อะไรเอ่ย? -ขึ้นต้นเป็นปอแต่ลงท้ายกลายเป็นไผ่ ไม้ไผ่กำลังจะหมดป่าเพราะฟินิคซ์ พัลพ์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

คำตอบก็คือฟินิคซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ นี่เอง ผู้ที่กำลังสร้างตำนานคลาสสิก ชิ้นใหม่ขึ้นมาประดับวงการอุตสาหกรรมบ้านเรา แต่น่าเสียดายว่ามันเป็นตำนานที่ไม่น่าชื่นชมเอาเสียเลย

โรงงานของฟินิคซ์ฯ อยู่ใกล้เขื่อนน้ำพอง ในบริเวณที่ดินประมาณ 1,065 ไร่ที่เช่าระยะยาว 30 ปี มาจากกรมประชาสงเคราะห์ นับแต่ ก.ค. 22 และอาจต่อสัญญาได้อีก 30 ปี เมื่อครบกำหนด

โรงงานแห่งนี้ห่างจากขอนแก่นประมาณ 35 กิโลเมตร แม้ว่าจะเปิดโรงงานมาตั้งแต่ปี 25 แต่จนเดี๋ยวนี้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและใหญ่ที่สุดในอีสาน ก็หามีผู้คนรู้จักไม่ นอกจากคนขับรถรับจ้างที่มักจะได้มีโอกาสรับส่ง “เจ้านาย” ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “แขก” อยู่เป็นประจำ รวมถึงอาบอบนวดทั้ง 3 แห่งและสถานบริการกลางคืนที่ได้มีโอกาสรับใช้ปลดเปลื้องอะไรหลายๆ อย่างให้กับคนงานหนุ่มๆ ของฟินิคซ์ฯ ร่วม 800 คน

สำนักงานฟินิคซ์ฯ ในตัวเมืองขอนแก่นก็เป็นเพียงตึกแถวคูหาเดียวจึงไม่แปลกที่ถามไถ่ใครจะไม่รู้จักเว้นจะบอก “โรงงานแขก” ละก้อ คงจะมีคนรู้จักเพิ่มขึ้นบ้าง

นี่ก็เป็นการบอกภาพลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของโรงงานนี้ ที่มีต่อคนในท้องถิ่นซึ่งโรงงานนี้หวังว่าจะนำเอาความเจริญและความมั่งคั่งไปให้

“ตอนแรกมีพวกแขกอินเดียมาอยู่ตั้งหลายร้อยคน พวกนี้มาตั้งแต่ยังสร้างแฟลตที่พักในโรงงานไม่เสร็จ มาเช่าโรงแรมโฆษะอยู่กันเป็นเดือนๆ เลย มีทั้งพวกที่เป็นงานและไม่เป็นงาน แต่เขาก็อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทั้งนั้น เฉพาะเงินเดือนอย่างเดียวพวกนี้เริ่มตั้งแต่หมื่นกว่าบาทขึ้นไปจนถึง 3-4 หมื่นบาทก็ยังมี ผมว่าเขาก็คงคิดว่ามาขุดทองบ้านเราเหมือนที่เราไปขุดทองแถวซาอุฯ ละมัง” “ผู้จัดการ” ฟัง

แต่สำหรับคนงานไทยนั้นเห็นจะเอา 3-4-5 หรือแม้กระทั่ง 10 หารเข้าไปจึงจะได้ออกมาเป็นเงินเดือน ระดับนายช่างปริญญาตรีที่นี่สตาร์ทแค่ 4,000 บาท และไม่มีอะไรอื่นอีกเลย ซึ่งพนักงานหลายๆ คนที่นั่นก็เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟังอย่างท้อแท้ว่าสวัสดิการที่จำกัดจำเขี่ยอย่างนี้ทำให้พนักงานจำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสหภาพแรงงานที่พอจะพูดได้ว่าเข้มแข็งที่สุดในอีสาน แต่ก็ยังต้องทนรับสภาพการจ้างออกในภาวะที่โรงงานก็กำลังย่ำแย่อยู่เหมือนกัน จากเริ่มแรกที่มีคนงานกว่าพันคน ขณะนี้ลดลงมาเหลือไม่เกิน 800 คนเท่านั้น

ขวัญและกำลังใจของพนักงานในตอนนี้ก็เลยหดหายไปหมด เพราะไม่รู้ว่าอนาคตของโรงงานจะเป็นอย่างไร การควบคุมการบริหารในโรงงานทั้งหมดอยู่กับพวกแขกจากบัลลาเปอร์ทั้งสิ้น จะมีพวกนายช่างคนไทยบ้างก็จะอยู่ในระดับล่างที่คุมสายงานด้านเทคนิคเฉพาะเรื่องเท่านั้น ไม่มีคนไทยที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในระดับที่จะช่วยประสานคนงานไทยทั้งหมด ประสานชาวไร่ หรือแม้แต่กับผู้ปกครองในท้องถิ่นที่โรงงานนี้ตั้งอยู่ก็ตาม

และเมื่อถามถึงเรื่องการผลิตเยื่อกระดาษจากปอ เราจึงได้รู้ความจริงว่า

“เดี๋ยวนี้เขาป้อนแต่ไม้ไผ่ทั้งนั้นแหละครับ เดินเครื่องกันตลอด 24 ชม. ต้องใช้ไม้ไผ่วันละ 260 ตัน เพราะผลผลิตที่ได้จากไม้ไผ่จะได้ YIELD มากกว่าจากปอ แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพของเยื่อที่ได้แล้วสู้จากปอไม่ได้หรอกครับ” พนักงานฟินิคซฯ เล่าให้ฟัง

“เมื่อก่อนนี้เคยมีศูนย์รับซื้อปอตั้ง 40 ศูนย์ทั่วภาคอีสาน ผมเห็นรวยกันอื้อไปเลย พวกนี้กิน 2 ต่อทั้งจากชาวไร่และโรงงาน พอมีปัญหามากเข้าโรงงานก็ยุบศูนย์พวกนี้เหลือแต่ศูนย์รับซื้อที่โรงงานอย่างเดียว พวกชาวไร่พอเห็นเขามีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินก็หนีไปปลูกอ้อยกันหมด ตอนนี้ถึงจะมีปอเข้ามาบ้างก็เดินได้ไม่เต็มที่เพราะมีน้อยมาก”

“ส่วนเรื่องที่มีข่าวว่าแขกย้อมแมวเครื่องจักรเก่านั้นผมว่าก็มีส่วนนะ เพราะผมเห็นเครื่องมือเครื่องใช้พวกนี้เสียเร็วกว่าปกติ ซึ่งถ้าเป็นของใหม่จริงมันก็ไม่ควรจะเสียเร็วอย่างนั้น อีกอย่างหนึ่งสภาพมันก็ไม่เหมือนของใหม่ เห็นพรรคพวกเล่าว่าโรงงานของแขกที่อินเดียถูกไฟไหม้เขาก็เลยโละเครื่องมือพวกนี้มาเมืองไทย เท็จจริงอย่างไรผมไม่รู้นะ” แหล่งข่าวคนเดิมตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องย้อมแมว ในขณะเดียวกับที่เมื่อป้อนคำถามนี้กับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล ก็ได้รับการปฏิเสธกลับมาอย่างแข็งขัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับว่าฝ่ายบริหารโรงงานของฟินิคซฯ ทำได้สำเร็จบ้างก็คือเรื่องการลดต้นทุนการผลิตจากตอนเริ่มต้นตันละ 13,000 บาท เหลือเพียงประมาณ 7 พันบาทในปัจจุบัน

เพียงแต่ต้นทุนการผลิตที่ลดได้นั้นกลายเป็นผลผลิตที่ได้จากไม้ไผ่แทนที่จะเป็นปอ

“ตอนนี้ฝ่ายปกครองก็พยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ด้วยการห้ามไม้ไผ่ข้ามเขต เพราะพวกนี้เขาเล่นตัดกันไม่เลือก จนไม้ไผ่จะหมดอีสานอยู่แล้ว แล้วก็ไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกไม้ไผ่กันเลย อีกไม่เกินปี อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่ต้องใช้ไม้ไผ่สูญพันธุ์ แน่ถ้าเป็นอย่างนี้เราไม่สนับสนุนแน่ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเขาให้โรงงานนี้ตั้งขึ้นมาได้อย่างไร” ฝ่ายปกครองคนหนึ่งของขอนแก่นบอกกับ “ผู้จัดการ”

นี่คือจุดขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว และยังหาคนที่รับผิดชอบอะไรไม่ได้เพราะดูเหมือนฝ่ายจัดการที่นี่เขาไม่สนใจกับคำสั่งห้ามขนไม้ไผ่ข้ามเขตเอาเสียเลย

อย่างข่าวที่ออกมาทางสื่อมวลชนเมื่อ 13 ม.ค. ปีนี้ ที่พิทักษ์ ธนะมงคล ผู้จัดการฝ่ายวัตถุดิบของฟินิคซฯ ประกาศรับซื้อไม้ไผ่ตงจากปราจีนฯ จำนวนถึง 5 หมื่นตัน ตันละ 400 บาทโดยรับซื้อจนถึงเดือนเมษายน 29 นี้

ประกาศออกมาอย่างนี้ ถึงแม้จะมีทั้งท้องที่ ทางหลวง หรือกรมการขนส่งทางบกไปตั้งด่านตรวจค้นรถขนไม้ไผ่นับสิบนับร้อยคันก็ยังคงเดินหน้าไปขอนแก่นได้อย่างสบาย โดยเสียค่าภาษีผ่านทางคันละไม่กี่ร้อยบาท

ที่ทำได้อย่างนี้อาจจะเป็นเพราะผู้จัดการทั่วไปคนปัจจุบันของฟินิคซฯ ที่เอามาใช้เป็นยันต์กันผีนั้นคือ พล.ต. จรูญ ขาวเทียมสังข์ อดีตรองแม่ทัพภาค 2 ที่เคยคุมพื้นที่แถบนั้นจนปรุไปหมดกระมัง

และพฤติกรรมที่น่าเกลียดซึ่งบริษัทนี้จงใจจะตบตาเจ้าหนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีเจ้าหน้าที่แบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้ยกขบวนมาตรวจโรงงาน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องแจ้งอย่างเป็นทางการล่วงหน้ามาแล้ว ดังนั้นในวันที่ไปตรวจเจ้าหน้าที่จึงได้พบว่าโรงงานกำลังเดินเครื่องผลิตเยื่อกระดาษจากปออยู่อย่างเต็มที่

ในขณะที่วันอื่นๆ นั้นป้อนด้วยไม้ไผ่มาไม่รู้กี่หมื่นตันแล้ว!!

ส่อเจตนาให้เห็นว่า โรงงานกำลังพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงบางอย่าง!!

และข้อเท็จจริงอันนี้ก็เป็นเรื่องที่ปิดไม่ได้ เพราะแม้แต่ในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีก็ยังยอมรับว่าปัจจุบันโรงงานได้เปลี่ยนมาใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่แล้ว

นี่หมายความว่าอะไรกัน!!

โครงการระดับชาติที่ประกาศตัวเองให้คนทั้งโลกรู้ว่าเป็นโรงงานแห่งแรกที่ผลิตเยื่อกระดาษจากปอ เหนือสิ่งอื่นใด ทุกฝ่ายที่ผลักดันโครงการเห็นดีด้วย เพราะจะไปช่วยฟื้นฟูสถานภาพของชาวอีสานให้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยการปลูกปอและขายปอได้มากขึ้นในราคาที่มีการประเมิน

ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้จึงได้อนุมัติและหนุนช่วยกันมาตลอด

แต่พอมาเจอปัญหาที่เกิดจากความไร้เดียงสาของผู้บริหารงานเองแท้ๆ แทนที่จะดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุดที่ต้นตอของปัญหา

กลับโกหกคำโตกับคนทั้งชาติแถมยังอวดอ้างเอาเครดิตอีกว่ามีฝีมือล้นเหลือในการปรับปรุงเครื่องจักรให้เดินเครื่องได้หลายอย่าง

แถมกลับมาสร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดขึ้นในฐานะผู้สนับสนุนให้มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างโจ๋งครึ่ม และทำลายอุตสาหกรรมพื้นบ้านของคนอีกเป็นล้านๆ ที่อาศัยไม้ไผ่ยังชีพ

น่าเห็นใจแทนกลุ่มศรีนครที่โครงการผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่ของเขาเป็นหมัน แต่กลับมาลักไก่ได้กับคู่แข่งโนเนมของเขาเอง!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.