กลุ่มคูส์ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) จากไต้หวัน
ปรับกลยุทธ์ทำธุรกิจในเอเชียใหม่ โดยปรับโครงสร้างภายในบริษัทหลักทรัพย์ในเครือทั้งหมด
ยกเลิกแผนจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริหารบริษัทในเครือในภูมิภาคนี้ เหตุแบงก์ชาติไทยไม่อนุญาตนำเงินออกนอกประเทศไทย
แค่ให้บริษัทแม่ในไต้หวัน-บริษัทย่อยในฮ่องกงเป็นศูนย์กลางแทน พับแผนออกวอร์แรนต์อนุพันธ์
หลัง "กิตติรัตน์" ย้ำระยะสั้น ยังไม่อนุญาตให้ออกตราสารดังกล่าว ขณะที่
ตลท.เดินหน้าแผนปี 47 สะสางงานที่ทำ 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมเตรียมทำเวิร์กชอป บจ.
ปลาย พ.ย.เน้นธรรมาภิบาล
นายธนวัฒน์ พาณิชเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ
(ประเทศไทย) ในเครือกลุ่มคูส์ กล่าวว่ากลุ่มคูส์ผู้ถือหุ้นใหญ่จากไต้หวัน ทยอยปรับองค์กรภายในบริษัทในเครือใหม่ทั้งหมดระยะหนึ่งแล้ว
จากเดิมที่กลุ่มคูส์กำหนดให้ไทยเป็นฐานทำธุรกิจในเอเชีย แต่ขณะนี้ปรับนโยบายใหม่ใช้ไต้หวัน-ฮ่องกง
เป็นแกนนำภูมิภาค
โดยจะใช้บริษัทในเครือที่ฮ่องกงกำหนดนโยบายหลักสำหรับบริษัทในเครือในเอเชียทั้งหมด
เพื่อจะประสานงานกับบริษัทในเครืออื่นๆ โดยส่วนตราสารอนุพันธ์ จะให้ฮ่องกงเป็นแกนนำ
แต่ถ้าเป็นธุรกิจตราสารหนี้ จะให้บริษัทแม่ไต้หวันเป็นแกนนำ
สัปดาห์หน้า ผู้บริหารกลุ่มจากฮ่องกงที่รับผิดชอบตราสารอนุพันธ์ จะเดินทางมอบนโยบายดำเนินธุรกิจให้
บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ทำให้การเสนอขายวอร์แรนต์อนุพันธ์ (derivative warrant)
ของบริษัท ต้องชะลอการดำเนินการไม่มีกำหนด เพราะต้องรอรับนโยบายบริษัทแม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร
รวมทั้งขณะนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นคึกคัก ทำให้นักลงทุนอาจไม่สนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ระยะนี้ ซึ่งตราสารดังกล่าว มีความเหมาะกับช่วงภาวะตลาดหุ้นซบเซามากกว่า อย่างไรก็ตาม
บริษัทคงต้องปล่อยให้แบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ที่ยื่นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ไปแล้วหมดอายุ เพราะคาดว่าภายในปีนี้ ตราสารดังกล่าวก็จะยังไม่สามารถเสนอขายได้
เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ไทยยังไม่อนุญาตตราสารดังกล่าวจดทะเบียน แม้บริษัทและชมรมวาณิชธนกิจชี้แจงถึงผลดี-ผลเสีย
และความเสี่ยงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่สามารถเสนอขายได้ระยะสั้น แต่บริษัทจะพยายามให้ความรู้ประชาชนไทยต่อเนื่อง
ตลท.สานต่องานปี 47
ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กล่าวว่าตลาดหลักทรัพย์เตรียมจะเสนอแผนธุรกิจ ปี 2547 ให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาประมาณสัปดาห์หน้า
สรุปใช้จริง ก.พ. 2547 โดยจะสานต่อนโยบายที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545-2546 ซึ่งอาจมีบางส่วนต้องปรับเพิ่ม
หรือปรับออก
โดยตลาดหลักทรัพย์จะมุ่งสู่การเป็นตลาดรองที่มีสภาพคล่องหลักทรัพย์ ซึ่งบางบริษัทจดทะเบียน
ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่ง ตลท.จะดำเนินการจริงจัง
รวมทั้งเป็นแหล่งระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้น สินค้าประเภทใดที่ไม่ใช่การระดมทุน
จะยังไม่เน้นให้ความสำคัญ ซึ่งได้แก่ Derivative warrant เพราะไม่ใช่หลักทรัพย์เพื่อระดมทุนเหมือนหุ้นกู้
หรือหุ้นสามัญ
สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์จะมุ่งเน้น ได้แก่ ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และระบบสนับสนุนที่เชื่อถือได้
ตามมาตรฐานสากล โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ
การให้บริการด้านเปิดเผยข้อมูลที่รวดเร็วครบถ้วน พร้อมทั้งให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องการลงทุนทั่วถึง
มีการปฏิบัติงาน โดยให้ความสำคัญเชิงประสิทธิภาพ รวมทั้งทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติต่างๆ
ตามเจตนารมณ์ข้อกำหนด ยึดหลักความมีจริยธรรม
ตลท.เวิร์กชอป บจ. กำกับดูแลกิจการที่ดี
นายกิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกปลาย พ.ย.นี้ และจะคัดเลือกผู้บริหาร บจ.บริษัทละคน
การพิจารณาจะกระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
เป้าหมายตลาดหลักทรัพย์ ต้องการจะประชุมเชิงปฏิบัติการกับบริษัททุกแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แต่ครั้งแรกจะเริ่มต้นเพียง 50 รายก่อน คาดว่าภายใน 1 ปี จะสามารถเชิญผู้บริหาร
บจ. ร่วมประชุมครบทุกแห่ง
กลุ่มแรก จะเน้นผู้บริหารที่เป็นนายกสมาคมธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ เนื่องจากจะสามารถ
นำการอบรมที่เกิดขึ้น สร้างความเข้าใจให้กรรมการสมาคม หรือสมาชิกอุตสาหกรรมต่างๆ
เข้าใจ การที่จะประชุมครั้งต่อไปว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่จะประชุม