TOCขายIPOที่30บาทฟุ้งนักลงทุนจอง15เท่า


ผู้จัดการรายวัน(29 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอซีเคาะราคา หุ้นไอพีโอที่ 30 บาท หลังประสบความสำเร็จจากการเดินทางโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนักลงทุนทั้งไทยและเทศสนใจจอง ซื้อสูงกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายเฉลี่ยถึง 15 เท่า เนื่องจากแนวโน้ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาขึ้น เริ่มเทรดซื้อขายในตลาดวันที่ 6 พ.ย.นี้ โดยเงินที่ได้จากการ เพิ่มทุนจะนำมาใช้ในโครงการ อีโอ/อีจี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาดึงพันธมิตรต่างชาติร่วมทุน คาดสรุปผลเจรจาต้นพ.ย.นี้

วานนี้ (28 ต.ค.) บริษัท ไทย โอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน)(toc) แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัดและบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 17 บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย โดยจะเปิดจอง ซื้อหุ้นในวันที่ 29-31 ตุลาคมนี้ เสนอขายในราคาหุ้นละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาที่กำหนดไว้ที่ 24-30 บาท โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้

นายวุฒิชัย สัตยพานิช รองผู้จัดการใหญ่สายงานการบริหาร บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหา ชน) กล่าวว่า จากการพบนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการ ทำโรดโชว์ ระหว่างวันที่ 14-27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้รับการต้อนรับจากนักลงทุนดีมาก โดยปริมาณความต้องการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนสูงกว่าปริมาณหุ้นที่บริษัทเสนอขายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น กรรมการผู้ได้รับมอบอำนาจ จึงมีมติจัดสรรหุ้นส่วนเกิน หรือover-allotment อีก 29 ล้านหุ้น จัดสรร ให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้หุ้นที่เสนอขายครั้งนี้มีจำนวน 226 ล้านหุ้น จัดสรรให้นักลงทุนในประเทศ 55% และนักลงทุนต่างประเทศ 45% ของจำนวนหุ้นที่เสนอ ขายโดยหุ้นส่วนเกินดังกล่าวเวลานี้ ได้จัดสรรหมดแล้ว โดยได้ยืมหุ้นจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ โดยทีโอซีจะซื้อหุ้นในกระดานมาใช้คืนปตท.ในภายหลัง หากราคาหุ้นในกระดานสูงเกิน ก็จะใช้คืนเงินในรูปเงินสดที่ระดับราคาไอพีโอ หรือ 30 บาทต่อหุ้น จากการเพิ่มทุนดังกล่าว ทางปตท.จะลดสัดส่วน การถือหุ้นจากเดิม 630.3% เหลือเพียง 44%

นายวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจหุ้นTOC เนื่องจากวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาขึ้น ความต้องการใช้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ 1-2 ปีข้างหน้า จะขยายตัวเฉลี่ย 5-6% ในขณะที่กำลังการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าเพียง 3-4% เท่านั้น ทำให้ราคาขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น

นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศให้ความสนใจ จองซื้อ TOC สูงกว่า 20 เท่า ส่วนนักลงทุน ทั่วไปให้ความสนใจจองซื้อมากเช่นกันแต่ไม่สามารถประมาณการออกมาเป็นตัวเลขได้ และนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจจองซื้อมากกว่า 10 เท่า จึงได้สรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวโดยแบ่ง เป็นนักลงทุนในประเทศ 55% แบ่งเป็นนักลงทุน สถาบัน 20% นักลงทุนทั่วไป 35% และนักลงทุน ต่างประเทศ 45%

เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจในหุ้นสามัญเพิ่มทุน TOC จึงมีส่วนสนับสนุนให้หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน โดยขณะนี้หุ้นกลุ่มดังกล่าวกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนตามภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จะเห็นได้จากราคาหุ้น ATC, APC, PTT และ PTTEP ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศไทย ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาระยะ หนึ่งแล้ว

"ขณะนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยเหมือนกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีอนาคตสดใส คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโต 3-5 ปี อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ทำให้โรงงานต่างๆ ที่ไม่ได้ขยายงานมา 3-5 ปี ได้ขยายงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงมีผลทำให้ราคาสินค้าปิโตรเคมีมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น และบริษัทฯมีแผนขยายงานที่จะแล้วเสร็จในอีก 2ปีข้างหน้า ดังนั้น นักลงทุนถือหุ้น TOC ในระยะยาว ก็ไม่น่าผิดหวัง เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าว คาดว่าจะเติบโตสูงสุดในช่วง 2548-2549Ž"

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า จากการที่บริษัทเดินทางโรดโชว์ในต่างประเทศทั้งแถบเอเชียและยุโรปพบว่า นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจสั่งจองหุ้นของ TOC สูงมาก โดยสนใจจองซื้อประมาณ 87% จาก ยอดของนักลงทุนที่เข้าฟัง หากบริษัทไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่จองซื้อ เชื่อว่าจะมีความต้องการสูงกว่านี้อีกหลายเท่า โดยราคาเสนอขายนี้ถือว่าเป็น ราคาพรีเมี่ยมที่นักลงทุนได้เสนอมา เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาค เอเชีย อยู่ที่ระดับ P/E 11 เท่า และถือเป็นหุ้นที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้ (เฉพาะไอพีโอ) คิดเป็นมูลค่า 6,780 ล้านบาท

นายวุฒิชัย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาปิโตร เคมีว่า จากการสำรวจราคาปิโตรเคมีในตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นประมาณ ปีละ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยขณะนี้ราคาเอทิลีนอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และราคาโพพีลีน กว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน

"สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีในตลาดโลกเติบโต 1.5-2 เท่าของจีดีพี เนื่องจากในการสร้างโรงงาน แต่ละแห่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างอย่างน้อย 5 ปี จึงจะเริ่มต้นการผลิตได้ ดังนั้น ในช่วงนี้จึงมีวัตถุดิบออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาในตลาดโลกจึงขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายวุฒิชัย กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะนำ ไปใช้ลงทุนในโครงการปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่อง คือ โครงการผลิตสารโมโนเอทิลีนไกลคอล (อีโอ/อีจี) ขนาดกำลังผลิต 3 แสนตันต่อปี ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงโรงโอเลฟินส์ในปัจจุบันที่จังหวัด ระยอง นับเป็นโรงงานผลิตอีโอ/อีจีแห่งแรกของ ประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2549 แผนการตลาดจะเน้นขายในประเทศ ประมาณ 70% ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ

โครงการดังกล่าวขณะนี้กำลังเจรจาร่วมทุน กับบริษัท โอมานออยล์ และบริษัท แอลจี อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีสัดส่วนการร่วมทุนไทยโอเลฟินส์ ถือหุ้น 60% โอมานออยล์ 20% และแอลจี 20% คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนพฤศจิกายนศกนี้ โดยTOC ใช้ในการลงทุนประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมเงิน

ปัจจุบัน TOC ขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 400 ล้านบาท คาดว่าในไตรมาส 1 ของปี 2547 จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมด และสามารถที่จะจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานงวดปี 2547 ในอัตราการจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.