ฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ ตำนานนกอุบาทว์ ที่ให้แต่เคราะห์กรรมผู้ลงทุน และซ้ำเติมโชคชะตาชีวิตของคนไทยที่เสียค่าโง่อินเดีย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการผลิตเยื่อกระดาษจากปอ ของบริษัทฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กำลังมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว และกำลังจะได้พบจุดจบหรือไม่ก็ทางออกในเร็ววันนี้ นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดกรณีหนึ่งสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ในเมืองไทยที่พูดได้เต็มปากว่า “ล้มเหลว” และ “ผิดพลาด” มาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ลงทุน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายธนาคารเจ้าหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จนกระทั่งในที่สุด โครงการนี้จึงกลายเป็น “อนุสรณ์แห่งความล้มเหลว” เป็น “หนามยอก” และ “แผลลึก” ที่อยู่ในใจของหลายๆ ฝ่ายอย่างยากที่จะลืมเลือนได้ และแน่นอนที่สุดก็คือประชาชนคนไทยเต็มขั้นนั้นถูกหลอกอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยมีแขกเป็นผีที่มาหลอก ส่วนบีโอไอและผู้ที่เคยมีอำนาจในรัฐบาล เป็นคนส่งเสียงเห่าหอนนำทางตามมา

ในตำนานอียิปต์โบราณนั้น “PHOENIX” เป็นชื่อของนกมหัศจรรย์ที่เกี่ยวข้องกับการบวงสรวงพระอาทิตย์มีรูปร่างใหญ่พอๆ กับอินทรี มีขนสีทองและสีเลือดหมู และว่ากันว่ามีเสียงร้องที่เพราะพริ้งเอามากๆ และมีอายุยืนกว่า 500 ปี ตามตำนานกล่าวว่าฟินิกซ์เผาตัวเองสังเวยที่วิหารเฮลิโอโพลิสและบังเกิดเป็นพินิกซ์ตัวเล็กบินมาจากกองเพลิง ด้วยเหตุนี้ “ฟินิกซ์” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และการบวงสรวงพระอาทิตย์ จึงมักมีการเอาไปใช้เป็นสัญลักษณ์ความยืนยง มั่นคง และไม่ตาย

และนี่คือเหตุผลที่ผู้โปรโมตโครงการผลิตเยื่อกระดาษจากปอตั้งใจเอาชื่อ “ฟินิกซ์” มาใช้ เพื่อเอาเคล็ดว่าโครงการนี้จะเติบโตจนมั่นคง ยิ่งยง และไม่ตายตลอดไป

แต่ถ้าหากโปรโมเตอร์โครงการนี้ได้รู้ว่า ในศาสนาอิสลามนั้นฟินิกซ์เป็นนกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา แต่เป็นนกที่นำเชื้อโรคร้ายและการทำลายล้าง เขาจึงเชื่อว่ามันเป็น “นกแห่งความตาย” เช่นเดียวกับที่ชาวจีนเชื่อกันว่านกฟินิกซ์เป็นตัวบอกลางร้ายหากไปปรากฏอยู่ที่ใดแล้วละก้อ เชื่อเหลือเกินว่าโปรโมเตอร์โครงการนี้ก็จะไม่เอาชื่อนี้มาใช้เป็นแน่

เพราะเดี๋ยวนี้ ฟินิกซ์ในเมืองไทยกำลังจะกลายเป็นนกในตำนานอิสลามและของคนจีนไปเสียแล้ว

3 ส. ผู้สร้างตำนานฟินิคซฯ

สำเร็จ บุนนาค

สมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

ทั้ง 3 คนนี้คือผู้ที่สร้างและสานต่อเจตนารมณ์ในการสร้างโรงงานเยื่อกระดาษจากปอเป็นแห่งแรกในไทย แม้ว่าในภายหลังมันจะเพี้ยนไปอย่างไรก็ตาม

ปีนี้สำเร็จ บุนนาค อายุ 63 ปีแล้ว ใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่กับงานค้นคว้าที่เขาชื่นชอบและการเล่นกอล์ฟ

เขาเป็นวิศวกรเครื่องกล จบจากจุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2489 รุ่นเดียวกับ เกษม จาติกวณิช และ ดร.รชฎ กาญจณวณิชย์ เพียงแต่เกษมเรียนไฟฟ้า และ ดร.รชฎเรียนโยธา

ทำงานที่โรงงานยาสูบอยู่ 4 ปี หลังเรียนจบ แล้วย้ายตัวเองไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อหวังขอทุนรัฐบาลไปเรียนต่อเมืองนอก

เขาได้ทุนบริติช เคานซิลไปเรียนโทด้านอุตสาหกรรมอยู่ที่อังกฤษ 2 ปีครึ่ง

พอเรียนจบกลับมา ก็คุมโรงงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจในเครือกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นแม่โขง โรงทอกระสอบ โรงกระดาษ หรือโรงแอลกอฮอล์

เขาเริ่มสนใจเรื่องเยื่อกระดาษในช่วงนั้น เพราะได้รับมอบหมายให้ศึกษาการทำเยื่อกระดาษจากพืชอื่นที่ไม่ใช่ไม้ไผ่หรือสน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ปลูกเยอะและเวลาดูแลนานเกินไป

แน่นอนตอนนั้นยังไม่มีโรงงานเยื่อกระดาษแม้แต่โรงเดียวในเมืองไทยจะมีทดลองทำที่บางปะอินบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เขาได้รู้จักกับ ที พี ยิง รองประธานไต้หวันพัลพ์แอนด์เพเพอร์ (ทีพีพีซี) ซึ่งเคยเป็นเพื่อนเรียนวิศวะที่อังกฤษมาด้วยกันในคราวไปดูงานด้านเยื่อกระดาษที่ไต้หวันเมื่อปี 2511

ขณะนั้นไต้หวันได้ชื่อว่ากำลังพัฒนาเรื่องเยื่อกระดาษเป็นอย่างมาก

ที พี ยิงให้ความคิดเขาว่า เขาสนใจปอที่จะเอามาทำเยื่อกระดาษ แต่ที่ไต้หวันไม่มี สำเร็จจึงส่งปอไปทดลองที่ไต้หวันจำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มทดลองที่โรงงานบางประอิน

ในช่วงที่เขาทดลองใช้ปอเยื่อกระดาษนี้สำเร็จได้ย้ายมาทำหน้าที่เป็นโปรเจกต์เอ็นจีเนียร์ให้กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว

แต่ด้วยความตั้งใจจริง เขาจึงหวนกลับไปขอยืมสถานที่โรงงานบางปะอิน พร้อมทั้งลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตให้บางส่วนเพื่อจะได้ทำการทดลองในการผลิตเยื่อกระดาษจากปอดู

ตอนนั้นเขาได้ผู้เชี่ยวชาญจากยูนิโดมาช่วยด้วยคือ ดร. เชียน ชู

มีคนคิดจะทำเยื่อกระดาษจากปออยู่เหมือนกัน แต่เขาคิดเอาเฉพาะเส้นใยปออย่างเดียว ต้นทุนมันก็สูงมาก ผมจึงคิดเอาต้นปอทั้งต้นมาทำ เพราะชาวไร่เองตอนนั้นก็ใช้แค่เปลือกปอเท่านั้น ซึ่งถ้าเราใช้ทั้งต้นได้ก็จะดีมาก” สำเร็จเล่าความหลังให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

แล้วเขาก็ทำสำเร็จสมชื่อ ผลการทดลองทั้งที่ไต้หวันและเมืองไทยตรงกันว่าทำได้

เขาก็ตั้งบริษัทยูไนเต็ด พัลพ์ แอนด์เพเพอร์ขึ้นมาทันที ในปี 2514 เริ่มด้วยทุน 60 ล้านบาทชำระเต็ม

และด้วยความที่เขาอยู่บรรษัทและเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ด้วย เขามีความจำเป็นจะต้องขอกู้เงินบรรษัท 15 ล้านเหรียญ เพราะรู้ว่าที่นี่ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่อื่น

ดังนั้นสำเร็จ บุนนาค ก็ตัดสินใจลาออกจากบรรษัทในปีนั้นเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเองในฐานะผู้จัดการโครงการของบริษัทยูไนเต็ดพัลพ์แอนด์เพเพอร์

และแน่นอนเขาไม่ลืมที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล ด้วยโครงการขนาด 30 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งก็ได้รับบัตรส่งเสริมมาในเดือน ธ.ค. 2513 แล้วเช่นกัน

สำเร็จวางแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนอย่างรอบคอบ เขาตระเวนไปคุยกับพวกพ่อค้ากระดาษ ซึ่งทุกคนก็สนใจ นอกจากนี้เขาชักชวนโรงงานผลิตเครื่องจักรสำหรับทำเยื่อกระดาษให้หันมาสนใจกับการผลิตเครื่องจักรที่ใช้สำหรับทำเยื่อกระดาษจากปอโดยเฉพาะด้วย

โครงการขนาด 30 ล้านเหรียญ (ประมาณ 600 ล้านบาทขณะนั้น) ไม่ใช่โครงการเล็กๆ ปัญหาใหญ่คือการจัดหาเงินทุน เพราะลำพังตัวคนเดียว ถึงแม้สำเร็จจะมาจากตระกูลขุนนางเก่าแต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวยล้นเหลืออะไร?

ในโครงการของยูไนเต็ดฯ นั้นวางไว้ว่า ทุนทั้งหมดจะมาจาก

1. ทุนเรือนหุ้น 3 ล้านเหรียญ

2. ขายหุ้นกับประชาชนทั่วไป 7 ล้านเหรียญ

3. ซัปพลายเออร์เครดิต 15 ล้านเหรียญ

4. เงินทุนหมุนเวียนโดยกู้จากแบงก์ 5 ล้านเหรียญ

เงินก้อนแรกนั้นไม่มีปัญหาเพราะสำเร็จรวบรวมพรรคพวกทั้งในและนอกประเทศมาชำระเต็มได้หมดและใช้เป็นทุนดำเนินการเบื้องต้นไปแล้วรวมถึงการซื้อที่ทำโรงงานที่สระบุรีด้วย

เงินส่วนที่ 3 นั้นเขาก็ได้จากโรงงานเยื่อกระดาษในเยอรมนีคืออีเซก้าซึ่งเทียวไล้เทียวขื่ออยู่นานจนทางนั้นมั่นใจว่าโครงการนี้ไปได้แน่ ก็ยอมลงทุนด้วยหมดทั้ง 15 ล้านเหรียญเพียงแต่ต้องหาแบงก์การันตีให้ได้

ก็ได้แบงก์กรุงเทพนี่เองเป็นคนการันตีให้

ส่วนเงินทุนหมุนเวียนนั้นแบงก์ก็บอกจะให้กู้ได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องหา 7 ล้านเหรียญที่ขายหุ้นภายนอกให้ได้ก่อนเพราะแบงก์จะได้อุ่นใจไว้ชั้นหนึ่ง

สำเร็จทำไม่สำเร็จตรงนี้

เขาหาเงินที่จะมาลงหุ้นอีก 7 ล้านเหรียญไม่ได้ทั้งๆ ที่มั่นใจว่าไม่มีปัญหา

“ก็พวกโรงงานกระดาษทั้งหลายนี่แหละ เขาเคยบอกจะซื้อพอเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ผัดผ่อนไปเรื่อย จาก 7 ล้านผมหาได้แค่ 2 ล้านเท่านั้น โครงการมันก็เลยlateมาอีก 3 ปี ถึงปี 2517 ในขณะที่ผมกำลังขายไม่ได้ คุณสมศักดิ์ กับ มร.ดาม็อตต้าก็เข้ามาหาผม เขาก็รู้อย่างที่คุณรู้นี่แหละ เขาก็บอกว่าเขารับผิดชอบเองส่วนที่เหลือ ปี 18 ทั้งปีก็ยังทำไม่ได้จนถึงกลางปี 19 แล้วก็ยังหาไม่ได้ ผมก็บอกว่าช้าเกินไปแล้ว”

สมศักดิ์ก็เลยขอเอาฟิสซิบิลิตี้สตัดดี้ของโครงการนี้ไปหาผู้ร่วมทุนต่อ แล้วเขาก็ไปทำสำเร็จโดยที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาทหนึ่งในการจ่ายค่าสิทธิ์หรือผลประโยชน์ให้กับสำเร็จ บุนนาค

นี่คือมูลเหตุที่สมศักดิ์กับพวกตั้งชื่อบริษัทใหม่ของเขาว่า “ฟินิคซฯ พัลพ์แอนด์ เพเพอร์” เพราะโครงการนี้เคยล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่งและเกิดใหม่ได้เพราะพวกเขานั่นเอง!

แต่สำหรับลูกผู้ชายที่ชื่อสำเร็จ บุนนาค ที่ไม่ใช่นักธุรกิจโดยอาชีพนั้นเขาบอกว่า

“ผมหมดตัวเลยครับ ผมเสียใจมาก ทรัพย์สินส่วนตัวผมมีเท่าไร ผมลงจนหมด เพราะผมหวังกับโครงการนี้ไว้มาก”

แต่มีความจริงเบื้องหลังเรื่องนี้อย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงที่สมศักดิ์ช่วยวิ่งหาทุนให้สำเร็จในครั้งแรกนั้น ฝ่ายสมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตไปที่เงินทุนจำนวน 3 ล้านเหรียญที่ลงไปแล้วว่ามากเกินไปอยากให้ฝ่ายสำเร็จตัดทอนลงบ้าง ซึ่งถ้าไม่ตัดลงเงินทุนในโครงการนี้ก็จะเป็นส่วนที่เป็นหุ้นของกลุ่มสำเร็จสูงมาก

แต่สำเร็จก็ยืนยันว่าตัดไม่ได้เพราะทุกบาททุกสตางค์ใช้ไปจริงๆ “ผมมีตัวเลขยืนยันได้หมด” แต่สมศักดิ์บอก “เขามีค่าใช้จ่ายก่อนการลงทุนส่วนหนึ่งที่ชี้แจงไม่ได้ ซึ่งทำให้สถาบันการเงินเขาไม่สามารถให้กู้ได้”

ผลก็คือโครงการยูไนเต็ดฯ พับแล้วเกิดเป็นฟินิคซฯ ขึ้นมา

หลังจากนั้นสำเร็จก็หันมาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาจนเกษียณโดยไม่หันไปมองโครงการเยื่อกระดาษอีกเลย

ส่วนสมศักดิ์ พิทักษ์มงคลกุล นั้นไม่มีใครรู้จักเขาก่อนหน้าปี 2522

แต่หลังจากนั้นมา เขาดังเป็นพลุในฐานะของโปรโมเตอร์ โครงการระดับพันล้านที่ปลุกปั้นจนเป็นจริง

เขาเกิดปี 2488 ปีนี้จึงเพิ่ง 41 ยังเพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานเท่านั้นเองสำหรับความเชื่อตะวันตก

สมศักดิ์เป็นลูกคนจีนที่เกิดในกรุงเทพฯ นี่เอง

การศึกษาสูงสุด เขาเรียนจบบัญชีจากวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ เท่านั้น

แต่โชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานกับฝรั่งมาตลอด

เริ่มงานแรกเมื่ออายุ 21 โดยเข้าเป็นเสมียนทำบัญชีให้กับบริษัทพัฒนาแหล่งแร่เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฝรั่งที่เข้ามาทำเหมืองแร่แมงกานีส ฟลูออไรด์

ทำอยู่ 6 ปี จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้าทีมในการเข้าไปสำรวจแหล่งแร่ต่างๆ

ต่อมาบริษัทพัฒนาแหล่งแร่เอเซียก็ดึงบริษัทการเงินเข้ามาหากินในเมืองไทยอีกสายหนึ่งด้วย เพราะตอนนั้น พ.ร.บ. เงินทุนยังไม่มี โดยเป็นตัวแทนของบริษัทโอเวอร์ซี อินเวสเตอร์ อินคอร์เปอเรชั่น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สมศักดิ์ก็ถูกดึงตัวมาเป็นผู้ประสานงานในประเทศให้กับบริษัทการเงินแห่งนี้ด้วย

โอเวอร์ซีฯ เป็นสถาบันการเงินที่ให้กู้กับกิจการสำคัญหลายแห่งในประเทศ เช่น ปุ๋ยเคมีที่มีจอมพลถนอมเป็นประธานกรรมการในขณะนั้น (ล้มไปแล้ว) โรงงานน้ำตาลในเครือของแบงก์เอเซียทรัสต์ก็เคยเป็นลูกหนี้ รวมทั้งพวกที่ทำบ้านจัดสรรอย่างหมู่บ้านทวีมิตร ฯลฯ

ช่วงนั้นสมศักดิ์จึงมีโอกาสหาประสบการณ์มากทั้งในวงการธุรกิจขนาดใหญ่และระหว่างประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของมือปืนอาชีพ จนเจ้านายพอใจส่งไปดูงานและฝึกงานเพิ่มเติมที่สำนักงานสาขาในกรุงลอนดอนปี 2515-2516 คือช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศและได้มีโอกาสตระเวนดูตลาดเงินตลาดคอมมอดิตี้ส์ทั้งในอังกฤษ อเมริกา และแคนาดา

พอกลับมาเมืองไทยสมศักดิ์ก็เลยเสนอบอสให้ตั้งบริษัทเงินทุนขึ้นมาในเมืองไทยเสียเลย เพราะช่วงนั้นกำลังเฟื่องทีเดียว การพิจารณาสินเชื่อต่างๆ จะได้เร็วขึ้นไม่ต้องผ่านไปถึงต่างประเทศยังไม่ทันที่การตั้งบริษัทเงินทุนจะเป็นผล ก็พอดีมีโครงการของยูไนเต็ดพัลพ์แอนด์เพเพอร์ผ่านมือเข้ามาเป็นลูกหนี้ของโอเวอร์ซีฯ เพื่อให้ช่วยดูว่าจะหาเงินกู้ต่างประเทศได้อย่างไรเพื่อมารันโครงการนี้ให้สำเร็จ

หลังจากศึกษาโครงการนี้แล้วสมศักดิ์ ก็เกิดความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าโครงการนี้จะต้องประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่แน่นอน

ซึ่งสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศก็ส่งตัวแทนมาศึกษาเรื่องนี้ ทุกจุดไม่มีปัญหายกเว้นแต่เรื่องเงินทุนที่ใช้ไปก่อนการลงทุนจำนวน60 ล้านบาทเท่านั้นที่เขาอ้างว่าเมื่อชี้แจงไม่ได้ก็ไม่สามารถให้กู้ได้

สมศักดิ์คืนโปรเจกต์กลับไปไม่นาน กลุ่มสำเร็จ บุนนาค ก็หมดสายป่าน สมศักดิ์ก็กลับไปขอมาทำอีกครั้งหนึ่ง

สมศักดิ์บอกว่าเป็นเพราะทุกฝ่ายเห็นด้วยกับโครงการนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ติดเรื่องเงิน 60 ล้านบาทเท่านั้นเอง พอสมศักดิ์ยื่นขอส่งเสริมเข้าไปใหม่ บีโอไอก็อนุมัติทันที (ก่อนหน้านั้นได้ถอนบัตรส่งเสริมของบริษัทยูไนเต็ดฯ ไปแล้ว)

คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของสมศักดิ์ที่จะต้องตั้งบริษัทและดึงใครต่อใครเข้ามาร่วมโครงการนี้ไปได้ อาศัยว่าเขามีความสัมพันธ์กับต่างประเทศอยู่แล้ว

ผู้ก่อการในตอนเริ่มแรกของเขาจึงมี ดร.ดาม็อตต้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการโอเวอร์ซีฯ และน้องชายของดาม็อตต้าร่วมอยู่ด้วย

และอีกคนหนึ่งที่กลายเป็นตัวจักรสำคัญก็คือ มร.เดวิดสัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงินจากบริษัทอีโอดีซีที่สำนักงานใหญ่ในลอนดอนส่งมาศึกษาโครงการนั่นเอง

ปัจจุบัน มร.เดวิดสัน (อายุ 51 ปี) เป็นกรรมการผู้จัดการของฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์

เดวิดสันมีบทบาทสำคัญในการดึงผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศเข้ามาโดยเฉพาะกลุ่มอีโอดีซี (เอเชีย) ที่ถือหุ้นอยู่ในปัจจุบันประมาณ 25% ก็เป็นบริษัทที่เดวิดสันเป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นสาขาของอีโอดีซีที่เป็นบริษัทแม่

รวมถึงบริษัทวิสโคส คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ถึง 12.4% ซึ่งเป็นคนที่รับผิดชอบด้านเทคนิคการผลิตและที่ปรึกษาด้านนี้ไปในตัวในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเยื่อกระดาษที่มีชื่อเสียงมาก่อนของออสเตรีย

ส่วนบัลลาเปอร์ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมทาร์ปาร์อันเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดียนั้น ก็เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ยังเป็นโครงการยูไนเต็ดฯ ซึ่งสมศักดิ์ดึงเข้ามาเพราะเห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระดาษและเยื่อกระดาษรายหนึ่งของโลก

“อินเดียนี่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งเขาเป็นชาติที่ยากจน ดังนั้นเขาจึงพยายามใช้ทุกอย่างมาทำเป็นเยื่อกระดาษให้ได้เทคโนโลยีด้านนี้จึงไปไกลกว่าที่อื่น แม้แต่เศษผ้าที่เรียกว่า COTTON RAT เขายังเอามาทำเยื่อกระดาษได้เลย จึงไม่แปลกถ้าหากบัลลาเปอร์จะเข้ามาร่วมทุนในโครงการเยื่อกระดาษในเมืองไทย” วิศวกรจากอินเดียคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง

ตอนนี้บีโอไอก็มีแล้ว บรรษัทก็สนใจจะให้กู้ ต่างประเทศก็พร้อมจะร่วมลงทุน โดยขายเครื่องจักรให้แล้วเปลี่ยนเป็นสินเชื่อหรือไม่ก็หุ้น

จะติดอยู่อย่างเดียวก็คือคนที่ค้ำประกันหนี้เงินกู้ทั้งโครงการซึ่งมีวงเงินนับพันล้าน

นั่นคือแบงก์พาณิชย์ไทย

แต่แบงก์ไทยเองก็ยังไม่สนใจโครงการนี้เท่าไร เพราะขณะนั้นยังมีโครงการผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันอยู่ด้วย และดูแบงก์ไทยจะเอนเอียงไปทางนั้นมากกว่าเพราะเป็นโครงการที่มีผู้ลงทุนมีนามสกุลน่าเชื่อถืออย่าง ศรีเฟื่องฟุ้ง บูรณศิริ หรือ เตชะไพบูลย์

แค่นามสกุลก็กินขาดแล้ว

แล้วสมศักดิ์เป็นใครมาจากไหนก็ไม่มีใครรู้จัก แล้วใครจะสนใจให้กู้ละ

ทางเดียวที่นายสมศักดิ์จะทำได้ก็คือ เมื่อเขาไม่รู้จักก็ต้องทำให้เขารู้จักและยอมรับให้ได้

แผนการ “โครงการแห่งชาติ” จึงเกิดขึ้น

ด้วยความร่วมมือและแรงผลักดันสำคัญของคนที่ชื่อ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั่นเอง

สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั้นผู้อ่าน “ผู้จัดการ” คงรู้จักกันดีแล้ว เพราะเราพูดถึงเขาไว้ในหลายที่หลายฉบับเต็มที

แต่ด้านหนึ่งที่น่าสนใจของคนชื่อ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ก็คือการที่เขามีพื้นฐานด้านวิศวกรรม เพราะจบวิศวฯ จุฬาฯ

เขามีความฝันที่อยากจะเห็นอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้มากๆ

ไม่ใช่ฝันอย่างเดียว เขาร่วมลงมือทำด้วยและหลายๆ โครงการที่เขาออกนำหน้าทีเดียว แม้ว่าจะมีเสียงทัดทานจากเพื่อนร่วมอาชีพแบงก์ขนาดไหนก็ตาม

เช่นเดียวกับโครงการฟินิคซฯ

แบงก์แหลมทองที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อยู่เป็นแบงก์เดียวที่เข้าร่วมลงทุนด้วย 3 ล้านบาทในตอนเริ่มต้น แถมยังดึงสมัครพรรคพวกลูกหลานของสมบูรณ์เองมาลงถือหุ้นในฟินิคซฯ ด้วยประมาณได้ว่าไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถือหุ้นไทยรายย่อยนั้น (ประมาณ 10% ของทุนจดทะเบียน 500 ล้าน) เป็นหุ้นที่สมบูรณ์และพรรคพวกถือเอาไว้ทั้งสิ้น

สมศักดิ์โชคดีที่มารู้จักกับสมบูรณ์เพราะสมบูรณ์ช่วยเหลือในหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะในเรื่องการเข้าหาผู้ใหญ่ข้างบน

สมศักดิ์มารู้จักสมบูรณ์จริงๆ ก็ตอนที่สมศักดิ์ไปขอกู้จากบรรษัทซึ่งตอนนั้นมีธีระ ศิวะดิตถ์ เป็นรองผู้จัดการและมีอาจารย์วารี พงษ์เวช (เสียชีวิตแล้ว) เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไป

ธีระแนะนำให้สมศักดิ์รู้จักสมบูรณ์แล้วยังขอให้สมบูรณ์ช่วยพิจารณาโครงการนี้ให้ด้วย

สมบูรณ์นั้นชอบเล่นของใหญ่ ๆ อยู่แล้ว แถมโครงการนี้ยังช่วยเกษตรกรจำนวนมากได้อีก ตอนนั้นก็เป็นกรรมการของบริษัทผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์อยู่ด้วย (ล้มไปแล้ว) สมบูรณ์ก็เลยช่วยพูดให้กับนายธานินทร์ กรัยวิเชียรให้เห็นประโยชน์ของโครงการนี้

นายธานินทร์ก็อนุมัติโครงการนี้โดยมีหลักการว่ารัฐบาลจะร่วมถือหุ้นในโครงการนี้ด้วยในนามของรัฐบาลไทยแต่ยังไม่ทันจะทำอะไร รัฐบาลหอยก็ตกกระป๋องไปเสียก่อน

สมบูรณ์ต้องมาช่วยดันต่อในสมัยนายกเกรียงศักดิ์ จนกระทั่งพลเอกเกรียงศักดิ์เห็นด้วยก็เลยขอร้องให้ธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่งเข้าช่วยเหลือค้ำประกันหนี้ให้กับโครงการนี้ เพราะถือเป็นโครงการแห่งชาติไปแล้วโดยผ่านบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งเป็นประธานสมาคมธนาคารไทยในขณะนั้น

พร้อมๆ กับที่รัฐบาลไทยต้องจัดสรรงบประมาณจ่ายค่าหุ้นไป 35 ล้านบาทไม่รวมของบรรษัทที่ลงหุ้นไปด้วยอีก 30 ล้านบาท

ดูเอาเถอะว่าจะมีโปรเจกต์ของเอกชนรายไหนทำได้ขนาดนี้บ้าง

นอกจากนี้สมบูรณ์ยังมีคุณูปการต่อฟินิคซฯ ตลอดมาในฐานะประธานกรรมการตลอดกาล เพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นต่างชาติเองก็ยังเห็นว่าสมบูรณ์จะเป็นเกราะคุ้มกันและเป็นกันชนได้อย่างดีระหว่างฝ่ายจัดการกับกลุ่มเจ้าหนี้

สมบูรณ์เองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบกับโครงการนี้อย่างเต็มที่เหมือนกัน เพราะตัวเองถลำลึกลงมามากแล้วทั้งในแง่เป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าหนี้

แต่เมื่อมองภาระของฟินิคซฯ ข้างหน้า ก็ดูน่าหนักใจแทนสมบูรณ์ไม่น้อยทีเดียว

แผนชุบชีวิตฟินิคซฯ (ครั้งสุดท้าย?)

“...การดำเนินการตามแผนการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตเยื่อกระดาษของบริษัทลดต่ำลงจากปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินของบริษัทถึงจุดคุ้มทุนหรือ BREAK EVEN PIONT เป็นครั้งแรกในปีนี้ และเมื่อเศรษฐกิจของโลกกระเตื้องขึ้นแล้ว ตลาดเยื่อกระดาษทั้งในและต่างประเทศก็ย่อมจะดีขึ้นด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ย่อมจะส่งผลให้บริษัทสามารถมีกำไรได้จากธุรกิจเยื่อกระดาษในอนาคตอันใกล้นี้”

นี่คือคำแถลงของนายยอร์จ โรเจอร์เดวิดสัน กรรมการผู้จัดการ ที่รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นบริษัทฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด เมื่อบ่ายวันที่ 30 มกราคม 2529 ที่โรงแรมบางกอกฮิลตันฯ ด้วยความหวังว่าวิธีการที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยผ่อนคลายภาวะวิกฤตของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาดใหญ่ที่สุดของไทยเอาไว้ได้

“ภาวะวิกฤต” ที่ว่าก็คือการที่บริษัทแห่งนี้ต้องประสบภาวะขาดทุนสะสมถึง 718.8 ล้านบาท ไม่รวมตัวเลขขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อคราวปรับค่าเงินบาทอีก 292.9 ล้านบาท ในขณะที่มีทุนเรือนหุ้นเพียง 552.5 ล้านบาทเท่านั้น (ณ 30 ก.ย.28 ซึ่งเป็นวันปิดงบฯ ประจำปีของบริษัทนี้)

และเมื่อมาดูหนี้สินหมุนเวียนที่มีมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 723.3 ล้าน แล้วใครที่อ่านงบดุลเป็นก็คงอดหนักใจไปกับสถานะของกิจการนี้ไม่ได้ นี่ยังมิพักต้องพูดถึงหนี้สินรวมทั้งระยะสั้นและยาวที่มีอยู่ทั้งหมด 2,600 กว่าล้านบาท แน่นอนสูงกว่าสินทรัพย์รวมถึง 458 ล้านบาท เรียกว่าขายโรงงานทิ้งวันนี้ก็ยังล้างหนี้ได้ไม่หมด ซึ่งก็ต้องเป็นกรณีที่ขายแล้วมีคนซื้อด้วย !

มูลค่าตามบัญชีของหุ้นฟินิคซฯ ก็คงติดลบ ยกให้ใครฟรีๆ ก็ยังไม่มีใครเอา

ส่วน “วิธีการ” ที่พูดถึงข้างต้นนั้นก็คือการพยายามฟื้นกิจการที่เพียบหนักนี้ให้ยืนอยู่ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ซึ่งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดที่มีสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นประธานในที่ประชุมและในฐานะประธานในที่ประชุมและในฐานะประธานกรรมการตลอดการของฟินิคซฯ ก็ตั้งความหวังอันสูงส่งว่า

....จะดำเนินการเพิ่มทุนจากเดิม 800 ล้านบาท เป็น 1,200 ล้านบาท (ทั้งๆ ที่ทุนจดทะเบียนเดิมก็ยังเพิ่มให้ถึง 800 ล้านบาทไม่ได้เสียทีทั้งที่มีมติออกมาแล้วตั้ง 3 ปี) แต่จริงๆ คณะกรรมการของฟินิคซฯ เองก็หวังเพียงจะเพิ่มจาก 552 ล้านให้เป็น 900 ล้านได้ก็พอใจแล้ว

...จะต้องปรับปรุงระยะเวลาการใช้หนี้คืนต่างประเทศให้ยืดออกไป รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียนที่กู้จากแบงก์ในประเทศด้วย

....การแปลงหนี้บางส่วนมาเป็นหุ้นเพื่อลดภาระด้านดอกเบี้ยและเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว

ถ้าทำได้ตามนี้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของฟินิคซฯ ก็มั่นใจเหลือเกินว่าจะสามารถเคลียร์หนี้สินได้และก็เริ่มมีกำไร สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์บอกว่าขอเวลาแค่ปีครั้งเท่านั้นเองถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนฟินิคซฯ ก็เป็นไทแก่ตัวเองแล้ว

ก็ต้องนับว่าสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีอย่างมากๆ!

แต่สิ่งที่หลายๆ คนกังวลกันอยู่เวลานี้ก็คือ มันจะเป็นไปตามแผนได้ยังไง? ในเมื่อปัญหาของฟินิคซฯ นั้นมันไม่ได้เป็นโจทย์แบบคณิตศาสตร์ ที่จะสามารถแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ แล้วก็ได้คำตอบหรือผลลัพธ์อย่างที่อยากจะให้เป็นได้ด้วยการกำหนดค่าตัวแปรต่างๆ ขึ้นมา เช่นการเพิ่มทุน หรือการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการเอาหนี้เข้ามาเป็นหุ้น!

เพราะวิธีการแก้ปัญหาที่ฟินิคซฯ กำลังทำอยู่นั้น หากผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทุกรายยินยออมรับเงื่อนไขและปฏิบัติตามมันก็อาจจะเป็นไปได้ในการฟื้นกิจการ (แต่ก็มีการแย้งว่าไม่มีทางเป็นไปได้เหมือนกัน-ดูการวิเคราะห์ต้นทุนกับราคาขายประกอบ)

แต่หากผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทุกรายไม่เล่นด้วย สถานะของบริษัทนี้ก็น่าเป็นห่วงเอามากๆ ทีเดียว

และจริงๆ แล้วมันก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย

แม้ว่าจะมีผู้ใหญ่ทั้งที่แก่มากและแก่น้อยหลายคนจะคอยลุ้นไม่ให้เกิดขึ้นก็ตาม

ถ้าใครเอาเคสของฟินิคซฯ ไปถามอมเรศ ศิลาอ่อน ก็คงจะได้รับคำตอบในทำนองว่า การเกิดของฟินิคซฯ และปัญหาของฟินิคซฯ มันช่างคล้ายคลึงกับสยามคราฟท์เสียเหลือเกิน

นับตั้งแต่เริ่มต้นด้วยโปรเจกต์ที่สวยหรู ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วย เพียงสยามคราฟท์ไม่ได้เป็นโครงการแห่งชาติเท่านั้น

พอสร้างเสร็จได้ไม่ถึงปี ก็ทุนหมดจนต้องเจรจาประนอมหนี้แล้วก็หาทางกู้เงินมาอุดเพิ่มขึ้น เป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดครั้งแรก

แต่พอผ่านมาได้อีกไม่นาน ภาวะการขาดทุนก็เพิ่มทบตัวเข้าไปอีกเพราะความล้มเหลวของฝ่ายจัดการ จนต้องเรียกให้ผู้ถือหุ้นใหญ่และลูกค้ารายใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์ จนทำให้เคสสยามคราฟท์กลายเป็นกรณีศึกษาที่โด่งดังที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาสำหรับวงการอุตสาหกรรมบ้านเรา

จะยังไม่เหมือนกันก็ตอนที่จะถูกเทกโอเวอร์นี่แหละ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะไม่เหมือน

ปัญหาของฟินิคซฯ เวลานี้อยู่ในสภาพที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ไสว นิลพรหม หัวหน้าสำนักงานภาคอีสานของบรรษัท บ่นกับ “ผู้จัดการ” ว่า “ฟินิคซฯ นี่มีอะไรลับลมคมใน อย่างคราวที่แล้วมีเจ้าหนี้ที่เป็นแบงก์จากกรุงเทพฯ เข้าไปดูโรงงาน เราก็เห็นชัดว่าเขาเตรียมรันด้วยปอ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขารันด้วยไม้ไผ่ แล้วไม้ไผ่ตอนนี้ก็ปัญหาเยอะ ผู้ว่าฯ (ขอนแก่น) ยังเคยพูดกับผมเลยว่า เฮ้ย...คุณให้เขาตั้งขึ้นมาได้ยังไง ไม้ไผ่จะหมดอีสานอยู่แล้ว”

แต่ที่บอกสัญญาณอันตรายก็ตรงที่ขณะนี้บรรษัทได้ตัดสำรองหนี้สูญเอาไว้แล้วสำหรับหนี้สินจำนวน 50 ล้านบาท เพราะไม่เคยได้รับชำระคืนเลยทั้งต้นและดอก และผู้ใหญ่หลายคนที่บรรษัทก็ต้องผิดหวังกับโครงการนี้เป็นแถว

ตั้งแต่ศุกรีย์ แก้วเจริญ ผู้เป็นคนเซ็นอนุมัติให้บรรษัทจ่ายเงินลงทุน 30 ล้าน และเงินกู้อีก 50 ล้านให้กับฟินิคซ์ฯ

ถ้าอาจารย์วารี พงษ์เวชไม่ด่วนจากไปเสียก่อน ท่านก็คงจะเสียใจไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่เป็นอย่างที่ท่านหวังไว้ตอนที่อนุมัติโครงการนี้

หรืออย่างอดีตรองผู้จัดการทั่วไป ธีระ ศิวะดิตถ์ ที่ทุ่มลงไปสุดตัวกับฟินิคซฯ ทั้งลงหุ้นและชวนญาติพี่น้องมาลงด้วย จนถึงกับมานั่งเป็นกรรมการบริหารอยู่ตั้งหลายปี ทั้งๆ ที่มีกิจการส่วนตัวอยู่แล้วคือเสรีวัฒน์ที่เป็นของตระกูล

แต่ผู้วิเคราะห์โครงการฟินิคซฯ ในสมัยนั้นก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าการวิเคราะห์ในตอนนั้นมันถูกต้องทุกอย่างไม่อะไรผิดพลาด

ปัญหามันเกิดขึ้นในส่วนที่นอกเหนือการวิเคราะห์ในขอบเขตของบรรษัทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผันผวนของราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกที่หันมาทุ่มขายตัดราคาในตลาดบ้านเรา ซึ่งสวนทางกับราคาน้ำมันที่ขึ้นเอาๆ หลังจากที่โครงการนี้เริ่มเดินเครื่องได้ไม่นานจนทำให้เจ้าของโครงการใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการขาดทุนของโรงงานกับผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้มาตลอด

หรือแม้แต่เรื่องปัญหาทางการจัดการปัญหาแขกที่ดื้อดึงในความคิดของตัวเองจนชาวบ้านไม่ยอมขายปอให้จนต้องหันไปหาวัตถุดิบอื่น

นี่ยังไม่พูดถึงปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วนด้วยซ้ำ

ปัญหาพวกนี้ ถ้าไปถามเจ้าหน้าที่บรรษัท ก็เห็นใบ้กินกันเป็นแถว

แต่ถ้าผู้วิเคราะห์ได้เคยไปฟังผู้เชี่ยวชาญเยื่อจากสวีเดนขององค์การสหประชาชาติ ได้เสนอเปเปอร์ในระหว่างการประชุมเรื่องเทคโนโลยีเรื่องเยื่อเมื่อหลายปีก่อน ที่นายช่างทวี บุตรสุนทร แห่งเครือซิเมนต์ไทยได้เข้าประชุมด้วยแล้ว ก็คงจะต้องหันกลับมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้กันใหม่เพราะชาวสวีเดนคนนั้นพูดว่า “การทดลองทำเยื่อจากปอนั้นไม่เคยมีการทำกันมาก่อน โอกาสเสี่ยงมีมาก น่าเสียดายที่ได้เลือกเอาประเทศด้อยพัฒนา (ไทย) มาเป็นสนามทดลองแห่งแรก”

ส่วนด้านแบงก์เจ้าหนี้นั้น แบงก์กรุงเทพดูจะต้องรับบทหนักหน่อยเพราะเป็นแบงก์ที่เป็นตัวแทนแบงก์ไทยในการรับประกันหนี้ของโครงการนี้จำนวน 940 ล้านบาท

ในขณะที่แบงก์ต่างประเทศเองก็แทบจะหมดความอดทนในการแก้ปัญหาของฟินิคซฯ กันแล้ว เพราะหากโครงการใดไม่มีการชำระหนี้ทั้งต้นและดอกติดต่อกันหลายๆ ปี อย่างนี้เขาก็จะต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดลงให้แน่ชัดเสียที เพราะมันทำให้ระบบบริหารสินเชื่อของแบงก์เหล่านี้สับสนปั่นป่วนไปเหมือนกัน

มีรายงานข่าวว่า แบงก์เจ้าหนี้ทั้งแบงก์ไทยและแบงก์ต่างชาติทั้งหมดกำลังปรึกษาหารือถึงลู่ทางในการฟ้องเรียกหนี้คืนจากฟินิคซ์ฯ ซึ่งเป็นวิธีการสุดท้ายในการบีบให้มีการปรับปรุงฝ่ายบริหารโครงการโดยเฉพาะนายเดวิดสันและพีเค พอล ที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ฝ่ายบัลลาเปอร์รวมกันมากกว่า 70% ของทุนจดทะเบียนในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ก็ได้มีความพยายามจะดำเนินการฟ้องร้องเช่นนี้เหมือนกัน แต่ติดขัดในเรื่องที่ฝ่ายแบงก์เองยังเห็นแก่ “หน้าตา” ของประเทศ และเห็นแก่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียด้วย ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้ก็จะทำให้บรรยากาศการลงทุนทรุดลงอย่างแน่นอน

เพราะขนาดโครงการที่ประกาศว่าเป็นโครงการแห่งชาติ มีรัฐบาลทั้งของไทยและอินเดียเข้าถือหุ้น ยังไปไม่รอด แล้วโครงการของเอกชนที่ไหนมันจะทำได้ล่ะ?

นี่เป็นยันต์กันผีที่กลุ่มผู้บริหารโครงการใช้เพื่อถ่วงเวลาและชะลอการแก้ปัญหามาตลอด

แต่ความอดทนของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หัวแข็งรายนี้หมดลงเสียแล้ว

“เราไม่ได้บอกว่าเขาตั้งใจจะหลอกเรา แต่เขาตั้งใจจะเอาเปรียบเรามากกว่า เอาเปรียบที่สุดก็ว่าได้” เสียงบ่นจากคนแบงก์อีกตามเคย

อาการ “เอาเปรียบ” ที่ว่านี้มีตั้งแต่การดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ที่ฟินิคซฯ กู้ไปใช้ทั้งจากแบงก์ต่างประเทศและแบงก์ในประเทศ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี บรรดาแบงก์ทั้งหลายก็ได้แต่นั่งมองตากันอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้

ในขณะเดียวกันเมื่อโครงการมีปัญหาแทนที่ผู้ถือหุ้นจะระดมทุนกันเข้ามากอบกู้กิจการกลับเกี่ยงให้แบงก์ช่วยเหลือก่อน อย่างนี้ก็มีด้วย

“คุณดูเอาก็แล้วกัน แค่เงิน 3.5 ล้านเหรียญ ที่เขาบอกจะเอาเข้ามานั้นเห็นออกข่าวกันอยู่นั่นแล้ว ไม่เห็นเอาเข้ามาสักที ใครไม่รู้ก็นึกว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่เขาช่วยเหลือกันเต็มที่”

“เขาเป็นคนจัดการทุกอย่าง ทำอะไรก็ได้กับโครงการนี้ แต่เมื่อมีปัญหากลับไม่รับผิดชอบ ทำอย่างนี้ได้ยังไงแล้วใครล่ะที่ซัฟเฟอร์ รัฐต้องรีบมาตั้งเซอร์ชาร์จให้ จนโรงงานกระดาษใกล้จะพับเป็นแถวๆ กันอยู่แล้วอย่างนี้หรือ”

และก่อนหน้านี้อีกเช่นกันที่มีความพยายามจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนฝ่ายจัดการอย่างละมุนละม่อมด้วยการหาฝ่ายจัดการใหม่ โดยหาใครก็ได้ที่มีความสามารถ “เทกโอเวอร์” เอาฟินิคซฯ ไปชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมาใหม่

ตอนนั้นฝ่ายแบงก์ทำการศึกษาหาทางออกนี้โดยสรุปออกมาว่ามีอยู่ 4 กลุ่มที่พอจะรับช่วงเอาฟินิคซฯ ไปปลุกได้

กลุ่มแรกก็คือกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยรายนี้ไม่ต้องอธิบายความกันมาก รู้กันอยู่แล้วว่ามีฝีมือและศักยภาพพอที่จะทำได้อย่างสบายๆ

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มปัญจพลไฟเบอร์ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตกระดาษคราฟท์ยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งก็สนใจที่จะขยายขอบข่ายการผลิตมาที่เยื่อกระดาษของฟินิคซ์ด้วย

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มโรงงานกระดาษสหไทย ซึ่งตอนนั้นก็ยังยิ่งใหญ่อยู่ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นบริษัทในคอนโทรลของเครือซิเมนต์ไทยไปเสียแล้ว

ส่วนกลุ่มที่ 4 ก็คือเบอร์ล่ากรุ๊ฟของอินเดีย ระดับเดียวกับทาร์ปาร์กรุ๊ฟที่เป็นบริษัทแม่ของ บัลลาเปอร์ในอินเดีย นอกจากนี้เอบอร์ล่ากรุ๊ฟยังมีอุตสาหกรรมคาร์บอนแบล็คเป็นฐานสำคัญอยู่แล้วในเมืองไทยก็ยิ่งอยู่ในข่ายที่น่าจะรับมือไปได้

เมื่อมากลั่นกรองกันจริงๆ เบอร์ล่ากรุ๊ฟก็ขอถอนตัวเพราะไม่อยากจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมชาตินอกประเทศ ก็เหลือเพียงกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยกับปัญจพลที่เข้าไปคุยกับฝ่ายบริหารของโรงงาน ซึ่งก็คือกลุ่มอีโอดีซี (เอเชีย) และกลุ่มบัลลาเปอร์

แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลุ่มผู้บริหารฟินิคซฯ ก็พยายามบ่ายเบี่ยง ถ่วงเวลาเกี่ยงด้วยการตั้งราคาขายไว้สูงลิ่วจนไม่มีใครกล้าแตะ

ตอนนั้นพอเริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายออกไปว่าปูนก็สนใจฟินิคซฯ เท่านั้นแหละ ปูนใหญ่ก็ต้องฉากหลบทันที รีบออกข่าวปฏิเสธไว้ก่อนเพราะกลัวเปลืองตัวโดยใช่เหตุ

ก็คงมีกลุ่มปูนเท่านั้นที่อาจจะเข้ามา แต่ปูนก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดแล้วเพราะเงื่อนไขที่กลุ่มปูนตั้งไว้นั้นพวกแขกและฝรั่งรับไม่ได้

เงื่อนไขนั้นก็มีว่าปูนจะไม่ขอรับผิดชอบหนี้เก่าเลย แต่ถ้าอนาคตมีกำไรก็จะพยายามใช้หนี้เก่าให้ และที่สำคัญแขกกับฝรั่งต้องออกไปก่อน

แต่ให้ตายเถอะ “ผู้จัดการ” ยังมองไม่เห็นใครที่จะรับเหมา “เทกโอเวอร์” ฟินิคซฯ ไปทำต่อได้ นอกจากเครือซิเมนต์ไทยนี่แหละ ซึ่งหากพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้วเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ที่ว่าเหมาะก็เพราะตอนนี้เครือซิเมนต์ไทยมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษอยู่แล้ว 1 โรง คือบริษัทเยื่อกระดาษสยามที่แตกลูกออกมาจากสยามคราฟท์อันเป็นวิธีการไดเวอร์ซิฟายแบบหนึ่งที่ปูนใหญ่ใช้ในการแก้ปัญหาสยามคราฟท์

เยื่อกระดาษสยามนี้มีทุนอยู่ 360 ล้านบาท ผลิตเยื่อกระดาษได้ 24,000 ตันจากชานอ้อยซึ่งเป็นเยื่อที่ใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียนแบบเดียวกับเยื่อที่ได้จากฟินิคซฯ นี่แหละ กับอีกส่วนหนึ่งผลิตเยื่อกระดาษอีกปีละ 75,000 ตันเพื่อป้อนสยามคราฟท์ทำเป็นกระดาษคราฟท์โดยเฉพาะ

ปูนเองมีโครงการจะขยายโรงงานนี้ออกไปอีกเท่าตัวหรืออีก 30,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษพิมพ์เขียน มีการศึกษาโครงการนี้ไว้นานแล้ว และกะว่าจะต้องเริ่มสร้างโรงงานส่วนขยายในวงเงิน 700 ล้านบาทนี้ให้ได้ภายในปี 2527

แต่จนบัดนี้โครงการส่วนขยายของโรงงานใหม่นี้ก็ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ทางเยื่อกระดาษสยามเองก็ตอบอ้อมแอ้มว่ายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเลือกใช้วัตถุดิบ ก็เลยทำให้การตัดสินใจขยายโครงการยังทำไปไม่ได้ถึงไหน?

ถ้าเหตุผลนี้เป็นจริงก็ดูเหมือนว่ากลุ่มปูนจะด้อยประสิทธิภาพในการทำงานลงไปมากทีเดียว เพราะนี่เวลาก็ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี ตั้งแต่มีความคิดว่าจะขยาย แต่ยังไม่ได้ทำอะไร ดูเป็นการผิดวิสัยบริษัทที่มีประสิทธิภาพอย่างเครือซิเมนต์ไทยไปสักหน่อย

แต่ถ้าเป็นด้วยเหตุผลอื่นก็ช่างมันเถอะ

“คุณคิดดูก็แล้วกัน ตอนนี้ปูนเขามีโครงการขยายอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องขยายแน่นอน แต่ช่วงนี้มันยังไม่น่าลงทุนเพราะราคาเยื่อกระดาษเมืองนอกมันยังต่ำอยู่ ซึ่งจากการคาดการณ์เชื่อว่าภาวะเช่นนี้จะอยู่ไปอีกไม่กี่ปี ถ้าโชคดีอาจจะใน 2 ปีนี้เท่านั้น เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงมาทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น มีการใช้กระดาษมากขึ้น กระดาษล้นสต๊อกก็จะหมดไป ยุคของการขายทุ่มตลาดก็จะหมดไปด้วย” ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเยื่อกระดาษคนหนึ่งแจงให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

“ปูนใหญ่ชะลอโครงการขยายเอาไว้อย่างนี้น่ะถูกต้องแล้ว แล้วหากเกิดสถานการณ์เปลี่ยนขึ้นมา ปูนก็พร้อมที่จะพับโครงการนั้นเก็บใส่ลิ้นชักแล้วมารันฟินิคซฯ ในฐานะ ‘พระเอกขี่ม้าขาว’ จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าคุณต้องสร้างโรงงานใหม่ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี คุณมารับฟินิคซฯ นี่ได้ทันทีเลยเพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนระบบบริหารเท่านั้นเอง เพราะงั้นยิ่งเนิ่นนานออกไปเท่าไร ก็ยิ่งซื้อได้ถูกลง เพราะฟินิคซฯ นั้นใครๆ ก็รู้ว่ามีแต่จะทรุดหนักลงเรื่อยๆ มันจะต้องล้มพับลงสักวันหนึ่งแน่ๆ ถ้าไม่มีใครเข้ามาแก้ไข”

เห็นเขาวิเคราะห์ให้ฟังอย่างนี้แล้วก็ให้อิจฉาเครือซิเมนต์ไทยเสียจริงๆ ที่อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเกือบทุกประตู คู่แข่งอย่างปัญจพลไฟเบอร์ฯ นั้นไม่มีทางได้แอ้มฟินิคซฯ หรอก

เพราะฉะนั้น ทางออกของฟินิคซฯ เท่าที่เหลืออยู่ตอนนี้ก็คือจะต้องละพยศและยอมจำนนต่อเจ้าหนี้แต่โดยดี ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ มันจะสายเกินแก้ไปกว่านี้ เพราะถ้าหากยังดื้อรั้น และทะนงตัว ถือดี ต่อไปก็รังแต่จะทำให้ตัวเองบอบช้ำมากขึ้นเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญก่อนที่จะลงดาบฟินิคซฯ ในครั้งนี้ก็คือปัญหาทางกฎหมายเพราะตามกฎหมายไทยนั้นหากต้องการจะเทกโอเวอร์ลูกหนี้ที่เบี้ยวมาตลอดนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อฟ้องล้มละลายแล้วเสียก่อน

แล้วการฟ้องล้มละลายในเมืองไทยน่ะกว่าศาลจะตัดสินเสร็จ ก็คงจะเหลือแต่เศษกระดูกเอาไว้ให้เจ้าหนี้เท่านั้นเอง

ซึ่งในกรณีนี้ผิดกับกฎหมายที่ใช้ในต่างประเทศอย่างเช่นอังกฤษ เยอรมนี หรือแม้แต่ในฮ่องกงซึ่งถ้าหากเจอลูกหนี้หัวแข็งอย่างนี้ เมื่อทุกอย่างเข้าข่ายละเมิดหรือไม่ทำตามสัญญาที่เซ็นกันไว้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์เข้าเทกโอเวอร์ได้ทันทีเลย

เพราะฉะนั้นถ้าหากข่าวการตัดสินใจฟ้องของกลุ่มเจ้าหนี้เป็นจริง ก็คงจะเป็นการประกาศศึกครั้งสุดท้ายกับฟินิคซฯ อย่างแน่นอน เว้นแต่จะสามารถเจรจากันในรูปที่รอมชอมกว่านี้ได้

โธ่...ตอนนี้น่ะถ้าหากแบงก์เจ้าหนี้เขาสามารถทำให้ลูกหนี้ที่ชื่อฟินิคซฯ หายวับจากโลกนี้ไปได้เขาจะดีใจกันยิ่งกว่าอะไรเสียอีก จะบอกให้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.