ดร.ดอน ภาสะวณิช "ความหวังทุกอย่างอยู่ที่รัฐบาล"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ดอน ภาสะวณิช จากเมืองไทยไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นเขาย้ายไปศึกษาต่อปริญญาตรี-โท สาขาวิศวกรรม ไฟฟ้า ที่ Rensselaer Polytechnic Institute และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจจาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา และกลับไปต่อปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ Liverpool University ประเทศอังกฤษ

หลังจากนั้นเขาไปเริ่มต้นชีวิตการทำงานยังสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้น การทำงานที่ Westinghouse Science & Technology Center ในตำแหน่งหัวหน้า วิศวกรประจำแผนก Optical Physics & Plasma and Nuclear Science เป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ ต่อมาเขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นวิศวกรอาวุโส ประจำแผนก Physics International Corporation ทำอยู่ได้อีกประมาณ 7 ปี เขาตัดสินใจหอบหิ้วครอบครัวกลับมาเมืองไทย เพื่อได้ใกล้ชิดกับบุพการี ระหว่างที่เขากลับมาเมืองไทย เขาได้ร่วมงานกับ TT&T ในตำแหน่ง รองประธานและ หลังจากที่มีคำว่า "อาวุโส" ต่อท้าย "รอง ประธาน" ได้แค่เดือนเดียว เขาก็กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่ง Country Manager หรือตำแหน่ง General Manager ที่ DHL (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดอนเล่าว่า เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยรับผิดชอบในส่วนของ Back Office คือ ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่แผนก Optical Physics & Plasma and Nuclear Science ต่อมาพอมีคนรุ่นใหม่เข้ามาซึ่งเก่งกว่า เขาก็ย้ายไปอยู่ในส่วนของ Product Deve- lopment ที่แผนก Physics International Corporation และท้ายสุดได้อยู่ในส่วนของ Front Line คือ ทำงานที่เน้นเรื่องการขาย ที่ DHL ประเทศไทย

"ผมคิดว่า ผมได้ทำงานที่ครบวงจร และเหมาะสมแล้ว ตอนผมอายุน้อย ผมก็ทำด้านวิชาการ เขียนรายงาน ไปประชุมสัมมนา ซึ่งอเมริกายุคนั้นเป็น ยุคของเรแกน มีเงินทุนทางด้าน R&D เยอะมาก และผมก็ทำจนอิ่มตัว จนกระทั่งช่วง 10 ปีหลัง ที่โซเวียตล่มสลายแล้ว รัฐบาลอเมริกาต้องหาทางทำของขายให้ได้ ผมก็เปลี่ยนไปเป็นคนขายของ โดยเอางานวิจัยที่ทำในแลบออกไปขายพวก Venture Capital ที่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย โดยผมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างนักวิชาการกับนักลงทุน ซึ่งผมชอบมากได้เจอคนหลายประเภท และท้ายที่สุดผมก็มาเป็นผู้จัดการทั่วไปที่ DHL ประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่า เกือบจะเป็นงานที่ยากที่สุดของผมแล้ว เพราะเป็นงานจิปาถะมาก ต้องดูแลทุกเรื่อง แต่ผมคิดว่า เหมาะสมสำหรับผมที่อายุมากแล้ว ซึ่งวันนี้ ถ้าให้ผมไปเป็นผู้อำนวยการ R&D ที่ไหนสักแห่งผมก็คงไม่เอา เพราะคงไม่มีอะไรให้ทำ แต่ที่นี DHL ผมสามารถทำได้ทุกเรื่อง" ดอนเล่าประสบการณ์ทำงานของเขา

จาก "วิศวกร" สู่ "พ่อบ้าน"... นับเป็นประวัติการทำงานที่น่าสนใจทีเดียว เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

"ฝรั่งเขาจะรู้จักประเทศไทยจากรายงานข่าวเท่านั้น ซึ่งในรายงานก็จะบอกแค่ระดับความมั่นคงของรัฐบาล ความสะอาดของสนามบิน ระบบธนาคาร ของเรามีความเกี่ยวดองกันเป็นเพื่อนฝูงกันหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นของนอกกายของพวกเรา แต่เป็นสิ่งที่ฝรั่งเขารับรู้กันว่าเขาจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่มา ซึ่งถ้าเราสามารถเปลี่ยนภาพเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ผมคิดว่า ความเชื่อถือก็จะไม่มี และเงินทุนที่ไหลออกไปแล้ว ก็จะไม่กลับมาง่ายๆ และ ณ วันนี้ เงินทุนที่ไหลออกก็ยังคงไหลออกอยู่ ฉะนั้นบาดแผลของประเทศไทยยังปิดไม่สนิท" จากความเห็นนี้หลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกคล้อยตาม หรือขัดแย้ง แต่หากย้อนคิดให้ดีแล้วจะพบว่านี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยมาตลอด

เป็นความเห็นของชายหนุ่มผู้จากเมืองไทยไปนานกว่า 30 ปี และกลับเมืองไทยมาในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ ทางเศรษฐกิจพอดี ภาพที่เขาได้เห็นคือ การล่มสลายของธุรกิจไทย โดยเฉพาะการที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่สูญหายไปภายในพริบตาเดียว

เขายังแสดงความเห็นต่อประเด็น นี้อีกว่า

"ผมว่า ถ้ารัฐบาลไทยใจกล้าแบบเกาหลีใต้ ซึ่งค่อนข้างรุนแรงมาก มีการเขียนกฎหมายใหม่เป็นร้อยๆ ฉบับ ซึ่งฟังดูดีแม้ว่าข้างในจะเละอยู่ แต่ภาพที่ออกมาคือ มีการเปลี่ยนแปลง แต่ของ เรากว่าจะเขียนกฎหมายได้ 1 ฉบับเถียง กัน 2 ปี และแก้ไปแก้มาเหลืออยู่นิดเดียว คนอ่านเขาก็รู้ว่ามั่ว ถ้าเรายังเป็นแบบนี้อยู่ ผมคิดว่าจะไม่มีคนมาลงทุน แต่ก็โชคดีที่เราไม่ได้แย่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เรายังมีโอกาส แต่ต้องมีความตั้งใจด้วย และพวกหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะต้อง เริ่มมีปากเสียง เริ่มพูดแทนเมืองไทยได้แล้ว ฝรั่งเขาไม่ได้นั่งอยู่ในเมืองไทย เขา อ่านแต่ข่าว ซึ่งข่าวเหล่านั้นก็เขียนแต่เรื่องของรัฐบาล...สนามบิน...รถติด ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ก็เริ่มแก้ไข และออกกฎหมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ และบังคับใช้ได้จริง ภาพพจน์ของประเทศจะดีขึ้น เพราะทั้งหมดนี้คือ เรื่องของ "ภาพพจน์" เท่านั้น"

นอกจากนั้น เขายังคิดว่า ถ้าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีโอกาสได้ขึ้นมาบริหารประเทศ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงที่ดีขึ้น โดยเขาหวังว่า "คนยุคใหม่ จะสามารถสร้างความแตกต่างได้ และสามารถตอบได้ว่าที่ประเทศไทยเจ๊ง เพราะคนรุ่นก่อนบริหารงานไม่ได้ประ-สิทธิภาพประสิทธิผล" มุมมองของเขาน่าคิดทีเดียว...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.