เมื่อยิดวาโฮทำให้เพื่อน (หวั่งหลี) โกรธ แต่เสี่ยหว่างยิ้มร่า!?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงกึ่งพุทธกาล หากคนในวงการธุรกิจหนุ่มน้อยยุคนั้นไม่รู้จัก สุริยน ไรวา ก็นับว่าช้าไปหลายก้าว เพราะเขาคือนักธุรกิจไทยผู้ยิ่งยงคนหนึ่งที่ปลูก “หน่อ” ธุรกิจหลายแขนงในประเทศไทย ตั้งแต่กิจการธนาคารมาจนถึงโรงงานแป้งสาลีแห่งแรกในประเทศไทย

เกือบทุกอย่างก็ว่าได้ช่วงที่สุริยน มีชีวิตอยู่เขาไม่ค่อยจะได้ชื่นชมความสำเร็จ ตรงกันข้ามเขากลับ “ตรอมใจ” กับ “ไอเดีย” ของเขาที่ลุ้นเท่าไรก็ไม่ขึ้น และจากโลกไปโดยไม่รู้ว่ากิจการที่เขาเริ่มนั้นหลายอย่างประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

บริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ (ยูเอฟเอ็ม) เป็นโรงงานผลิตแป้งสาลีแห่งแรกของประเทศไทย สุริยน ไรวา ก่อตั้งเมื่อปี 2504

ช่วงเวลานั้น ยิด วาโฮกำลังติดลมบนสร้างธุรกิจของเขาในประเทศไทย เช่น ตั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังรายแรกของประเทศไทย เขาทั้งสองจึงเป็นเพื่อนสนิทกัน

สุริยน ไรวา ลุ้นยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ถึง 3 ปี แต่ก็ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้จนต้องมาขอให้ยิดวาโฮซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจใกล้เคียงกันช่วย ยิดวาโฮเคยกล่าวไว้ว่า “ปี 1964 (2507) ผมซื้อกิจการยูไนเต็ดฟลาวมิลล์จากคุณสุริยน ไรวา ซึ่งตอนนั้นมีปัญหาการดำเนินงาน”

ยิดวาโฮ มิได้เข้าไปคนเดียวเพราะการลงทุนมากถึงประมาณ 20 ล้านบาททีเดียว เขาจึงชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมทุน ผู้อยู่วงการแป้งสาลีเล่าว่า สุริยน ไรวา เองก็ยังถือหุ้นอยู่ในนามของธนาคารเกษตร (ธนาคารนี้ต่อมาร่วมกับธนาคารมณฑลกลายเป็นธนาคารกรุงไทย) คนหวั่งหลีได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนสนิทยิดวาโฮ จึงได้รับการชักชวนด้วย หวั่งหลีซึ่งเริ่มจับธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสนใจธุรกิจนี้มากจึงโดดเข้ามาอย่างเต็มตัวถือหุ้นค่อนข้างมาก คนอื่นๆ ได้แก่ มงคล ศิริสัมพันธ์ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน

เมื่อยิดวาโฮเข้ามา TAKEOVER โดยเป็นผู้บริหารงานเอง กิจการยูไนเต็ดฟลาวมิลล์จึงเดินเครื่องได้

ปี 2510 ยิดวาโฮต้องจากประเทศไทย เขาก็ได้ มร.เย็นชาวฮ่องกงมาเป็นผู้จัดการโรงงาน

ยูเอฟเอ็มเดินเครื่องปี 2507 กำลังการผลิตครั้งแรก 150 ตัน/วัน โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2507-2513 กิจการเจริญขึ้นเป็นลำดับ ขยายกำลังการผลิตเป็นระยะๆ เป็น 220 ตันในปี 2519 และ 240 ตันในปี 2522 และได้ตั้งร้านเบเกอรี่ขึ้นจำหน่ายสินค้าแก่ประชาชนทั่วไปและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับรองคุณภาพแป้งสาลีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519

ผลงานเหล่านี้ต้องยกให้ยิดวาโฮ

เพราะยิดวาโฮ ต้องไปเป็นเอกอัครราชทูตให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ การบริหารยูเอฟเอ็ม จึงไม่สามารถกระทำได้ต่อเนื่องและดีพอ เขาก็เริ่มจะไม่แน่ใจในกิจการตั้งแต่นั้นมาเนื่องจากบริษัทนี้มีผู้ถือหุ้นจากหลายกลุ่ม (แตกต่างจากไทยวาซึ่งเขาปลุกปั้นมากับมือ และผู้บริหารไทยวาขณะนั้นเป็นคนที่เขาทรมานและไว้เนื้อเชื่อใจ)

ห้วงเวลานั้นสงครามเวียดนามรุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยมาก และต่อมาเมื่อคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะสหรัฐฯ ปั้นทฤษฎี “โดมิโน” ขึ้นมาข่มขวัญซ้ำ ทฤษฎีบทนี้ระบุว่าประเทศไทยคือเป้าหมายถัดมาของคอมมิวนิสต์

“การบริหารยูเอฟเอ็มช่วงนั้นมีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากลด้วย” แหล่งข่าวผู้รู้เรื่องดีกระซิบเป็นนัย

ยิดวาโฮจึงตัดสินใจจะวางมือจากยูไนเต็ดฟลาวมิลล์

ยูเอฟเอ็มมีกิจการไซโลให้เช่าด้วย ลูกค้ารายสำคัญคือบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีของกลุ่มศรีกรุงวัฒนา ขณะนั้นสว่าง เลาหทัย เป็นผู้บริหารใหญ่แล้ว และดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงที่เสี่ยหว่างกำลังพุ่งแรงแทงตลอดเสียด้วย “ครั้งแรกเสี่ยหว่างมีความคิดเพียงต้องการจะซื้อไซโลเท่านั้น เพราะจะใช้เป็นที่เก็บปุ๋ย” การเจรจาดำเนินระยะหนึ่ง จึงตกลงกันได้ “ไม่รู้เหมือนกันว่า มร.เย็น ผู้จัดการโรงงานสนิทสนมกับเสี่ยหว่างขนาดไหน แต่ที่รู้ๆ เขาคือตัวกลางในการเจรจา และเป็นคนสำคัญที่ทำให้นายห้างโฮตัดสินใจขายหุ้นส่วนของแกออกไปซึ่งต่อมา มร.เย็นคนนี้ก็ยังคงเป็นผู้จัดการโรงงานต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง” คนเก่าไทยวาตั้งข้อสังเกต

ยิดวาโฮ ขายหุ้นของตนทั้งหมดประมาณ 20% ให้สว่าง เลาหทัย ในปี 2522 ท่ามกลางการโจษจันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ “คุณสว่างแกโชคดีไป” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร อดีตเลขาส่วนตัวยิดวาโฮ คอมเมนต์สั้นๆ โดยออกตัวว่ายูเอฟเอ็มเป็นกิจการส่วนตัวของยิดวาโฮไม่เกี่ยวกับไทยวาเท่าใดนัก

บางกระแสข่าวระบุว่าตอนนั้นธนาคารกรุงไทยและธนาคารกรุงเทพ เริ่มเข้ามาหนุนช่วยสว่าง เลาหทัย แล้วเนื่องจากยิดวาโฮขายหุ้นใหม่ๆ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ยังเป็นธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้รับโอนมาจากสุริยน ไรวา แต่ในเวลาต่อมาหุ้นเหล่านั้นได้หลุดมาสู่มือสว่าง เลาหทัย นักปั่นหุ้นตัวยงเกือบทั้งหมด

ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2519

ความฝันของหวั่งหลีที่จะบุกอุตสาหกรรมจึงดับมอดไปฉับพลัน ถ้าเป็นคนอื่นยังพอทำเนา แต่เมื่อมาเจอเสี่ยหว่างซึ่งเมื่อเขาบริหารครั้งแรกกิจการที่ทำกำไรจำนวนมากลดลงทันที ขณะเดียวกันก็นำยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มศรีกรุงวัฒนาอีกหลายบริษัทอย่างยากที่หวั่งหลีจะเข้าใจ เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นของเขาออกไปให้รู้แล้วรู้รอด

เพื่อนหวั่งหลีโกรธยิดวาโฮเอามากๆ ในขั้นแรกที่ไม่ยอมบอกว่าจะขายหุ้นเลยสักคำ แต่อย่างไรก็ตาม ชั่วคราวเท่านั้น

กิจการยูไนเต็ดฟลาวมิลล์จึงเป็นกิจการของกลุ่มศรีกรุงวัฒนาที่วัฒนาถาวรมาจนทุกวันนี้ เป็นเจ้ายุทธจักรอุตสาหกรรมแป้งสาลีของเมืองไทยที่ไร้เทียมทานจริงๆ

กาลต่อมากลุ่มศรีกรุงฯ ไม่ได้หยุดเพียงข้าวสาลีเท่านั้น วันนี้เขาได้รุกคืบมาสู่อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่ไทยวาเป็นเจ้ายุทธจักรอยู่อีกด้วย และที่สำคัญปัจจุบันนี้เขาคือคู่แข่งเพียงรายเดียวที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับไทยวาเสียด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.