การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของ ROTHCHILD ไทยนาม "อินทรทูต"!?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ธะนิต พิศาลบุตร นั่งเก้าอี้ในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ นานถึง 40 ปีนานเกินไปแล้วสำหรับนายธนาคารที่ CONSERVATIVE อย่างมากเช่นเขา ยิ่งเมื่อธนาคารแห่งนี้ “สาละวันเตี้ยลงๆ” เช่นปัจจุบัน เขาควรจะรู้และสำนึกบทบาทของตนเองว่า สมควรหยุด “อินทรทูต” ไม่ไล่เขาก็ควรจะไป ทำไม “อินทรทูต” ต้องปฏิบัติการล้มเก้าอี้ธนิต อย่างไม่เกรงอกเกรงใจกันแม้แต่น้อย? บอกได้อย่างหนึ่ง มันมิใช่ความขัดแย้งเพื่อเทคโนโลยีการธนาคารสมัยใหม่อย่างเด็ดขาด...

“อย่าคิดว่าแบงก์นี้โตขึ้นมาเพราะพระพินิจฯ มันโตขึ้นมาเพราะพนักงานทุกคน...”

ธะนิต พิศาลบุตร กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อ 28 มีนาคม 2529

“เมื่อก่อนหุ้นแบงก์ราคาตลาดถึง 230 บาทปัจจุบันแค่ 130 บาท/หุ้นก็ ไม่มีใครซื้อ ผู้ถือหุ้นเขาจึงร้อนใจที่คุณธะนิตบริหารงานสาละวันเตี้ยลง”

นิติพัฒน์ ชาลีจันทร์ กล่าวกับ “ผู้จัดการ” (17 เมษายน 2529)

“คนที่ทำงานกับหม่อมคึกฤทธิ์นานถึง 40 ปีนั้น หาไม่ใช่ง่ายๆ คุณธะนิต เขาทำมาแล้ว แต่หลังจากวันที่ 28 มีนาคมนี้ มันได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว...”

ผู้รู้เรื่อง “อินทรทูต” และ “หวั่งหลี” ดี สรุป

เขาเดินทางรอนแรมจากเกาะไหหลำในเรือสำเภาลำเดียวกับเตี่ยของบุญชู โรจนเสถียร มุ่งหน้ามาแผ่นดินสยาม ตามหาพี่ชายซึ่งมาทำมาหากินอยู่ในประเทศนี้

เขาได้รับการศึกษาขั้นต่ำจากบ้านเกิด สามารถพูดภาษาจีนได้อย่างน้อย 3 ภาษา จีนกลาง ไหหลำ และ แต้จิ๋ว

พ่อของบุญชูรับจ้างทำงานสวนในวังสระปทุม และต่อมาก็หันมาเอาดีทางอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ผลงานเด่นๆ มี พระราชวังไกลกังวล หัวหิน บ้านจัดสรรยุคแรกๆ ริมถนนราชดำริ ซึ่งปัจจุบันยังพอเหลือให้เห็นเป็นอนุสรณ์

เขาแยกมาทำงานค้าขายกับพี่ชาย

พี่ชายของเขารับใช้ “เจ้านาย” อย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นคนจีนที่ใกล้ชิดเจ้านายอย่างมาก ๆ คนหนึ่ง

พระองค์เจ้าคำรบ เป็นราชนิกูลพระองค์หนึ่งที่พี่ชายของเขาสนิทสนมเป็นพิเศษ

พระองค์เจ้าคำรบคือพระบิดาของ ม.ร.ว.เสนีย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช และคืออธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้น

ห้วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จีนแผ่นดินใหญ่เกิดการปฏิวัติครั้งแล้วครั้งเล่า ขบวนการที่แตกต่างความคิดหลายแก๊งอพยพหนีภัยเข้ามาเมืองไทย ตั้งเป็น “อั้งยี่” ก่อกรณีพิพาทเนืองๆ คุกคามความสงบสุขของคนไทยเมืองหลวงไม่น้อย คดีความเกี่ยวกับคนจีนเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ

พระองค์เจ้าคำรบ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจหนักใจอย่างยิ่ง อุปสรรคใหญ่หลวงของท่านคือ คุยกันไม่รู้เรื่องเพราะพูดกันคนละภาษา!

ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกบรรจุเข้ารับตำแหน่งประจำกรมตำรวจ

ต่อมาเขาจึงกลายเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการสอบสวนอย่างดีเยี่ยม ประกอบกับความเป็นฉลาดเรียนรู้เร็ว และบุคลิกดี จึงเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและรักใคร่เอ็นดูของอธิบดีกรมตำรวจมาก

และแล้วชีวิตของเขาก็ถูกจุดพลุขึ้นสว่างไสว เขาได้บรรจุพรวดเดียวจากพนักงานล่ามมาเป็นนายร้อยตำรวจโท พนักงานสอบสวนแห่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลพร้อมๆ กับแต่งงานกับ ม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช พระธิดาของอธิบดีกรมตำรวจ

ตอนนั้นไม่มีใครฉุดเขาไว้อยู่อีกแล้ว!

เขาไต่บันไดอย่างรวดเร็ว จนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอย่างไม่ยากเย็นนัก...

เขาได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่พอที่จะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยให้คนรุ่นหลังศึกษา และพิเคราะห์ อันประทับใจแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลเผ่า ศรียานนท์อย่างมากๆ คือคลี่คลายคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ผลอันนี้ก่อผลดีล้ำลึกต่อกลุ่มจอมพล ป.-เผ่ายิ่งนัก

ดังนั้นเมื่อเผ่าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ เขาจึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้ทำงานแทนแทบทั้งหมด ราวกับว่าเขาคืออธิบดีกรมตำรวจตัวจริง!

เขาคือพระพินิจชนคดี ต้นตระกูลไทยใหม่ “อินทรทูต”

“...การที่ญี่ปุ่นบุกและเข้ายึดครองไทยทำให้กลุ่มอิทธิพลทางการเงินของอังกฤษสลายตัวและเกิดกลุ่มนักลงทุนใหม่ ประกอบด้วยคนไทยและคนจีนในไทย....

หนึ่งปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง ได้มีธนาคารพาณิชย์ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยรวม 4 ธนาคาร ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่ากลุ่มพ่อค้าที่ฉวยโอกาสตักตวงความมั่งคั่งจากภาวะสงครามมีสายตายาวไกลยิ่งกว่านั้น การที่ธนาคารของอังกฤษเลิกกิจการ ก็ยิ่งเป็นจังหวะที่วิเศษยิ่งสำหรับผู้ก่อตั้งธนาคารขึ้นมาใหม่เพื่อรับช่วงธุรกิจการค้าต่อ และข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการตอบสนองความต้องการของพ่อค้าภายในประเทศ ที่ถูกธนาคารต่างชาติเอาเปรียบ..” (พันศักดิ์ วิญญรัตน์; ประวัติธนาคารกรุงเทพ (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษฉบับย่อ), ปี 2529)

ในจำนวนนี้มีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ รวมอยู่ด้วย

ตันจินเกง พ่อค้าจีนมีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ทางธุรกิจครบเครื่อง เจ้าของกิจการเดินเรือทะเล บริษัทโหงวฮก มีตำแหน่งประธานมูลนิธิปอเต็กตึ๊งด้วย เป็นต้นคิดชักชวนพรรคพวก เช่น ตันซิ่งเม้ง หวั่งหลี โลวเต็กชวน บุลสุข สหัท มหาคุณ ลงเงินขอตั้งธนาคาร

การจะมีธนาคารในสมัยนั้น ผู้ก่อการจะต้องดำเนินตามสูตรสำเร็จ 2 ขั้นตอน หนึ่ง-ต้องเชื้อเชิญ “ผู้มีอำนาจ” เข้าร่วมเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ คนที่กลุ่มผู้ก่อการไปเชิญมานั้นคือพระพินิจชนคดี ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะนั้น) ในฐานะคนจีนด้วยกัน และที่สำคัญเป็นคนจีนที่ได้ดิบได้ดีหลุดเข้ามาในวงจรของผู้มีอำนาจในแผ่นดินที่คิดว่าจะพึ่งพิงได้

ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2487 สำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับสำนักงานบริษัทโหวงฮก แถว ๆ ทรงวาด

สูตรที่สอง-หาผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์ ยม ตัณฑเศรษฐี เคยทำงานที่ธนาคารซีไทฮง (ธนาคารจีนสิงคโปร์มีสาขาในเมืองไทย) จึงได้รับการชักชวนมากินตำแหน่งผู้จัดการ ส่วนงานด้านบัญชีก็ดึงคนจากธนาคารชาติ (ขณะนั้นถือกันว่างานบัญชีเป็น TECHNOLOGY การธนาคารชั้นสูง และ TECHNOCRAT เหล่านี้ส่วนใหญ่หาได้จากธนาคารชาติ คล้ายๆ กับสมัยนี้-ธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาเชื่อว่าถ้าจะหาผู้บริหารธนาคาร ต้องหาจากแหล่งเดียวกัน) ชัด โชติกเสถียร และธะนิต พิศาลบุตร

ยม ตัณฑเศรษฐี เป็นลูกเขยตระกูลล่ำซำ แต่งงานกับลูกสาวอึ้งจูหลง ตระกูลนี้ต่อมาเกี่ยวดองกับตระกูลหวั่งหลีอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบันตระกูลล่ำซำเองก็มีหุ้นในธนาคารแห่งนี้พอประมาณ

ธะนิต พิศาลบุตร จบกฎหมายจากธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับวรรณ ชันซื่อ จินดา ณ สงขลา และเป็นพนักงานธนาคารชาติรุ่นราวคราวเดียวกับบุญชู โรจนเสถียร วิระ รมยรูป เฉลิม ประจวบเหมาะ ก่อนจะลาออกมาเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เขากินเงินเดือน 132 บาท

ธะนิต เป็นลูกเขยตระกูลหวั่งหลี ภรรยาของเขาชื่อประไพ ลูกสาวคนโตของตันซิ่วเม้ง ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การคนสำคัญ ว่ากันว่าประไพคนนี้เป็นพี่ใหญ่ที่เหลืออยู่ปัจจุบันของตระกูลหวั่งหลีซึ่งทุกคนเคารพและเชื่อฟัง

เมื่อชัด โชติกเสถียร ลาออกไปอยู่สหธนาคาร เขาจึงดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชีแทน

ยม ตัณฑเศรษฐี และธะนิต พิศาลบุตร ถือเป็นนายธนาคารมืออาชีพในยุคนั้น ซึ่งบังเอิญมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร

พูดกันง่ายๆ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การยุคแรกๆ นั้นเป็นของพ่อค้าจีนเหมือนๆ กับธนาคารในเมืองไทยทุกแห่งในสมัยนั้น

ตันซิ่วเม้ง เสียชีวิตอย่างมีปริศนาในปี 2488 พระพินิจฯ ในฐานะนายตำรวจใหญ่ที่มีความสามารถสูง และมีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูลหวั่งหลี ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ อันเป็นเรื่อง “แคลงคลางใจ” ของคนตระกูลหวั่งหลีจนทุกวันนี้ เพราะการตายของตันซิ่วเม้งนั่นเอง คนตระกูลหวั่งหลีจึงโดดออกจากวงจรทางเมืองตั้งแต่นั้นมา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นนั่งบัลลังก์อำนาจ รัฐบาลไทยยุคนั้นก็เริ่มบรรเลงเพลงกวาดล้างคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ ประสานนโยบายกับสหรัฐอเมริกาเป็นอันหนึ่งอันเดียว ตันจินเกงผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของแผนการนี้ เขาถูกจับเข้าคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ซึ่งในเวลาต่อมาเขาจำต้องระเห็จออกจากเมืองไทย

ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มพระพินิจฯ หรือตระกูลอินทรทูตก็คือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยมิได้เปลี่ยนแปลงทีมบริหาร เพราะตอนนั้นคนของอินทรทูตไม่มีความรู้ความสามารถด้านนี้เลย...

“อินทรทูต” ทุกวันนี้มีความเกี่ยวพันกับราชนิกูลอย่างลึกซึ้ง หลายคนแต่งงานกับราชวงศ์ เช่น ดิสกุล พระพินิจฯ เองก็มิใช่มีภรรยาคนเดียว อีกคนหนึ่งคือ ม.ล.อรุณ สนิทวงศ์ ทายาทของภรรยาคนนี้ของเขาคนหนึ่งคือ อินทิรา ชาลีจันทร์ ผู้ที่ถูกส่งเข้ามาทำงานธนาคารที่ตระกูลถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ยุคแรกๆ ทั้งๆ ที่จบวิชาการบ้านการเรือน และชอบงานนวนิยายของดอกไม้สด ก. สุรางคนางค์

“อินทรทูต” ระยะหลังๆ ทยอยเข้ามาทำงานในธนาคารแห่งนี้มากขึ้น ตั้งแต่ผู้จัดการสาขา พนักงานด้านต่างๆ ในสำนักงานใหญ่

“คนอินทรทูตไม่มีความเป็นคนจีนเหลืออยู่เลย พวกเขามีลักษณะเจ้านายมากเป็นพิเศษอีกด้วย อาทิ ชอบมาทำงานสายๆ ชอบตีขิม ตีระนาด ร้องเพลงไทยเดิม” คนในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ สาธยายบุคลิกของคน “อินทรทูต” ให้ฟัง

ที่น่าแปลกคนในวงการธนาคาร ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักอินทรทูตเอาเสียเลย

“อินทรทูต” คือ ตระกูลผู้ดีของไทยอีกตระกูลหนึ่งที่มีอาณาจักรแคบๆ มีวัฒนธรรมของตนเองที่ไม่ใคร่จะยอมให้ใครกล้ำกลายเข้าไป และไม่ชอบเกี่ยวข้องกับผู้คนในวงกว้าง

มีตำนานเล่าขานถึง “สิ่งแปลกๆ” ของพวกเขาเล็ดลอดออกมาเป็นระยะๆ อินทรทูตคือ ROTHCHILD เมืองไทยโดยแท้ และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน หากพวกเขามิใช่เจ้าของธนาคารพาณิชย์ที่ถูกรัฐทุนนิยมขีดเส้นว่า จะต้องเกี่ยวข้องกับมหาชน !!

ถึงพระพินิจฯ จะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแต่ในทางการนั้น เขาส่งศรีภรรยา-ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี มาเป็นประธานกรรมการธนาคาร

พะยอม ตัณฑเศรษฐี อายุมาก ว่ากันว่าชักจะหลงๆ ลืมๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอีกคนหนึ่งในการเกิดธนาคารแห่งนี้ก็ชักชวนหม่อมเจ้าอาชวดิส ดิสกุล มาเป็นกรรมการผู้จัดการ

ม.จ.อาชวดิส เป็นนักเรียนอังกฤษรุ่นเดียวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แต่เรียนไม่จบ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะมาเป็นกรรมการจัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินโรงไฟฟ้าวัดเลียบ

ธะนิต พิศาลบุตรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ ในขณะที่อินทิรา ชาลีจันทร์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป “เรียกว่าคานอำนาจกันอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่เซ็นหนังสือยังต้องกำกับ 2 คนเลย” ผู้อยู่ในวงการธนาคารคอมเมนต์

เมื่อ ม.จ.อาชวดิส ดิสกุล จากโลกไป ธะนิตจึงขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในปี 2518 ส่วนอินทิรานั้นมีตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปตั้งแต่ปี 2514 แล้ว “เรียกว่าไม่มีใครจริงๆ จะขึ้นมาตำแหน่งนี้นอกจากคุณธะนิต คุณอินทิราน่ะหรือจะว่ามือไม่ถึงก็ได้” วงการวิจารณ์กันอย่างนั้น

ม.ร.ว.บุญรับ จากโลกตามไปในปี 2524 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ หลังจากนั้นบทบาทของประธานกรรมการธนาคารก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

“หม่อมคึกฤทธิ์ รู้จักคุณธะนิตตั้งแต่อยู่แบงก์ชาติด้วยกัน ประกอบกับนโยบายหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณธะนิตปฏิบัตินั้นมีบัญชามาจากหม่อมคึกฤทธิ์ ดังนั้นเมื่อเกิดข้อขัดแย้งระหว่างคุณธะนิตกับฝ่ายคุณอินทิราประเภทลิ้นกับฟันกระทบกัน หม่อมคึกฤทธิ์ก็คือ “ตัวประสาน” และดูเหมือนหม่อมคึกฤทธิ์ยืนอยู่ข้างคุณธะนิต

...โรงพยาบาลแมคคอนิคที่เชียงใหม่ฝากเงินไว้กับธนาคารนี้ถึง 50 ล้านบาท ผู้จัดการสาขามีความคิดจะซื้อคอมพิวเตอร์ พีซีไปบริจาคแก่โรงพยาบาลนี้เป็นสินน้ำใจเพื่อแสดงความผูกพัน ครั้นเมื่อขอความเห็นมาถึงสำนักงานใหญ่ อินทิราในฐานะผู้จัดการทั่วไปไม่เห็นด้วย เมื่อความทราบถึงธะนิต ธะนิตเลยสั่งข้ามหัวให้จัดการได้

หม่อมคึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ต้องการสร้างฐานอำนาจทางการเมืองในท้องที่ภาคเหนือ จึงเสนอให้ธะนิต พิศาลบุตรในฐานะกรรมการจัดการเปิดสาขาตามที่ประสงค์ จึงปรากฏว่าในภาคเหนือมีสาขาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การแทบทุกอำเภอเลยทีเดียว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของ Polictical Policy ที่เข้ามาแทรก!!

หม่อมคึกฤทธิ์จะทราบหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ตนเองเป็นคนต้นคิดนี่เอง อันทำให้ธนาคารเติบโตทางยอดเงินฝากมากไปจนทำให้ธะนิตกับฝ่ายอินทรทูตต้องขัดแย้งกันอย่างชัดเจนและแตกหักในเวลาต่อมา

“ผู้จัดการ” ได้รับการยืนยันว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528 ที่ทำเอาวัย 65 ปีของธะนิต พิศาลบุตรพลุ่งพล่านที่สุดในชีวิตนั้น เขามิได้ล่วงรู้มาก่อนว่ามันจะเกิดกับตัวเอง และที่สำคัญคนที่ควรจะบอกหรือกระซิบเขากลับไม่ทำ นั่นคือสิ่งที่ธะนิตและคนตระกูลหวั่งหลี ไม่พอใจมาก

“ผมก็งงๆ อยู่เรื่องอย่างนี้ต้องให้เวลาผมปรับตัว เพราะไม่เคยเจอมาก่อน” เขาบอกกับ “ผู้จัดการ”

“ก็นั่นนะสิ” เสียงของธะนิตตอบอย่างแผ่วเบา เมื่อ “ผู้จัดการ” เปรยว่าเรื่องอย่างนี้น่าจะบอกกันดีๆ

และ “ผู้จัดการ” ก็ได้รับการยืนยันอีกเช่นกันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการธนาคารและประธานการประชุมครั้งนั้น ก็รู้อยู่เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ว่ากันว่าก่อนจะถึงวันนั้น อินทรทูตได้รบเร้าเชิงขออนุญาตขอปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง โดยที่ครั้งแรกๆ หม่อมคึกฤทธิ์ปรามเอาไว้ และทุกครั้งที่มีการรบเร้าหม่อมคึกฤทธิ์ก็ไม่เคยปริปากกับธะนิตเลย

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ธะนิตซึ่งวัยชราเช่นเขาควรจะเย็นกลับต้องร้อนขึ้นมา

“คงจะมีการเตรียมการมาก่อนมั้ง” นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ สามีอินทิรา บอกอย่างไม่เต็มปากเต็มคำกับ “ผู้จัดการ” เมื่อถูกถามว่าการโหวตเอาธะนิต พิศาลบุตรออกจากตำแหน่งกรรมการจัดการนั้น มีการเตรียมการมาก่อนหรือไม่?

นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เรียนมาด้านธรณีวิทยา ตำแหน่งสุดท้ายในราชการ คือเลขาธิการสำนักงานพลังงานแห่งชาติลาออกจากราชการก่อนครบเกษียณ 5 ปี เพราะอยากเล่นการเมือง โดยเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาเข้าสู่วงการเมืองและโตอย่างรวดเร็ว ปี 2518 ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นิธิพัฒน์เป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม อยู่ในตำแหน่งเพียง 1 เดือนนั้น เขาได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญแก่วงการอุตสาหกรรมบ้านเรา โดยออกคำสั่งยกเลิกสัมปทานบริษัทเท็มโก

รัฐบาลเสนีย์คว่ำเพราะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลิ่นการเมืองหอมหวนและเริ่มจะฝังเข้าสายเลือด นิธิพัฒน์ สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพฯ ที่เขตบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในเดือนกันยายน 2519 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีถึง 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม

รัฐบาลอยู่ได้เพียง 3 วัน เพราะเกิดการรัฐประหารโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เขาผิดหวังทางการเมืองอย่างมากเลยอำลาชีวิตการเมืองตั้งแต่นั้นมา เขาบอกกับ “ผู้จัดการ” เขาไม่ได้ทำธุรกิจอะไรที่สำคัญๆ ธนาคารที่ภรรยาบริหารก็ไม่ยุ่ง เขาคิดว่าถึงไม่ทำก็มีกิน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้บั้นปลายชีวิตของเขาเหงาจนเกินไป นิธิพัฒน์จึงไปซื้อที่เชียงใหม่หลายร้อยไร่ทำสวนลิ้นจี่

ชีวิตชาวสวนลิ้นจี่ของเขาที่ควรจะอยู่กับความร่มเย็น สงบ ไร้ความทะเยอทะยานทางธุรกิจ แต่เขาบอกกับ “ผู้จัดการ” ว่า เขาทนไม่ได้ที่จะให้ธนาคารที่เขาถือหุ้นอยู่ด้วย สาละวันเตี้ยลงๆ ไปทุกวัน

วันที่ 28 มีนาคม 2529 นั้น ว่ากันว่า เขาคือ “หัวหอก” และผู้วางแผนการล้มธะนิต พิศาลบุตร!

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2525 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเปิดประชุมวิสามัญขอมติยกเลิกข้อบังคับของธนาคารที่ระบุว่าข้อ 11 หุ้นของบริษัทจะโอนให้บุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรรมการ และคณะกรรมการไม่จำต้องให้เหตุผลในกรณีที่ไม่สมควรให้อนุญาต”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการแถลงในการประชุมครั้งนั้น เหตุผลในการยกเลิกว่าต้องปฏิบัติตามมาตรา 15 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าข้อบังคับของธนาคารพาณิชย์ต้องไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น

วันที่ 20 ธันวาคม 2525 ธะนิต พิศาลบุตร กรรมการจัดการแถลงในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 22 ว่า “เงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่อาจจะขยายเงินให้กู้ยืมได้เต็มที่ เพราะมีกฎหมายควบคุมกำหนดอัตราส่วนให้กู้ยืมกับเงินกองทุนไว้ ได้พยายามแก้ไขหลายวิธี ตลอดจนชี้แจงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายข้อกำหนดลงบ้าง ขณะนี้ราชการกำลังพิจารณาอยู่แต่ไม่อาจรอต่อไปได้เพราะจะกระทบถึงรายได้ของธนาคาร จึงมีความจำเป็นเพิ่มทุนธนาคารขึ้นอีก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวสนับสนุนพร้อมย้ำว่า “การเพิ่มทุนครั้งนี้ธนาคารจะพิจารณาออกหุ้นเป็นคราวๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งระมัดระวังมิให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเดือดร้อน”

วันที่ 30 สิงหาคม 2527, ประชุมสามัญ, ธะนิต พิศาลบุตร แถลงว่า “การที่ปรากฏตามงวดงบดุลที่แล้ว ธนาคารเรามีกำไรน้อยมากเพียงล้านบาทเศษ เนื่องจากเรามีเงินกองทุนน้อย คือเงินทุนจดทะเบียนในงวดธันวาคม 2526 เพียง 275 ล้านบาท เรามีเงินฝากสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทเศษ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 12.5 เท่าของเงินกองทุน”

“เราได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดอัตราส่วนสินเชื่อกับเงินกองทุนโดยเคร่งครัด จึงมีเงินฝากเกินอัตราส่วนตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนมากที่ธนาคารจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแล้วปล่อยกู้ไม่ได้ และในงวดนี้ ธนาคารจำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อเกินอัตราส่วน...และเป็นเหตุให้ถูกปรับวันละ 400 รวมเงินที่เราถูกปรับในข้อนี้และข้ออื่นด้วย เช่น เรื่องการรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาชำระหนี้แล้วจะจ่ายคืนเจ้าของเดิมจึงให้เช่าไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิครอบครองเป็นต้น ไปแล้ว 4 แสนบาทเศษ แต่เราก็ต้องยอมให้ปรับ มิฉะนั้นกิจการธนาคารจะต้องขาดทุน เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น”

“ปัญหาดังกล่าวเราจะแก้ไขโดยการเพิ่มทุนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเราจะเริ่มเพิ่มทุน 100 ล้านบาทในเร็วๆ นี้ และจะต้องเพิ่มขึ้นอีกในไม่ช้า”

วันที่ 22 มีนาคม 2528 ธะนิตย้ำถึงปัญหาเดิมอีก “ระหว่างนี้อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนก็เกินกว่าอัตราส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ธนาคารเราจึงไม่ได้ขวนขวายหาเงินฝากนัก จำนวนเงินฝากได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 100-200 ล้านบาท...เพื่อให้ธนาคารมีกำไรจ่ายเงินปันผลตามปกติ เราจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนอีก”

จตุรงค์ อินทรทูต ผู้ถือหุ้นเสนอควรแบ่งการเพิ่มทุนเป็นงวดๆ และกำหนดราคาหุ้นสูงกว่าราคาแท้จริงสำหรับบุคคลภายนอก

วันที่ 30 กันยายน 2528 ประชุมสามัญครั้งที่ 42 อันเป็นวันประชุม ครั้ง “โหมโรง” ก่อนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 นี้

ธะนิต พิศาลบุตรถูกซักอย่างหนักเรื่องปล่อยสินเชื่อ แต่เขาก็ยืนยันว่าปัญหาส่วนใหญ่ของธนาคารอยู่ที่เงินกองทุนไม่พอ จนถึงขั้นไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เป็นครั้งแรก “ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ธนาคารต้องเพิ่มทุนก่อน แล้วให้แบ่งเงินปันผลครึ่งหนึ่งของเงินทุนที่เรียกเก็บเพิ่มได้” เขากล่าว

จุดนี้เองทำให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายอินทรทูตไม่พอใจอย่างยิ่ง!

นิธิพัฒน์ออกโรงซักทันที “ธนาคารมีหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลและบริษัทจำนวน 1,138 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันประมาณอยู่เพียง 431 ล้านบาทเท่านั้น ธนาคารจะเรียกเก็บหนี้ถึง 1,000 กว่าล้านบาทได้อย่างไร?”

ธะนิตชี้แจงว่า “หลักประกันที่ธนาคารถืออยู่นั้นเป็นที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินทั่วไปสูงขึ้นมาก หลักประกันที่มีอยู่ย่อมจะมีราคาสูงขึ้นด้วย และสำหรับหนี้ทั้งหมดนั้นธนาคารก็ได้ติดตามอยู่ แต่จะเก็บได้มาอย่างไร? ยังไม่อาจคาดหมายได้ แต่เชื่อว่าธนาคารจะต้องเสียหายบ้าง”

นิธิพัฒน์รุกเข้าไปอีก “การมีหลักประกันไม่คุ้มหนี้เป็นเพราะมีข้อบกพร่องหรือเพราะเหตุใด?

ธะนิตดูเหมือนจะมีจุดอ่อนตรงนี้ที่ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ หรือผู้ฟังไม่ยอมฟังอธิบายก็ไม่ทราบได้ ในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงต้องออกมาห้ามทัพ และกล่าวสนับสนุนธะนิตเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป “เรื่องหนี้สินนั้นจะได้ชำระคืนเมื่อไร? จะให้รับรองเป็นหลักฐานแน่นอนนั้น ทำไม่ได้ ถ้าธนาคารเคร่งครัดกับลูกหนี้มาก ลูกหนี้ก็ล้มง่ายๆ ระหว่างนี้เราได้แต่พยายามเข้าควบคุมรายจ่ายของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด จะให้ได้ผลทันทีทันใดไม่ได้ ถ้ากรณีจำเป็นก็ต้องผ่อนผันเพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอดไปก่อน”

การประชุมครั้งนั้นก็จบลงโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวตบท้ายอย่างมีความหมายว่า “ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจผู้บริหาร คณะกรรมการยอมรับตรงๆ ว่าการบริหารของเราที่ผ่านมามีผิดพลาด แต่เรากำลังพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง...”

ธะนิต พิศาลบุตร บอกกับ “ผู้จัดการ” จุดที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจเขานั้น เนื่องจากเขาเสนอให้เพิ่มทุนจดทะเบียนตามคำสั่งของธนาคารชาติ “ในฐานะเป็นฝ่ายบริหารผมต้องทำตามกฎหมาย ผลกลัวติดคุกนี่คุณ”

และเพราะไม่เพิ่มทุนธนาคารก็ไม่สามารถทำอะไรแม้กระทั่งการจ่ายเงินปันผล การเปิดสาขาเพิ่มซึ่งหยุดมาตั้งแต่ปี 2526 ตลอดจนการพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง “เราก็คิดเหมือนกัน แต่ก่อนอื่นเราต้องแก้ปัญหาภายในก่อน ถ้าหากยังแก้ปัญหาผิดกฎหมายแบงก์ชาติ และยังถูกปรับอยู่ทุกวันนี้ เรื่อง เอทีเอ็มออนไลน์ อะไรนั่นอย่าเพิ่งไปพูดถึง”

เขาระบายความในใจต่อไปว่า “พอเสนอเพิ่มทุน เขาเห็นด้วย แต่เมื่อจะขายคนนอกต้องขายราคาแพงๆ แล้วใครเขาจะซื้อ ความจริงผมเหนื่อยมากแล้ว กะจะวางมือแต่เขามาไล่ผมก่อน”

อินทิรา ชาลีจันทร์ ให้เหตุผลสั้นๆ เหมือนกับสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อื่นๆ ว่า “ผู้ถือหุ้นไม่พอใจผลการประกอบการ คุณดูงบดุลก็คงจะรู้”

นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ กรรมการคนใหม่แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้จะแจ้งดีมาก “ปัญหาหนี้สินสงสัยจะสูญของผู้ถือหุ้นซึ่งเมื่อเราดูหลักทรัพย์ที่มีเพียง 1 ใน 3 นั้นเราเห็นว่าไม่ชอบมาพากล ก็ซักถามคุณธะนิตก็ตอบวกวน ไม่เป็นที่พอใจของผู้ถือหุ้น”

เขาขยายความว่า เขาได้ไปศึกษาปัญหาของธนาคารนี้หลังจากเหตุการณ์เมื่อ 28 มีนาคม 2-3 สัปดาห์พบว่าระบบควบคุมสินเชื่อหละหลวมมาก ทำให้เกิดหนี้มีปัญหามากมาย “ผมจึงเห็นว่าการปรับปรุงระบบสินเชื่อจะต้องมีขึ้นในไม่ช้า โดยหาคนที่มีความรู้มาเสริม”

นิธิพัฒน์เน้นว่าปัญหาของธนาคารอยู่ที่จุดนี้ “การเพิ่มทุนใครๆ ก็ทำได้มันง่ายเกินไป”

นายธนาคารอาวุโสกล่าวว่าเหตุเกิดที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528 นั้นเป็นเพราะเจ้าของธนาคารต้องการจะบริหารธนาคารของเขาเอง “ถึงแม้ธนาคารจะแย่ก็ขอให้แย่กับมือของตนเองเถอะ”

บางเสียงกลับค้านว่าแท้ที่จริงเจ้าของธนาคารปัจจุบันหวั่นวิตกเจ้าของเดิมจะมายึดธนาคารคืน

เรื่องของเรื่องจึงมาลงเอยที่ “หวั่งหลี” กับ “อินทรทูต”

อินทรทูตอยู่ในอาณาจักรแคบๆ เล็กๆ ประกอบด้วยโลกทัศน์ที่แม้คน CONSERVATIVE อย่างมากๆ อย่างธะนิต พิศาลบุตรยังไม่อาจจะเข้ากันได้ แล้วผู้สันทัดกรณีว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเกิดในห้วงเวลาที่ ต้องนับถอยหลังไปอีกหลายสิบปี

“คุณธนิตเคยชวนพยัพ ศรีกาญจนา มาซื้อหุ้นธนาคารจากฝ่ายอินทรทูต แต่พอรู้ว่าคุณธะนิตเป็นคนชวนมาเขาจึงไม่ยอมขาย” แหล่งข่าวกล่าวสนับสนุน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธะนิตให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ที่ยังไม่สงบเมื่อค่ำวันที่ 28 มีนาคม กับ “THE NATION” ว่า “เขากลัวว่าผมจะกว้านซื้อหุ้นกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่”

นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ แจงรายละเอียดของอัตราส่วนถือหุ้นให้ “ผู้จัดการ” ฟังว่ากลุ่มของอินทรทูตซึ่งประกอบด้วยดิสกุล ปราโมช และอื่นๆ ถือหุ้นมากที่สุดประมาณ 35% ส่วนกลุ่มธะนิต พิศาลบุตร ซึ่งมีหวั่งหลี ล่ำซำ มีประมาณ 7-8% “เขาซื้อเพิ่มบ้างแต่ไม่ได้มาก”

ผู้ใกล้ชิดอินทรทูตกระซิบตบท้ายว่า “คุณอย่าไปพูดถึงแบงก์ชาติเลยว่าจะเข้ามามันเร็วเกินไป ที่จะมาก็เป็นลูกชายคุณอินทิราน่ะ อย่าเรียกว่าแบงก์ชาติเลย อีกอย่างแบงก์ชาติเข้ามาจะแก้อะไรได้ อิทธิพลกลุ่มนี้แน่นจริงๆ

“เขามีความคิดถึงขั้นปิดสาขาที่ขาดทุน หดแบงก์ให้เล็กลง โดยไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนมากๆ เร็ว ๆ และสามารถมีกำไรที่ดี”

แต่ธนาคารชาติจะเอาด้วยหรือไม่ นี่สิคือปัญหาใหญ่!?

อินทิราบอก “ผู้จัดการ” เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ว่า ธนาคารยังไม่ได้วางนโยบายใหม่ชัดแจ้ง “ดิฉันยังพูดอะไรที่แน่นอนยังไม่ได้ต้องรออีกสักระยะ” ส่วนนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ นั้นเปิดเผยอย่างเป็นนัยว่า “อีกสักหนึ่งเดือนคงจะคลี่คลายและมีอะไรใหม่” (17 เมษายน 2529)

แหล่งข่าวกล่าวว่า “อินทรทูต” พอจะรู้ “แนวความคิด” ของธนาคารชาติดีว่า กำลังจับจ้องธนาคารที่มีปัญหาและอาจจะมีการ “สอดมือ” เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือสิ่งที่ “อินทรทูต” ไม่ต้องการ ยิ่งกว่าไม่ต้องการ ธะนิต พิศาลบุตร

“การเปิดฉากไล่คุณธะนิตก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการลดแรงกดดันธนาคารชาติ โดยโยนความผิดหรือข้อบกพร่องให้พ้นตัวไป ขั้นต่อมาประกาศขอให้แบงก์ของแบงก์ชาติ แต่แท้ที่จริงคือดึงลูกชายตนเองเข้ามานั่นเอง”

แผนการเหล่านี้ธนาคารชาติอ่านออกหมด วงการธนาคารกำลัง “จับตา” ดูคนบางขุนพรหมมากกว่ามอง “อินทรทูต” ด้วยซ้ำ ว่าบุคคลเหล่านั้นจะใช้ “ความกล้าหาญ” แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?

“อินทรทูต” นั้นมิใช่ธรรมดา ยากกว่าเอเซียทรัสต์ และมหานครหลายเท่า หากจะเข้าไป “แตะต้อง”

แต่ก็อยากรู้ว่า ROTHCHILD อย่างอินทรทูตจะเดินหน้าสวนทางประวัติศาสตร์ไปได้นานสักแค่ไหนเช่นกัน ?!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.