้องให้ความสนใจและติดต่อกลับมา
วันที่ 8 กันยายน 2528 เอกสารทั้ง 15,000 ชุดถูกส่งไปแล้วเรียบร้อย
วันที่ 9 กันยายน 2528 มีรัฐประหาร “ผิดนัด”
ข่าวรัฐประหารกลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์และความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ
โครงการของอรุณเลยต้องกลายเป็นข่าวตกสำรวจไปอย่างช่วยไม่ได้
อรุณ แสงสว่างวัฒนะ นั้นเป็นคนที่ริเริ่มสร้างสรรค์งานเอาไว้หลายอย่าง
โดยเฉพาะงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยแล้ว อรุณเป็นคนแรกที่ทำขึ้นมาและก็จับงานนี้ไม่เคยทิ้ง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2506 อรุณซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นกรรมการหอการค้าไทย
ได้ติดต่อเช่าสวนลุมพินีตรงเนื้อที่เล็กๆ ด้านศาลาจตุรมุขจัดแสดงรถยนต์ วิทยุ และโทรทัศน์ ขึ้น
สำหรับเอกชนที่กล้าทำเช่นนี้ในยุค 22 ปีที่แล้วซึ่งก็เพิ่งจะเป็นคนแรกและครั้งแรกนั้น
ก็สมควรอยู่หรอกที่จะต้องถูกหัวเราะเยาะหาว่า “เป็นคนคิดบ้าๆ ที่แส่หาเรื่องขาดทุน”
เพราะยุคนั้นงานแสดงสินค้าที่เห็นทำกันพอจะสำเร็จบ้าง ก็มีแต่งานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัด
ส่วนเอกชนจะไปเอาศักยภาพจากไหนมาชักชวนให้บริษัทห้างร้านต่างๆ เสียเงินเอาสินค้ามาแสดง นี่ยังไม่ต้องพูดกันว่าจะมีคนมาเดินชมงานหรือไม่
นอกจากนี้สถานที่คือสวนลุมพินีสมัยนั้นก็ถือว่าห่างไกลจากกลางใจเมืองมาก
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ งานกาชาด และงานวชิราวุธ 3 งานใหญ่ประจำชาติซึ่งใช้สวนสราญรมย์ สวนอัมพร และถนนราชดำเนิน เป็นสถานที่จัดงานด้วยแล้วก็ดูจะยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่อรุณ แสงสว่างวัฒนะ ก็จัดขึ้นมาจนได้ งานครั้งแรกนี้อรุณเชิญเกษม ศรีพยัคฆ์ รัฐมนตรีพาณิชย์มาเป็นประธานเปิดงาน
และก็เป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในด้านจำนวนผู้นำสินค้ามาแสดงและจำนวนผู้เข้าชมงาน
ก็เลยต้องจัดต่อมาอีก 3 ปีติดต่อกัน โดยขยายพื้นที่ในสวนลุมพินีขึ้นเป็นลำดับ
“มีหลายประเทศส่งสินค้ามาร่วมแสดง งานใหญ่ไม่แพ้งานฉลองรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจัด จนฝรั่งต้องให้ฉายาผมว่า มิสเตอร์เทรดแฟร์ สำหรับชื่องานผมใช้อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดแฟร์ ทุกครั้ง” อรุณเล่าให้ฟังอย่างชื่นมื่น
ก็น่าจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้สำหรับอรุณแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเพราะความบังเอิญ
มันเป็นสิ่งที่อรุณเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่าทำสำเร็จแน่ๆ และมันก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วด้วย
“ผมมีความคิดมาตั้งแต่ปี 2502 เมื่อผมไปเห็นความเจริญก้าวหน้าของญี่ป่นในการค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจากการจัดแสดงสินค้านานาชาติที่โตเกียว
(TOKYO INTERNATIONAL TRADE FAIR) และที่โอซากา (OSAKA INTERNATIONAL TRADE
FAIR) ตอนนั้นผมเป็นกรรมการหอการค้าไทยได้เสนอให้หอการค้าไทยจัดแสดงสินค้าแบบหอการค้าต่าง
ๆ ของญี่ปุ่นบ้าง โดยจัดเป็นงานเทรดแฟร์ขึ้นปีละครั้งตามอย่างเขา แต่กรรมการหอการค้าสมัยนั้นไม่ได้ทำ
ต่อมาได้ไปดูการจัดงานแสดงสินค้าอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะที่ฮ่องกง โตเกียว
โอซากา หลายครั้งเพราะผมจัดนำเที่ยวฮ่องกง-ญี่ปุ่นด้วย ตามแบบคุณเกษมสุข
ยันตรโกวิทนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งจัดเป็นคนแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้ว
เห็นกันได้ชัดว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นแม้ว่าจะแพ้สงครามอย่างย่อยยับ อเมริกาเข้าไปยึดครอง
แต่ญี่ปุ่นไม่หยุดยั้งการกอบกู้ประเทศทางการค้าและอุตสาหกรรมด้วยการจัดแสดงสินค้าทั้งเทรดเซ็นเตอร์และเทรดแฟร์
ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นการค้าและอุตสาหกรรมของเขา ผมด้วยเลือดรักชาติและเลือดนักการเมืองผมก็ต้องการจะให้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าญี่ปุ่น
ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องกระตุ้นเรื่องเทรดแฟร์กันบ้าง เพื่อให้มันมีผลไปถึงการค้าและอุตสาหกรรมของเรา”
อรุณร่ายยาวกับ “ผู้จัดการ”
แต่ถ้าบ้านนี้เมืองนี้ล้วนมีคนที่คิดอย่างเดียวกับอรุณ แสงสว่างวัฒนะ กันเป็นส่วนใหญ่
บ้านนี้เมืองนี้ก็คงไม่ต้องจมปลักมีหนี้ท่วมหัวและแก้ปัญหาดุลการค้าขาดดุลกันไม่ตกอย่างเช่นทุกวันนี้เป็นแน่แท้
นอกจากจะไม่คิดเหมือนกันแล้วก็ยังมีอิจฉากันเสียอีก
ด้วยความที่เห็นอรุณ แสงสว่างวัฒนะ จัดงาน 3 ครั้งประสบความสำเร็จงดงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กรรมการหอการค้าไทยบางคนซึ่งตอนนี้ก็นั่งเป็นนายแบงก์ใหญ่โตและเคยเป็นคนสนิทใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ก็เลยจัดการ “ประชุมเพลิง” ให้เข้าหูจอมพลสฤษดิ์ด้วยข้อกล่าวหาหลายข้อหา
ผลก็คือท่านจอมพลผ้าขะม้าแดงสั่งการด่วนลงไปที่ท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ-ชำนาญ
ยุวบูรณ์ ให้ยุติการอนุญาตให้เอกชนเช่าสวนลุมพินีจัดงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะต้องการจะให้หญ้าเจริญงอกงามเป็นที่เจริญหูเจริญตากับประชาชนที่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ
เป็นอันว่างานแสดงสินค้านานาชาติของอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ที่ใช้สวนลุมพินีจัดมา
3 ปีติดต่อกัน ก็จะใช้จัดกันต่อไปไม่ได้แล้ว
ดูเหมือนความคิดที่จะสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติเป็นการถาวรได้เกิดขึ้นในความคิดของอรุณ
ตอนนี้นี่เองซึ่งอย่างแรกที่จะต้องทำก็คือการมองหาที่ดินผืนงามๆ สักแห่ง
“ผมขับรถไปตามถนนพหลโยธิน เพชรเกษม และสุขุมวิท หลายครั้ง ทั้งเช้ากลางวันเย็น
เพื่อประกอบการตัดสินใจ แล้วในที่สุดผมก็เลือกแถวๆ บางปู เพราะถือว่าความเจริญนั้นมันลงมาทางทะเลมากกว่าจะขึ้นเขา”
อรุณ เล่ากับ “ผู้จัดการ”
ที่ดินที่บางปูนี้มีเนื้อที่ 100 ไร่ อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 35 ของถนนสุขุมวิทด้านหน้าติดคลองชลประทานและถนนสุขุมวิท
โดยมีความกว้าง 200 เมตร ด้านซ้ายติดกับโรงงานอลูมิเนียมอัลแคน ลึกเข้าไปอีก
800 เมตรจดคลองแม่หุ่น อรุณ ตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่า “สวนวัฒนา”
ตอนที่ซื้อที่ดินที่บางปูเป็นปี 2509 และคนที่ช่วยเหลือให้ความร่วมมืออย่างมากๆ จนได้ที่ดินผืนนี้มาก็คือ ชะลอ ธรรมศิริ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายอำเภอเมืองสมุทรปราการอยู่
“ตอนนั้นก็ซื้อมาเป็นเงินแสนเท่านั้น ผมก็ลงทุนสร้างสะพาน ทำถนน ปรับที่ปลูกต้นไม้เอิกเกริกใหญ่โตมาก จนอื้อจือเหลียงสนใจแอบไปดูผมทำงาน แล้วก็ซื้อที่โอบข้างหลังที่ของผม ตอนนี้ก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมบางปูของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ อีกคนคือเสี่ยเล็ก เจ้าของบริษัทธนบุรีพาณิชย์ตัวแทนขายรถเบนซ์ก็ไปซื้อที่ใกล้ๆ กันแล้วต่อมาก็สร้างเป็นเมืองโบราณ ความเจริญมันก็วิ่งไปหามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจริงอย่างที่ผมคาดการณ์ไว้ทุกอย่าง...” อรุณกล่าวอีกตอนหนึ่ง
“สวนวัฒนา” ถูกใช้จัดงานแสดงสินค้า 2 ครั้ง แล้วก็เลิก
เพราะสถานที่ใกล้เกินไป
อรุณ แสงสว่างวัฒนะ จึงต้องเก็บความคิดเรื่องการสร้างสถานแสดงสินค้านานาชาติของเขาไว้เงียบๆ
และมาเริ่มเคลื่อนไหวอย่างหนักอีกครั้งในช่วงใกล้ๆ นี้
ก่อนหน้าที่อรุณจะจัดพิมพ์เอกสาร 15,000 ชุด แจกจ่ายออกไปยังบุคคลในวงการต่างๆ
ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนนั้น เขาได้มอบให้บริษัทอินเตอร์ดีไซน์ของเจตกำจร พรหมโยธี ออกแบบสิ่งที่จะต้องก่อสร้างเอาไว้แล้วคร่าวๆ
ถ้าใครได้เห็นแบบก็อาจจะตกใจเพราะลองคิดคำนวณดูก็น่าจะเป็นโครงการที่ต้องใช้ทุนนับเป็นร้อยล้านบาทขึ้นไป
แต่อรุณกลับยืนยันว่าใช้ทุนอย่างมากไม่เกิน 30 ล้านบาท เท่ากับทุนจดทะเบียนของบริษัทที่กำลังจะตั้งขึ้นและขณะนี้เปิดให้จองหุ้นแล้ว
“แบบที่ออกมามันเป็นโครงสร้างที่ครบถ้วนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเราสามารถทยอยสร้างไปได้เป็นเฟสๆ อย่างเช่นเฟสแรกนี้ก็สร้างเฉพาะถนนที่จอดรถ สะพานคอนกรีต อาคารศูนย์กลางและฮอล 1 กับฮอล 2 ที่ใช้แสดงสินค้า เจตนาของผมนั้นต้องการให้โครงการนี้ มันสตาร์ตให้ได้เสียก่อน และทำให้ทันปี 2530 เพื่อที่เราจะได้ใช้เงื่อนไขที่ปี 2530 เป็นปีเฉลิมฉลองในหลวงมีพระชนม์ 60 พรรษา จัดงานใหญ่ขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากนั้นปีต่อๆ ไปเมื่อมีเงินมีทองแล้วก็สร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ” อรุณชี้แจงผ่าน “ผู้จัดการ”
นอกจากนี้ค่าที่ดินก็ไม่ต้องไปหาซื้อให้เปลืองเงิน เพราะอรุณตั้งใจแน่นอนแล้วที่จะให้เช่าที่ดินทั้ง
100 ไร่ของ “สวนวัฒนา” ระยะเวลายาวนานแค่ไหนก็ได้ ค่าเช่าจะให้เท่าไรก็ยังตกลงกันได้อีกด้วย
บริษัทส่งเสริมการแสดงสินค้านานาชาติขณะนี้ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนบริษัท
เพราะความตั้งใจของอรุณก็คือต้องการให้บุคคลหลายๆ ฝ่ายได้แสดงความจำนงเข้าร่วมถือหุ้นเสียก่อน
จากขั้นนี้แล้วอรุณจะดูรายชื่อผู้จองหุ้นและเชิญบุคคลจำนวนหนึ่งให้มาเป็นคณะผู้ก่อตั้ง
แล้วจึงจะไปถึงขั้นดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่งตั้งกรรมการและเริ่มดำเนินโครงการเป็นขั้นตอนสุดท้าย
“เมื่อตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการบริษัทที่จะจัดการกันต่อไป
จะเอาใครมาบริหารหรือจะทำอย่างไรก็ว่ากันไป ผมก็คงเป็นเพียงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง
ผมถือว่าถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมหมดภาระแล้ว”
อรุณเปิดเผยความในใจ
สำหรับอรุณแล้ว ตอนนี้ก็รอผลอยู่ 2 อย่าง
อย่างแรกก็คือ ความสนใจของบุคคลวงการต่างๆ ที่จะแสดงความจำนงเข้ามาร่วมถือหุ้น
ส่วนอีกอย่างก็คือการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งอรุณ แสงสว่างวัฒนะ มีหนังสือไปถึงพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ แล้วหลายฉบับ
ให้ตายเถอะ...อย่างแรกอรุณไม่เป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย
แต่อย่างหลังนี่สิ มีแต่คนทำ “ซื่อบื้อ” ไม่รู้ไม่ชี้กันทุกคน