วีซ่าปรับโฉมเดินเครื่องลุยบัตรเดบิตจับตลาดไทย3ปียอดเท่าบัตรเครดิต


ผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

วีซ่าเตรียมเดินเครื่องลุยตลาดเอเชีย-แปซิฟิกเต็มที่ ชี้มองเห็นช่องทางขยายตลาด 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ จีน-ญี่ปุ่น-อินเดีย เปลี่ยนรูปแบบบัตรเดบิตใหม่เพิ่มโลโก้วีซ่า เผยความเสี่ยงจากก่อการร้าย และซาร์สที่อาจกลับมา ส่วนไทยวีซ่ามียอดโตที่สุดถึง 45% เร่งกระตุ้นให้บัตรเดบิตมียอดเท่าเครดิตใน 3 ปี ส่วนเซทเทเล็มชี้ยังมีช่องว่างตลาดบัตร เครดิตอีกส่งสบายการ์ดแบ่งเค้กตลาด คาดปีหน้ายอดถึง 3 แสนใบแน่

มร.รูเพิร์ต จี คีลีย์ ประธานบริหาร วีซ่า เอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ทางวีซ่าจึงให้ความ สำคัญในการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้มาก เมื่อดูจากยอดตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าทั่วโลกมีปริมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่เอเชีย-แปซิฟิก มีการใช้จ่ายถึง 2.54 แสนล้านเหรียญ สหรัฐ หรือ 15% ของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรทั่วโลก

การใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีอัตราการใช้จ่ายผ่านบัตรขยายตัวถึง 7 เท่า โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่มีปริมาณประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของ โลกและมีการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูงถึง 70% ของภูมิภาค แต่ปริมาณการใช้บัตรเครดิตยังน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากจุดรับชำระบัตรยังมีน้อย ประชาชนยังนิยมจับจ่ายใช้สอยโดยเงินสด

รูปแบบของบัตรเดบิตใหม่จะไม่มีการปั๊มตัวนูนเหมือนบัตรแบบเก่า และเพิ่มสัญลักษณ์รูปธงของวีซ่าเข้า ไปทำให้ผู้ที่ถือบัตรจดจำสัญลักษณ์ มีความเชื่อมั่นว่าสามารถใช้บัตรเดบิตของวีซ่ากับร้านค้าทั่วไปที่รับบัตรเครดิต อยู่แล้ว อีกทั้งยังทำให้ผู้ถือบัตรมีความมั่นใจที่จะใช้บัตรในการรูดซื้อสินค้ามากขึ้นกว่าเดิมที่ผู้ถือบัตรนิยมใช้เพียง แค่กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเท่านั้น

มร.รูเพิร์ต กล่าวถึงการจัดการด้านความเสี่ยงและปัจจัยในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยทางด้านการเมืองของคาบสมุทรเกาหลี เรื่องการก่อการร้ายและโรคซาร์สที่อาจจะกลับมาอีก เพราะหากเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตโดยรวมได้ ในแต่ละประเทศที่วีซ่าเข้าไปดำเนินธุรกิจ จะออกผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบ และพัฒนาตลาดบัตรเครดิตให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีภายใต้ความยุติธรรม

ส่วนธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศ ไทยนั้นในปีนี้ถือว่ามีการเติบโตสูงที่สุด ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากการ ที่เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น โดยมียอดสินเชื่อเฉพาะที่ผ่านบัตรเครดิตของวีซ่าสูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 45% แต่ปริมาณสินเชื่อที่ไม่อยู่ในระบบยังมีเหลืออีกสูง อัตราดอกเบี้ยก็แพงกว่ามาก ดังนั้นวีซ่าจึงร่วมมือกับธนาคารที่เป็นสมาชิก เพื่อดึงผู้บริโภคที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาเป็นลูกค้าของบัตรเครดิตในระบบมากขึ้น

ประธานบริหารวีซ่า เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ยอดบัตรเครดิตและเดบิตของวีซ่าในประเทศไทยสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้มียอดบัตรเครดิต 3.07 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 43% ยอดบัตรเดบิตจำนวน 5.4 ล้านใบ แต่ปริมาณการใช้จ่ายถึง 99% มาจากบัตรเครดิต ทางบริษัทจึงต้องหาวิธีกระตุ้นให้ลูกค้าที่ถือบัตรเดบิตให้ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มเติมด้านการตลาดบัตรเดบิตในรูปแบบใหม่ให้มีการใช้จ่ายเท่ากับบัตรเครดิตภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การที่จะเพิ่มปริมาณการใช้จ่ายให้ได้ตามที่ต้องการนั้น บริษัทก็ได้เตรียมขยายจุดรับชำระให้มีปริมาณมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีจุดรับชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตจำนวน 1.5 แสนร้านทั่วประเทศ 7 หมื่นแห่งเป็นร้านค้าที่มีเครื่องรูดบัตรแบบใหม่ที่เรียกว่าเครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ที่สามารถรับบัตรเดบิตได้ด้วย

นายเปโดร โรดิเกซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซทเทเล็ม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ช่องทางในการขยายธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตที่สูงอยู่มาก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เรียกว่า สบายการ์ด ที่นับว่าประสบความสำเร็จมาก บัตรนี้เป็นบัตรที่เน้นความปลอดภัยในการใช้บัตรของลูกค้าผู้ถือบัตรและคู่ค้ารูปแบบการใช้งานของบัตรแตกต่างกับคู่แข่งเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ผ่อนชำระ 5% ของวงเงินในบัตรไม่ใช่ของยอดวงเงินที่ใช้ทำให้ลูกค้าสามารถ ควบคุมงบประมาณของตนเองได้ง่ายขึ้น ป้องกันไม่ให้ลูกค้ามีหนี้สินเกินตัว

บริษัทตั้งเป้ายอดบัตรสิ้นปีนี้ 5 หมื่นใบ สิ้นปีหน้า 3 แสนใบ โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 10,000 บาทต่อบัตร บัตรมีการเคลื่อนไหว 100% เพราะเป็นบัตรเครดิตประเภทกึ่งผ่อน ชำระจึงทำให้บัตรทุกใบของบริษัทมีการใช้จ่าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.