ในขณะเดียวกันที่สำนักงานใหญ่ ณ โรเชสเตอร์ โกดักกำลังเวียนหัวอย่างหนัก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวิถีทางแห่งธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จใดเป็นสูตร ตายตัว บางทีการที่บริษัทเติบโตเป็นปึกแผ่นแน่นหนาก็ไม่ใช่เครื่องประกันว่าบริษัทนั้นจะครองความเป็นหนึ่งในธุรกิจสายนั้นได้เสมอไป ตรงกันข้ามบางกรณีความใหญ่โต "ระดับยักษ์" อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพราะกว่าจะก้าวแต่ละก้าว "ฝีเท้ายักษ์" ที่ใหญ่โตย่อมก่อให้เกิดความอืดอาดล่าช้า ไม่คล่องตัวเหมือนบริษัทระดับเล็กลงไป...และกรณีของบริษัทโกดัก ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการถ่ายภาพก็เช่นกัน

1986 นับเป็นปีแห่งความสาหัสสากรรจ์ของบริษัทอีสต์แมนโกดัก (Eastman Kodak Co.) ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองโรเชสเตอร์ (Rochester) มลรัฐนิวยอร์ค เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ บริษัทประกาศว่าภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะต้องปลดคนงานออกประมาณ 12,900 คน คือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของคนงานทั้งหมดที่อยู่ในสังกัดของบริษัท ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของบริษัท นี่เป็นเครื่องแสดงอย่างชัดแจ้งว่าบริษัทกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เพียงไร นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจรายหนึ่งกล่าวว่า รายได้ของบริษัทโกดักลดลงอย่างรวดเร็ว...ดูเหมือนว่ายักษ์ใหญ่ตนนี้กำลังเจ็บหนักเสียแล้ว

เมื่อประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา คือปีที่แล้ว ยักษ์เหลืองผู้ยิ่งยงตนนี้ได้มีการจัดรูปองค์กรใหม่ โดยแบ่งแผนกถ่ายภาพ (photographic division) ออกเป็น 17 หน่วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและแก้ไขความอืดอาดงุ่มง่ามในด้านการบริหารลูกค้าซึ่งมีผลทำให้รายได้ของบริษัทคงที่มาเป็นเวลาห้าปีแล้ว

แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น มิฉะนั้นโกดักคงไม่ต้องปลดคนงานออกในปีนี้ โดยที่รู้อยู่เต็มอกว่า จะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทซึ่งมีอาการเซื้องซึมมานานให้ถึงกับทรุดหนักลงไปอีก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทปลดคนงานออก เมื่อปี 1983 โกดักก็ปลดพนักงานออกมาแล้วเป็นจำนวนถึง 11,000 คน

"เราไม่อยากทำอย่างนี้เลยเป็นความสัตย์จริง แต่ก็สุดวิสัยเพราะภาวะการแข่งขันทางการตลาดมันบีบบังคับ" โคลบี้ เอช. ชัลเลอร์ (Coldy H. Chandler) พนักงานระดับบริหารของบริษัทกล่าวด้วยท่าทางซีเรียส

สภาพความเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้โกดักมีอาการราวกับลากขาอันใหญ่โตเทอะทะไปอย่างช้าๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่คู่แข่งวิ่งนำหน้าไปห่างไกลแทบไม่เห็นฝุ่นโดยเฉพาะธุรกิจทางด้านกล้องถ่ายรูปแบบเบ็ดเสร็จ (instant photography) ซึ่งถ่ายปุ๊บรูปออกมาปั๊บ (ลักษณะเดียวกับกล้องโพลาลอยด์) กล้อง 35 ม.ม. และเครื่องเล่นวิดีโอซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นธุรกิจหลักของโกดัก

ในที่สุด โกดักก็เริ่มตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 8 เดือนก่อน โดยตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม พร้อมกับส่งสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด สินค้าดังกล่าวนี้ผลิตในญี่ปุ่น เช่นการพิมพ์ระบบอิเล็คโทรนิคส์ (electronic publish system) และระบบไมโครฟิล์มอัตโนมัติ (automated microfilm-imaging system)

ในปลายปี 1984 โกดักเป็นผู้บุกเบิกตลาดกล้องถ่างวิดีโอขนาด 8 ม.ม. โดยใช้สินค้าผลิตในญี่ปุ่น และในปีนี้ โกดักก็บุกตลาดสหรัฐด้วยกล้องถ่ายรูป 35 ม.ม. แต่ถึงแม้ว่าจะส่งสินค้าตัวใหม่ๆ เข้าตลาด รายได้ของบริษัทก็ไม่กระเตื้องขึ้น เนื่องจากสินค้าโกดักเหล่านั้นสู้สินค้าของบริษัทอื่นๆ ไม่ได้

บริษัทโซนี่ ส่งกล้องถ่ายวิดีโอขนาด 8 ม.ม.เข้าแย่งตลาดกล้องถ่ายวิดีโอของโกดักและปัจจุบันโซนี่ก็ขายได้กีกว่า หรือแม้แต่กล้องถ่ายรูประบบ 35 ม.ม. ญี่ปุ่นก็ครองตลาดมาก่อนเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้สินค้าหลักของโกดักบางชนิด เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ และกราฟฟิคอาร์ต ก็ยังถูกคู่แข่งต่างประเทศแย่งลูกค้าไปได้โดยการขายในราคาที่ถูกกว่า

ดังนั้นทางเดียวที่โกดักจะทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การใช้นโยบายประหยัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจต่างพากันคาดหมายว่า โกดักจะต้องปลดคนงานส่วนที่เกินความจำเป็นออกไป ในขณะเดียวกันก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการตัดงบประมาณ 5% ในทันที นักบริหารระดับสูงของบริษัทจำนวน 130 คน จะต้องชวดเงินค่าตอบแทนพิเศษในปีนี้ แต่ระดับลูกจ้างทั่วไปจะได้รับตามปกติ

การพยายามตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ จะช่วยให้โกดัก มีขนาดกระทัดรัดขึ้น ไม่อุ้ยอ้ายเป็นยักษ์อ้วนเหมือนเดิมเพื่อให้ขยับแข้งขาได้แข็งขัน และเคลื่อนไหวได้เร็วกว่าเดิม...แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่ามันเป็นการแก้ไขที่สายเกินการณ์หรือเปล่า?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.