“สบาย” แบบไทยโมบาย

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งเครือข่าย การตลาด งบประมาณ ที่แทบไม่เห็นหนทางสู้ แต่ไทยโมบายก็ตัดสินใจส่งบริการ prepaid ในชื่อ "สบาย" ออกสู่ตลาด

"สบาย" เป็นชื่อบริการที่ อัมพร บุญสัมพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และทีมงานฝ่ายการตลาด ร่วมกันคิดขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับบริการบัตรเติมเงิน หรือ prepaid ได้เริ่ม เตรียมแผนมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา

เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อบริการ และงบประมาณที่จำกัด กิจการร่วมค้าไทย-โมบาย จึงพยายามสร้างบรรยากาศของงานแถลงข่าวเปิดตัวบริการบัตรเติมเงิน (prepaid) ไม่ให้เป็นพิธีรีตองมากนัก ด้วยการจำลองเอาบรรยากาศรายการประเภททอล์กโชว์ "ที่นี่ประเทศไทย" ที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก แถมยังอธิบายเนื้อหาของบริการได้ด้วย

สถานที่จัดงานไม่ได้เช่าโรงแรมที่ไหนแต่เป็นบริเวณอาคาร 6 บริษัท ทศท แจ้งวัฒนะ งานวันนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้บริหาร นำโดยอรัญ เพิ่มพิบูลย์ ผู้จัดการ กิจการรวมค้า ไทย-โมบาย และทีมงานที่ สวมเสื้อยืดโปโล ปักคำว่า "สบาย" เพราะลูกค้าเป้าหมายแรกของ ทศท ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นพนักงานของบริษัท ทศท ที่มีอยู่ 20,000 ราย

เป็นการเปิดให้บริการท่ามกลางข้อจำกัดทุกด้าน ไม่ว่าเครือข่ายบริการที่ให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ งบประมาณ และทีมงานที่มีจำกัด จนแทบจะมองไม่เห็นหนทางแข่งขันกับคู่แข่งที่เหนือกว่า

"ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะงบประมาณ เพราะตลาดแข่งขันดุเดือดมาก เรามีงบแค่ 20 ล้านบาท เทียบกับรายอื่นๆ แล้วน้อยมาก เครือข่ายก็มีจำกัด" อัมพรกล่าว

แทบเป็นไปไม่ได้ที่ไทยโมบาย จะตั้งอัตราค่าบริการของ "สบาย" ใกล้เคียงกับคู่แข่ง อัตราค่าโทรนาทีละ 2 บาท ตั้งแต่ 7.00-18.56 น. และ 1 บาทในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ 19.00-6.59 น. แถมเพิ่มด้วยบริการรับส่งข้อความสั้น SMS ให้ใช้ฟรีไม่จำกัดจนถึงสิ้นปี เป็นทางเลือกที่ไทยโมบายเชื่อว่า จะเป็นข้อเสนอที่ดีของการทดสอบตลาด

"คิดดูเงิน 1 บาท ขึ้นรถเมล์ไม่ได้ แต่ใช้สบายได้" อัมพรบอกถึงการใช้ราคามาสร้างเป็นจุดขายของบริการ

"สบาย" ในความหมายของเธอ หมายถึงคนใช้จะสบายกระเป๋าและสบายใจ เมื่อมาอยู่กับเรา

อัมพรมองว่าคู่แข่งจะมีข้อได้เปรียบหลายๆ ด้าน แต่เมื่อวิเคราะห์แต่ละรายก็พบว่ายังมีช่องว่างบางอย่างอยู่

"เอไอเอสมีเครือข่ายครอบคลุมก็จริง แต่เวลานี้ก็เริ่มมีปัญหา ออเร้นจ์เองเครือข่าย ก็ยังไม่สมบูรณ์ ยิ่ง Hutch ไม่ต้องพูดถึง ส่วน Happy นั้นก็มาแรง เพราะราคาลดลง แต่ก็ยุ่งยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราน่าจะมีทางเลือกที่ทำให้ลูกค้าสบาย" อัมพรบอก "โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เขารู้สึกสบายกระเป๋า"

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริการสบาย เป็นกลุ่มคนระดับ C+ ที่ไม่เดินทางไปไหน เป็นคนทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ลูกค้าใกล้ๆ ตัวที่ไทยโมบายพยายามเน้นเป็นพิเศษคือ พนักงานของ ทศท ซึ่งไทยโมบายตั้งเป้าลูกค้าไว้ที่ 50,000 ราย

เมื่อบวกกับบริการชำระค่าบริการรายเดือน Postpaid มีลูกค้า 150,000 ราย ในจำนวนนี้มีลูกค้าขอแลกเครื่อง 90,000 ราย หากไม่มีอะไรผิดพลาด ปลายปีนี้ไทย โมบายจะมีลูกค้าทั้งสิ้น 200,000 รายในมือ

ในด้านของเครือข่ายให้บริการ ไทย โมบายจะลงทุนขยายสถานีฐานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอีก 300 สถานี ติดตั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างละครึ่ง จากที่มีอยู่ 500 สถานีฐาน และอยู่ระหว่างเจรจาโรมมิ่งใช้เครือข่ายในต่างจังหวัดของเอไอเอส ซึ่งต้อง ทำข้อตกลงแยกต่างหาก จากบริการจ่ายรายเดือน หรือ Postpaid ที่ได้โรมมิ่งไปก่อนหน้านี้

การรุกเข้าสู่บริการ prepaid ต้องนับว่าเป็นความพยายามวิ่งให้ทันกับกระแสของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นตลาดของระบบ prepaid มากกว่า 70% ของลูกค้าทั้งหมด

ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาฐานลูกค้าเก่า โดยเฉพาะลูกค้า 90,000 ราย ที่ขอแลกเครื่องกับค่าประกันเลขหมาย จะครบกำหนดสัญญาในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งไทยโมบายต้องเตรียมข้อเสนอดีๆ ที่จะรักษาลูกค้าเหล่านี้เอาไว้

แม้ว่าจะทำให้สบายกระเป๋ามากที่สุด แต่ไทยโมบายจะ "สบาย" สำหรับก้าวแรกของการเข้าสู่ตลาด ที่ดีกรีการแข่งขันรุนแรงที่สุดตลาดหนึ่งหรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.