จากบางปะอินถึงนิวสปรินซ์: เส้นทางสายนี้มีแต่ความเจ็บปวด


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

มีคำกล่าวว่าคนที่เป็นนักอุตสาหกรรมนั้นก็เปรียบเหมือนกับการ “อุตสาหกรรม” มาใส่ตัวนั่นเอง ดู ๆ แล้วก็น่าจะเป็นความจริงอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะสำหรับเมืองไทย

และยิ่งน่าจะใกล้เคียงความจริงเอามากๆ เมื่อมามองดูเฉพาะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในบ้านเรา

เพราะล้วนแล้วแต่เป็นแผลร้ายในหัวใจใครๆ มามากมายเสียเหลือเกิน

ตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ คิดตั้งโรงงานกระดาษรวมทั้งทำเยื่อกระดาษเองด้วย ก็อยู่ในช่วงทอปบู๊ทครองเมืองนั่นแหละ

โรงงานนี้อยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นกระทรวงก็เลยไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสเข้ามาศึกษาดูว่าจะเอาอะไรมาทำเยื่อกระดาษดี

ดูไปดูมา เห็นไผ่เยอะแยะไปหมด แต่มาคิดดูหากปลูกป่าไผ่ขึ้นมาเพื่อป้อนโรงงาน คงหนีปัญหาถูกลักลอบตัดไม่ได้ เผลอๆ จะเจ๊งเอาซะก่อน

ก็ไปดูสนทางภาคเหนือ สมัยนั้นการขนส่งก็ยังสาหัสสากรรจ์อยู่ ก็ไม่เอา

ฝรั่งฉลาดมาก เห็นฟางข้าวเหลือทิ้งเยอะแยะ ก็เลยสรุปทันทีว่าทำเยื่อกระดาษจากฟางข้าวดีกว่าเวฟที่สุด

ก็ตกลงมาตั้งโรงงานทำเยื่อและกระดาษที่บางปะอินเสียเลย เพราะอยู่ในท่ามกลางนาข้าววัตถุดิบมีอยู่รอบตัวเหมาะสมร้อยเปอร์เซ็นต์ พอตั้งโรงงานเสร็จ เปิดผลิตได้ 6 เดือน ต้องปิดแผนกเยื่อ

เหตุผลเพราะไม่มีฟางข้าวมาทำเยื่อ...คุณเชื่อไหม

มันเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขาที่ฝรั่งไม่มีทางรู้ เพราะคันนาบ้านเรานั้นมันไม่กว้างพอให้รถขนฟางวิ่งได้ ที่สำคัญตอนนั้น เราไม่มีเบลลิ่งสเตชั่นเลย คือเครื่องอัดฟางข้าวให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมลูกบาศก์

กว่าจะขนฟางได้สักตันหนึ่ง นี่ต้องใช้แรงงานไม่รู้เท่าไร ใช้รถสิบล้อสัก 2 คันยังไม่รู้หมดหรือเปล่า ยิ่งเป็นเมื่อ 30 ปีก่อนด้วย

เรื่องง่ายกลับเป็นเรื่องยาก...โรงงานบางปะอินก็ตายไปครึ่ง ต้องอิมพอร์ตเยื่อเข้ามาทำกระดาษตั้งแต่นั้นมา

คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในสมัยนั้นตอนนี้ก็ล้วนปลดเกษียณกันไปคนละ 5 ปี 10 ปีหมดแล้ว ลองไปถามไถ่ดูท่านเหล่านั้นก็คงจะหัวเราะไม่ออก

ถัดมาก็เรื่องสยามคราฟท์ ผู้สร้างตำนานการผ่าตัดกิจการอันลือชื่อให้กับอมเรศ ศิลาอ่อนและคณะ ที่เข้ามาอุ้มไว้ในฐานะของเครือซิเมนต์ไทยนั่นเอง

แต่เบื้องหลังสยามคราฟท์ที่ไม่เคยได้ยินใครที่ไหนเล่าให้ฟังก็คือการหลอกต้มกลางเมืองของสยามคราฟท์ในยุคแรก

ที่แม้แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เองก็ยังถูกหลอก

ก่อนที่ทรัพย์สินฯ จะเข้าถือหุ้นในสยามคราฟท์จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น สยามคราฟท์ต้องการเงิน 160 ล้านบาท ก็เอาโครงการนี้มาให้บรรษัทพิจารณา

สมัยนั้นการพิจารณาที่บรรษัทต้องผ่านการวิเคราะห์ 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านวิศวกรรม ด้านการตลาด และด้านการเงิน และต้องผ่านทั้ง 3 ด้านถึงจะโอเค ถ้าอันใดอันหนึ่งไม่ผ่านก็จบกัน

เมื่อโปรเจ็กต์นี้ผ่านมือผู้วิเคราะห์โครงการด้านตลาดและการเงินก็ผ่านไปอย่างเรียบร้อย แต่เมื่อผ่านไปถึงด้านวิศวกรรม ผู้วิเคราะห์บอกให้ผ่านไม่ได้

เพราะในแง่เทคนิคนั้น สยามคราฟท์ต้องการทำกระดาษเหนียวต้องใช้เยื่อใยยาว แต่เขาเอาชานอ้อยมาทำ ซึ่งเป็นเยื่อใยสั้น มันทำไม่ได้ ถ้าทำได้จะต้องอิมพอร์ตเยื่อใยยาวเข้ามาผสม ราคาก็ต้องสูงขึ้น ผู้วิเคราะห์แทงลงไปว่า “UNTECHNICALLY SOUND” แถมทำเป็นรีพอร์ตเรียบร้อยโครงการนี้ก็เลยถูก “KILL” ไม่ผ่านบรรษัท

และคนที่รีเจ็กต์โครงการนี้ก็คือคนที่ชื่อ สำเร็จ บุนนาค นั่นเอง

พอดีในช่วงนั้น ทรัพย์สินฯ เข้าไปร่วมทุนด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บรรษัท หลังจากนั้นไม่นานสยามคราฟท์ก็ล้ม

และด้วยเหตุที่ปูนซิเมนต์ไทยหลวมตัวถือหุ้นอยู่ด้วย 10% ในฐานะที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อกระดาษคราฟท์จากสยามคราฟท์อยู่ด้วย ก็เลยต้องตกกระไดพลอยโจนไปด้วย ปลุกปล้ำอยู่ร่วม 10 ปี จนเดี๋ยวนี้สยามคราฟท์ก็ดีวันดีคืนขึ้นมาแล้ว

อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ปูนซิเมนต์ไทยไปตามระเบียบ

ในช่วงไล่ๆ กับสยามคราฟท์นี่แหละที่สำเร็จ บุนนาค เข็นโครงการยูไนเต็ด พัลพ์ แอนด์เพเพอร์ ออกมาวิ่งหาแหล่งเงินทุนเพื่อทำโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากปอเป็นแห่งแรก

หลังจากที่ใช้เวลาค้นคว้าด้วยตัวเองในฐานะที่เป็นวิศวกรอาชีพอยู่แล้วกว่า 6 ปี

ด้วยความไม่จัดเจนในแวดวงธุรกิจ โครงการนี้ก็หลุดมาอยู่ในมือของสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล โปรโมเตอร์ที่ไม่มีใครรู้จักและชื่อของสำเร็จ บุนนาค ก็หลุดหายไปจากวงโคจร

สมศักดิ์ฉลาดพอที่จะไม่ลอกโปรเจ็กต์เก่ามาทั้งดุ้น ดังนั้นจุดที่ตั้งโรงงานเดิมที่ยูไนเต็ดซื้อที่ไว้ที่สระบุรีก็เลยกลายเป็นที่ขอนแก่น พร้อมทั้งหันไปดึงผู้ใหญ่หลายๆ ระดับมาเล่นด้วย จนกลายเป็นโครงการแห่งชาติไป

แต่เมื่อสร้างโครงการนี้สำเร็จและเริ่มทำการผลิต สมศักดิ์ก็กลายเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาไปเสียแล้ว เมื่อสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ผู้ที่เขาดึงเข้ามาเป็นประธานกรรมการตลอดกาลของฟินิคซฯ มากระซิบกับเขาว่าขอให้เขาสละตำแหน่งกรรมการเสีย

ส่วนจะด้วยเหตุผลใดนั้นไม่แจ้งชัด

สมศักดิ์ตอนนั้นก็คงรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยตัวเอง และตัวเองก็มีเครดิตดีอยู่แล้วในสายตาของคนภายนอก ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งและมองหาสิ่งใหม่ ๆ ทำอยู่เสมอ

เขาก็เดินออกมาจากฟินิคซฯ ด้วยดี แม้ว่าจะมีคนเข้าใจอีกเป็นอันมากว่าเขายังอยู่กับฟินิคซฯ ก็ตาม

แล้วจู่ ๆ ก็มีข่าวว่าเขามาทำโครงการบางกอกนิวสปรินซ์ คอมเพล็กซ์ เพื่อผลิตเยื่อกระดาษและทำกระดาษหนังสือพิมพ์ ขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง

หลายคนมองว่าเขากำลังสร้างนิวปรินซ์ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของฟินิคซฯ

แต่เขายืนยันว่า เป็นเพราะเขาหมดภาระจากการเป็นโปรโมเตอร์ให้กับฟินิคซฯ แล้ว และโครงการใหม่นี้ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งอะไรกับฟินิคซฯ เพราะเป็นตลาดคนละตลาดกัน

ซึ่งเขาในฐานะโปรโมเตอร์ก็อยากจะสร้างขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง เพราะเห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างมหาศาลเช่นกัน

แล้วโครงการ 3.5 พันล้านก็เริ่มขึ้นเมื่อปี 2524

แล้วสมศักดิ์ก็ออกหาผู้ร่วมทุนและทำการล็อบบี้ใครต่อใคร เหมือนกับที่เขาทำกับโครงการฟินิคซ์ฯ โดยอาศัยเส้นสายที่เขามีอยู่สมัยเริ่มทำโครงการฟินิคซฯ ใหม่ๆ

แต่คราวนี้มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว เพราะขณะที่นิวปรินซ์กำลังเริ่มนั้น ฟินิคซ์ฯ ก็ฟุบไปเสียก่อน กลุ่มธนาคารไทยเองก็เริ่มมองสมศักดิ์ด้วยสายตาที่ไม่ค่อยเชื่อถือมากขึ้น (อาจมีบางคนมองอย่างไม่เชื่อถือมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ได้)

เริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ร่วมดำเนินงานซึ่งก็มีบริษัทวิสโคส คอนซัลติ้ง ร่วมด้วย อันเป็นผู้ถือหุ้นและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคกระดาษของฟินิคซฯ แค่นี้แบงก์ก็เริ่มไม่ไว้ใจแล้ว

ต่อมาก็เรื่องของวัตถุดิบซึ่งจะต้องใช้ไม้สนจากป่าสัมปทาน ซึ่งงานป่าไม้เป็นงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับอิทธิพลท้องถิ่นและประสบการณ์สูงมาก รวมทั้งยังมีต้นทุนแอบแฝงอีกมากด้วย ซึ่งท้าทายต่อฝีมือทีมบริหารของนิวปรินซ์มากทีเดียว

รวมถึงเรื่องตลาดซึ่งผู้ซื้ออยู่ในประเทศทั้งหมด ซึ่งก็ยังไม่มีความมั่นใจในผลผลิตที่นิวสปรินซ์ทำได้ว่าจะสู้ของเมืองนอกได้ และในราคาที่เท่ากันหรือต่ำกว่าได้

ซึ่งตราบใดที่ยังดึงกลุ่มผู้ใช้มาเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ โครงการนี้ก็ดูจะเกิดได้ยากเต็มที

ในที่สุดก็ล้มพับไปจริงๆ

“ต่อไปนี้คงไม่มีใครกล้าเล่นกับโครงการเยื่อกระดาษอีกแล้วละ จนกว่าฟินิคซฯ จะ SETTLE ได้เมื่อไรนั่นแหละ ค่อยมาพูดกัน” คนที่คลุกคลีกับเยื่อกระดาษมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยรำพึงกับ “ผู้จัดการ”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.