ผุดเมืองใหม่สุวรรณภูมิ


ผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สศช.จัดผังเมืองใหม่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ พัฒนาศูนย์กลางการบิน รองรับการขยายตัวของเมือง ระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน พร้อมโครงข่ายถนน พื้นที่รวม 58,900 ไร่ คาด 9 ปี ใช้เงินลงทุน 159,127 ล้านบาท เผยระบบถนนและทางด่วนลงทุนมากที่สุด 86,224 ล้านบาท

วานนี้ (3 พ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดการสัมมนาเรื่อง "การวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ" โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด บริษัท เอเชี่ยน คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท แมเนจเมนท์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท Shankland Cox Saia Ltd. นำเสนอผลการศึกษาโครงการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณ ภูมิในระดับมหภาคระยะ 30 ปี (ถึง 2578) รัศมี 100 กิโลเมตร

นายสมควร วัฒกีกุล ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า ในการศึกษาดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการวางแผนผังที่ยั่งยืน สำหรับเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ โดยจะต้องมีเส้นทางเข้า-ออกสนามบินที่สะดวกจัด ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินให้กระจายอย่างเหมาะสม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีการจัดระเบียบผังเมือง โดยควรจะมีการวางระบบอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ซึ่งขณะนี้พระราชกฤษฎีกาการวางผังเมืองใหม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 แล้ว ซึ่งคาดว่าภายในรัฐบาลชุดนี้น่าจะมีผลบังคับใช้

นายเทอดเกียรติ ศักดิ์คำดวง คณะทำงานศึกษาโครงการฯ กล่าวว่าทางคณะทำงานได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า โดยประมาณการว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีประชากร 67 ล้านคน เป็น 74.4 ล้านคน จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มจาก 35 ล้านคน ในปี 2548 เป็น 80 ล้านคน ในปี 2578 การจ้างงานโดยตรงจาก 4.9 หมื่นคน เป็น 8 หมื่นคน การจ้างงานทางอ้อมจาก 2.45 หมื่นคน เป็น 4 หมื่นคน และการทำงานในอุตสาหกรรมสนับสนุนจาก 1.36 แสนคน เป็น 2.23 แสนคน จัดผังการใช้ที่ดิน 30 กม. รอบสนามบิน

โดยผังการใช้ที่ดินหลักในรัศมี 30 กม. รอบสนามบินจะมีการจัดเป็นย่านที่พักอาศัย โดยจะมีการปรับตัวเป็นศูนย์กลางรอง (Sub Center) ซึ่งควรจะมี 6 แห่งคือ หนองจอก มีนบุรี บางนา-ศรีนครินทร์ บางพลี-เทพารักษ์ และบางบ่อ ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรม จะมีการกำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป โดยจะอยู่แนวถนนบางนา-ตราด กับมอเตอร์เวย์ และส่วนใกล้แม่น้ำบางปะกง รวมถึงพื้นที่ส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของจ.ชลบุรี

การคาดการณ์การใช้ที่ดิน พ.ศ. 2578 พื้นที่ลาดกระบังตะวันตก ลาดกระบังตะวันออก และด้านตะวันออกของสนามบิน พื้นที่รวม 58,900 ไร่ สำหรับการใช้ใน 4 ประเภท คือ พื้นที่อุตสาหกรรมจำนวน 11,000 ไร่ เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบิน ซึ่งปลอดมลพิษและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลิตสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ พื้นที่พาณิชยกรรมจำนวน 2,200 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์นิทรรศการ ศูนย์ประชุม ศูนย์บันเทิง สำนักงาน ภัตตาคาร ร้านค้า โรงแรม และอพาร์ตเมนต์ พื้นที่พักอาศัย จำนวน 12,200 ไร่ สำหรับประชากร 3.5 แสนคน และพื้นที่สีเขียวประมาณ 21,800 ไร่รวมถึงพื้นที่ทำถนนอีก 11,700 ไร่ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีการพิจารณาทำแผนผังเมืองร่วมกัน เพื่อให้มีการพัฒนาที่สอด คล้อง

สำหรับระบบคมนาคมขนส่ง ที่คณะทำงานเห็นว่าควรจะมีการดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. โครงการวงแหวนมหานครระยะทาง 25 กม. เพื่อเชื่อมการเดินทางจากภาคใต้และตะวันตก ไปภาคเหนือได้ง่ายขึ้น 2. โครงการทางพิเศษ สายนวมินทร์-ฉะเชิงเทรา-สระแก้ว โดยจะเชื่อม ทางด่วนขั้นที่ 3 ที่ถนนนวมินทร์ไปตามแนวตะวันออกรวมทั้งเชื่อมเข้าสนามบิน และเชื่อมออกไปทางฉะเชิงเทราและสระแก้ว 3. โครงการทางพิเศษยกระดับรัตนาธิเบศร์ โดยเป็นทางยกระดับเชื่อมถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตกที่บางใหญ่กับถนนรามอินทรา

ในส่วนของระบบป้องกันน้ำท่วม คณะศึกษารายงานว่า ในระยะปี 2549-2558 จะมีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยาว 11.06 กม. บริเวณคลองสำโรง รวมทั้งปรับปรุงขยายคลองหลักในพื้นที่ด้านตะวันออกของสนามบิน 17 สาย ยาว 121.7 กม. ในช่วงปี 2559-2568 จะขุดคลองสายใหม่ ระยะที่ 1 จากคลองแสนแสบถึงชายทะเลยาว 40 กม. และช่วงปี 2569-2578 จะขุดคลองสายใหม่ ระยะที่ 2 จากคลองแสนแสบไปบรรจบ แม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทร และขยายคลองระยะที่ 1 ให้มีความกว้าง 200 เมตร เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ากรุงเทพฯ

9 ปี ลงทุน 159,127 ล้านบาท

สำหรับวงเงินลงทุนภายหลังจากการก่อสร้างสนามบินแล้วเสร็จ ได้กำหนดเป็นวงเงินในระยะ 30 ปี (พ.ศ.2549-2578) คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 159,127 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 5,304 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการถนนทางด่วน วงเงิน 101,335 ล้านบาท หรือประมาณ 63 % ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ที่เหลืออีก 37 % เป็นการลงทุนด้านอื่นๆ ได้แก่ ระบบป้องกันน้ำท่วม 41,100 ล้านบาท ระบบประปา 7,778 ล้านบาท ระบบไฟฟ้า 1,521 ล้านบาท ระบบโทรศัพท์ 938 ล้านบาท การจัดการน้ำเสีย 3,736 ล้านบาท และการจัดการขยะมูลฝอย 2,719 ล้านบาท โดยเงินลงทุนบางส่วนสามารถให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น โครงการทางด่วนสุวรรณภูมิ โครงการจัดการน้ำเสีย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และวิเคราะห์ผลตอบแทนทาง การเงินต่อไป

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการลงทุนเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 10 ปี คือ 2549-2558 วงเงิน 51,315 ล้านบาท หรือ 32% ช่วงที่ 2 และ 3 วงเงินลงทุน 47,046 ล้านบาท และ 60,766 ล้านบาท หรือ 30% และ 38% ของวงเงินลงทุนตามลำดับ และแยกเป็นการลงทุนตามหน่วยงาน 9 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 15,860 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 16,354 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 69,870 ล้านบาท กรมชลประทาน 41,100 ล้านบาท การประปานครหลวง 7,778 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง 1,521 ล้านบาท บริษัท ทศทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 938 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนจังหวัด 3,736 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 1,969 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.