3บริษัทจ่อคิวเข้าตลท.กิมเอ็ง-เอสซี-เจมาร์ท


ผู้จัดการรายวัน(30 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

2 บริษัท หลักทรัพย์-อสังหาฯ รวมถึง บล. กิมเอ็ง-เอสซี แอสเสท เตรียมขายหุ้นประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) เดือนหน้า ขณะที่เจมาร์ท ผู้ขายโทร.มือถือ และอุปกรณ์ ไอพีโอ ปี 47

บล.กิมเอ็งจะกระจาย 132.77 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 5 บาท วันที่ 19-21 พ.ย.เพื่อระดมทุนขยายฐานการดำเนินธุรกิจ จะเริ่ม ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ประมาณต้น ธ.ค.นี้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่จากเมืองลอดช่องยัน ยังถือหุ้นใหญ่บริษัทในไทยระยะยาว เพราะฟันกำไรงาม

ส่วน เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นจะเสนอขาย หุ้นให้ประชาชนทั่วไป 64.6 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 15 บาท ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย.นี้ บล.ธนชาติเป็นที่ปรึกษา การเงิน จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 13 พ.ย.

ด้านเจมาร์ทประกาศปี 2547 ขอทะยานแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้ารายได้ 5,000 ล้านบาท หลังจากจัดระเบียบความพร้อมของบริษัทเรียบร้อย เชื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้นปีหน้า กระจายหุ้น 50 ล้าน เพื่อนำไปใช้ลงทุนสาขาและบริการสินเชื่อ

นายมนตรี ศรไพศาล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในเครือ กลุ่มกิมเอ็งจากสิงคโปร์ กล่าวว่าการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ จะแบ่งเป็นหุ้นสามัญเดิมของบริษัท 52.77 ล้านหุ้น โดยเสนอขายประชาชนทั่วไป 32.77 ล้านหุ้น และ 20 ล้านหุ้น เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของบริษัท คือบริษัท กิมเอ็ง โฮลดิ้ง จากสิงคโปร์ นำหุ้นเสนอขายอีก 80 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้ลูกค้า และผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้า 60 ล้านหุ้น ที่เหลืออีก 20 ล้านหุ้น เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท

หุ้นดังกล่าว จะเสนอขายราคาเดียวกันทั้งหมด กำหนดราคาจากนักลงทุนสถาบัน (Book building) อีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

ผู้ถือหุ้นใหญ่ลอดช่องยังถือหุ้นบริษัทยาว

หลังจากเสนอขายหุ้นครั้งนี้ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 2.725 พันล้านบาท โครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท กิมเอ็ง โฮลดิ้ง ถือหุ้นประมาณ 71% ผู้ถือหุ้นรายย่อย 17% และพนักงาน 12% นโยบายการถือหุ้นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสิงคโปร์ ขณะนี้ บริษัทได้รับคำยืนยันกลุ่มนี้จะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท

เนื่องจากการลงทุนในประเทศไทย ยังให้ผลตอบแทนดี กลุ่มนี้มีความคิดจะลงทุนระยะยาวต่อไป

เขากล่าวว่าผลประกอบการบริษัทงวดครึ่งปีแรก บริษัทกำไรสุทธิ 370 ล้านบาท เทียบงวดไตรมาส แรก บริษัทกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท บริษัทอัตราทำกำไรสูงขึ้น เนื่องจากภาวะการลงทุนในตลาดหลัก- ทรัพย์ไทยคึกคัก

บริษัททำหน้าที่ที่ปรึกษาการเงินให้บริษัทที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 9 เดือนแรกปีนี้ 8 บริษัท ภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ มีอีก 3 บริษัท ผลประกอบการรวมทั้งปีน่าจะเติบโตดีขึ้นมากเมื่อเทียบปีก่อน บริษัทจะปรับงวดบัญชี ให้สิ้นสุดงวด ธ.ค.จากปัจจุบันงวดบัญชีสิ้นสุด มี.ค.

ปัจจุบัน บริษัทส่วนแบ่งตลาดด้านหลักทรัพย์ ในไทย 11% ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของระบบ บริษัทได้รับการจัดอันดับเครดิตBBB จากสถาบันจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ในเครือฟิทช์จากอังกฤษ มี 32 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัทมีลูกค้าเปิดบัญชี และซื้อขายหุ้นต่อเนื่องกับบริษัทประมาณ 1 หมื่นบัญชี บริษัทมีงานวิจัยที่ให้บริการกับลูกค้า ทำให้เชื่อว่า จะรักษาลูกค้าบริษัทได้ ส่วนแบ่งตลาดที่อยู่อันดับ 1 ปัจจุบันบริษัทน่าจะรักษาไว้ได้ สัดส่วนลูกค้าสถาบัน ต่างประเทศของบริษัท ก็เพิ่มขึ้น จาก 10% ของพอร์ต ลูกค้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ปัจจุบัน

นายมนตรีกล่าวว่า บริษัทฯ แต่งตั้งบริษัท ไอเอฟซีที แอดไวเซอรี จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ บริษัทหลักทรัพย์โกล-เบล็ก และบริษัทหลักทรัพย์ไซรัส ร่วมเป็นแกนนำจัดจำหน่าย ร่วมกับผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายรายอื่นประมาณ 20 ราย คาดว่าจะเสนอขายระหว่าง 19-21 พ.ย.นี้

ผลดำเนินงาน บล.กิมเอ็งน่าพอใจ โดยปี 2545 กำไรสุทธิ 258 ล้านบาท ไตรมาส 1 ณ สิ้น มิ.ย. ปีนี้ กำไรสุทธิ 85.ล้านบาท หลังควบรวมกับบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ในเครือหยวนต้าจากไต้หวันต้นปี 2545 บล. กิมเอ็งก็เป็นโบรกเกอร์ที่ส่วนแบ่งตลาดด้านค้าหลักทรัพย์สูงสุดอันดับ 1 โดยตลอด

ด้านงานวาณิชธนกิจ มีผลงานต่อเนื่อง ได้รับความไว้วางใจเป็นที่ปรึกษาการเงินและแกนนำจัดจำหน่ายหุ้นให้ลูกค้าหลากหลายธุรกิจ เช่น ทีมพรีซิชั่น นวลิสซิ่ง ทรีนิตี้ ราชธานีลิสซิ่ง บางปะกงเทอร์-มินอล อีจีวี ตลอดจนไทยมิตซูวา

มีอีก 5 บริษัท ที่จะเสนอขายหลักทรัพย์ระยะเวลาอันใกล้ ดังที่ได้เป็นที่ปรึกษาขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ททบ. 5 บริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี หุ้นและวอแรนต์ธนาคารนครหลวงไทย บริษัท ฮั้วฟงรับเบอร์ (ประเทศไทย) เป็นต้น

หุ้น บล. กิมเอ็งจะเป็นหุ้นกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์รายแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลดีจากมูลค่าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นมากถึงเฉลี่ยวันละ 20,000 กว่าล้านบาท

เงินที่ระดมได้ครั้งนี้ กิมเอ็งจะใช้เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ รวมทั้งเริ่มต้นธุรกิจบริหารกองทุน และตราสารอนุพันธ์ (Derivative Warrants)

ส่วนหุ้นสามัญเดิมที่บริษัท กิมเอ็ง โฮลดิ้งส์ ผู้ถือหุ้นใหญ่สิงคโปร์ นำออกจำหน่ายรวม 80 ล้านหุ้น เป็นเจตนารมณ์และความตั้งใจเดิมของผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่จะดำเนินธุรกิจระยะยาวในไทย การนำหุ้นสามัญเดิมจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าผู้มีอุปการคุณต่อบริษัท รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ จะช่วยสร้างความ ร่วมมือร่วมใจอันดี ที่จะก่อเกิดมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ ซึ่งจะส่งผลมูลค่าธุรกิจระยะยาว

หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นราคาเดียวกับที่เสนอขายประชาชนทั่วไป หุ้นส่วนนี้ จะมีระยะเวลาห้ามขายหุ้น (Silent Period) อย่างน้อย 6 เดือน

เจมาร์ทประกาศปี 47 ขอทะยานแบบก้าวกระโดด

ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปี 2547 หลังจากหุ้นบริษัทซื้อขายในตลาดช่วงต้นปี จะเป็นปีที่เจมาร์ททะยานอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคาดว่า บริษัทจะมียอดขายรวมทั้งปี 5,000 ล้านบาท ผลประกอบการเจมาร์ทปีนี้ คาดเกินเป้าหมายที่วางไว้เมื่อต้นปีประมาณ 3,600-3,700 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 25% เมื่อเทียบกับปี 2545 ที่มีรายได้ 2,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 42 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 4% ของตลาด

"ที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจมักต้องดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลักว่า ลูกค้าต้องการสิ่งใด อยากได้อะไร แต่ทางเจมาร์ทเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้ประกอบธุรกิจน่าจะเป็นฝ่ายนำเสนอสิ่งดีๆ แก่ผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า Consumer Centric" สิ่งนี้เจมาร์ทถือเป็นแนวนโยบายการตลาดรูปแบบใหม่ที่พร้อมเสนอ ที่ผ่านมา เจมาร์ทวางรากฐาน ต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเน็ตเวิร์ก จำนวนร้านสาขา บริการสินเชื่อ บริการติดตามหนี้ บริการต่างๆ ที่บริษัทพัฒนามาตลอด สิ่งเหล่านี้ ทำให้เจมาร์ทพร้อมอย่างยิ่ง

เรื่องระบบเน็ตเวิร์กที่ใช้สื่อสารภายในระหว่าง สาขา นับว่าเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบและมากที่สุดในวงการร้านค้าจำหน่ายปลีกโทรศัพท์เคลี่อนที่ ใช้เงิน ลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ทำให้สามารถบริหารสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ ยังลงทุนระบบ CRM อีก 10 ล้านบาท

เวลานี้เจมาร์ทมีฐานข้อมูลอยู่กว่า 200,000 ราย ปีหน้า ฐานข้อมูลจะเพิ่มเป็น 500,000 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลต่อการทำตลาดของเจมาร์ทปีหน้า สำหรับลูกค้าเจมาร์ท อาทิ การจัดคอนเสิร์ตพิเศษฟรีสำหรับลูกค้าเจมาร์ท ซึ่งทำให้บริษัทพร้อมพัฒนาบริการใหม่ๆ

นายอดิศักดิ์ยังกล่าวถึงความพร้อมของเจมาร์ทด้านสาขาว่า วันนี้เจมาร์ทมีสาขาอยู่ถึง 180 แห่ง จะเพิ่มอีก 40 สาขาปีหน้า ทำให้ปีหน้า เจมาร์ท จะมีสาขาทั้งหมด 220 แห่ง ซึ่งทำให้เจมาร์ทพร้อมเรื่องสาขาที่ได้เปรียบกว่าร้านค้าจำหน่ายปลีกรายอื่น ในตลาด

สำหรับบริการด้านสินเชื่อ ไทยเอ็กเพรส ที่ให้บริการสำหรับในร้านเจมาร์ท หลังจากเปิดให้บริการ 3-4 เดือนที่ผ่านมา นายอดิศักดิ์บอกว่า ขณะนี้เป็นช่วงทดสอบเน็ตเวิร์กและระบบภายใน จะเริ่มดำเนิน การจริงจังหลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

"ผมเชื่อว่า ปี 2547 จะเป็นปีที่น่าตื่นเต้นมากสุดนับตั้งแต่ที่ผมทำธุรกิจทางด้านนี้มา"

นายอดิศักดิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้านำบริษัท เข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า เชื่อว่า บริษัทจะเข้าตลาดฯ ได้ช่วงต้นปีหน้าแน่นอน ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ราคาพาร์ 5 บาท จะระดมเพิ่มอีก 50 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ขยายสาขาและลงทุนบริการสินเชื่อเท่านั้น จึงระดมทุนไม่มาก

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ รองผู้จัดการฝ่าย การตลาด เจมาร์ท กล่าวว่า จากกลยุทธ์ Consumer Centric ที่เจมาร์ทเตรียมไว้แล้ว เจมาร์ทยังมีความต้องการที่จะให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้ามักประสบปัญหาในการนำโทรศัพท์มือถือมาซ่อมทำให้อาจต้องพลาดการติดต่อสำคัญๆ ไป เจมาร์ทจึงได้ริเริ่มบริการหลังการขายใหม่ โดยใช้ชื่อว่า TEMPO FONE ซึ่งเป็นการให้บริการมือถือสำรองสำหรับผู้นำมือถือมาซ่อมที่ร้านเจมาร์ททุกสาขาสามารถขอรับบริการได้

"บริการนี้ ทางเจมาร์ทเตรียมเครื่องไว้รองรับบริการนี้เอาไว้ 1,000 เครื่องหลากหลายยี่ห้อ ปัจจุบัน ผู้ที่เข้ามาใช้บริการซ่อมบำรุงในร้านเจมาร์ทแต่ละเดือน 1,000 เครื่องมีระยะเวลาในการดำเนินการให้บริการแต่ละเครื่องประมาณ 3 วัน จึงเชื่อว่าบริการนี้จะเป็น อีกหนึ่งในบริการหลังการขายที่สามารถตอกย้ำความ มั่นใจและสร้างความพึงพอใจในสินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่"

เอสซี แอสเสทจะเสนอขาย 64.6 ล้านหุ้น

นายสุรเธียร จักรธรานนท์ กรรมการผู้อำนวย การ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าปีนี้ บริษัทประมาณการรายได้รวม 1.07 พันล้านบาท จะมีกำไรสุทธิ 130 ล้าน บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545

บริษัทมีรายได้รวม 260 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจสำนักงานให้เช่าจากอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 สาเหตุที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นมาก เกิดจากการที่บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างองค์กรใหม่ และนำโครงการบ้านจัดสรร เริ่มรับรู้รายได้ปีนี้ ซึ่งทยอยรับรู้ใน 3 ปี มูลค่าขายโครงการรวมประมาณ 4 พันล้านบาท

บริษัทนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน ลงทุนและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นเงินลงทุนโครงการ ต่างๆ ซึ่งเขากล่าวว่า จากนี้ อีก 3 ปี บริษัทจะเร่งให้มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นว่า โครงการ ใหม่ของบริษัทที่เกิดขึ้น จะได้รับความสนใจจากลูกค้า

ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการธุรกิจบ้านจัดสรร 2 แห่ง คือโครงการบางกอก บูเลอวาร์ด 301 ยูนิต มูลค่าขายโครงการประมาณ 2.26 พันล้านบาท โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2548

ขณะนี้มีความคืบหน้าโครงการแล้วกว่า 61% ของส่วนที่เปิดขายปีนี้ ใช้เงินก่อสร้างแล้ว 400 ล้านบาท การเปิดขายโครงการ ณ วันที่ 15 ต.ค.ยอดจอง โครงการแล้ว 41% หรือประมาณ 100 หลัง

โครงการบ้านชาลิสา ภายใต้บริษัท วี.แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทย่อย 81 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 210 ล้านบาท จะเสร็จปี 2547 คืบหน้าประมาณ 72% ของส่วนที่เปิดขายปีนี้ ใช้เงินลงทุนแล้ว 42 ล้านบาท โครงการดังกล่าว ผู้สนใจแล้ว 68 หลัง ทั้ง 2 โครงการ ใช้แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน

หลังเพิ่มทุน บริษัทจะมีทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 3.21 พันล้านบาท จากปัจจุบัน 2.56 พันล้านบาท ทุน จดทะเบียน 3.5 พันล้านบาท โครงการสร้างผู้ถือหุ้น หลังเสนอขายหุ้นแล้ว ดังนี้ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร จะถือหุ้น 28.97% จากปัจจุบัน 36.27% นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 28.97 จาก 36.27% และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร 2.88% จาก 3.61% ครอบครัวชินวัตร ถือหุ้นรวม 60.82% จาก 76.15% Overseas Growth Fund 9.90% จาก 12.39% Offshore Dynamic Fund 9.15 จาก 11.46% รายย่อย 20.13%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.