THAI-WAH THE MAN, THE SITUATION AND THE FUTURE


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยวาเป็นธุรกิจแบบเอเชียดั้งเดิมที่มีพัฒนาการไม่ขาดสาย ผูกพันกับสถานการณ์ในลักษณะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด ในห้วงเวลาเกือบๆ 40 ปีแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้วมีความพยายามอย่างมากของผู้บริหารเพื่อผลักดันไทยวาให้พ้นวิถีดำเนินการเดิมๆ อันจะทำให้มองเห็นอนาคตแจ่มชัดขึ้น วันนี้สิ่งที่คาดหวังเหล่านี้ยังไม่อาจหาคำตอบได้แจ่มชัดนัก

บริษัทไทยวา จำกัด (THAI-WAH CO.,LTD.) ดำเนินธุรกิจอย่างเงียบๆ ลึกๆ รู้กันภายในวงการว่าเป็นผู้บุกเบิก (PINOEER) อุตสาหกรรมแป้งมันอัดเม็ดเพื่อการส่งออก และมีโรงงานวุ้นเส้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก....

ต้นปีนี้ ไทยวาทาวเวอร์สูง 23 ชั้นอุบัติขึ้นอย่างห้าวหาญริมถนนสาทร ประจันหน้าตึกสูงที่ผุดขึ้นอย่างมากในบริเวณนั้น เช่น สาทรธานี ของตระกูลหวั่งหลี ตึกซิตี้แบงก์ ไทยวาทาวเวอร์มูลค่าเกือบ 300 ล้านบาทสร้างบนที่ดินกว่า 3 ไร่มูลค่าเพียง 5 แสนบาท ซื้อเมื่อ 30 กว่าปีก่อน...

ปลายปี 2528 ไทยวาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายล่าสุด ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2528 เป็นที่น่าพอใจ สามารถทำกำไรเพียง 18.6 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนกำไรเพียง 8.2 ล้านบาท และในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติจ่ายเงินปันผล 15 บาท/หุ้น ...

น้อยคนนักจะรู้ว่าไทยวามีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับ THE WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP ที่สำนักงานใหญ่สิงคโปร์ อาจจะเรียกว่าเป็นบริษัทแม่ของไทยวาก็ว่า ได้” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยวาพูดอย่างเต็มปากเต็มคำกับ “ผู้จัดการ”

หากไม่มีสองสิ่งประกอบกันอย่างเหมาะเจาะเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนย่อมไม่มีบริษัทไทยวาเทรดดิ้งหรือไทยวาที่เติบใหญ่เช่นทุกวันนี้

หนึ่ง-สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามเกาหลีอันเป็นจุดปะทะที่นักล่าอาณานิคมสมัยใหม่มุ่งหวังมีอิทธิพลเหนือทะเลจีน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ โดยผลักดันธุรกิจไทยซึ่งเริ่มก่อตัวอย่างมากในห้วงเวลานั้น กระโจนออกมาเกี่ยวพันโดยตรงกับสังคมเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยนี้ เป็นเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ของการเกิดบริษัทไทยวา โดยเป็น “สิ่งที่เล็กที่สุด” สิ่งหนึ่งที่ยืนอยู่ในฝ่ายนักล่าอาณานิคมยุคใหม่นั้น!

สอง-ดร. เคซีลี (DR.K.C. LI) ผู้ก่อตั้งไทยวาเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วคราว (โปรดอ่านล้อมกรอบ “ดร.เคซีลี: คนเอเชียกับระบบอาณานิคมตะวันตก”) วีทีลู ผู้บริหารซึ่งคลุกคลีกับไทยวาค่อนชีวิต เรียนรู้การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศยุคแรก ๆ และมีน้ำอดน้ำทนไม่ยอมให้ไทยวาตายไปเมื่อหมดภาระหน้าที่ชั่วคราวที่ ดร.เคซีลี มอบหมาย, ยิดวา โฮ เห็นความสำคัญของไทยวาอุ้มไทยวาออกจากวงจรเดิมพร้อมๆ กับการอัดฉีดให้เติบโตและกำหนดทิศทางที่แน่นอนของธุรกิจแบบเอเชียอาคเนย์ และพี่ตั๊ก แซ่เตี๋ย หรือพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร หรือปีเตอร์ เตียว ผู้มีส่วนในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกๆ ของไทยวา สืบทอดภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ในฐานะมืออาชีพที่ดีคนหนึ่ง

ไทยวาเป็นบริษัทเดียวที่มีลักษณะพิเศษ คือมีความต่อเนื่องไปขาดสาย แตกต่างจากบริษัทใน WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP ซึ่งล้มคลุกคลานเปิดๆ ปิดๆ แม้กระทั่งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ อันเป็นศูนย์บัญชาการของกลุ่มนั้นยังเกิดหลังไทยวากว่า 20 ปี

ดร.เคซีลี ส่งผู้ช่วย-ไวทีฮวง มาดำเนินการจัดตั้งบริษัทไทยวาเทรดดิ้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2490 ทุนจดทะเบียนครั้งแรกเพียง 5 แสนบาท โดยฝ่าย ดร.เคซีลี ถือหุ้น 80%

ดร.ลี ประธานบริษัทวาชัง สหรัฐอเมริกา มีสัญญาจัดหาแร่ดีบุกและแร่วุลเฟรมป้อนโรงงานผลิตอาวุธ ซึ่งผลิตให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นัยว่าแร่วุลเฟรมเป็นวัตถุดิบที่สำคัญมากทางยุทธศาสตร์ โดยใช้ผลิตหัวจรวดและชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องบิน ดังนั้น ไทยวาเทรดดิ้งจึงมีหน้าที่เพียงประการเดียว คือเป็นตัวแทนรับซื้อแร่จากประเทศไทยและพม่าส่งไปให้บริษัทวาชัง รายได้ของบริษัทก็มีเพียงทางเดียวเช่นกัน จากค่านายหน้าประมาณ 3% ของมูลค่าแร่ส่งออก

จะเป็นเพราะความโชคดีหรือ CONNECTION ของคนจีนสาย “ก๊กมินตั๋ง” หรือทั้งสองอย่างก็เหลือเดา ไวทีฮวง พบวีทีลู ซึ่งเป็นคนจีนฮ่อ สาย “ก๊กมินตั๋ง” คนหนึ่งในไทย วีทีลูเกิดที่ยูนนานเช่นเดียวกับ ดร.ลี ว่ากันว่าจะเป็นญาติกันด้วย อพยพเข้าเมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วีทีลูซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโลห์ โลหอุ่นจิตร (บิดาของ ดร.เจษฎา โลหอุ่นจิตร แห่งไอเอฟซีที) ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไทยวาเทรดดิ้งตั้งแต่เริ่มดำเนินการยาวนานมาประมาณ 30 ปี

วีทีลูผู้มีภารกิจของความเป็นจีนอีกปีหนึ่งที่ไม่สิ้นสุดในประเทศไทย โดยถือแผ่นดินไทยเป็นเรือนตาย เขาย่อมมีความคิดแตกต่างไปจาก ดร.ลี ซึ่งถือไทยวาเทรดดิ้งเป็นเพียงสาขาของบริษัทวาชังปฏิบัติหน้าที่มอบหมายให้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น

ความต่อเนื่องของไทยวาเทรดดิ้งย่อมเป็นผลจากการทำงานด้วยน้ำอดน้ำทนของวีทีลูด้วย แต่กว่าความตั้งใจจะบรรลุเขาต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศแปรปรวน

ส่วนไวทีฮวง ประธานบริษัทนั้น รับนโยบายจากบริษัทแม่ที่สหรัฐฯ ก็ใช้ความพยายามทุกวิถีทางหาซื้อแร่ในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ วิธีแรก-เปิดสาขาตั้งศูนย์รับซื้อแร่ในจุดที่มีการทำเหมืองเพื่อสะดวกในการจัดซื้อ และจะปิดทันทีเมื่อไม่มีความจำเป็น

“เพื่อให้กิจการเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก บริษัทฯ ได้มีสัญญาร่วมค้ากับบริษัทเวสตินเทรดเดอร์ โดยบริษัทเวสตินเทรดเดอร์เป็นฝ่ายจัดหาสินค้า และบริษัทไทยวาเทรดดิ้งเป็นฝ่ายส่งสินค้าที่ซื้อมาได้ส่งออก ..ผลกำไรทั้งหมดที่ได้นั้นแบ่งคนละครึ่งกับบริษัทเวสตินเทรดเดอร์ ผลกำไรครึ่งหนึ่งถือเป็นของบริษัทวาชัง ส่วนบริษัทไทยวาเทรดดิ้งได้ค่านายหน้า 3% จากจำนวนสินค้าทั้งสิ้นที่ซื้อและส่งออกไปขาย” บันทึกรายงานการประชุมของบริษัทเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2492 ระบุถึงวิธีจัดหาแร่อีกวิธีหนึ่งของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง ขณะนั้นสงครามเกาหลีระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมๆ กับแร่อันเป็นยุทธปัจจัยจากไทยถูกส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ไทยวาเทรดดิ้งเปิดสาขาขึ้นหลายแห่งเพื่อกว้านซื้อแร่ที่ภูเก็ต หาดใหญ่ ยะลา และที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า

ปลายปี 2492 หลังจากที่บริษัทไทยวาเทรดดิ้งดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รู้ฐานะการเงินของตนเลย ก็เปิดประชุมรับรองงบดุลเป็นครั้งแรก “การตกลงเกี่ยวกับค่านายหน้าที่จะได้รับจากบริษัทวาชังยังมิได้มีการเจรจาให้สำเร็จลงได้ เพราะตัวประธานกรรมการบริษัทวาชัง (ดร.ลี) ซึ่งเป็นผู้ทราบเรื่องราวเหล่านี้ไม่อยู่ ออกไปสำรวจการค้าระหว่างประเทศ” นั่นคือรายงานการประชุมที่อ้างถึงสาเหตุของความล่าช้าของงบดุล

สงครามเกาหลีรุนแรงต่อเนื่อง สหรัฐฯ เป็นจ่าฝูงพาเหรดนำทหารหลายชาติรุมสกรัมเกาหลีเหนือ ซึ่งมีจีนแดงหนุนหลังเต็มตัว กลางปี 2493 ราคาดีบุกและวุลเฟรมทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยวาเทรดดิ้งประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากค่านายหน้าอันน้อยนิดไม่เพียงพอจะระดมซื้อแร่ วีทีลู กรรมการผู้จัดการ รายงานในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2493 ว่า “...บริษัทได้ติดต่อขอร้องให้บริษัทวาชังได้ช่วยขึ้นอัตราค่าป่วยการให้สูงขึ้นกว่าเดิมสักเล็กน้อย ในการนี้ผู้จัดการบริษัทวาชังก็ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจมายังบริษัทเป็นอันดี ในฐานะที่บริษัทตั้งหน้าทำประโยชน์ให้แก่บริษัทวาชังมาด้วยดี ผู้จัดการบริษัทวาชังจึงยินดีที่จะขึ้นอัตราค่าป่วยการให้กับบริษัทจาก 3% เป็น 4% แต่ทั้งนี้ยังไม่กล้ายืนยันเป็นหลักฐานที่แน่นอนว่าจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทวาชัง...”

ในตอนนั้นมีคนเสนอว่าหากมีรายได้ทางเดียวเช่นนี้บริษัทไทยวาเทรดดิ้งจะลำบากมาก คณะกรรมการจึงวางโครงการจะเปิดแผนกงานต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น แผนกเดินเรือ แผนกประกันภัย แผนกคลังสินค้า และแผนกให้กู้ยืมเงิน

ปี 2494 ราคาแร่สูงขึ้นอีก คนไทยเริ่มหันมาสนใจค้าแร่กันมากขึ้น เจ้าของเหมืองแร่หลายรายทำการส่งออกเองโดยไม่ยอมผ่านคนกลาง ด้วยเหตุนี้ไทยวาเทรดดิ้งจึงหาซื้อแร่ส่งให้บริษัทวาชังได้น้อยมาก ต้องยุบสาขาหาดใหญ่ ยะลา และย่างกุ้ง และหันมาเปิดใหม่ที่ระนองแทน ความคิดที่จะส่งออกสินค้าอื่นเริ่มผุดในสมองของผู้บริหารบริษัทแล้ว

ปี 2495 สหรัฐฯ แพ้สงครามเกาหลี เศรษฐกิจของโลกเริ่มตกต่ำ ราคาแร่ในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว บริษัทวาชังสหรัฐอเมริกาลดการซื้อลงอย่างมาก

“นอกจากนี้ยังติดต่อขอลดค่าป่วยการซื้อแร่จาก 4% เหลือเพียง 3% บริษัทได้ขอให้ประธานกรรมการของบริษัทไปติดต่อทาบทามขอให้ได้อัตราเดิม แต่ได้รับยืนยันมาว่าให้ได้อัตราเดิมจะให้ค่าป่วยการเพียง 3.5% เท่านั้น โดยบริษัทวาชังอ้างว่า ถ้าบริษัทจะต้องเสียค่าป่วยการมากมายเช่นนั้น บริษัทติดต่อขอซื้อจากบริษัทที่เป็นเจ้าของแร่โดยตรงอาจจะได้ราคาต่ำกว่าเสียอีก เรื่องนี้บริษัทเห็นว่าถ้าขืนดื้อดึงไป ถ้าบริษัทวาชังไม่รับซื้อแร่ บริษัทจะอยู่ในฐานะลำบากทั้งราคาแร่ก็ตกต่ำมากมายเช่นนี้” บันทึกรายงานการประชุมอันแสดงถึงความเจ็บปวดของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง กล่าวไว้เมื่อ 8 กรกฎาคม 2495

เหตุการณ์ได้เลวร้ายมาเรื่อยจนถึงขีดสุด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2495 บริษัทไทยวาเทรดดิ้งยังคงส่งแร่ไปให้บริษัทวาชังอยู่ แต่ทว่าไม่ได้รับค่าป่วยการ เนื่องจากได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นตัวแทนเป็นการซื้อขายทั่วไป “บริษัทจะต้องทำการเสี่ยงอยู่บ้าง แต่บริษัทไหนให้ราคาดีเราก็ขายให้บริษัทนั้น การเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ก็เพราะราคาแร่ตกต่ำ บริษัทยังอ้างว่าไม่อาจสู้ราคาและค่าใช้จ่ายในลักษณะเดิมได้”

ไทยวาเทรดดิ้งพยายามดิ้นรนโดยนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายแต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน ทำให้บริษัทประสบการขาดทุนทับทวี เกินครึ่งของเงินทุนถึงกับมีข้อเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 ว่า “สมควรจะดำเนินการค้าต่อไปหรือไม่ ?”

ยิดวาโฮ เป็นคนจีนเกิดในสิงคโปร์เดินทางติดตามปู่กลับเมืองจีนและเริ่มเรียนหนังสือที่นั่น จนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับทุนจากรัฐบาลจีนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่คอร์แนลเขาพบสาวน้อยที่เรียนปริญญาตรีด้านวรรณคดีอังกฤษ อันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชีวิตเขาหักเหในเวลาต่อมา โฮ มาทำงานกับบริษัทไทยวา ที่สาขาย่างกุ้ง ประเทศพม่า ใกล้บ้านเกิดเมืองนอน สาวน้อยคนนั้นต่อมาก็คือภรรยาของเขาที่หนุนส่งให้เขาเป็นนักธุรกิจผู้ยิ่งยงคนหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

ผู้หญิงคนนั้นคือลูกสาว ดร.ลี ผู้ให้กำเนิดบริษัทวาชังในสหรัฐฯ และบริษัทไทยวาเทรดดิ้งในประเทศไทยนั่นเอง !

เมื่อยิดวาโฮ เข้ามา ไทยวาเทรดดิ้งก็เริ่มส่งออกสินค้าหลากหลายชนิดมากขึ้นโดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยวาคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นพนักงาน 1 ใน 6 คนแรกเล่าความเป็นมาช่วงนั้นให้ “ผู้จัดการ” ฟังว่า “เราสนใจแป้งมันสำปะหลังซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครสนใจเลย และไม่มีการส่งออกด้วย เราเริ่มส่งออกปีละไม่ถึง 100 ตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยซื้อแป้งจากชาวบ้านคนหนึ่งทำได้ไม่กี่ตัน คุณภาพต่ำมาก มีกลิ่นไม่ถูกสุขอนามัย ดีที่เราส่งไปสหรัฐฯ ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม”

ปี 2502 ไทยวาเทรดดิ้งภายใต้การนำของยิดวาโฮ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เพิ่มทุนรวดเดียวจาก 5 แสนบาทเป็น 20 ล้านบาท (โปรดอ่าน ล้อมกรอบ “ยังเข็ดจนทุกวันนี้...”)

ว่ากันว่า ภรรยาของยิดวาโฮ หรือลูกสาวของ ดร.ลี เลียนฟุงโฮ ได้รับมรดกจาก ดร.ลี ภายหลังการแต่งงาน และมีความเห็นดีเห็นงาม ขนเงินมาลงทุนในประเทศไทย ยิดวาโฮกับภรรยาถือหุ้นประมาณ 50%

จุดเปลี่ยนตรงนี้ชี้นัยสำคัญบางประการ 1) ไทยวาเทรดดิ้งพ้นพันธะจากการเป็นสาขาของวาชังอย่างสิ้นเชิง ดำเนินกิจการอย่างเอกเทศในประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิดวาโฮปักหลักในประเทศไทยเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี 2) เลิกค้าแร่อย่างเด็ดขาด โดยมุ่งทำการค้าที่ไทยวาเทรดดิ้งบุกเบิกไว้ก่อนหน้านั้น

การลงทุนครั้งนี้ พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท หลังจากทำงานกับบริษัทนี้มาแล้วถึง 10 ปี

พิทักษ์ หรือพีตั๊ก เกิดที่ซัวเถา อพยพตามบิดามาเมืองไทยตั้งแต่เด็กๆ เรียนจบแค่ ม. 2 ที่โรงเรียนมงฟอร์ด เชียงใหม่ มาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีดของไทยวาเทรดดิ้ง “ผมเริ่มทำงานตอนนั้นยังนุ่งกางเกงขาสั้น สำนักงานมีคนงานเพียง 6 คน ผมทำงานแทบทุกอย่าง จึงเรียนรู้งานทุกด้านของบริษัท จนมาเป็นเลขาฯ นายห้างโฮ” เขาฟื้นความหลังที่นานกว่า 2 ใน 3 ของชีวิตเขากับ “ผู้จัดการ”

พิทักษ์เล่าว่าโรงงานแป้งมันของไทยวาเทรดดิ้ง ต้องซื้อเครื่องจักรส่วนสำคัญมาจากต่างประเทศมาเป็นชิ้นๆ มาประกอบในเมืองไทย “หัวใจของเครื่องจักรนั้นก็คือ SEPERATER แม้แต่ขณะนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ SEPERATER เป็นเครื่องที่ทำการแยกแป้งออกจากหัวมัน” เขาบรรยายเป็นความรู้ประกอบ

เพราะการที่มีการส่งออกแป้งนั่นเองจึงมีส่วนกระตุ้นโดยตรงต่อการเพิ่มพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ทว่าตลาดส่งออกแป้งมันยังแคบมาก ไทยวาเทรดดิ้งจึงต้องบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ออกไปจากสหรัฐอเมริกามุ่งสู่ยุโรป แหล่งเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ของโลก เพียงแต่ว่าแป้งมันที่ไทยวาเทรดดิ้งผลิตได้นั้นมีคุณภาพดีเกินไป

“เราเอามันตากแห้ง ป่นเป็นผงบรรจุกระสอบส่งไปขายยุโรป แต่เนื่องจากมันมันป่นมาก น้ำหนักเบา เมื่อคำนวณค่าขนส่งต่อเที่ยวแล้วไม่คุ้ม ผู้ซื้อรายหนึ่งของเราจึงเสนอให้ทำเป็นมันอัดเม็ด” พิทักษ์เล่าถึงมันสำปะหลังชนิดใหม่ที่ไทยวาส่งไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในยุโรป

ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายนั้นก็คือ WAREN IMPORT GESELISCHAFT KRONE&CO หรือเรียกสั้น ๆ ว่า KROHN

เวลานั้นไทยวาเทรดดิ้ง มีโรงงานแป้งมันอีก 2 โรง ที่อำเภอบางปะกง ฉะเชิงเทรา ยิดวาโฮจึงตัดสินใจติดตั้งเครื่องจักรผลิตมันอัดเม็ด (PELLETS) ราคา 3.5 แสนมาร์ก (ราคาตอนนั้น) ที่โรงที่สอง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตมันอัดเม็ดไปตลาดยุโรปนับย้อนจากวันนี้ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายกำลังถกและแก้ปัญหาการส่งออกมันอัดเม็ดไปอีอีซีอย่างหนัก ราว ๆ 2 ทศวรรษ

โครห์น-ยักษ์ใหญ่คอมอดิตี้ของโลกสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮัมบรูก เยอรมนีเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในตอนนั้นจนฝังรากลึก หากินในเมืองไทยต่อเนื่องมา ต่อมากลายเป็น PARTNER ที่อยากถอนตัวแต่ถอนไม่ออกของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ กลุ่มศรีกรุงวัฒนา ของสว่าง เลาหทัย

ยิดวาโฮ ผู้มี BACK ดี เริ่มขยายฐานธุรกิจในไทยมากขึ้น ต่อมาตั้งโรงงานผลิตวุ้นเส้นที่ใหญ่มาก โดยใช้ชื่อว่าบริษัทวาลัญ จำกัด บริษัทนี้ในครั้งแรกยิดวาโฮและครอบครัวถือหุ้นทั้งหมด ในทางกฎหมายนั้นไม่ขึ้นกับไทยวา แต่ความเป็นจริงผู้บริหารชุดเดียวกัน พิทักษ์บอกว่าเพิ่มเมื่อไม่นานมานี้ที่ไทยวาเขาถือหุ้นประมาณ 30%

โรงงานวุ้นเส้นแห่งนี้ปัจจุบันมีกำลังมากกว่า 3,000 ตัน/ปี กล่าวกันว่าเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก !

ที่ยิดวาโฮมุ่งหนักบุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารหนัก เพราะภรรยาของเขาจบการศึกษาด้านเคมีจาก MILK COLLEGE (ก่อนจะมาเรียนต่อที่คอร์แนล) เป็นกำลังใจและมีส่วนช่วยแก้ปัญหา เกี่ยวกับปัญหาคุณภาพแป้งมาก ยิดวาโฮเป็นคนรักภรรยา เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงความดีของภรรยาเขากับหนังสือพิมพ์ธุรกิจในเมืองไทยฉบับหนึ่งว่า “ตลอดชีวิตของผม ภรรยาผมมีส่วนช่วยด้านธุรกิจต่างๆ ของผมมาก ช่วยมากว่า 20 ปีแล้ว”

อยู่ในเมืองไทยนานเข้า ยิดวาโฮย่อมรู้จักนักธุรกิจไทยใหญ่ยุคนั้นเกือบทุกคน สุริยน ไรวา นักธุรกิจผู้ยิ่งยงคนหนึ่งในยุคนั้น เป็นเพื่อนของเขา สุริยนเป็นนักธุรกิจที่มีกิจการแขนงต่างๆ มากมาย แต่แทบจะไม่ประสบความสำเร็จสักอย่างเอาเสียเลย อุตสาหกรรมแป้งสาลี เป็นอีกแขนงหนึ่งที่สุริยน ไรวา เป็นคนบุกเบิก โดยใช้ชื่อว่าบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ โรงงานผลิตแป้งสาลีรายแรกของประเทศไทยนี้เกิดขึ้นประมาณปี 2504 ยังไม่ทันจะดำเนินกิจการสุริยนต้องแจ้นมาหายิดวาโฮให้ช่วยเหลือ ยิดวาโฮจึงเข้า TAKE OVER ดำเนินกิจการมาด้วยดี จนมาถึงปี 2522 จึงได้ขายออกไปให้กับกลุ่มศรีกรุงวัฒนาของเสี่ยสว่าง เลาหทัย (อ่านล้อมกรอบ “เมื่อยิดวาโฮ ทำให้เพื่อน (หวั่งหลี) โกรธแต่เสี่ยหว่างยิ้มร่า”)

ไทยวาเทรดดิ้งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยวาเมื่อปี 2509 ก่อนเวลา 1 ปีที่ยิดวาโฮต้องจากเมืองไทยไป!

แม้เขาจำต้องจากเมืองไทย แต่เป็นการจากไปที่มีความมั่นใจว่าธุรกิจของเขาในเมืองไทยมั่นคง กลุ่มประชาคมยุโรป (อีอีซี) รับซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยไม่อั้น ไทยวาเป็นหัวแถวผู้ส่งออกที่เริ่มเติบโตตามแรงดีมานด์นั้น ด้านภายในประเทศ โรงงานวุ้นเส้นของบริษัทวาลัญนั้นเล่าก็ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% เข้าไปแล้ว

โลห์ โลหอุ่นจิตร และพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร หรือทั้งคู่ก็เป็นงาน เขาเพียงยืนคุมอยู่ห่างๆ ไทยวาก็ไปโลด

ยิดวาโฮ (RIH HAW HO) จากไปรับใช้ชาติซึ่งเขาฝันไว้นานแล้วว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับไปสิงคโปร์บ้านเกิด เพราะเหตุผลนี้เองเมื่อเขาสมัครงานกับบริษัทวาชังสหรัฐฯ เมื่อปี 2492 จึงตัดสินใจมาประจำที่ประเทศไทย “ผมกะไว้ในใจแล้วว่า เมื่อผมมาทำงานในไทย ผมจะมีตั๋วฟรีมาเมืองไทยซึ่งอยู่ใกล้ๆ สิงคโปร์” เขาเคยกล่าวไว้

ยิดวาโฮกลับสิงคโปร์อย่างสมเกียรติ !

ปี 2508 สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษ 2510 นายกรัฐมนตรีลีกวนยูเชิญยิดวาโฮกลับประเทศและแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำที่ประเทศไทย 3 ปีครึ่งที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป เขาหอบหิ้วครอบครัวกลับสิงคโปร์พร้อมๆ กับการตั้งบริษัทวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนลขึ้นในปีนั้น

“พอดีช่วงนั้นภรรยานายห้างไปรับช่วงงานที่อเมริกา เพราะ ดร.ลีมาเสียในระยะเดียวกับที่นายห้างตั้งบริษัทในสิงคโปร์ขึ้นมาอีก ขณะนั้นเวลาส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยวา โดยจะเดินทางมาทุกเดือน เดือนละ 2-3 วัน” พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร กรรมการผู้จัดการไทยวา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ยิดวาโฮรักและไว้วางใจมากที่สุด เล่าให้ฟัง

แม้ไม่มียิดวาโฮ ไทยวาก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์การค้าผลิตภัณฑ์สำปะหลังหนุนส่งอย่างยิ่ง การเติบโตเป็นไปอย่างมั่นคงจนมาถึงปี 2525 ที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้จำกัดปริมาณการนำเข้าในขณะที่ประเทศไทยขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอย่างยั้งไม่อยู่ ผู้ส่งออกมันอัดเม็ดเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก่อให้เกิดผลผลิตส่วนเกินอย่างมากมาย ซึ่งไทยวาถอยไม่ได้เสียแล้ว !

เพราะมีโรงงานผลิตมันอัดเม็ด 2 โรงกำลังการผลิตประมาณ 1,200 ตัน/วัน มีโกดังเก็บสินค้า 4 แห่ง บรรจุสินค้าได้ 140,000 ตัน

ส่วนธุรกิจส่งออกแป้งมันนั้น ไทยวามีโรงงานผลิต 3 โรง กำลังการผลิตรวมกัน 330 ตัน/วัน แต่ดีหน่อยที่ถึงแม้คู่แข่งส่งออกจะมาก แต่ไม่มีใครแซงไทยวาได้เลยไทยวาครองแชมป์การส่งออกแป้งมันตั้งแต่วันแรกที่ส่งออกจนถึงทุกวันนี้ ทว่า มูลค่าน้อยกว่าการส่งออกมันอัดเม็ดอยู่มาก

ปี 2524-2525 เป็นปีที่ยอดขายไทยวาทะยานขึ้นไปถึง 1,500 ล้านบาท ครั้นพอมาถึงปี 2525 กราฟได้ปักหัวลงเหลือประมาณ 1 พันล้านบาทเท่านั้น (ดูแผนภูมิประกอบ)

ปี 2526 จนถึงปัจจุบันคือห้วงเวลาที่ไทยวาพยายามยืนอยู่ในเพดานเดิม

พิทักษ์เปิดใจกับ “ผู้จัดการ” ว่าเมื่อการค้าผลิตภัณฑ์สำปะหลังและสินค้าพืชไร่ตัวอื่น เช่น ปอ ซบเซา ไทยวาก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่น “ทีแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำธุรกิจ REAL ESTATE เสียทีเดียว เพียงแต่คิดในครั้งแรกว่าจะสร้างสำนักงานบริษัทของตนเองขึ้นมา ที่ดินก็มีอยู่แล้วที่ถนนสาทรหรือสำนักงานเดิม”

เดิมไทยวามีสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 21 ถนนสาทร บนที่ดินสร้างไทยวาทาวเวอร์ปัจจุบัน ต่อมาเมื่อกิจการขยายที่เดิมคับแคบจนต้องไปเช่าอาคารเคี่ยนหงวน ถนนวิทยุ

“เป็นจังหวะเหมาะที่ กทม.แก้ไขเทศบัญญัติให้สร้างตึกสูงบริเวณนั้นได้ แต่ก่อนให้สร้างเฉพาะที่อยู่อาศัย อีกประการหนึ่งที่ดินตรงนั้น เราซื้อมากว่า 30 ปีราคาถูกมาก หากจะสร้างเป็นอาคารชุดให้เช่าน่าจะเป็นไปได้” พิทักษ์บอก

สิ่งที่พิทักษ์ปฏิเสธไม่ได้คือ การตัดสินใจสร้างไทยวาทาวเวอร์ 23 ชั้นนั้น ได้รับการกระตุ้นจากช่วงที่ CONDOMINIUM บูมอย่างมากๆ ในปี 2525-27

“หากโครงการนี้สำเร็จด้วยดี เราก็จะจับ REAL ESTATE ต่อไป ปัจจุบันเรามีที่ประมาณ 13 ไร่ที่บางนาพอจะทำคอนโดมิเนียมได้อีกจุดหนึ่งได้ซื้อที่ที่ภูเก็ตไว้หลายร้อยไร่มีโครงการที่จะทำโรงแรมแบบรีสอร์ต” พิทักษ์เล่าถึงแผนการ DIVERSIFIED อย่างไม่ได้ตั้งใจ

จนมาถึงการก่อสร้างตึกสูง หรือ OFFICE CONDOMINIUM เริ่มซบเซา ไทยวาก็เริ่มคิดหนัก โครงการสร้างรีสอร์ตที่ภูเก็ตจึงต้องชะลอมาเรื่อยๆ พิทักษ์หรือปีเตอร์ยอมรับว่า ไทยวาและบริษัทแม่วาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย “หากจะทำจริงๆ จะต้องร่วมทุนกับคนอื่น ตอนนี้กำลังหาพาร์ตเนอร์อยู่”

อย่างไรก็ตาม เพราะมีไทยวาทาวเวอร์รายได้ของไทยวาจึงไม่ลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากยอดการขายไทยวาทาวเวอร์ 2 ปีที่ผ่านมาก็นับสิบๆ ล้านบาทเหมือนกัน และเมื่อบวกกับดอกเบี้ยแล้วจึงทำให้รายได้ยันอยู่ในระดับ 900 กว่าล้านบาท/ปี ในปี 2527 และปี 2528

เพราะไทยวามีความ “สัมพันธ์” กับวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล โดยเฉพาะสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สิงคโปร์เผชิญวิกฤตรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลนั้นย่อมส่งต่อมาถึงไทยวาด้วย!

“เราก็ไม่ได้ช่วยอะไรโดยตรง แต่หากว่าเขาสามารถหาตลาดสินค้าที่เราเคยขายได้เราก็จะให้เขาส่งมอบ หรือไม่ก็ส่งธุรกิจบางอย่างมาหางานในเมืองไทย” พิทักษ์ ไม่ยอมรับตรงๆ

สิ่งที่พิทักษ์พูดนั้น วงการค้าแป้งมันพูดกันมาตั้งแต่ปี 2528 แล้ว “ผมแปลกใจทำไมออเดอร์แป้งมันของไทยวาลดลงไปมาก โดยเฉพาะจากรัสเซียซึ่งผูกขาดกับไทยวาตลอดมา เคยซื้อปีละเป็นแสนตัน แต่กลับไปซื้อจากสิงคโปร์ ไม่มีแป้งมันส่งออกเอง” จุดนี้เอง “ผู้จัดการ” วิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดขายของไทยวาลดลงไป

ปี 2528 ไทยวาตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา 2 บริษัท-บริษัทวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คอร์เปอเรชั่น จำกัด และบริษัทยูไนเต็ด อินซุเลชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทแรกนำเข้าฉนวนกันความร้อนประเภทใยหินและแร่กัดกร่อน (จากสิงคโปร์) บริษัทหลังออกแบบและติดตั้งฉนวนกันความร้อน “เราทำงานประสานกันเนื่องจากว่างานเหล่านี้ที่สิงคโปร์ไม่มี ขณะเดียวกันเราเห็นว่าที่เมืองไทยพอมีก็ตั้งบริษัทเหล่านี้ขึ้นมาหางาน” แต่เมื่อถามพิทักษ์ว่าประสบความสำเร็จตามที่คาดหรือไม่ เขาตอบ “ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเมืองไทยก็เศรษฐกิจไม่ดีเหมือนกัน”

ภาพรวมของไทยวาตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบันนั้นแสดงความอึดอัดพอสมควร กล่าวคือมีเงินมีทรัพย์สิน (ดูแผนภูมิการเพิ่มทุนประกอบ) แต่แปรสภาพเป็นผลผลิต เป็นกำไรเป็นกอบเป็นกำอย่างลำบาก แต่นี่ยังดีกว่า วาชังอินเตอร์เนชั่นแนล ที่สิงคโปร์ (อ่านล้อมกรอบ “เครือข่าย THE WAH-CHANG INTERNATIONAL GROUP)

ว่ากันว่า ยิดวาโฮ ประธานไทยวาปัจจุบันนั้นเชื่อมือพิทักษ์ บุญพจน์สุนทร และทีมงานคนหนุ่ม ว่าสามารถจะบริหารกิจการไทยวาในประเทศไทยไปได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องมีคนอย่างเขาคุมทิศทางอยู่ โฮ มีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยเกี่ยวกับผู้สืบทอด

เรื่องสร้างคน โดยเฉพาะคนที่มองการณ์ไกล เป็นภาระหน้าที่เร่งด่วนของไทยวา เรื่องนี้ ยิดวาโฮคิดหนัก แม้แต่พิทักษ์ บุญพจน์สุนทร ยังยอมรับกับ “ผู้จัดการ” ว่าเขาเองก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษในปัจจุบัน

กิจการวาชังสหรัฐอเมริกาที่ ดร.ลีก่อตั้งนั้น เมื่อ 30-40 ปีก่อนเป็นปราการที่เข้มแข็งที่สุดของ THE WAH-CHANG GROUP แต่เมื่อขาด ดร.ลี ปัจจุบันกิจการในสหรัฐฯ ของกลุ่มฯ เหลือน้อยนิด ส่วนกิจการในสิงคโปร์นั้น เขารู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้าง เมื่อกวาง ปิง โฮ ลูกชายของเขาเข้ามาคุมงานในขณะที่เขาเป็นพี่เลี้ยงได้และยังแข็งแรงอยู่

ในไทยก็เหมือนกัน เขาควรจะทำอะไรบางอย่างให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อเขาไม่มีชีวิตแล้ว กิจการที่เขาสร้างขึ้นจะไปล้มตามไปด้วย!

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยวาจึงเป็นทางออกที่สำคัญทางหนึ่ง

“เป็นคำถามที่ดีมาก” พิทักษ์รู้สึกพอใจมากเมื่อ “ผู้จัดการ” ถามเหตุผลที่ไทยวาต้องเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย

“นายห้างโฮเขามาตั้งตัวในเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ค้าแร่เป็นต้นไป และเปลี่ยนมาเรื่อยๆ นับว่ากิจการเจริญพอสมควร ในเมื่อเขาจากไปสิงคโปร์ เขาก็คิดถึงลูกน้องอย่างผมเป็นต้น ให้โอกาสเรารับซื้อหุ้นจากบริษัทในราคาถูก เขาคิดว่าในเมื่อบริษัทไทยวาเจริญในเมืองไทยก็ควรเป็นของคนไทย” พิทักษ์ให้เหตุผลประการแรก

“อีกประการหนึ่ง เมื่อนายห้างไม่ได้ประจำในเมืองไทยแล้ว ลูกหลานเขาก็อยู่สิงคโปร์ เขาคิดว่าหากจะให้บริษัทเจริญควรจะมีบุคคลภายนอกมาร่วมบริหาร และอยู่ในรูปของบริษัทมหาชน ให้โอกาสคนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารบริษัทได้ อันนี้เป็นดำริของนายห้างโฮ เขาบอกว่าควรทำเสียตั้งแต่เขายังมีชีวิตอยู่ เขามีประสบการณ์ว่า ตระกูลของเขาเองเคยสร้างบริษัทใหญ่ๆ ขึ้นมา เช่นในนิวยอร์ก เนื่องจากไม่มีใครสืบทอด ก็ไม่เจริญและยุบไป...” พิทักษ์แน้นถึงสิ่งนี้ในทำนองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของไทยวานั้น กากระทำเพื่ออนาคตและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเจตนารมณ์สุดท้ายของยิดวาโฮ

“แม้ในทางความเป็นจริงไทยวาจะเป็นบริษัทลูกของวาชัง แต่ในทางกฎหมายเราเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินกิจการอย่างอิสระแล้ว” กรรมการผู้จัดการวัย 55 ปี ของไทยวากล่าวเป็นประโยคสุดท้าย

ยิดวาโฮ มองการณ์ไกลสมกับเป็นนักการทูตและเป็นปัญญาชน ซึ่งเขามีประสบการณ์สำคัญอย่างหนึ่งว่า ไทยวาเกิดขึ้นจากสถานการณ์ การเติบโตและ DIVERSIFIED ล้วนถูกสถานการณ์บีบมาตลอด หากไม่มีเขาหรือผู้บริหารที่มองการณ์ไกลด้วยแล้ว อนาคตของไทยวาไม่มีใครมองออก แต่เมื่อไทยวาเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปลายปี 2528 แล้ว

ยิดวาโฮ คิดว่าเขาไม่ได้ย่ำรอยเท้าเดิมของ ดร.เคซีลีผู้เป็นพ่อตาอีกต่อไปแล้ว!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.