นักการตลาดชี้ลงทุนคุ้มค่าจบเอเปกไทยรับผลดีเพียบ


ผู้จัดการรายวัน(24 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรดานักการตลาดของไทย มั่นใจผลพลอยได้ของไทยหลังจากจบเอเปกมีมหาศาล ต่างชาติทั้งที่เป็นคู่ค้ากับไทยและที่ยังไม่เป็น จะขนเงินมาลงทุนมากขึ้น เพราะมั่นใจศักยภาพของไทย รวมถึงความปลอดภัยทั้งด้านการเมือง การทหาร การลงทุน ชี้ทุ่มพันล้านจัดประชุมถือว่าคุ้มแต่ต้องมองระยะยาว

ผศ.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักกลยุทธ์และที่ปรึกษาการตลาดในหลายองค์กร กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 20-21 ต.ค.ที่ผ่านมา และดำเนินการผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการจัดงานนี้หลายด้าน โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนแล้วก็คือ การค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออกใน 20 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปกจะมีทิศทางดีขึ้น

ในแง่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ได้แสดงศักยภาพหลายด้านให้ต่างประเทศได้เห็น แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือสินค้าโอทอป อาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งจุดเด่นด้านนี้ได้ถูกเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับทราบแล้วจากกองทัพผู้สื่อข่าวที่ติดตามผู้นำแต่ละประเทศมารายงานข่าวกว่า 2,000 คน

การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกของไทย หากมองในแง่การตลาดแล้ว ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานและประเทศ ถือว่าไทยดำเนินการได้อย่างดีเยี่ยม เพราะภาพการจัดงานได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าคุ้มมาก และยังมีแรงเหวี่ยงต่อมายังธุรกิจที่เป็นจุดเด่นของไทยที่สามารถทำมาต่อยอดทางธุรกิจได้อีก

ชูกลยุทธ์ความเป็นไทยผสานสากล

ผศ.ธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า รูปแบบการจัดงานประชุมเอเปกครั้งนี้ เป็นการผสมผสานกลยุทธ์การตลาดด้านความเป็นไทยและความเป็นสากลได้อย่างดีเยี่ยม จากการจัดเตรียมทุกอย่างได้อย่างลงตัว เช่น การโปรโมตสินค้าโอทอป ด้วยการจัดแสดงโชว์สินค้าโอทอปที่ศูนย์ประชุมไบเทค การนำเสนอผ้าไหมไทย ด้วยการให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้งหมดสวมเสื้อผ้าไหมไทยในวันสุดท้ายของการประชุม ถือเป็นพรีเซ็นเตอร์ระดับโลก ที่ใช้เงินมหาศาลขนาดไหนก็ไม่สามารถทำได้

ส่วนการโปรโมตการนวดแผนโบราณของไทย ก็จัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเยี่ยมชมของคณะคู่สมรสผู้นำเอเปก การแนะนำรถตุ๊กตุ๊ก ที่เปรียบเสมือนรถประจำชาติของไทยก็จัดให้เป็นพาหนะของผู้นำเอเปก ระหว่างการเดินทางไปชมกระบวนพยุห-ยาตราชลมารค การโปรโมตเมืองแฟชั่นของเอเชีย ก็จัดแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ด้วยการนำนางแบบจาก 21 เขตเศรษฐกิจมาเดินโชว์ให้ภริยาผู้นำได้รับชม

โดยภาพทั้งหมดได้ถูกเผยแพร่ผ่านการนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวต่างประเทศไปทั่วโลกแล้ว หากมองเชิงกลยุทธ์การตลาดจะเป็นลักษณะ Customer Oriented ที่เจาะเข้าหาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แบ่งกิจกรรมตามความชื่นชอบของแต่ละราย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับกลยุทธ์ CRM (Customer Relationship Management) ที่เจ้าของสินค้านิยมทำกับลูกค้าในขณะนี้

รูปแบบการจัดประชุมเอเปกที่ประเทศไทยดำเนินการขึ้น กิจกรรมของผู้นำเอเปกจะเน้นไปที่การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่ก็ได้โชว์ความเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ด้วย เช่น การประชุมข้ามประเทศกับประธานฮิวเลตต์ แพคการ์ด หรือเอชพี จากสหรัฐฯกับผู้ประชุมซีอีโอ ซัมมิต ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สิ่งที่รัฐบาลไทยมอบให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่มาร่วมประชุมเอเปก คือการสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อเป็นประตูไปสู่การเจรจาธุรกิจในอนาคต เพราะเมื่อเกิดความ รู้สึกดีๆ ต่อกันแล้ว การเจรจาเรื่องต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น ซึ่งบนพื้นฐานการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ไทยคงไม่ได้เปรียบไปทุกเรื่อง แต่เรื่องที่อาจจะยุ่งยากและเป็นปัญหาก็จะง่ายขึ้น

เอเปกสร้างแบรนด์ประเทศไทย

"หากเปรียบประเทศไทยเป็นแบรนด์สินค้าใด สินค้าหนึ่ง การประชุมเอเปกที่ผ่านมาถือเป็น การสร้างแบรนด์ได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยจุดเด่นด้านต่างๆของประเทศได้ถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลกไปแทบทุกอย่าง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อแนะนำประเทศไทยทีละสินค้า โดยเฉพาะสินค้าโอทอป ที่อนาคตจะกลายเป็นสินค้าประจำชาติไทย" ผศ.ธีรพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ การวางตำแหน่งแบรนด์ประเทศไทยในตลาดโลกจะเป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่าง มีอารยธรรมประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หัวโบราณจนสุดโต่ง โดยมีความทันสมัยแฝงอยู่ในตัวเอง โดยยึดหลักที่ว่า Global Vision Local Touch หรือเรียกว่ามีวิสัยทัศน์ระดับโลก แต่สามารถปฏิบัติได้ในประเทศ

"ชลิต" มั่นใจส่งออกไทยพุ่ง

นายชลิต ลิมปนะเวช อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารตลาด คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผย"ผู้จัดการรายวัน"ว่า หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดประชุมเอเปก โดยได้ทุ่มงบจัดงานประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะได้แง่ของการสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นรู้จักมากขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับการสร้างแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งให้สามารถแจ้งเกิดได้

ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้นในแง่ของการทำตลาด คือการส่งออกจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มประเทศสมาชิกมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร การเปิดครัวไทยทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลพยายามสนับสนุนโดยหลังจากการประชุมทำให้ผู้นำรู้จักและลิ้มรสชาติของอาหารไทยมากขึ้น เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุปกรณ์รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าและสามารถทำได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเป็นตลาดที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจทุกอย่างไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็น การเกษตร เสื้อผ้า อาหาร ส่วนจุดที่รัฐบาลไทยจะต้องเร่งพัฒนาเพื่อรองรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนั้น ก็คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น และพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน ผลักดันเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพที่เข้มแข็ง รวมถึงการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง มิฉะนั้นงบลงทุนในการจัดประชุมเอเปก ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1,000 ล้านบาท จะเสียเปล่าและเหมือนกับการสร้างแบรนด์ได้ แต่ศักยภาพของคนไม่มีมาตรฐาน

ขณะที่การทำตลาดกับสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไรมากนัก เนื่องจากประเทศดังกล่าวคงไม่ยอมเสียผลประโยชน์ และหากยอมทางหนึ่งก็จะต้องมาบีบไทยอีกทางหนึ่ง และไม่ควรมองว่าสหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ ควรกระจายความเสี่ยงลดสัดส่วนการส่งออกจาก 33% ให้เหลือ 20% ส่วนการทำตลาดที่ไทยจะได้รับประชุมจากเอเปกนั้น น่าจะมาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เปรู เม็กซิโก มากกว่า ซึ่งเชื่อว่าในปีหน้านี้ไทยจะมีการลงทุนจากประเทศดังกล่าวค่อนข้างมาก

"อภิรักษ์" ชี้ต่างชาติเชื่อมั่นลงทุนสูง

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายวัน" ถึงผลที่ประเทศไทยจะได้รับภายหลังจบการประชุมเอเปกว่า สิ่งแรกสุดที่ไทยจะได้รับคือ ความเชื่อมั่นในแง่ของประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปกครั้งนี้ ธุรกิจของแต่ละประเทศมั่นใจที่จะมาลงทุนในไทยมากขึ้นจากเดิมที่มีการลงทุนอยู่แล้ว ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน การตลาด ในระยะต่อไป

รวมทั้งเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ(Free Trade Area ) ที่มีทั้งประเทศที่ปัจจุบันเป็นคู่ค้า ที่สำคัญของไทยอยู่แล้วเช่น จีน อเมริกา ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น หรือประเทศที่ไม่ได้เป็นคู่ค้าที่สำคัญอย่าง รัสเซีย แคนาดา ก็จะเป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดี

เขากล่าวด้วยว่า ธุรกิจของภาคเอกชนคงช่วยได้โดยเฉพาะประเภทธุรกิจ 5 กลุ่มใหญ่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและเป็นที่สนใจของต่างชาติด้วยคือ ธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยว รถยนต์ แฟชั่น ซอฟต์แวร์ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสามารถเติบโตได้ในประเทศคู่ค้าสำคัญ และประเทศที่ยังไม่ได้เป็นคู่ค้ากัน

สำหรับการลงทุนจัดงานเอเปกครั้งนี้ ที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปมากกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น มีความเห็นว่าส่งผลดีต่อประเทศไทยได้แน่นอนคือ เรื่องการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น รวมถึงข่าว ที่เกี่ยวกับไทยได้ถูกแพร่หลายมากขึ้น ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ส่วนใหญ่สร้างความประทับใจให้กับคณะผู้มาร่วมประชุม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อเนื่องตามมามาก ในระยะยาว แม้ว่าจะยังไม่สามารถเห็นผลได้ในเวลานี้ก็ตาม

นอกจากนั้นการประชุมที่ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น ทำให้ต่างชาติเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการที่ดี มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสูง สามารถจัดงานระดับใหญ่อย่างนี้ได้อย่างดี ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวการจัดประชุมระดับชาติหรือธุรกิจไมซ์จะได้รับผลดี เพราะประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายใหญ่ต่อไปที่องค์กรต่างๆหรือมหกรรมงานต่างๆ จะเลือกมาจัดที่ไทยมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.