หลังผ่านพ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก (Apec
Summit) ไปแล้ว ประเทศไทยกำลังจะได้เป็นเจ้าภาพงานใหญ่ และสำคัญอีกงานหนึ่ง
นั่นคืองาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" (Bridges : Dialogues Towards
a Cultural of Peace) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (Inter-national
Peace Foundation : IPF) ร่วมกับสถาบันต่างๆ ในไทยอีกหลายสถาบัน
งานสานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ "ทศวรรษแห่งสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี"
เป็นเวทีอิสระ ที่บุคคลสำคัญจากหลายสาขาอาชีพและชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง
เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และสื่อมวลชน รวมถึงผู้สนใจทั่วไป สามารถแสดงความคิดเห็น
กำหนดแนวทางหรือข้อเรียกร้องสำหรับรัฐบาล สหภาพยุโรป และองค์กรสหประชาชาติ
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ได้มีการแถลงข่าวการจัดงานนี้ขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี
โดยมีอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาไทย และอูเวอ มอราเวทซ์
(Uwe Morawetz) ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ เป็นผู้กล่าวแนะนำโครงการ
งานสานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยการบรรยาย การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ
และศิลปะการแสดง ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2546 ถึงเดือนเมษายน
2547 ก่อนที่จะหยุดพักเพื่อตีพิมพ์ผลการประชุมและประเมินผลเป็นเวลา 6 เดือน
และจะเริ่มงานอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนเมษายน 2548 นับเป็นการจัดงานที่จัดอย่างต่อเนื่องยาวนานอีกงานหนึ่ง
นอกจากนี้ การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่จัดให้มีขึ้นนอกทวีปยุโรป
โดยก่อนหน้านี้งานนี้เคยจัดที่เวียนนา และเบอร์ลิน และยังเป็นงานแรกสำหรับประเทศไทยที่มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ
มาร่วมงานมากที่สุด
อูเวอ มอราเวทซ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ประเทศไทยได้รับเลือก ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ว่า
เป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
รักสงบและไม่นิยมใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะนำไปสู่สันติภาพ เหมาะที่จะเป็นแม่แบบในการประนีประนอมและยุติความขัดแย้งต่างๆ
จุดประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อร่วมกันส่งเสริม ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสันติภาพเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม
โดยภายในงานจะเปิดตัวด้วยการแสดงปาฐกถา โดยสาธุคุณเจสซี แอล แจ็คสัน (The
Reverend Jesse Louis Jackson) ในหัวข้อ "สหรัฐฯ หลังสงครามอิรัก สหรัฐฯ
จะเป็นผู้ผลักดันให้ เกิดสันติภาพได้หรือไม่?" ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546
ณ หอ ประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ในวันที่ 14 มกราคม 2547 ศาสตราจารย์มาร์เซีย ไฮเด (Prof.Marcia
Haydee) ผู้กำกับคณะบัลเลต์สตุ๊ท การ์ท และอิสมาเอล อีโว (Ismael Ivo) นักเต้นรำแนวร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงเชื้อสายแอฟริกัน-บราซิลเลียน
จะเปิดการแสดงร่วมกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Marcia และ Ismael ได้เล่าให้ฟังว่า "ในการเต้นรำ เราต้องคอยดูจังหวะของอีกคนหนึ่ง
เพื่อให้การเต้นรำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เปรียบกับการพูดคุย เมื่อมีคนพูด
เราต้องฟัง การพูดคุยนั้นจึงจะเป็นการสนทนาอย่างแท้จริง (dialogues) ซึ่งทั้งการเต้นรำ
และการสนทนาถือเป็นหนึ่งในวิถีที่สามารถนำไปสู่สันติภาพได้เป็นอย่างดี"
ถึงแม้ว่าสันติภาพจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดในระยะเวลา
2 ปีต่อจากนี้ ถือเป็นการปลูกฝังเรื่องสันติภาพให้ฝังรากลึกลงไปในสังคมไทย