ลาที... กองเดอซูส์

โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเวลานี้จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการนับถอยหลังของมิเชล กองเดอซูส์ (Michel Camdessus) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประ-เทศ (International Monetary Fund) หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ซึ่งประกาศล้างมือในอ่างทองคำ หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 3 สมัย

ข่าวการลาออกจากตำแหน่งก่อน ครบเทอมของกองเดอซูส์มีมาตลอดท้ายเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีใครออกมายืนยัน จนกระทั่งกองเดอซูส์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับกับหนังสือ พิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสระหว่างการฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับไอเอ็มเอฟเรื่อง Le Pouvoir FMI หรือ IMF Power จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2542

กองเดอซูส์บอกกับ Le Monde ว่า เมื่อปลายเดือนกันยายน ระหว่างการประชุมใหญ่ของไอเอ็มเอฟ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมอนุญาตให้เขาลาออกจากตำแหน่งได้ โดยเขาให้เหตุผลกับ Le Monde ว่า เขาบรรลุพันธะสัญญาที่ตั้งไว้แล้ว โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤติการเงินในเอเชียที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลก

*****

ต้องยอมรับว่าตลอดเวลา 13 ปีในฐานะกรรมการจัดการไอเอ็มเอฟ กองเดอซูส์เปรียบเสมือน "เทพเจ้า" ของระบบการเงินโลกที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟ บนเส้นทางนี้เองที่ทำให้กองเดอซูส์ต้องเผชิญกับวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ที่รู้จักเขาดีบอกด้วยความชื่น ชมว่า กองเดอซูส์เป็นคนหนึ่งที่ "รัก" ที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤติทุกประเภท และพร้อมที่จะแปรวิกฤติเหล่านั้นให้เป็นโอกาส ทั้งสำหรับตัวเขาเองและต่อไอเอ็มเอฟ

ตัวอย่างเช่นกรณีวิกฤติการเงินที่ถึงขั้นล้มละลายของเม็กซิโก ซึ่งไอเอ็มเอฟได้กระโดดเข้าไปแสดงฝีมือแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ จนทำให้เศรษฐกิจของเม็กซิโกฟื้นตัวขึ้น หลังจากนั้นกองเดอซูส์ก็ได้แปรวิกฤติครั้งนั้นให้เป็นโอกาสด้วยการปรับปรุงระบบการรายงานของไอเอ็มเอฟ

สำหรับการตัดสินใจลาออกก่อนที่จะหมดเทอมของกองเดอซูส์นี้ ผู้ซึ่งติดตามการทำงานของนักการเงินชาวฝรั่งเศสวัย 66 ปีผู้นี้มาโดยตลอดประเมินว่า เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจในเอเชียมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่วิกฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งเริ่มต้นจากประเทศไทยได้สร้างความเสียหาย และขยายตัวเกิดผลกระทบไปทั่วโลกเมื่อ 2 ปีก่อน...และนี่คือเวลาที่ดีที่สุดในการตัดสินใจพ้นจากตำแหน่งผู้กุมชะตากรรมการเงินโลก ซึ่ง ณ จุดนี้เองกองเดอซูส์สามารถอ้างได้ว่า ไอเอ็มเอฟภายใต้การนำของเขาเป็น "พระเอกขี่ม้าขาว" มาหยิบยื่นความช่วยเหลือ ให้แก่เอเชียเป็นหน่วยงานแรก จนเอเชีย พ้นจากเงื้อมมือของวิกฤติการณ์?

ซึ่งก็สอดคล้องกับที่กองเดอซูส์ให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์ Le Monde

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ไอเอ็มเอฟภายใต้การนำของกองเดอซูส์ กลับถูกโจมตีอย่างหนักว่า แทนที่จะไปช่วยเยียวยาวิกฤติในเอเชีย กลับทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก

นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังถูกวิจารณ์ถึงเรื่องที่ไปกำหนดนโยบายที่เคร่งครัดต่อประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นลูกหนี้ของไอเอ็มเอฟ เพื่อที่จะให้ประเทศเหล่านั้นยังคงความเสรีและเปิดตลาดทุนกว้างตามความต้องการของไอเอ็มเอฟ และที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่ไอเอ็มเอฟถูกวิจารณ์ว่า น่าจะรู้ล่วงหน้าและเตือนภัยได้ทันก่อน ที่จะปล่อยให้เอเชียเผชิญกับวิกฤติ การณ์ทางการเงินชนิดดิ่งลงเหวเช่นนี้!

ซึ่งในประเด็นหลังนี้ กองเดอซูส์ก็โยนบาปให้กับประเทศเหล่านั้น พร้อมกับอ้างว่าได้เตือนประเทศเหล่านั้นแล้ว...แต่ไม่เกิดมรรคเกิดผล!!

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติการเงินในเอเชียนี่เองได้ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบธนาคารในเอเชียและประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ รวมทั้งยังมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการทำงานของไอเอ็มเอฟไปพร้อมๆ กันด้วย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น จากวิกฤติการเงินในเอเชียครั้งนี้ ฝ่ายซึ่งไม่นิยมกองเดอซูส์และแนวทางของเขาเชื่อถึงขนาดว่า หากกองเดอซูส์พ้นจากไอเอ็มเอฟเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะสามารถแก้ไขวิกฤติการณ์การเงินโลกได้โดยเร็วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

*****

กองเดอซูส์ให้ความเห็นถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบุรุษหมายเลขหนึ่งของไอเอ็มเอฟสืบแทนเขาไว้ว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีอารมณ์ขัน มีความรับผิดชอบสูง และตระหนักถึงภาระหน้าที่ของไอเอ็มเอฟ โดยกองเดอซูส์ไม่เกี่ยงว่าผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาจะเป็นบุรุษหรือสตรี

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้รู้ระบุถึงคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากจะต้องมีความรู้ทางด้านการเงินและเศรษฐกิจระดับฝีมือ แกร่งกล้าแล้ว ยังจะต้องมีทักษะของนักการทูตอีกด้วย เพื่อที่จะสร้างสมดุลแห่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศเจ้าหนี้กับลูกหนี้

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า ใครจะมาเป็นกรรมการจัดการของไอเอ็มเอฟคนใหม่แทนกองเดอซูส์ แต่บรรดารายชื่อผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึง เป็นนักการเงินการคลังของยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) รัฐมนตรีคลังของ อังกฤษ

*****

มิเชล กองเดอซูส์เกิดวันที่ 1 พฤษภาคม 2476 ที่เมือง Bayonne ใน ฝรั่งเศส จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปารีส (University of Paris) ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับ postgraduate ทางด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งจาก Institute of Political Studies of Paris และ France's National School of Administration สมรสกับ Brigitte d'Arcy มีบุตรธิดารวม 6 คน

กองเดอซูส์เข้าทำงานในกระทรวง การคลังของฝรั่งเศสในปี 2503 ก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับไอเอ็มเอฟ และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการจัดการคนที่ 7 ของไอเอ็มเอฟในวันที่ 16 มกราคม 2530 กระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2539 คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟได้เลือกให้เขาดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการไอเอ็มเอฟเป็นสมัยที่ 3 โดยมีระยะเวลาในตำแหน่งนาน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2540

กองเดอซูส์สะสมประสบการณ์ทางด้านการเงินการคลังมาอย่างช่ำชองจากกระทรวงการคลังฝรั่งเศส และในฐานะผู้ว่าการธนาคารชาติของฝรั่งเศส ก่อนที่จะมาเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" แห่งไอเอ็มเอฟอยู่นานถึง 13 ปี

ลาที...กองเดอซูส์.



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.