“เอิบ” Thai Herbal Spa

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"เอิบ" (Erb) ชื่อไทยแท้ที่มาจากคำว่า "อิ่มเอิบ" ภาษาอังกฤษออกเสียงเป็น "เฮิร์บ" (Herb) แปลว่า สมุนไพร "เอิบ" เลยกลายเป็นชื่อของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติที่มีความหมายลงตัว

สิ่งแรกที่สะดุดตาในโปรดักส์นี้คือ "ชื่อ" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของเจ้าของอย่างมาก ที่จะนำเสนอความเป็นไทยให้เป็นจุดขาย อย่างที่สองคือ packaging ที่ให้ความสำคัญในการดีไซน์ สินค้าหลายชิ้นอยู่ในขวดเซรามิกทรงสูง ขวดพลาสติกใสที่ไม่ธรรมดาด้วยฝาจุกไม้ดูแปลกตา รวมทั้งกระปุกเล็กกระปุกน้อยที่ออกแบบอย่างสวยงาม

"เอิบ" ได้วางตำแหน่งตัวเองไว้ชัดเจน โดยจับกลุ่มลูกค้ารายได้สูงเป็นหลัก สินค้าตัวนี้เลยจำเป็นต้องหาจุดแตกต่าง ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์และคุณภาพ

เจ้าของผลิตภัณฑ์ชื่อแปลกนี้กลับไม่ใช่คนรุ่นแม่ หรือรุ่นป้าอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นสาวสวยหน้าตาคมเข้มชื่อ "ภัชทรี ภักดีบุตร" ทีมงาน fashion designer คนหนึ่งของ Grey-hound เสื้อผ้าแบรนด์เนมชื่อดัง

เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบทานชาสมุนไพรอย่างมากมานานและรับรู้มาตลอดว่า สมุนไพรไทยมีคุณสมบัติหลากหลายน่ามหัศจรรย์ แต่ก็ไม่ได้สนใจลงลึกไปกว่านั้น จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2541 เป็นยุคบูมของอาหารชีวจิตและสมุนไพรไทย หนังสือหรือตำราดีๆ ออกมาวางจำหน่ายทั่วไป และคราวนั้นเองที่เธอเริ่มศึกษาเรื่องสมุนไพรอย่างจริงจัง

ชา เป็นสิ่งใกล้ตัวที่สุด และเป็นตัวจุดประกายให้เธออยากลองทำชาสมุนไพร บรรจุในแพ็กเกจสวยๆ เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวซื้อไปเป็นของที่ระลึก แล้วหลังจากนั้นไม่นานผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่นๆ ก็ตามมา

มะตูม โหระพา มะกรูด การบูร อบเชย กระวาน กานพลู มะลิ มะนาว ตะไคร้ สะระแหน่ กระดังงา ถั่วเหลือง หรือแม้แต่ดอกดาวเรือง มีคุณสมบัติอย่างไร ตัวไหนเหมาะกับตัวไหน เป็นเรื่องที่เธอต้องรู้ หลังจากนั้นก็เริ่มดีไซน์สูตรด้วยการ mix and match เช่น

การนำเอากระดังงา ตะไคร้ และขมิ้น มาเป็นส่วนผสมหลักทำผลิตภัณฑ์ สำหรับผิวแห้ง ข้าวกับดอกมะลิ คือส่วนผสมสำหรับผิวธรรมดา หากผิวมันหน่อยก็จะใช้ส่วนผสมของขิงกับดอกดาวเรืองผสมกัน การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้ทำไปพร้อมๆ กับหาทีมงานวิจัย เภสัชกรที่มีชื่อเสียงและโรงงานที่ผลิตสินค้าพวกนี้อย่างมีคุณภาพ

"ตอนแรกยังจับทางไม่ถูก คิดอะไรมาได้ก็ทำหมดเลย เช่น ทำชา 20 อย่าง สบู่ 10 อย่าง ครีมบำรุงผิวอีก ไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ชัดเจนอย่างทุกวันนี้ และคิดต่อไปแค่ว่าสมุนไพรไทยสามารถทำอะไรได้อีก พยายามทำตัวเองให้เป็นผู้รอบรู้ทางด้านสมุนไพร ก็กลายเป็นว่าทำเทียนกลิ่นดอกไม้ไทยเพิ่มขึ้นด้วย" ภัชทรีเล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นการทำงานเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เธอจบการศึกษาทางด้านการตลาดมาจากประเทศอังกฤษ กลับมาทำงานในบริษัทโฆษณา ลีโอ เบอร์เนทท์ประมาณ 4 ปี ก่อนที่จะเข้ามาเป็นดีไซเนอร์ให้กับบริษัท Greyhound

การมีอาชีพเป็นนักออกแบบ มีส่วนทำให้เธอคิดค้นรูปแบบสินค้าของ "เอิบ" อย่างสนุกสนาน ในขณะเดียวกันประสบการณ์จากบริษัทโฆษณาทำให้เธอพยายามสร้างจุดแข็งของสินค้าให้ชัดเจน โดยโฟกัสไปยังสมุนไพรไทยอย่างเดียวเท่านั้น และเริ่มต้นทำตลาดกับลูกค้าจากต่างประเทศก่อน เพราะมั่นใจว่า ชาวต่างประเทศเข้าใจศาสตร์ของคนตะวันออกมากกว่าคนไทยด้วยกัน และที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่มีความคิดว่า สินค้าตัวไหนขายในเมืองนอกได้ สินค้าตัวนั้นคงจะดีจริงๆ และผลจากการไปร่วมออกงานของกรมส่งเสริมการส่งออก ทำให้เอิบเริ่มมีลูกค้าจากประเทศแคนาดา ญี่ปุ่น และอังกฤษ เข้ามาติดต่อขอซื้อไปขายในต่างประเทศ

ปัจจุบันสินค้าทั้งหมดของเอิบ มีทั้ง skin care ทั้งผิวและผม special treatment, ชาสมุนไพร และเทียน โดยแบ่งสินค้าให้ใช้ง่ายขึ้น เป็น home spa, office spa และ on thego spa

ปีที่ผ่านมา "เอิบ" โชคดีได้ผู้ร่วมหุ้นคนใหม่ เป็นนักสร้างแบรนด์ที่มีความสามารถ เข้ามาช่วยจัดระบบความคิดใหม่ โดยแนะนำว่าจะสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งได้ ก็ต้องจัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน ต้องดูว่าสินค้าตัวไหนไม่ซ้ำใคร จะชูตัวไหนให้โดดเด่นขึ้นมา รวมทั้งต้องมาเปิดตลาดที่เมืองไทยด้วยไม่ใช่ทำตลาดต่างประเทศอย่างเดียว

แนวทางการตลาดที่เข้มแข็งขึ้น เปรียบเสมือนการเปิดศักราชใหม่ของสินค้าตัวนี้เช่นกัน

ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พัชทรีสรุปให้ฟังว่า หากเปรียบให้ "เอิบ" เป็นผู้หญิง ก็จะเป็นเหมือนผู้หญิงทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ชอบงานศิลปะ ชอบของสวยงาม รักสุขภาพ อยากดูแลตัวเองให้มากๆ แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตก็ค่อนข้างยุ่งเหยิง ทำให้ไม่มีเวลาพอ เลยต้องมาใช้ "เอิบ" เพราะเป็นสินค้าที่เป็นเหมือน home spa ดูแลตัวเองง่ายๆ ได้ทุกวัน ทุกเวลา"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.