ยังเข็ดจนทุกวันนี้.. ไทยวากับประสบการณ์อันเจ็บปวดกับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

“เรื่องมันแล้วไปแล้ว ไม่อยากจะพูดถึงอีก...ผมไม่รู้ว่าบริษัทบูรพาฯ ปัจจุบันยังมีอิทธิพลอยู่หรือเปล่า” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการไทยวา ปฏิเสธเป็นพัลวันเมื่อถูกขอให้เล่าอดีตที่มิอาจลืมกับฝ่ายทหาร

ทั้งๆ ที่เขาเองเคยบันทึกประสบการณ์ครั้งสำคัญครั้งนั้นไว้ว่า” บริษัทฯ ถูกข้อหารับซื้อแร่ดีบุกนอกมูลภัณฑ์กันชนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน โดยที่บริษัทฯ เป็นผู้แทนขายในฐานะคนกลางโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถูกทางการปรับเป็นเงินจำนวนมาก และกระทบกระเทือนฐานะและชื่อเสียงของบริษัทฯ มาก”

ถึงแม้พิทักษ์ไม่ยอมบอกแต่ “ผู้จัดการ” ก็สืบเสาะมาจนได้ เพื่อจะยกเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์แก่ธุรกิจที่จำต้องหรือบังเอิญต้อง “เกาะเกี่ยว” หรือถูก “เกาะเกี่ยว” กับอำนาจบางประเภท ซึ่งถือเป็น CASE STUDY ที่ CLASSIC อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องราวเกิดขึ้นราวๆ ปี 2500

ในช่วงนั้นการส่งออกแร่ดีบุกหรือแร่ชนิดอื่นใดจากประเทศไทยจะต้องผ่านบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจเท่านั้น อันเป็นที่รู้กันว่าบริษัทนี้ เป็นของกลุ่ม “สี่เสาเทเวศร์” นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตอนนั้นไทยเป็นสมาชิกภาคีดีบุกโลกแล้ว เมื่อส่งออกตามโควตาแล้วปรากฏว่าเรายังเหลือดีบุกอีกจำนวนมาก สหรัฐอเมริกาขณะนั้นยังไม่เข้าภาคีดีบุกโลก เขาจึงถือว่าสิทธิ์จะซื้อดีบุกนอกมูลภัณฑ์กันชน

ไทยวาเป็นบริษัทตัวแทนของวาชัง สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโรงถลุงแร่ที่มลรัฐเทกซัส

เรื่องง่ายๆ เกิดขึ้น เมื่อบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจว่าจ้างบริษัทวาชังถลุงแร่ดีบุกที่ส่งไป พร้อมทั้งขายให้ด้วยโดยผ่านบริษัทไทยวา

เมื่อเรื่องราวเหล่านี้รู้ไปถึงภาคดีบุกโลกประเทศไทยจึงถูกต่อว่าต่อขาน หาว่าประเทศไทยละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ ผู้มีอำนาจในแผ่นดินขณะนั้นจึงจำเป็นต้องหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ การกระทำซึ่งผิดใจประเทศเบิ้มๆ ในขณะนั้น ประเทศเล็กๆ อย่างเราย่อมมิพึงกระทำ!

ไทยวามิใช่ผู้ส่งออกเพียงรายเดียว คือบริษัทบูรพาสากลฯ บริษัทวาชังซึ่งรับจ้างบริษัทบูรพาถลุงแร่ดีบุกและขายให้ ก็จะส่งเงินเป็นดอลลาร์ค่าดีบุกมาให้บริษัทบูรพาฯ ผ่านบริษัทไทยวา

“บังเอิญมีช่วงหนึ่งบริษัทบูรพาฯ ไม่มีเงินจ่ายค่าแร่ที่ซื้อมาจึงขอให้ไทยวาในฐานะตัวแทนของบริษัทวาชังจ่ายล่วงหน้าไปก่อน ซึ่งแน่นอนต้องจ่ายเป็นเงินบาท เรื่องก็เลยกลายเป็นว่าผู้ส่งออกดีบุกนอกมูลภัณฑ์กันชนนั้นก็คือไทยวาไปอย่างช่วยไม่ได้” ผู้รู้เรื่องดีกล่าว

ไทยวาถูกทางการปรับเงินประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งนับว่าหนักเอาการในสมัยนั้นว่ากันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยวาต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างพรวดพราดจาก 5 แสนบาทมาเป็น 20 ล้านบาท

บูรพาสากลเศรษฐกิจของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในแผ่นดินครั้งนั้นก็สบายตัวไป...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.