สื่อโฆษณาในบรรยากาศใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อีกเพียงไม่ถึง 1 ปี คนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสได้พบกับรูปแบบการโฆษณาในบรรยากาศที่แปลกใหม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน นั่นก็คือการโฆษณาในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล ที่จะเริ่มเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2547

ช่วงค่ำของวันที่ 24 กันยายน 2546 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BMCL) ได้เปิดตัวบริษัทไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ ผู้บริหารงานกลยุทธ์การตลาด การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ รวมถึงงานบริหารพื้นที่โฆษณาภายในสถานีใต้ดิน โดยใช้สถานีรถไฟฟ้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดงาน

"เหตุที่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากทีมงานมีประสบการณ์ในสายงานการตลาด และได้ความร่วมมือจาก MRT Hong Kong Corporation ซึ่งประสบความสำเร็จในการสื่อสารการตลาดให้กับรถไฟฟ้าใต้ดินฮ่องกง มาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทฯ" ทิพย์สุดา ยิ้มวิไล ประธานกรรมการ ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ กล่าว

ภายในงานเปิดตัวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจำลองสื่อโฆษณาในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำเสนอให้แขกที่มาร่วมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอเยนซี่โฆษณาได้เห็นภาพ ก่อนที่ไตรแอดส์ฯ จะเปิดให้จองพื้นที่โฆษณาในวันที่ 20 ตุลาคม

โดยเมื่อผู้โดยสารได้เดินลงสู่สถานีรถไฟใต้ดิน จะเริ่มเห็นโฆษณาสินค้าตั้งแต่ผนังบันไดเลื่อน ผนังกำแพง บริเวณทางเดิน เสาสถานี ผนังกันตก ตู้โทรศัพท์ ช่องชำระค่าโดยสาร ชานชาลาสถานีบริเวณส่วนกันตก และภายในตัวรถไฟเอง ซึ่งต่างกับรถไฟฟ้า BTS ที่เน้นบริเวณภายนอกตัวรถ

ข้อเด่นของสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คือสามารถควบคุม แสง สี เสียง ให้เกิด impact สูงสุด มีขนาดใหญ่ มีความยืดหยุ่น นอกจากนั้นยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้โดยสารซึ่งมีกำลังซื้อสูง มีความทันสมัยได้ดี

นอกจากนี้เมื่อผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน จะไม่มีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้มากนัก เพราะไม่มีท้องฟ้าหรือวิวกรุงเทพฯ ให้เห็นเหมือนรถไฟลอยฟ้า ซึ่งจุดนี้อาจทำให้สื่อโฆษณาในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินมีมากกว่าสื่อในสถานที่อื่นๆ แต่จะให้ผลลัพธ์มากกว่าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล จากสถานีบางซื่อ สุดปลายทางสถานีหัวลำโพง รวมระยะทาง 20 กิโลเมตร 18 สถานี

โครงการนี้เป็นของ รฟม. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยให้ BMCL เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์ระบบ ให้บริการ และบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี

ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% โดยรถไฟขบวนแรกได้มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อทดสอบระบบก่อนเปิดให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้ช่วงสงกรานต์ปีหน้า และเปิดวิ่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษามหาราชินี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.