ชื่อโกดักนั้นเป็นชื่อที่เดินคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ด้านการถ่ายภาพ ครั้งใดที่มีการพูดถึงโกดัก
คนทั่วไปก็มักจะนึกถึงกล้องถ่ายรูปและฟิล์มเป็นหลักไม่ค่อยมีใครทราบว่าจริงๆ
แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอีสต์แมนโกดัก คอร์ปอเรชั่น นั้นยังมีสินค้านอกเหนือจากนี้อีกหลายชนิด
ซึ่งบางอย่างก็เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพและบางอย่างก็ไม่เกี่ยวกันเลย
ทุกวันนี้โกดักผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตเชื้อขนมปัง
เครื่องถ่ายเอกสาร จอภาพคอมพิวเตอร์ ตัวกลางสารเคมีที่ใช้ในการผลิตขวดโซดาพลาสติกขนาด
1 ลิตร และเป็นผู้ผลิตวิตามินอี ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากกล้องและฟิล์มตลอดจนผลิตภัณฑ์เพื่อการถ่ายภาพอื่นๆ ที่ทราบกันแล้ว
โกดักก่อตั้งโดยนักประดิษฐ์ชื่อ จอร์จ อีสต์แมน เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วในประเทศสหรัฐฯ
ปัจจุบันโกดักถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 25 ในบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา
มียอดขายตกกว่าสิบพันล้านดอลลาร์ต่อปี มีพนักงาน 125,000 คน กระจายอยู่ทั่วโลกโดย
80,000 คนอยู่ในสหรัฐฯ และโกดักได้กลายเป็น “มัลติ แนชชั่นนัล”
ตั้งแต่เมื่อปี 2433 เมื่อ จอร์จ อีสต์แมน ตัดสินใจเปิดสาขาของโกดักขึ้นที่ประเทศอังกฤษเป็นสาขาแรกนอกสหรัฐฯ
ด้วยความเชื่อมั่นและความมีสายตายาวไกลว่าการขายอุปกรณ์ถ่ายภาพจะเป็นที่นิยมในตลาดโลก
และในปี 2508 สาขาในประเทศไทยภายใต้ชื่อบริษัท โกดัก (ประเทศไทย) ก็ถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังที่ผลิตภัณฑ์โกดักทุกชนิดเคยจัดจำหน่ายโดยฝ่ายโกดักบริษัทบอร์เนียวมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายสิบปี
ทั้งนี้โกดัก (ประเทศไทย) มีฐานะเป็นสาขาที่ขึ้นตรงกับบริษัท โกดัก ฟาร์อีสต์
แห่งฮ่องกง
โกดัก (ประเทศไทย) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ เพิ่มจำนวนพนักงานจากเพียงไม่กี่สิบคนเป็นกว่า
200 คน และเพิ่มยอดขายจากไม่ถึงร้อยล้านบาทเป็นเกือบพันล้านบาทในปัจจุบัน
และเมื่อปี 2526 ก็ได้มีการลงทุนสูงถึง 12 ล้านเหรียญเพื่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นที่ถนนวิภาวดีรังสิต
นับเป็นสาขาหนึ่งที่บริษัทแม่ภาคภูมิใจในอัตราการเจริญเติบโตมาก
โกดักนั้นมีหลักยึดมั่นในด้านการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ
มีการสนับสนุนในด้านวิชาการและการวิจัยซึ่งโกดักต้องทุ่มเงินเฉพาะด้านการวิจัยมากกว่า
2 ล้านดอลลาร์ต่อวันเป็นหัวใจการทำงาน
“โกดักพร้อมเสมอที่จะสนองความต้องการของตลาดโกดักมีเจ้าหน้าที่เทคนิคฝ่ายขายที่เชี่ยวชาญ
ซึ่งได้รับการฝึกอบรมอย่างดีให้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ตนขาย
มีการส่งพนักงานไปอบรมที่ศูนย์ของโกดักในโรเชสเตอร์ สหรัฐอเมริกาตลอดมา...”
เค็นเน็ธ ดับบลิว เบาว์ตัน อดีตผู้จัดการใหญ่ของโกดัก (ประเทศไทย) เคยกล่าวไว้ก่อนหน้าการอำลาตำแหน่งของเขาเมื่อปลายปี 2526 ไม่กี่วัน
กว่าที่จะพัฒนาเติบใหญ่มาได้ โกดักผ่านสถานการณ์ใหญ่ๆ มาแล้วมากต่อมาก
เรื่องขอองสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล นั้นเมื่อเปรียบเทียบไปแล้วก็คงจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งสำหรับโกดัก
เพียงแต่เผอิญมันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ละเอียดอ่อนมากและโกดักลืมคิดถึงความละเอียดอ่อนของมันเท่านั้น
เรื่องเล็กๆ นี้จึงต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปในที่สุด
เจ ซี สมิธ จำเลยที่ 2
ผู้จัดการใหญ่ของโกดัก (ประเทศไทย) คนนี้เป็นอเมริกันวัย 51 ปี เข้ามารับตำแหน่งแทนผู้จัดการใหญ่คนเก่า เค็นเน็ธ
ดับบลิว เบาว์ตัน (ชาวอังกฤษ) เมื่อปลายปี 2526 และร่วมงานกับบริษัทโกดักมาแล้ว 25 ปีเต็ม ๆ
เจ ซี สมิธ ผ่านงานที่สหรัฐฯ เป็นแห่งแรก จากนั้นก็ย้ายไปประจำที่ประเทศอิหร่านและก่อนหน้าการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย สมิธ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของโกดักที่ประเทศเคนยาเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง
“ตลาดเมืองไทยใหญ่กว่ามาก นอกจากนั้นก็ยังมีการเคลื่อนไหว และขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วมาก”
สมิธให้ความเห็นเปรียบเทียบกันระหว่างเคนยากับไทยในฐานะผู้เพิ่งผ่านงานที่เคนยามาสดๆ ร้อน ๆ และกำลังจะเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของโกดักประเทศไทย
“ผมเข้ามาครั้งนี้ ก็ไม่มีแผนงานอะไรมาก แต่ผมมาพร้อมกับประสบการณ์และความชำนาญที่ร่วมงานกับโกดักมาแล้ว 23 ปี และในระยะแรกผมจะพยายามเรียนรู้งานทางด้านการตลาดของเมืองไทยให้เร็วที่สุด”
เจ ซี สมิธ พูดกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อต้นปี 2527 ช่วงเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน
ก็คงต้องยอมรับว่าเขาเรียนรู้งานได้ รวดเร็วเป็นพิเศษ
เพราะอีกไม่ถึงปีต่อมา เจ ซี สมิธ ก็ลงนามในคำสั่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฝ่ายการตลาดและก็มีผลให้ผู้จัดการฝ่ายคนหนึ่งที่ชื่อสุวัฒน์ แดงพิบูลย์ต้อง “เด้ง” จากตำแหน่งอย่างสายฟ้าแลบ
และผลก็เขา-เจ ซี สมิธ ต้องตกที่นั่งเป็นจำเลยที่สุวัฒน์เป็นโจทก์ไปในเวลาหลังจากออกคำสั่งนั้นไม่กี่เดือน
ณรงค์ จิวังกูร
จำเลยที่ 3
ณรงค์ จิวังกูร ปัจจุบันอายุ 44 ปี เข้าเริ่มงานกับโกดัก (ประเทศไทย) เมื่อวันที่
22 มีนาคม 2508 ปีเดียวกับการก่อตั้งบริษัท ถ้าพูดถึงความ “เก่า”
แล้ว ณรงค์ก็เป็นคนเก่าคนแก่ที่สุดคนหนึ่งของโกดัก (ประเทศไทย)
ณรงค์เริ่มงานกับโกดักด้วยตำแหน่งแอดเวอร์ไทซิ่งซุปเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือน
4,430 บาทค่อนข้างจะเป็นอัตราเงินเดือนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับวุฒิพาณิชย์ปี
3 จากอัสสัมชัญ คอมเมิร์ช ของเขา
ปี 2509 ขยับขึ้นมาเป็นแอดเวอร์ไทซิ่ง โคออดิเนเตอร์ เงินเดือน 4,960 บาท
เป็นแอดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์ เซลส์ โปรโมชั่น ซุปเปอร์ไวเซอร์ในอีก 2 ปีต่อมา
และในปี 2513 ก็ย้ายมาอยู่ในฝ่ายบุคคลมีตำแหน่งเป็นเปอร์ซอนนัลแอนด์ เทรนนิ่ง
ซุปเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือน 8,050 บาท
“ณรงค์ เป็นคนทะเยอทะยานและอยากมาอยู่ในฝ่ายขายมานานแล้ว เขาพูดเสมอว่างานการตลาดและงานการขาย
เป็นงานที่ท้าทายซึ่งเขาอยากทำ ส่วนงานด้านอื่นก็ธรรมดาๆ และณรงค์ไม่ใช่คิดหรือพูดอย่างเดียว
เขาพยายามทำทุกทางที่จะเข้ามาอยู่ในฝ่ายการตลาดมาโดยตลอดตั้งแต่ยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ทางด้านงานบุคคลและการฝึกอบรมด้วยซ้ำไป”
เพื่อนร่วมงานในโกดักคนหนึ่งพูดถึงณรงค์ให้ฟัง
ก็คงเข้าทำนองมีความพยายามที่ไหนย่อมมีความสำเร็จที่นั่น ปี 2514 ณรงค์จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายการตลาด
มีตำแหน่งแรกเป็นดีลเลอร์ เซลส์ ซุปเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือน 9,150 บาท อีก
1 ปีต่อมาก็ได้เป็นโปรดักส์ เซลส์ซุปเปอร์ไวเซอร์ และขึ้นเป็นเซลส์แมนเยอร์
เงินเดือน 13,310 บาทในปี 2516
ล่วงเข้าปี 2521 ก็เข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายการตลาดตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งเมเนเจอร์ถือกันว่าคนไทยคนแรก
ที่สามารถขึ้นมาได้สูงระดับนี้และปัจจุบันก็ยังรักษาตำแหน่งดังกล่าวไว้ได้อย่างมั่นคงในอัตราเงินเดือน
84,600 บาท อีกทั้งยังมีโอกาสจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่คนไทยคนแรกของโกดัก
(ประเทศไทย) อีกด้วย
การผ่านอายุงานมากว่า 20 ปีในโกดัก (ประเทศไทย) ของณรงค์นั้น ได้เพิ่มพูนประสบการณ์และรากฐานสำหรับตัวเขาในอนาคต (เพื่อดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่) มาโดยตลอด เช่นเดียวกับการสร้างผลงานชิ้นโบแดงเอาไว้หลายชิ้น
อย่างเรื่องของสุวัฒน์นี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนโกดักก็พูดกันมากว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ
ณรงค์ จิวังกูร ในแง่ของความกล้าหาญและเด็ดขาด
ส่วนว่าจะรอบคอบด้วยหรือไม่นั้นก็เห็นจะต้องรอฟังการตัดสินของศาลนั่นแหละ
รชนี วนกุล
จำเลยที่ 4
รชนี วนกุล เกิดวันที่ 19 พฤษภาคม 2487 เริ่มงานกับโกดักวันที่ 1 พฤษภาคม
2510 หลัง ณรงค์ จิวังกูร (จำเลยที่ 3) เพียง 2 ปี โดยเริ่มต้นที่ตำแหน่งเลขานุการในฝ่ายบริหาร เงินเดือน
4,080 บาท
รชนี มีวุฒิประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการเลขาฯ และการบริหารจาก BRIGHTON
TECHNICAL COLLEGE ประเทศอังกฤษ รชนีทำงานเป็นเลขาฯ ในฝ่ายบริหารได้ปีเดียวก็ขยับตัวเองมาเป็นเลขาฯ
ผู้จัดการฝ่ายและอีก 5 ปีต่อมาหรือในปี 2515 ก็รับตำแหน่งเป็นเลขาฯ ผู้จัดการใหญ่
เป็นการอยู่ในตำแหน่งยาวนานมากถึงกว่า 10 ปี โดยผู้จัดการใหญ่ที่รชนีทำหน้าที่เป็นเลขาฯ
ให้นานที่สุดก็คือ เค็นเน็ธ ดับบลิว เบาว์ตัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2518 และพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อปลายปี 2526
“รชนีเป็นคนขยันเอาการเอางานเป็นที่โปรดปรานของเบาว์ตันมาก...” พนักงานระดับบริหารของโกดักพูดกับ “ผู้จัดการ”
ในปี 2525 ก่อนหน้าการพ้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของเบาว์ตัน รชนีก็เลยได้รับการปูนบำเหน็จให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกประชาสัมพันธ์
ทำหน้าที่ด้านงานบุคคลให้กับบริษัท โกดัก (ประเทศไทย) ปัจจุบันรชนีก็ยังอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวด้วยอัตราเงินเดือนล่าสุด 29,000 บาท
รชนี วนกุล เป็นคนโสดแต่ดูเหมือนจะมีญาติทำงานอยู่ในโกดักประเทศไทยมากพอสมควร
อย่างเช่นญาติคนหนึ่งก็เป็นภรรยาของณรงค์ จิวังกูร อีกคนหนึ่งที่ชื่ออมราก็มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโกดัก (ประเทศไทย) และเชื่อมโยงไปถึงสามีของอมราที่ชื่อสยาม ที่มีตำแหน่งในโกดัก (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการ MARKETING EDUCATION CENTER อีกด้วย
นอกจากนั้นก็ยังมีหลานอีก 2 คน ชื่ออนุสรากับนวลจันทร์ทำงานอยู่ในโกดัก
อนุสรามีตำแหน่งเป็นเลขาฝ่ายวิเคราะห์และวางแผนด้านการเงิน มีสามีชื่ออนุทพงษ์ทำงานเป็น
PHOTO FAST RETAIL SALES COORDINATOR
ส่วนนวลจันทร์ก็มีตำแหน่งเป็นเลขาฯ ฝ่ายบริหาร
แน่นอน...สุวัฒน์ แดงพิบูลย์ มิใช่ญาติของรชนี วนกุล
สุวัฒน์กับรชนีครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิทสนมกันมาก
แต่ทุกวันนี้ฝ่ายหนึ่งเป็นโจทก์ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นจำเลยและทั้ง 2 ฝ่ายไม่พูดและไม่มองหน้ากันมานานพอสมควรแล้ว