จากมืออาชีพที่เชี่ยวกรำกำลังจะกลายเป็นนักผจญภัยจริงๆ
ในฐานะเจ้าของหนังสือเล่มใหม่ ดวงดาว สุวรรณรังษี คือผู้หญิง นักแรมทางคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ฝ่าสายหมอกบนขุนเขาแห่งป่าลึก
สองเท้าของเธอก้าวย่ำไปบนยอดดอยที่สูงชันพร้อมเป้สัมภาระบนหลัง และกล้องถ่ายรูปคู่ใจ
ก่อนที่จะเดินทางกลับ สู่เส้นทางธรรมชาติอันงดงามของท้องทุ่งอันกว้างใหญ่
และวกเข้าสู่ถนนสีฝุ่นอันกันดารเลยเรื่อยไปยังท้องทะเลกว้าง และเกาะแก่ง
สารพัดแห่ง รวมทั้งโลกลึกลับใต้ท้องมหาสมุทร
ภาพและเรื่องราวจากการรอน แรมของเธอแต่ละครั้งถูกถ่ายทอดลงในอนุสาร อ.ส.ท.
นิตยสารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยาวนานมากว่า 20 ปี น้อยคนที่จะทราบว่าเบื้องหลังจากการกดชัตเตอร์
เพื่อถ่ายภาพที่งดงามเหล่านั้นออกมาเธอมีความเจ็บปวดแอบแฝงอยู่ด้วยทุกครั้ง
และนี่คือสาเหตุหนึ่งของวันสิ้นสุดการทำงานในอนุสารอ.ส.ท.ที่หลายคน คุ้นเคยเพื่อเริ่มบทใหม่ของชีวิตกับการทำนิตยสารเล่มใหม่
"เนเจอร์ เอ็กซ์พลอ เรอร์" ที่จะวางตลาดในเดือนมกราคม ปี 2000 ที่จะถึงนี้
"เราพยายามที่จะให้คนรักในธรรมชาติซึ่งมันเป็นเรื่องที่สอนกันยากมาก
การเอามาสื่อกันด้วยภาพและเรื่อง เล่าที่คนรับได้ง่ายขึ้น กลายเป็นเรื่องสวนทางกับสิ่งที่อนุรักษ์
เพราะการที่ไปถ่ายรูปออกมาเผยแพร่คนก็ชี้หน้าด่าว่านี่แหละคนที่ทำให้คนไปเที่ยวอุทยานไป
เหยียบย่ำทุ่งดอกไม้ มันเจ็บปวดมาก เลยนะกับสิ่งที่ได้รับกลับมาทั้งๆ ที่อยาก
จะถ่ายทอดให้คนรู้ว่าธรรมชาติมันมีและ มันสวยงามแค่ไหน" ดวงดาวระบายให้
"ผู้จัดการ" ฟังอย่างอึดอัดใจ และยอมรับว่าการทำงานที่อ.ส.ท.เป็นการกระตุ้นทำให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
นี่คือจุดที่ดวงดาวบอกว่าต่างกับหนังสือเล่มใหม่ที่เธอกำลังเริ่มต้น
เพราะเนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวทั่วไป แต่กลุ่มเป้าหมายคือผู้คนที่กำลังเติบใหญ่
และต้อง การศึกษาเรื่องธรรมชาติจริงๆ โดยที่อาจ จะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังแหล่งนั้นๆ
"จะเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นเรื่องของคนที่จะเปลี่ยนวิถีของการท่องเที่ยว
จะไม่ใช่เพียงเป็นนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะเป็นนักแรมทางแล้ว คำจำกัดความของนักแรมทางธรรมชาติก็คือ
คุณต้องเรียนรู้ต้องศึกษาเพิ่มขึ้นหน่อยนะ แต่ถ้าเราอยู่ใน อ.ส.ท.คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อคนอ่านเจอจะต้องอยากไปเที่ยวในจุดที่เราเขียนถึงกันทุกคน
เขาอยากจะเป็นนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเราออกมาทำเองไม่ได้เป็นสื่อของรัฐแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำตามนโยบายของเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องไปฟังว่ากรมป่าไม้จะไม่อนุรักษ์เพราะว่าไม่มีกำลังคน
กำลังเงิน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาตีแผ่ มาเผยแพร่
นี่คือสิ่งที่แตกต่าง แล้วบางทีสารคดีไม่จำเป็นต้องเที่ยวได้ ซึ่งแน่นอน
คนจะไม่ยอมรับจุดนี้ในหนังสือ อ.ส.ท. ทุกเรื่องที่ลงคือต้องไปเที่ยวได้ บางทีเราอยากทำสารคดีที่บางทีคุณไม่จำเป็นต้องไปนะ
เพียงคุณอ่านเรื่องนี้แล้วคุณก็มีความสุขแล้วหรือคุณจะไปก็ได้แต่ต้องมีเงื่อนไขที่จะไป
คุณต้องเก่งใช่ไหม คุณต้องปีนเขาได้คุณต้องล่องแก่งได้คุณต้องขี่จักรยานเป็น
คุณต้องดูนกเป็น เป็นคนที่ศึกษาธรรมชาติเหล่านี้ก่อนคุณจึงสามารถจะทำสิ่งเหล่านั้นได้"
เธออธิบายเพิ่มเติมแต่เธอก็ยอมรับเช่นกันว่าจะเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ
ที่อาจจะมีเพียงไม่กี่ร้อยคน ซึ่งเธอและ ทีมงานจะต้องมีภาระอย่างหนักที่จะต้องสร้างให้เพิ่มเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น
เป็นพัน เป็นหมื่นคน
จะว่าไปแล้วก็ราวกับว่าดวงดาวกำลังเริ่มต้นปีนป่ายขุนเขาลูกใหม่อีกลูกหนึ่งที่ท้าทายกว่าเก่า
จากนิสิตสาวคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความต้องการจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่วัยเด็ก
เพราะได้แรงกระตุ้นกับการที่เข้า ไปคลุกคลีในห้องสมุดส่วนตัวของพี่ชาย ซึ่งมีหนังสืออ.ส.ท.ตั้งแต่เล่มแรก
รวมทั้งได้แรงบันดาลใจจากการได้อ่านเรื่องของ ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ บรร-ณาธิการหนังสืออ.ส.ท.ในเวลานั้น
จนได้ไปฝึกงานที่อ.ส.ท.ในช่วงเรียนปีสุด ท้าย แต่ก็ผ่านงานหนังสืออีกหลายฉบับ
และได้เริ่มงานเป็นนักเขียนจริงจังที่อ.ส.ท.เมื่อปี 2521
เมื่อเริ่มเป็นนักเขียน เธอได้ใช้เวลาส่วนหนึ่ง ฝึกถ่ายรูปจนชำนาญไปด้วย
เรื่องและภาพสารพัดเรื่องในสถานที่ต่างๆ โดยดวงดาว สุวรรณรังษี จึงได้เกิดขึ้นเวลาผ่านไป
10 กว่าปีเธอก็ได้บทสรุปว่า การอยู่ที่อ.ส.ท.ไม่ใช่จุดที่เธอ ใฝ่ฝัน จึงต้องการที่จะลาออก
ตั้งแต่ปี 2534 แต่บังเอิญในช่วงเวลานั้น วาสนา กุลประสูตร ผู้หญิงนักแรมทางผู้ร่วมงานคนหนึ่งของเธอที่อ.ส.ท.ประสบอุบัติ
เหตุเสียชีวิต ก็เลยจำเป็นต้องช่วยงานที่ อ.ส.ท.ต่อและก้าวไปสู่ตำแหน่งบรรณาธิ-การบริหาร
และผู้อำนวยการกองวาร-สารในเวลาต่อมา
คราวนั้นเธอไม่ได้คิดที่จะลาออก มาทำหนังสือแมกาซีนสิ่งที่คิดจะทำคือหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
หนังสืออุทยานแห่งชาติ หนังสือเกี่ยวกับการเที่ยวแบบอีโก้ คือ ล่องแก่ง out
door life ซึ่งจะเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติ รวมทั้งคู่มือการดูนก
ผีเสื้อ พรรณไม้ การท่องเที่ยว เพราะนั่นคือความชื่นชอบส่วนตัวของเธอ
แม้ยังไม่ได้ลาออกจากอ.ส.ท. แต่ดวงดาวก็ได้ตั้งสำนักพิมพ์เนเจอร์ทรี
จำกัด ขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลิตหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การท่องเที่ยว ผลิตไดอารี่และปฏิทินต่างๆ ผลงานการรวมเล่มของหนังสือบันทึกธรรมชาติของเนเจอร์
ทรีเช่น บันทึกธรรมชาติกับบทกวี ซึ่งเล่มนี้ จิรนันท์ พิตรปรีชา เป็นคนเขียนกวีบรรยาย
เล่มต่อมาคือดวงใจแห่งไพรพฤกษ์ ร้อยป่าพรรณไม้ ด้วยปีกของสกุณา โลกใต้ทะเล
วิถีธรรมชาติ กล้วยไม้ไทย จนมาถึงบันทึกธรรมชาติชุดใหม่ในปี 2000 นี้คือชุด
"ด้วยปีกของ พงไพร"
ผลงานต่างๆ ของเธอที่นอกเหนือ จากงานประจำที่อ.ส.ท.นั้นยิ่งสร้างชื่อเสียงให้ชื่อของดวงดาวเป็นที่รู้จักมากขึ้น
"กว่าจะสร้างชื่อเสียงตรงนี้ได้ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองนานมากว่าเราทำงานที่สมบุกสมบันอย่างผู้ชายได้
เหนื่อยก็ต้องบอกว่าไม่เหนื่อย ยากก็บอกว่าไม่ยากทั้งๆ ที่อาจจะยากกว่าคนอื่น
2 เท่า งานเขียนยิ่งเป็นงานที่ยากมากที่จะถ่ายทอดออกมาให้คนตระหนัก ในเรื่องของการรักธรรมชาติ"
เธอระบาย ความรู้สึก
"แต่สิ่งที่พี่ทำได้กลายเป็นสายเลือดในตัวแล้ว อย่างไดอารีทำมาจนครบ
10 ปี แล้วเราก็เอางานของเราเข้ามา มีบทบาทในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รายได้จากการขายไดอารี่หักค่าใช้จ่ายแล้วส่วนหนึ่งมอบให้กับมูลนิธิสืบ
นาคะ เสถียร สำหรับการตั้งกองทุนพิทักษ์ป่าและสัตว์ป่า และเราก็ได้พบว่าสื่อของเรานอกจากจะเผยแพร่คุณค่าความงามแล้ว
ยังเป็นสื่อในการเผยแพร่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมออกไปในรูปแบบที่สวยงาม ให้คนศึกษาธรรมชาติโดยให้เขาเรียนรู้ที่จะเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ"
ซึ่งต่อมาสิ่งที่เธอสรุปได้ก็คือการ ตั้งสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเป็นครั้งคราว
โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวสารคดีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้น
เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคน และทุนสูงมาก จำเป็นจะต้องมีงานที่มารองรับกัน
ความคิดที่จะเป็นแมกาซีนเลยเกิดขึ้นมา โดยพ็อกเก็ตบุ๊คก็จะเป็นงานที่สามารถทำตามกันออกมาได้
ดวงดาวเลยตัดสินใจที่จะลาออกจากอ.ส.ท.อีกครั้งเมื่อปลายปี 2541 เมื่อพบว่ายิ่งเข้าไปรับตำแหน่งในการบริหาร
เธอก็ยิ่งห่างจากสิ่งที่ต้องการทำออกไปทุกที ไม่ได้เขียนเรื่องไม่ได้ถ่ายรูป
เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดคือเรื่องของเวลา และเป็นสิ่งที่เธอแสวงหามาตลอดนั้นได้ขาดหายไป
ทั้งๆ ที่เธอเองมองว่าตอนนี้เธอพร้อมที่สุดแล้วในเรื่องของฝีมือในการถ่ายภาพ
และในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำ แต่กว่าทุกอย่างจะลงตัวได้บทอำลาของเธอจริงๆ
จากอ.ส.ท.เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2542 นี้เอง
เนเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ เล่มแรก จะวางตลาดในเดือนมกราคมปี 2000 ในราคาเล่มละ
90 บาท นอกจากดวงดาว จะมาเป็นบรรณาธิการเองแล้ว ยังมีทีมงานส่วนหนึ่งจากอ.ส.ท.ที่เธอบอกว่า
"มองหน้าก็รู้ใจ" มาร่วมด้วยอีกจำนวนหนึ่งเช่น สุรจิต จามรมาน ช่างภาพนักเดินป่าจอมทรหด
นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำที่กำลังหันมาถ่ายรูปสัตว์ป่าอีกทางหนึ่ง สาทิพย์
ทองโคกนาคกรวด ช่างภาพผู้แอบซุ่มถ่ายภาพนกมา 4 ปี ผลงานล่าสุดคือสมุดธรรมชาติด้วยปีกแห่งพงไพร
พร้อมด้วยทีมงานอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
"ถึงไม่ได้ทำที่ อ.ส.ท แล้วแต่ก็อยากให้เป็นหนังสือที่โดดเด่น เป็นอะไร
ที่ยิ่งใหญ่ในวงการท่องเที่ยวเป็นหนังสือคู่มือสำหรับการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวจริงๆ
มันก็จะเป็นเหมือนกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์แต่ทำงานกันคนละสาขา คุณทำไปในกลุ่มของนักท่องเที่ยว
สำหรับ ฉัน ฉันจะให้นักท่องเที่ยวเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น ฉันขอทำงานตรงนี้ต่อ
นึกออกไหมคะเป็นการทำงาน ตรงนี้ต่ออีกขั้นหนึ่ง" ดวงดาวย้ำภาพลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้นของนิตยสารเล่มใหม่
20 กว่าปีในการทำงานที่อ.ส.ท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และอาจจะเป็นใบเบิกทางที่สำคัญในการเอื้อต่อการทำงานบางอย่าง
กับการมาลงทุนทำเองทั้ง หมด อุปสรรคที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือสปอนเซอร์
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดวงดาว เองยอมรับ และเป็นห่วงอย่างมากว่าจะ รับภาระที่หนักหน่วงนี้ได้นานแค่ไหน
แต่มันก็เป็นความฝันของเธอที่จะทำให้ได้ และต้องกล้าที่จะลอง
และเธอหวังว่าหากโชคดี เมื่อถึงวันหนึ่งที่หนังสือและบริษัทนี้สามารถต้านทานแรงกดดันต่างๆ
และยืนหยัดอยู่ได้ เธอก็จะได้ไปใช้เวลากับธรรม ชาติในบ้านเล็กๆ ของเธอกลางป่าและขุนเขาที่อำเภออุ้มผางจังหวัดตากเสียที
แต่...วันนี้ การเดินทางบทใหม่ของเธอเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น