เมื่อลูกเกดพากย์ “ยกต่อยก” Boxing’s Passion + Value

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น ช่างกล้องโทรทัศน์ก็จับภาพพิธีกรสาวเซ็กซี่ ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม ซึ่งทำงานพากย์มวยภาษาอังกฤษ ท่ามกลางการแสดงและเสียงเชียร์มวยไทยอันดุเดือดบนสังเวียน ตลอดสองชั่วโมงที่เวทีมวยสยามอ้อมน้อย

บรรยากาศทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในรายการโทรทัศน์ชื่อ "ศึกจ้าวมวยไทย" ออก อากาศทางช่อง 3 อำนวยการผลิตรายการ โดยบริษัท Boss Boxing 2000 จำกัด ถ่ายทอดสดจากสตูดิโอในหมู่บ้านดำรง วิลล่า ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็น "เวทีมวยอ้อมน้อย" ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในซอยทางเข้าหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร สนามนี้บรรจุคนได้เพียง 3,000 คน ซึ่งจัดเป็นสนามมวยขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับสนามมวยอย่าง ราชดำเนิน และลุมพินี ซึ่งบรรจุคนเป็นหมื่น

"ของเราทำเป็นห้องส่งสตูดิโอเพื่อออกโทรทัศน์รายการ "ศึกจ้าวมวยไทย" แค่นั้น แต่เวทีราชดำเนินเขาทำเพื่อหารายได้จากคนไปดูมวย" มานพ หอประเสริฐกุล หรือเฮียจั้ว นายสนามมวยกล่าว

รายได้หลักของสนามมวยใหญ่อย่างเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี อยู่ที่ค่าบัตรผ่านประตูสำหรับที่นั่งริงไซด์อาจสูงถึง 1,500 บาท และราคาลดหลั่นลงไปตามระยะห่างจากสังเวียนมวย ในขณะที่รายได้หลักของเวทีมวย สยามอ้อมน้อย หัวใจอยู่ที่สปอนเซอร์เหมือนเกมโชว์ เช่น ISUZU ที่ให้โฆษณากันนานถึง 21 ปี ส่วนค่าบัตรผ่านประตู 200 บาท สำหรับผู้ชาย และ 100 บาท สำหรับผู้หญิงซึ่งมีแค่ 10%

แต่วันนี้ ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม และซอนย่า คูลลิ่ง สองดารานางแบบมาพากย์มวย ถือเป็นสัญลักษณ์ของการรุกก้าวเข้าไปในอาณาจักรลูกผู้ชาย โดยปรากฏเสียงและภาพที่หาดูได้จากรายการศึกจ้าว มวยไทย

เช้านั้นลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม เดินอย่างคุ้นเคยเข้าไปยังเวทีมวยอ้อมน้อย ในชุดสีขาวนวลทั้งกางเกงและเสื้อ กางเกงผ้าเรียบแนบเนื้อทำให้ดูเซ็กซี่ แต่ยังคงความเรียบร้อย เสื้อแขนกุดเปิดหลังยิ่งเพิ่มความเซ็กซี่ที่ดูธรรมดาสำหรับคนที่นั่นไปแล้ว

"ปีแรกที่ลูกเกดและซอนย่าทำงานนี้ เรามีสัญญากันแต่ต่อมาก็ไม่ได้ต่อสัญญา อยู่กันไปแบบนี้เรื่อย สองสาวนั้นเขาพูดกันเองว่า ถ้าเฮียไม่ไล่ก็ไม่เลิก เราอยู่กันแบบพี่ แบบน้อง ทั้งสองเขาก็น่ารักและเป็นกันเอง และช่วยซัปพอร์ตเราได้เยอะพอควร" สุดใจ หอประเสริฐกุล น้องเฮียจั๊วเล่าให้ฟัง

แม้ว่าสัญญากระดาษระหว่างบริษัท Boss Boxing กับลูกเกดและซอนย่าได้หมดวาระไปนานแล้ว แต่ทว่าการเกื้อหนุนจุนเจือ ผลประโยชน์ระหว่างกัน กลับเป็นเหมือนสัญญาใจที่ผูกพันทั้งสองฝ่ายให้อยู่ด้วยกันตราบจนทุกวันนี้

สำหรับ Boss Boxing การได้ลูกเกดและซอนย่ามาพากย์มวยภาคภาษาอังกฤษให้กับรายการมวยของบริษัท ในเชิงนโยบายถือเป็นการสร้างความแตกต่าง จากรายการเดียวกันในช่องอื่นๆ ทั้งตัวรายการและภาพลักษณ์ของบริษัทในการส่งเสริมศิลปะมวยไทย

"ที่เราดึงลูกเกดและซอนย่าเข้ามา เราต้องการส่งเสริมให้คนดูต่างประเทศเข้าใจว่า มวยไทยเป็นอย่างไร ไหว้ครูทำเพื่ออะไร แม่ไม้มวยไทยมีอะไร ซึ่งเขาไปดูเวทีอื่นก็ไม่เข้าใจ เราต้องการเอาความรู้อังกฤษที่เขาพูดได้ดีส่งไปให้กับคนต่างชาติมากขึ้น" น้องชายเฮียจั๊วกล่าว

"ในแง่มุมทางการตลาด Image ของดารานางแบบสาวเซ็กซี่สามารถดึงเรตติ้งดี เราเอาลูกเกดและซอนย่ามา ทำให้เรตติ้งขึ้นประมาณ 20-30% ช่วยให้โฆษณาลงที่เรามากขึ้น เช่น Shell" เฮียจั๊วกล่าว แต่เมื่อแปลงเรตติ้งเป็นโฆษณา พบว่าโฆษณาที่มา หลังจากมีนักพากย์ทั้งสองคนนี้มีจำนวนไม่น้อย เช่น Shell, .357, ไวไว เป็นต้น

ขณะเดียวกันประสบการณ์แปลกใหม่และท้าทายความสามารถมีรายได้ดี ทำให้ลูกเกดและซอนย่าทำหน้าที่นักพากย์ มวยและลูกเกดมีโอกาสก็ได้ศึกษาศิลปะมวยไทยและวงการมวยไทยอย่างลึกซึ้ง ทั้งจากการอ่านหนังสือ ข้อมูลจากเว็บไซต์ รวมไปถึงการเรียนรู้ทางมวยจากครูมวย และเทคนิคการพากย์จากรุ่นพี่ "ศัพท์เทคนิคมวยฝรั่งไม่เหมือนไทยอยู่แล้ว เตะสูงเขาจะเรียก high kick หรือจระเข้ฟาดหางอาจจะเรียก reverse kick เรียกตามสิ่งที่เราเห็นอย่างนั้นมากกว่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการทำการบ้านของเรา บางครั้งก็ทับศัพท์ไปและอธิบายว่าท่านี้คืออะไร เพราะมันเป็นกีฬาไทย อย่างเมืองนอกเขาจะไม่ใช้คำว่า stop แต่จะพูดคำไทยว่า "หยุด" - "ชก" แทน" ลูกเกดเล่าถึงเบื้องหลังทำงาน

นอกจากค่าจ้างหลักหมื่นที่ได้รับภายในการทำงาน 2 ชั่วโมง การทำงานตรงนี้ยังสร้างภาพลักษณ์ sport woman ให้กับนางแบบสาวทั้งสองคนนี้ด้วย

"อย่าลืมว่า คนที่ออกโทรทัศน์ก็เท่ากับเป็นการพรีเซ็นต์ตัวเอง ภาพลักษณ์ของเขา ก็ติดไปด้วย ถ้าบริษัทเขาอยากทำเกี่ยวกับกีฬาและอยากได้ผู้หญิง หรือเขาอยากได้พิธีกร ภาคภาษาอังกฤษ เขาก็นึกถึงแต่ลูกเกดและซอนย่า" เฮียจั๊วกล่าว

ขณะเดียวกันจากภาพลักษณ์ดังกล่าว ร่วมกับเครือข่ายของกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนรายการ ก็ยังนำชื่อเสียงและรายได้มาสู่นางแบบสาวทั้งสอง

"หลายคนอยากเจอลูกเกด อย่างเวลามีมวยรอบของบริษัท Shell หรือ Isuzu ผู้จัดการใหญ่ซึ่งเป็นคนต่างชาติของเขามา เขาก็อยากให้ลูกเกดมาเป็นคนสัมภาษณ์หรือถ่ายทอดบทให้เขา..." สุดใจเล่าให้ฟัง

"ตอนนี้ทั้งคู่ก็ดูมวยเป็นแล้ว และสนุกกับมัน และส่งเสริมเด็กๆ ให้ทุนการศึกษา แล้วใช้ชื่อค่าย ศ.เมทินี กลายเป็นเขารักมวยขึ้นมา" นี่คือวันนี้ของลูกเกดและซอนย่า

ตราบที่ผลประโยชน์ยังเกื้อกูลกัน วงการมวยไทยคงจะมีสีสันบันเทิงปนบทโหดๆบนสังเวียนชีวิตต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.