การโอนเงินที่ไร้ขีดจำกัด

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ความซับซ้อนของการทำธุรกิจที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการชำระราคา รูปแบบการจ่ายเงินใหม่ๆ ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา จึงทำให้แบงก์ชาติจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้

คงเป็นเรื่องที่เหนื่อยน่าดู หากคู่ค้าที่เป็นผู้ขายสินค้าใช้บัญชีธนาคารคนละธนาคารกับเรา เพราะเมื่อเราต้องการจะจ่ายเงินค่าสินค้าที่ซื้อมาเป็นเงินสด เราจำเป็นต้องเดินทางไปถอนเงินออกจากธนาคารของเรา แล้วเดินทางต่อไปยังธนาคารของคู่ค้า เพื่อนำเงินไปใส่ไว้ในบัญชีของเขา

หรือหากเมื่อเราสมัครเข้าไปทำงาน ในบริษัทที่ใช้บริการอยู่กับธนาคารกสิกรไทย เราจำเป็นต้องเปิดบัญชีไว้กับธนาคารกสิกรไทยเพื่อใช้เป็นบัญชีรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกบัญชีหนึ่ง ทั้งๆ ที่เรามีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์อยู่แล้ว

ในขณะที่พัฒนาการทางเทคโนโลยี ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบสถาบันการเงิน ทำให้หลายคนเคยคิดฝันไว้ว่าสักวันหนึ่ง คนเราสามารถมีบัญชีไว้กับธนาคารใดธนาคารหนึ่งเพียง 1 บัญชี ก็จะสามารถทำรายการได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรับหรือจ่ายเงินออกเพื่อชำระค่าสินค้า และสาธารณูปโภค โดยวิธีการตัดตัวเลข โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินสดออกมาถือไว้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ถือเงินเอง

อย่างน้อยวิโรจน์ นวลแข กรรมการ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ก็คิดเช่นนี้ และกำลังพยายามพัฒนาระบบเทคโนโลยีภายในธนาคารให้สามารถไปถึงจุดดังกล่าว

ความคิดความฝันของวิโรจน์อาจตรงกับนายธนาคารอีกหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารซึ่งมีบทบาทเป็นผู้กำกับอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย

ระบบ SMART : System for Managing Automated Retail Funds Transfer จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้ความฝันดังกล่าวกลายเป็นจริง

"SMART เป็นระบบโอนเงินรายย่อยที่ทำระหว่างธนาคาร ซึ่งเดิมแต่ละธนาคารก็มีให้บริการกับลูกค้าอยู่แล้ว แต่ทำภายในธนาคารเดียวกันเอง แต่ระบบนี้สามารถทำรายการข้ามธนาคารกันได้" สายัณห์ ปริวัตร ผู้อำนวยการอาวุโส สายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความหมายถึงระบบ SMART กับ "ผู้จัดการ"

SMART ถือเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากระบบ BAHTNET : Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2538

แต่ BAHTNET เป็นระบบสำหรับใช้กับการโอนเงินรายใหญ่ที่มีมูลค่าสูง ขณะที่ SMART ได้ถูกออกแบบมาไว้สำหรับการโอนเงินที่มีวงเงินย่อยลงไป โดยจำกัดไว้ไม่เกินรายการละ 500,000 บาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาระบบ SMART มาตั้งแต่ปี 2540 โดยวางคอนเซ็ปต์ไว้ว่าการโอนเงินรายย่อย ระหว่างธนาคารจะสามารถทำได้ทั้งด้านเครดิตและเดบิต แต่ปัจจุบันระบบนี้ยังไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะสามารถทำได้เพียงด้านเครดิตด้านเดียวและการทำงานยังไม่เป็นลักษณะ Realtime เพราะต้องแจ้งการทำรายการล่วงหน้า 1-7 วัน และธุรกรรมที่สามารถทำผ่านระบบนี้ก็ถูกจำกัด ไว้เพียงแค่การสั่งจ่ายเงินเดือนพนักงาน การจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เพียง 2 ธุรกรรมหลักเท่านั้น

โดยบริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานผ่านระบบ SMART โดยที่พนักงานไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีไว้กับธนาคารเดียว แต่สามารถจ่ายให้กับบัญชีธนาคารใดก็ได้ เช่นเดียวกับการจ่ายเงินปันผล ซึ่งบริษัทผู้จ่ายปันผลสามารถจ่ายผ่านระบบนี้ เงินปันผลก็จะเข้าไปในบัญชีของผู้ถือหุ้น โดยที่ไม่จำกัดธนาคารเช่นกัน

"เรากำลังขอให้ธนาคารเข้ามาช่วยทำในเรื่องเดบิต คือ การตัดเงินจากบัญชีของลูกค้า เพื่อนำมาชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าโทรศัพท์มือถือ แต่บางธนาคารยังไม่พร้อม เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสีย รวมถึงเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีภายใน เพราะแม้ปัจจุบัน หลายธนาคารจะมีบริการให้ลูกค้าสามารถจ่ายค่าสาธารณูปโภคผ่านการตัดบัญชี แต่ก็ทำกันได้ภายในธนาคารเดียวกัน การสั่งตัดเงินข้ามธนาคาร ยังมีหลายแห่งที่ไม่มั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องของระบบบัญชีที่แต่ละธนาคารมีรายละเอียดต่างกัน" สายัณห์กล่าว

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้ระบบ SMART เป็นการดำเนินงานกันเองระหว่างธนาคาร โดยอาจตั้งเป็นบริษัทกลางขึ้นมารับผิดชอบ เช่นเดียวกับระบบ ATM Pool

"ตอนนี้แต่ละธนาคารก็เริ่มมีการคุยกันบ้างแล้ว คิดว่าภายใน 2 ปี ระบบนี้น่าจะได้ข้อสรุป"

ซึ่งหากเป็นดังว่า ระบบ SMART ก็จะเข้ามาเสริมช่องว่างของการโอนเงินระหว่างธนาคาร ที่จะสามารถทำได้ในทุกขนาดของวงเงิน จากปัจจุบันที่การโอนเงินรายย่อยสามารถทำได้โดยผ่านเครือข่ายเครื่อง ATM ในระบบ ORFT : Online Retail Funds Transfer แต่ถูกจำกัดไว้ให้สามารถทำได้ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท และการโอนเงินรายใหญ่ โดยผ่านระบบ BAHTNET

"แบงก์ชาติต้องเข้ามามีบทบาทดูแลเรื่องนี้ เพื่อปิดช่องว่างให้สถาบันการเงินสามารถโอนเงินข้ามกันเองได้ เหมือนมีสะพานเชื่อม เพราะธุรกิจทุกวันนี้มันขยายตัวมากขึ้น ระบบนี้จะเสริมให้การค้าขายสามารถโอนจ่ายเงินกันได้อย่างสะดวก คล่องตัว และปลอดภัยมากขึ้น"

ที่สำคัญ หากการโอนเงินระหว่างธนาคารสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดแล้ว ในอนาคตการใช้เช็คและเงินสดก็จะลดปริมาณลงไปเองโดยปริยาย ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถควบคุมปริมาณเงินในระบบได้ง่ายขึ้น และลดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตรในแต่ละปีลงไปได้อีกมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.